คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประกันสังคม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 124 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไม่ตัดสิทธิ แม้ยื่นคำขอเกินกำหนด หากมีเหตุจำเป็นตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม
พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 84 ทวิ เป็นกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนซึ่งทราบถึงสิทธิและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ไปดำเนินการขอรับสิทธิแล้ว แต่ตนมิได้อยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ในประเทศไทยแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถไปดำเนินการขอรับสิทธิตามกำหนดเวลานั้นได้ จึงยื่นคำร้องขอเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 ออกไปเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์จะยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้นตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1349/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับค่ารักษาพยาบาลนอกโรงพยาบาลตามสิทธิ กรณีไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนทางการแพทย์
หลังจากโจทก์ประสบอุบัติเหตุโจทก์ได้รับบาดเจ็บและหมดสติไปโดยโจทก์มีบาดแผลที่ขาหลายแห่งและกระดูกขาหัก มีพลเมืองดีนำโจทก์ส่งโรงพยาบาล ส. โจทก์รู้สึกตัวและโทรศัพท์ไปหาบิดา เมื่อบิดาโจทก์มาถึงจึงขอให้โรงพยาบาล ส. ฉีดยาระงับอาการปวดและเอกซเรย์กระดูกขาให้ หลังจากนั้นจึงทำเรื่องขอย้ายโจทก์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล ว. โดยทำบันทึกไว้ว่าไม่ประสงค์จะให้โรงพยาบาล ส. รักษาโจทก์ต่อไป และโจทก์ได้รับการรักษาต่อที่โรงพยาบาล ว. โดยแพทย์ทำการผ่าตัดกระดูกดามกระดูกขาและรักษาบาดแผลเสียค่าบริการทางการแพทย์ประเภทผู้ป่วยในเป็นเงิน 62,676.10 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าในขณะที่จะย้ายโจทก์ออกจากโรงพยาบาล ส. ไปรักษาต่อนั้น โรงพยาบาล ส. ได้ทำการรักษาเบื้องต้นเท่าที่จำเป็นไปบ้างแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องทำการผ่าตัดรักษากระดูกขาที่หัก แม้จะเป็นกรณีที่จะต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่ก็ได้ความว่าวิทยาลัย พ. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิและโรงพยาบาล ว. ต่างก็มีสถานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครด้วยกัน ใช้ระยะเวลาเดินทางใกล้เคียงกัน การนำส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิหรือโรงพยาบาล ว. จึงไม่น่าจะใช้เวลาแตกต่างกันมากนัก ทั้งโรงพยาบาล ส. ได้ทำการรักษาเบื้องต้นเท่าที่จำเป็นให้แก่โจทก์บ้างแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าหากนำส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิแล้วการรักษาจะไม่ทันท่วงทีหรืออาจเกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นแก่โจทก์ การที่บิดาโจทก์ส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ว. จึงเป็นเพราะบิดาโจทก์มีความเชื่อถือการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล ว. นั่นเอง การที่นำส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ว. ซึ่งมิใช่โรงพยาบาลตามสิทธิจึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องรับการบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล ว. แต่เป็นความประสงค์ที่จะได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลแห่งนี้ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ตามประกาศของสำนักงานประกันสังคม ฯ จำเลย ข้อ 4.2 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8787/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาฟ้องคดีประกันสังคมเกินกำหนด ทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์มีผลเป็นที่สุด
ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฯ มาตรา 87 วรรคสาม กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย มิฉะนั้นคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด เมื่อ ค. หลานของโจทก์ลงลายมือชื่อในใบตอบรับเอกสารแทนโจทก์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2547 โจทก์จึงต้องนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2547 จึงเป็นการเกินกำหนดเวลา ย่อมเป็นผลให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และให้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตายจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8787/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีประกันสังคมเกินกำหนด 30 วัน ทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์มีผลเป็นที่สุด
สำนักงานประกันสังคมส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ไปยังที่อยู่ตามสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ ค. หลานของโจทก์ลงลายมือชื่อในใบตอบรับเอกสารแทนโจทก์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2547 ต้องถือว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในวันนั้น
โจทก์ฟ้องคดีขอเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานกลาง เกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นผลให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8630/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนประกันสังคม ไม่ตัดสิทธิหากไม่เกินกำหนด แต่เป็นเพียงการเร่งรัดการใช้สิทธิ
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิ
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 84 ทวิ เป็นกรณีที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกำหนดเวลาตามมาตรา 56 ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตนที่จะต้องปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่ตนมิได้อยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ในประเทศไทยแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลานั้นได้ จึงยื่นคำร้องขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 ออกไปเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกจ้าง มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิของลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 783/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ: การยื่นคำขอเกิน 1 ปี ไม่ตัดสิทธิ
โจทก์ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต สำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งว่าโจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ โจทก์ก็อุทธรณ์ต่อจำเลยทั้งเก้าซึ่งเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์เมื่อจำเลยทั้งเก้ามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ดังนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนที่โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินหนึ่งปี โจทก์จะยังคงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 วรรคสอง
แม้ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 56 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนและประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติว่าหากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในเวลาดังกล่าวจะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป ระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีดังกล่าว จึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิแต่อย่างใด ซึ่งต่างกับกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่มารับประโยชน์ทดแทนภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ซึ่งมาตรา 56 วรรคสอง บัญญัติให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3035/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินสงเคราะห์และบำเหน็จชราภาพจากประกันสังคมสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้หลังผู้ประกันตนเสียชีวิต
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในสังคม เพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนส่วนใหญ่จะอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมดังกล่าว คำว่า "บุตร" จึงต้องหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นบุตรอันแท้จริงของ ป. โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในกรณีที่ ป. ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2)
ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ประสงค์จะให้ผู้ประกันตนหรือทายาทของผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน เพื่อเป็นการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนหรือทายาทของผู้ประกันตน ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) ก็มิได้กำหนดให้บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายขณะที่ผู้ประกันตนยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เมื่อขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตามคำสั่งศาลแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพของ ป. ผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8245/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการของโรงแรมไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เนื่องจากไม่ใช่การตอบแทนการทำงานโดยตรง
ค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดเงินสมทบต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วยทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียกับเงินค่าบริการที่เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ โจทก์เป็นคนกลางในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าเพื่อนำมาคำนวณเฉลี่ยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น ทั้งลักษณะธรรมชาติของเงินค่าบริการนี้มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เมื่อเงินค่าบริการนี้มิได้จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ จึงมิได้เป็นค่าจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8094/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประกันสังคม: การรักษาพยาบาลนอกสถานพยาบาลตามสิทธิในกรณีฉุกเฉิน และเหตุผลความจำเป็น
คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มีอาการแน่นหน้าอกกะทันหัน ร้าวที่วงแขน อาเจียน โจทก์ถูกนำส่งโรงพยาบาล ศ. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แพทย์ให้การรักษาด้วยยาอาการดีขึ้น ภรรยาโจทก์เห็นว่าอาการโจทก์มีลักษณะรุนแรงควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประกอบกับโจทก์เคยรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาล ซ. ซึ่งมีแพทย์ที่ชำนาญเฉพาะทาง ภรรยาโจทก์จึงติดต่อและย้ายโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซ. ทั้งที่ได้ความว่าโรงพยาบาล ก. ซึ่งเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาล ศ. มากกว่าโรงพยาบาล ซ. และใช้ระยะเวลาเดินทางน้อยกว่ากัน เมื่อภรรยาและญาติโจทก์ตัดสินใจส่งตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซ. เพราะภรรยาและญาติโจทก์มีความเชื่อถือการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล ซ. ซึ่งโจทก์เคยรักษาที่โรงพยาบาลนี้มาก่อน การที่นำตัวโจทก์ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซ. ซึ่งมิใช่สถานพยาบาลตามสิทธิ จึงมิใช่เป็นกรณีที่มีเหตุผลสมควรหรือจำเป็นต้องรับการบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล ซ. ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสอง และประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ซ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่านั่งเครื่องแคชเชียร์ไม่ใช่ค่าจ้างตามกฎหมายประกันสังคม โจทก์ไม่ต้องนำไปคำนวณเงินสมทบ
โจทก์กำหนดอัตราค่านั่งเครื่องของพนักงานแคชเชียร์ในอัตราเดือนละ ๕๐๐ บาทต่อคน เท่ากันทุกเดือน โดยมีหลักเกณฑ์ว่าหากพนักงานแคชเชียร์มีความประพฤติไม่ดี ทำความผิดหรือทำงานมีข้อผิดพลาดก็จะหักคะแนนและนำไปปรับลดเงินค่านั่งเครื่องตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ ในบางเดือนอาจมีพนักงานแคชเชียร์บางคนไม่ได้รับค่านั่งเครื่องเลย แต่การจ่ายค่านั่งเครื่องให้จริงเป็นจำนวนมากน้อยหรือไม่จ่ายค่านั่งเครื่องเลยย่อมขึ้นอยู่กับการประเมินผลในเรื่องความประพฤติปฏิบัติตนและความตั้งใจในการทำงาน การจ่ายค่านั่งเครื่องดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายให้เพื่อส่งเสริมให้พนักงานแคชเชียร์ตั้งใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความประพฤติที่ดี ลดข้อผิดพลาดในการทำงานให้น้อยลง และกระตุ้นให้พนักงานตั้งใจทำงานเป็นสำคัญ ไม่ได้มีลักษณะเป็นการตอบแทนในการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติตามความหมายของคำว่าค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ค่านั่งเครื่องแคชเชียร์ของพนักงานแคชเชียร์จึงไม่ใช่ค่าจ้าง โจทก์ไม่ต้องนำค่านั่งเครื่องดังกล่าวมาคำนวณเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
of 13