คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
รู้เห็นเป็นใจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 120 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8405/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรู้เห็นเป็นใจกับความผิดทางอาญาของผู้เช่าซื้อ และสิทธิในการเรียกร้องทรัพย์สินคืนจากการเช่าซื้อ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 โดยในคำร้องระบุว่าจำเลยกับพวกได้นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ล่อซื้อซึ่งต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางดังนี้ แสดงว่าผู้ร้องต้องรู้มาก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าศาลชั้นต้นพิพากษาริบรถจักรยานยนต์ของกลางแล้ว แต่ผู้ร้องก็เพิกเฉยไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและมายื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีนี้ ทั้งยังคงรับชำระเงินค่าเช่าซื้อจากผู้เช่าซื้อต่อไปอีก ประกอบกับหนังสือสัญญาเช่าซื้อข้อ 3.3 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนตามสัญญาในกรณีทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึดหรือถูกริบ โดยความผิดของผู้เช่าซื้อเองและในกรณีมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบชดใช้ราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อพร้อมด้วยค่าเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ผู้ร้องจึงเพิกเฉยไม่ติดตามเอารถจักรยานยนต์ของกลางที่ให้เช่าซื้อคืน ทั้งๆ ที่ผู้ร้องรู้อยู่แล้วว่ามีการนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในทางผิดกฎหมายอันเป็นการผิดสัญญาเช่าซื้อ การที่ผู้ร้องมาขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางเห็นได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ เข้าลักษณะผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์สินที่ถูกริบในคดีอาญา: เจ้าของที่แท้จริงต้องไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด และการพิจารณาเรื่องสินสมรส
ป.อ. มาตรา 36 ที่บัญญัติหลักเกณฑ์ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยนั้น หมายถึง นอกจากจะให้พิจารณาสั่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงแล้วต้องพิจารณาว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องนั้นจะต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยประกอบด้วย
ศาลชั้นต้นฟังว่ารถยนต์กระบะบรรทุกของกลางเป็นของผู้ร้อง แต่ให้ยกคำร้องเพราะผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ผู้ร้องอุทธรณ์โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในข้อที่ว่าผู้ร้องมิใช่เจ้าของรถยนต์กระบะบรรทุกของกลาง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางหรือเป็นเจ้าของเพียงกึ่งหนึ่ง ย่อมพิพากษาให้ยกคำร้องหรือสั่งคืนของกลางให้เจ้าของตามสิทธิที่เป็นเจ้าของได้ เมื่อรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางมิใช่สินส่วนตัวของผู้ร้องแต่เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาระหว่างสมรสกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นสินสมรสซึ่งจำเลยที่ 2 มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยกึ่งหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้คืนรถยนต์กระบะบรรทุกของกลางแก่ผู้ร้องกึ่งหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4499/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์สินที่ถูกริบ ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำผิดของผู้เช่าซื้อ
ตามที่ ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติหลักเกณฑ์ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยนั้น หมายถึง นอกจากจะให้พิจารณาสั่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงแล้ว ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องผู้เป็นเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยประกอบด้วย คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นฟังว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องไต่สวนมายังไม่พอฟังว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง แล้วพิพากษายกคำร้อง โดยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ ก็ด้วยเหตุว่าเมื่อผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของแท้จริงแล้ว ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 36 ที่จะให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่สั่งริบได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป และแม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ แล้วพิพากษาให้ยกคำร้องหรือสั่งคืนของกลางให้เจ้าของตามสิทธิที่เป็นเจ้าของได้ ซึ่งปัญหาที่ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่นั้น แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นอ้างสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยตรงก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7119/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดของผู้อื่น ทำให้ไม่มีสิทธิขอคืนรถ
ตามใบคู่มือจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของ ซึ่งตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 17/1 วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว แต่พฤติการณ์การใช้รถจักรยานยนต์ของกลางของ น. แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางมาเพื่อประโยชน์ของ น. บุตรของผู้ร้องเป็นสำคัญ เห็นได้จากการที่ น. ครอบครองใช้ขับไปทำงานอยู่เป็นประจำ และวันเกิดเหตุช่วงเวลากลางคืนยังขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปบ้าน ว. เพื่อนของ น. โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ร้อง กุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางถูกเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานซึ่งตั้งอยู่ที่ห้องโถง บุคคลทุกคนในครอบครัวต่างก็รับรู้ถึงสถานที่เก็บกุญแจรถจักรยานยนต์ และอยู่ในวิสัยที่นำไปใช้ได้ แสดงว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดในการอนุญาตให้ น. นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้อย่างแท้จริง และการที่ น. สามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่ขออนุญาตเช่นนี้ได้ ก็ถือได้ว่าผู้ร้องอนุญาตโดยปริยายให้ น. นำรถจักรยานยนต์ไปใช้ได้ตลอดเวลา โดยไม่คำนึงถึงว่า น. จะนำไปใช้ในกิจการใดหรือจะอนุญาตให้ผู้อื่นนำไปใช้ต่อด้วยหรือไม่ ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยคดีนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง ทั้งตามพฤติการณ์ผู้ร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางโดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อประโยชน์ให้ น. บุตรของผู้ร้องสามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางกลับไปใช้ได้เท่านั้น อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6998/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความยินยอมในการใช้รถยนต์โดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ ถือเป็นความรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด
ตามพฤติการณ์แห่งคดีส่อแสดงว่าผู้ร้องยินยอมอนุญาตให้จำเลยที่ 3 นำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาตามที่จำเลยที่ 3 ต้องการ โดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 3 จะนำไปใช้ในกิจการใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 กับพวกนำรถยนต์กระบะของกลางไปใช้กระทำความผิด กรณีถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 กับพวกโดยปริยาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง: ผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดของจำเลย
แม้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 24 ศาลเยาวชนและครอบครัวต้องมีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคน และผู้พิพากษาสมทบอีกสองคน ซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรี จึงเป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้.. ก็ตาม แต่การพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นก็เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 (1) ถึง (5) คดีนี้เดิมเป็นเรื่องที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญา การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เมื่อพิจารณาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดเสร็จแล้ว ในหมวด 11 การพิพากษาคดีอาญา กำหนดให้มีการประชุมปรึกษาคดีเพื่อมีคำพิพากษาตามมาตรา 134 แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาพิพากษาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต้องมีการประชุมปรึกษาและให้ถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่บทบาทของผู้พิพากษาสมทบในการร่วมนั่งพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาเป็นการมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน รวมทั้งการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การใช้วิธีการให้เหมาะสมแก่เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด ดังที่บทบัญญัติไว้ในหมวด 12 สำหรับคดีร้องขอคืนของกลางในคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด เป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 36 แม้มีผลสืบเนื่องมาจากคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงคดีสาขา เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยจำเลยหาได้เป็นคู่ความในคดีร้องขอคืนของกลางไม่ และปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน (จำเลย) หรือไม่ เท่านั้น ไม่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิด หรือต้องพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนแต่อย่างใด และไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชนโดยตรง การพิจารณาพิพากษาคดีขอคืนของกลาง มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน หรือมีผลกระทบต่อเด็กหรือเยาวชนไม่ว่าในทางใด แต่เป็นการมุ่งถึงตัวทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งริบเป็นสำคัญ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง รวมทั้งไม่ต้องสอบถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 134 ด้วย เมื่อคดีนี้มีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสองคนร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอคืนของกลาง โดยไม่มีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะ ก็เป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4259/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกันครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: การกระทำที่แสดงถึงความรู้เห็นเป็นใจแม้ไม่มีส่วนร่วมโดยตรง
จำเลยเป็นพี่ชาย ส. แต่ปฏิเสธอ้างว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่อยู่ในกระโปรงท้ายรถของ ส. ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านของ ส. และจับกุมภริยาของ ส. กับพวกได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่ง ส่วน ส. หลบหนีไปได้ จำเลยซึ่งมีบ้านอยู่เยื้องฝั่งถนนตรงกันข้ามย่อมทราบดีว่า ส. เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ การที่ ส. นำรถยนต์ของกลางมาจอดภายในโรงจอดรถใต้ถุนบ้านของจำเลยนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติเนื่องจากบริเวณบ้านของ ส. มีพื้นที่เพียงพอที่จะจอดรถยนต์ของกลางได้ ทั้งการที่รถยนต์ของกลางไม่ได้ถูกล็อกหรือไม่มีลายนิ้วมือของจำเลยอยู่ที่รถยนต์คันดังกล่าว ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าจำเลยไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลาง การกระทำของจำเลยเพียงแต่ช่วยปกปิดซ่อนเร้นเมทแอมเฟตามีนของ ส. ก็ฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับ ส. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่ายตามฟ้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนของกลางคดีอาญา: การริบอาวุธปืนและสัตว์ป่า, เจ้าของต้องไม่รู้เห็นเป็นใจ
ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 29 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จําเลยทั้งสองกระทําความผิดบัญญัติให้ริบอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้และยานพาหนะใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทําความผิดเสียทั้งสิ้นโดยไม่ต้องคํานึงว่าเป็นของผู้กระทําความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาของศาลหรือไม่และตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 57 ก็บัญญัติให้ริบอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้...ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทําความผิดหรือมีไว้เนื่องในการกระทําความผิดเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่ ส่วนการขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบ ให้เจ้าของแท้จริงยื่นคําร้องขอต่อศาลที่สั่งริบในคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปของการขอคืนของกลางในคดีอาญา และศาลจะสั่งให้คืนทรัพย์สินเมื่อเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทําความผิด คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีคําขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16 (3) (9) (13) (16), 24, 25, 27, 29 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 16, 19 วรรคหนึ่ง, 47, 57 ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยทั้งสองตามกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว และสั่งริบของกลางรวมทั้งอาวุธปืนยาว 2 กระบอก การที่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 29 บัญญัติให้ริบอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้...เสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคํานึงว่าเป็นของผู้กระทําความผิดหรือไม่ นั้น มิใช่เป็นการริบโดยเด็ดขาดเพราะจะเป็นการลงโทษบุคคลอื่นผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งมิใช่ผู้กระทําผิดอาญา เนื่องจากริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญาสถานหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 18 (5) ขัดกับหลักทั่วไปของการใช้กฎหมายอาญาที่ว่า บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทําความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ดังนั้นเจ้าของที่แท้จริงมีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลขอให้สั่งคืนทรัพย์ที่ถูกริบได้ สําหรับคดีนี้คือการยื่นขอคืนตาม ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะจําเลยทั้งสองกระทําความผิด
พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 109 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 56 บัญญัติให้ศาลเป็นผู้สั่งริบทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทําความผิดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทําความผิดโดยการร้องขอของพนักงานอัยการเช่นเดิม แต่ก็ยังให้โอกาสเจ้าของทรัพย์สินยื่นคําขอคืนได้ มิได้ตัดโอกาสเจ้าของมิให้ขอคืน โดยการขอให้ริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 56 วรรคสอง และตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 109 วรรคสอง พนักงานอัยการสามารถร้องขอได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา กฎหมายเปิดโอกาสให้เจ้าของที่แท้จริงสามารถพิสูจน์ในทํานองเดียวกับการขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 โดยต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า ตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนําทรัพย์สินนั้นไปใช้ในการกระทําความผิด อีกทั้งตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันมิให้มีการกระทําความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามบทบัญญัติมาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 109 วรรคสอง ดังกล่าว ไม่อาจนํามาบังคับใช้กับคดีนี้ซึ่งศาลได้มีคําพิพากษาไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทําความผิดได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิร้องขอคืนของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 36 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีอาญาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคําร้องขอคืนของกลางเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันคําพิพากษาถึงที่สุด จึงชอบด้วย ป.อ. มาตรา 36

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในอาวุธปืนมรดกและการรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด ศาลพิจารณาเจ้าของกรรมสิทธิ์และพฤติการณ์
ก่อนเกิดเหตุ จำเลยไปหาผู้ร้องและหยิบอาวุธปืนของกลางออกมาเพื่อใช้ซ้อมยิงปืนในค่ายทหารซึ่งเป็นกิจกรรมที่จำเลยกระทำอยู่เป็นประจำ ภายหลังจากนั้นจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวมาใช้ก่อเหตุ อันแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดกวดขันในการอนุญาตให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้อย่างแท้จริง และการที่จำเลยสามารถหยิบอาวุธปืนของกลางไปใช้ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าววัตถุประสงค์ให้ผู้ร้องทราบก่อน ย่อมแสดงว่าผู้ร้องอนุญาตโดยปริยายให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาโดยไม่คำนึงถึงว่าจำเลยจะนำไปใช้ในกิจกรรมใด ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนอาวุธปืนของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2384/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนบัตรปลอม: การรู้เห็นเป็นใจ, พยานหลักฐาน, การพิสูจน์ความผิด
สภาพแห่งข้อหาคดีนี้อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม โดยเมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ข้อเท็จจริงเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้ว่าธนบัตรของกลางในคดีนี้เป็นธนบัตรปลอม ซึ่งจำเลยที่ 3 นำสืบปฏิเสธต่อสู้คดีว่า ธนบัตรของกลางเป็นของ อ. โดยจำเลยที่ 3 ไม่ทราบว่าเป็นธนบัตรปลอม จำเลยที่ 3 จึงไม่ได้กระทำความผิด ดังนั้น แม้หากสืบพยานจำเลยที่ 3 ปากพันตำรวจโท ม. ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดจับกุม และ อ. เจ้าของธนบัตรปลอมของกลาง ก็ได้ความแต่เพียงว่าพันตำรวจโท ม. ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 3 เพื่อจับกุม อ. เจ้าของธนบัตรปลอมของกลางเท่านั้น พยานทั้งสองปากดังกล่าวยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดหรือบริสุทธิ์ เนื่องจากยังมิใช่พยานสำคัญเกี่ยวกับสภาพแห่งข้อหาและข้อต่อสู้โดยตรงในความรับรู้ของจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับธนบัตรของกลางว่าในขณะที่รับไว้นั้นจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าเป็นธนบัตรปลอม ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจงดสืบพยานทั้งสองปากของจำเลยที่ 3 มานั้น จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 174 วรรคท้าย แล้ว
of 12