คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,226 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3589/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานทุจริตต่อหน้าที่: การตีความคำว่า 'ทุจริต' ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และความหมายตามพจนานุกรม
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1) กำหนดว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่ง ถูกเลิกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้ และมิได้ใช้ คำว่า "โดยทุจริต" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรมคือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง โจทก์รับเงิน 100 บาท ที่ ว. ลูกค้าของจำเลยนำมามอบให้โจทก์ภายหลังจากที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโฟล์กลิฟท์ยกสินค้าให้ ว. ตามปกติเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายเรียกร้องหรือสร้างเงื่อนไขจนเป็นเหตุให้ ว. ต้องมอบเงินดังกล่าวให้โจทก์ กรณียังไม่พอถือว่าโจทก์มีความประพฤติชั่ว โกง ไม่ ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1) และ (4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างต้องมีเหตุผลอันสมควร แม้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานก็ไม่อาจอ้างขัดขวางได้
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ที่มีข้อยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับไว้ใน (1) ถึง (5) ได้นั้น มิได้หมายความว่านอกจากข้อยกเว้นดังกล่าวแล้วนายจ้างไม่อาจเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเพราะเหตุอื่น ๆ ได้อีก ดังนั้นหากนายจ้างมีเหตุผลที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของฝ่ายนายจ้างหรือเหตุผลที่เกิดจากลูกจ้าง นายจ้างก็ย่อมมีสิทธิที่จะเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวได้
ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นลูกจ้างคุรุสภาโจทก์ตามสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวตามนโยบายช่วยเหลือบุตรและญาติเจ้าหน้าที่ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้วโจทก์ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำประมาณ 350 คน คงเหลืออยู่ประมาณ 150 คน รวมทั้งผู้กล่าวหาทั้งเจ็ด ต่อมาคณะกรรมการของโจทก์ได้ร่วมประชุมกับสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภากำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเพื่อบรรจุลูกจ้างส่วนที่เหลือ ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดไม่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โจทก์จึงมีเหตุผลและความชอบธรรมที่จะเลิกจ้างได้ตามหลักในการบริหารทรัพยากรมนุษย์และโจทก์ยังได้เลิกจ้างลูกจ้างคนอื่น ๆ ที่ไม่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดมิใช่เป็นเพราะสาเหตุจากการที่ผู้กล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาหรือเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนากลั่นแกล้งเลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งเจ็ด จึงมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966-2406/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 กรณีวิกฤตเศรษฐกิจและผลกระทบต่อลูกจ้าง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 75ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสามารถหยุดการดำเนินกิจการไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาลงได้ ฉะนั้น เมื่อลูกค้าของจำเลยยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยเป็นจำนวนมาก หากจำเลยยังคงผลิตสินค้าต่อไปก็ไม่แน่นอนว่าจำเลยจะจำหน่ายสินค้าได้หรือไม่ และในการผลิตต้องมีเงินลงทุนทั้งในด้านวัตถุดิบและค่าแรงงานย่อมเสี่ยงต่อการขาดทุนอันจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินและความคงอยู่ของกิจการจำเลยซึ่งอยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการถือได้ว่าเป็นความจำเป็นตามความหมายของมาตรา 75 แล้วการที่จำเลยประกาศให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์หยุดงานชั่วคราวเพื่อรอ คำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าหรือหาลูกค้ารายใหม่ทดแทนโดยจำเลยจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานแก่โจทก์แล้วจึงชอบด้วยมาตรา 75

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1934/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเลิกสัญญาจ้างงานเนื่องจากตรวจพบสารเสพติดในร่างกายลูกจ้างหลังทำงานไปแล้ว มิใช่ผิดสัญญา
สัญญาจ้างแรงงานที่ว่า ในกรณีลูกจ้างไม่ผ่านการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคที่ทางการไต้หวันไม่อนุญาตให้ทำงาน นายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาและส่งลูกจ้างกลับประเทศไทย โดยลูกจ้างจะได้รับค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนนั้น จะต้องเป็นกรณีตรวจพบโรคต่าง ๆ ตามเงื่อนไขในสัญญาซึ่งสามารถตรวจพบได้ก่อนตกลงทำสัญญา หากตรวจพบแล้วผู้จัดหางานก็ชอบที่จะไม่ตกลงทำสัญญากับคนหางานแต่กรณีของโจทก์เป็นการตรวจพบมอร์ฟินซึ่งเป็นสารเสพติดในร่างกายภายหลังจากที่โจทก์ได้ทำงานที่ประเทศไต้หวันแล้ว 16 วัน จึงไม่เป็นการตรวจพบโรคตามที่ระบุไว้ในสัญญาการที่โจทก์ใช้สารเสพติดจึงเป็นกรณีโจทก์ฝ่าฝืนสัญญาจ้างแรงงาน โดยเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของประเทศไต้หวัน ซึ่งจำเลยผู้เป็นนายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาและส่งโจทก์กลับประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้โจทก์
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 39 และมาตรา 46 บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองคนหางานให้ได้ทำงานตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาและเป็นบทบังคับให้ผู้จัดหางานต้องจัดให้คนหางานได้ทำงานตามข้อตกลงในสัญญาแต่โจทก์ได้ทำงานแล้ว 16 วัน ฉะนั้น การที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไปเนื่องจากการตรวจพบมอร์ฟินในร่างกาย จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง ไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะรับผิดชอบได้ มิใช่กรณีจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดหางานไม่สามารถจัดให้โจทก์ซึ่งเป็นคนหางานได้ทำงานตามที่ตกลงกัน อันจะถือว่าเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาตามความหมายแห่งบทบัญญัติในมาตราทั้งสองนั้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามข้อสัญญาและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1907/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง: เหตุผลสมควร, การไม่ปฏิบัติตามระเบียบ, และฟ้องซ้ำ
คดีแรกโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้พักงานโจทก์และขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในขณะที่โจทก์ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นครั้งที่สองโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าส่วนที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งโดยมูลเหตุสืบเนื่องมาจากการที่ถูกจำเลยเลิกจ้างและเรียกร้องในทำนองเดียวกันกับคดีนี้ ก็เป็นการเรียกร้องที่สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ครั้งแรก แม้คดีทั้งสองจะถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้กับมูลคดีที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อนทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นมูลคดีที่มิได้เกิดขึ้นในคราวเดียวกันและประเด็นข้อพิพาทก็แตกต่างกัน โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเกี่ยวกับเงินทดรองโดยโจทก์ค้างชำระเงินทดรองแก่จำเลย แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงว่าโจทก์ได้ยืมเงินทดรองจากจำเลยแล้วนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่มีเจตนาจะส่งคืนเงินทดรองดังกล่าวให้แก่จำเลย จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และการค้างชำระเงินทดรองดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงการที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ค้างชำระเงินทดรองดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119
โจทก์ค้างชำระเงินทดรองแก่จำเลย ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินทดรองดังกล่าว และคดีถึงที่สุดแล้ว แต่โจทก์ก็เพิกเฉยไม่คืนเงินทดรองดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้ง ๆ ที่จำเลยก็ได้จ่ายเงินค่าเสียหายในระหว่างที่มีคำสั่งพักงานโจทก์ให้แก่โจทก์ไปแล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควรไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการที่โจทก์ไม่คืนเงินทดรองให้แก่จำเลยดังกล่าวก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องเงินทดรองอันเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน แม้เป็นการกระทำต่อบัญชีของตนเอง มิถือว่าร้ายแรงเพียงพอต่อการเลิกจ้าง
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และนาง ส. มารดาโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารของจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการสั่งจ่ายเงินว่าคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว แต่คงมีเฉพาะโจทก์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ให้ตัวอย่างลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย จึงน่าเชื่อว่าในทางปฏิบัติคงมีเฉพาะโจทก์เท่านั้นที่ทำหน้าที่ในการสั่งจ่ายถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำการที่โจทก์ไม่ได้นำสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีเงินฝากประจำมาดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของจำเลยที่ 1 นั้น เนื่องจากโจทก์เกรงว่านาง ส. จะทราบเรื่องที่โจทก์ถอนเงินจำนวน 200,000 บาทไป จึงทำให้โจทก์ต้องสร้างหลักฐานตัวเลขขึ้น 200,000 บาท ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 321-1-01428-7 แล้วโอนมาเข้าบัญชีเงินฝากประจำเพื่อให้ตัวเลขจำนวนเงินในสมุดคู่ฝากของบัญชีเงินฝากประจำคงเดิม การกระทำของโจทก์ดังกล่าวแม้จะเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ 1 ก็ตามแต่ก็เป็นการกระทำต่อบัญชีเงินฝากของโจทก์และมารดาโจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิในการถอนเงินตามบัญชีดังกล่าวได้อยู่แล้ว โจทก์มิได้ปลอมแปลงลายมือชื่อของผู้ใด การกระทำของโจทก์ไม่เกิดผลกระทบต่อลูกค้าอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 และเงินสดของจำเลยที่ 1 ก็มิได้สูญหาย อีกทั้งข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าโจทก์ได้กระทำความผิดฐานยักยอกหรือลักทรัพย์ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยที่ 1 กรณีร้ายแรงการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่การเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตาม มาตรา 67

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีฝ่าฝืนระเบียบการทำงานอย่างร้ายแรง แม้ยังไม่เกิดความเสียหาย
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยใช้ชื่อนิติบุคคลที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมายทำรายการซื้อตั๋วแลกเงินแทนลูกค้าบุคคลธรรมดา ใช้ชื่อนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายทำรายการซื้อตั๋วแลกเงินโดยผู้แทนนิติบุคคลนั้นไม่ได้รับทราบ เก็บตั๋วแลกเงินที่ขายให้ลูกค้าไว้โดยออกสมุดเงินฝากให้แทน ทำรายการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าเพื่อซื้อตั๋วแลกเงินโดยลูกค้าไม่ได้ลงนามในใบถอนเงิน และนำส่วนต่างดอกเบี้ยจากการลงทุนในตั๋วแลกเงินของลูกค้าบางรายฝากเข้าบัญชีกองกลางของสาขา แม้การกระทำดังกล่าวของโจทก์จะได้รับความยินยอมจากลูกค้า ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่ และยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยก็ตาม แต่ก็อาจเป็นเหตุให้ลูกค้านำสมุดเงินฝากมาขอเบิกเงินจากจำเลยและจำเลยต้องจ่ายเงินให้ไป จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบทำงานของจำเลย เรื่อง วิธีปฏิบัติในการจำหน่ายตั๋วแลกเงิน ข้อ 2.2 ที่กำหนดให้สาขาออกคู่ฉบับใบลงรับมอบให้ลูกค้าไว้เป็นหลักฐาน เป็นกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือน และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196-1218/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าเสียหายจากค่านายหน้าลูกจ้าง และการจ่ายค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ที่ตกลงกัน มิขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
การบอกเลิกสัญญาจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่สัญญาไม่มีสิทธิที่จะตกลงเกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้างเป็นอย่างอื่นได้ แม้จำเลยกับโจทก์ทั้งยี่สิบสามจะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 17 จึงต้องใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง บังคับแทนเมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบสามได้ยื่นใบลาออกต่อจำเลย โดยประสงค์ให้มีผลเมื่อพ้นกำหนด 30วัน นับแต่วันยื่นใบลาออก แต่จำเลยกลับอนุมัติให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามยื่นใบลาออกก่อนกำหนดที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามประสงค์จะให้มีผลเป็นการลาออก จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานจนถึงวันที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามประสงค์จะลาออกพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 76 บัญญัติห้ามนายจ้างหักค่าจ้างค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้ที่ลูกจ้างเป็นหนี้นายจ้าง เว้นแต่การชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งตาม (1)-(5) โจทก์ที่ 10เป็นหัวหน้าพนักงานขาย มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากการขายตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่การตลาด ซึ่งข้อ 2 ระบุว่า ความผิดพลาดที่ทำให้เกิดความเสียหายของเจ้าหน้าที่การตลาด จะนำมาหักออกจากค่าตอบแทนของหัวหน้าส่วนที่ได้รับจากทีม ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธินำค่าเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดในส่วนความรับผิดชอบของโจทก์ที่ 10 มาหักออกจากค่านายหน้าที่โจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งการหักเงินดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์การคำนวณค่านายหน้าที่โจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับ มิใช่เป็นการนำค่าจ้างที่โจทก์ที่ 10 ได้รับมาหักเพื่อชำระหนี้ที่โจทก์ที่ 10 เป็นหนี้จำเลย จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 76

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1160/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้างขณะปฏิบัติงาน
แม้จำเลยที่ 1 จะมีหน้าที่ขนวัสดุก่อสร้างไม่มีหน้าที่ขับรถและรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 3 มี ร. เป็น คนขับประจำ แต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 การที่จำเลยที่ 1 ขึ้นไปติดเครื่องยนต์ในระหว่างทำการงานให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นนายจ้าง โดย ร. ก็ไม่ได้ควบคุมดูแล ทำให้รถแล่นไปชนโจทก์ พ. และเด็กหญิง บ. ได้รับอันตรายสาหัส และต่อมาโจทก์ถึงแก่ความตายนั้น เห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุละเมิดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและ ลูกจ้างยังคงมีอยู่ กรณีจึงต้องถือว่า การละเมิดเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของลูกจ้างมิใช่เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1160/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการละเมิดของลูกจ้างขณะปฏิบัติงาน แม้ลูกจ้างไม่มีหน้าที่ขับรถ
ส. สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้จำเลยที่ 1และคนงานไปส่งวัสดุก่อสร้างโดยใช้รถยนต์บรรทุกสิ่งของไปส่ง มี ร. เป็นคนขับ ในระหว่างที่มีการขนถ่ายสิ่งของจำเลยที่ 1 ได้ติดเครื่องยนต์ทำให้รถยนต์แล่นไปชนโจทก์แม้จำเลยที่ 1 จะมีหน้าที่ขนวัสดุก่อสร้างไม่มีหน้าที่ขับรถ และรถยนต์คันเกิดเหตุมี ร. เป็นคนขับประจำ แต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 การที่จำเลยที่ 1 ขึ้นไปติดเครื่องยนต์ในระหว่างทำการงานให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดย ร. ไม่ได้ควบคุมดูแล ทำให้รถแล่นไปชนโจทก์ ต้องถือว่าการละเมิดเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4
of 223