คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 829 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4846/2542 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัญชีเดินสะพัดต้องมีเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้งสองฝ่าย ข้อตกลงในสัญญาบัตรเครดิตที่ขัดแย้งกับหลักการดังกล่าวไม่สมบูรณ์
สัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 เป็นสัญญาซึ่งบุคคล2 คน ตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้หรือหักกลบลบหนี้กันทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างบุคคลทั้งสองนั้นตามบัญชีหนี้ที่ได้จัดทำขึ้น บุคคลทั้งสองดังกล่าวต่างฝ่ายต่างต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกันหากฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้หรือเป็นลูกหนี้แต่ฝ่ายเดียวแม้จะมีบัญชีคิดหนี้สินกัน สัญญานั้นก็หาเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยเป็นเพียงบัญชีที่จำเลยยอมให้โจทก์หักชำระหนี้ตามบัตรเครดิตที่โจทก์จ่ายทดรองไปก่อนเท่านั้น มิใช่บัญชีหักทอนหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างบัญชีเดินสะพัด เพราะจำเลยมีแต่เป็นลูกหนี้โจทก์ฝ่ายเดียวหาได้เป็นเจ้าหนี้โจทก์ด้วยไม่ การคิดบัญชีหนี้สินกันตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่การตัดทอนบัญชีหนี้หรือหักกลบลบหนี้กันอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ตามคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์จะมีข้อความว่า จำเลยตกลงให้บัญชีออมทรัพย์ดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ก็ไม่ทำให้บัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นกลายเป็นบัญชีเดินสะพัดไปได้
แม้สัญญาการใช้บัตรเครดิตจะระบุว่า หากในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยปรากฏยอดเป็นลูกหนี้โจทก์แล้ว จำเลยยินยอมให้โจทก์ถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชีได้และยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดได้ เป็นข้อสัญญาที่โจทก์เป็นฝ่ายกำหนดขึ้นเองและพิมพ์อยู่ในแบบพิมพ์สำเร็จรูปของโจทก์มาแต่ต้น มิใช่ข้อสัญญาที่เกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างจริงจัง และตามสัญญาดังกล่าวโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยแต่ฝ่ายเดียว จำเลยมิได้เป็นเจ้าหนี้โจทก์และจำเลยมิได้มีหน้าที่ต้องนำเงินฝากเข้าบัญชีก่อนซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการ และมิได้มีข้อสัญญาให้จำเลยถอนเงินเกินบัญชีด้วยเช็ค แม้จำเลยจะยอมให้โจทก์ถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชี ก็ไม่ทำให้สัญญาการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวกลายเป็นการเบิกเงินเกินบัญชีไปได้
จำเลยให้การว่า โจทก์อาจจะได้ใช้เล่ห์ฉ้อฉลแสดงตัวเลขจำนวนเงินเกินความเป็นจริงอย่างมากมายจนอาจถือได้ว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นผู้หลงเชื่อเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างร้ายแรง อาจเป็นไปได้หรือไม่ที่จำเลยได้ตกเป็นเหยื่อรายหนึ่งของพนักงานธนาคารผู้ทุจริต จำเลยมิได้ยืนยันให้การโดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบตามข้อต่อสู้ดังกล่าว เท่ากับไม่มีข้ออ้างหรือข้อเถียงเป็นประเด็นข้อพิพาท
จำเลยมิได้ยกประเด็นเรื่องอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การแม้จำเลยจะขออนุญาตเบิกความเพิ่มเติมต่อศาลว่าคดีโจทก์ขาดอายุความและศาลชั้นต้นอนุญาตแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้เกิดเป็นประเด็นนี้ขึ้น เพราะเป็นการนำสืบนอกประเด็นที่ให้การ ถือไม่ได้ว่าปัญหาเรื่องอายุความเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2542 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้หลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์: ข้อจำกัดเรื่องดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นภายหลัง
ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้(จำเลย)ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จะขอใช้สิทธินำเงินฝากประจำพร้อมดอกเบี้ยของลูกหนี้(จำเลย)มาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาว่าในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้(จำเลย)นั้น ผู้ร้องเป็นหนี้ลูกหนี้(จำเลย)เป็นเงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยเพียงใดแล้วจึงนำมาหักกลบลบหนี้กับลูกหนี้(จำเลย)ได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงนำดอกเบี้ยของลูกหนี้(จำเลย) ที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วมาหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 102 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4372/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ตามหนังสือรับสภาพความรับผิดขาดอายุความเมื่อยื่นขอรับชำระหนี้เกิน 2 ปีนับจากวันที่ลูกหนี้รับสภาพ
หนี้ตามหนังสือรับสภาพความรับผิดมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35ปรากฏว่าลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพความรับผิดในวันที่ 5 สิงหาคม 2536แต่เจ้าหนี้รายที่ 6 ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งวันที่ 31 มกราคม 2539 ต่อมาได้ถอนฟ้องและนำหนี้มายื่นขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ การที่เจ้าหนี้รายที่ 6 ฟ้องคดีดังกล่าวแล้วถอนฟ้องไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเมื่อเจ้าหนี้รายที่ 6 ยื่นคำขอรับชำระหนี้วันที่ 13 มิถุนายน 2539 จึงเป็นเวลาเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิด หนี้รายนี้จึงขาดอายุความไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4145/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ำประกันหนี้เบิกเกินบัญชี ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ แม้สัญญาไม่ได้กำหนดดอกเบี้ย
ผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่สัญญาถึงกำหนดวันที่ 1เมษายน 2532 ไม่ได้เสนอขอชำระหนี้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ต้องรับผิดในช่วงเวลาที่สัญญาถึงกำหนด เพิ่งเสนอขอชำระเมื่อถูกโจทก์ฟ้อง ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ แม้ว่าสัญญาค้ำประกันจะมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ก็ต้องถืออัตราดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นหนี้ประธาน ซึ่งกำหนดให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงได้ การที่โจทก์ปรับเป็นอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นไปตามสัญญาและชอบด้วยกฎหมาย เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเกินกว่า 100,000 บาทตามวงเงินในสัญญาค้ำประกัน ในวันที่ 5 เมษายน 2533 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดดอกเบี้ยแบบทบต้นเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ของต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6เมษายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะเลิกกัน แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นตั้งแต่วันที่ดังกล่าว โจทก์ไม่อุทธรณ์และต่อมาฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นอย่างอื่นเกินไปกว่าที่โจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ 2 รับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3543/2542 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับรู้รายได้และรายจ่ายทางภาษี: ดอกเบี้ยลูกหนี้ค่าหุ้น, ค่าตอบแทนกรรมการ, และการงดเบี้ยปรับ
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยแสดงในงบดุลว่า โจทก์มีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระโดยโจทก์มิได้เรียกเก็บดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา 1122 ดังนี้ การที่โจทก์ไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้นที่ค้างชำระค่าหุ้นย่อมทำให้โจทก์มีกำไรสุทธิน้อยลง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นโดยถือเสมือนว่าโจทก์ให้ผู้ถือหุ้นกู้เงินเนื่องจากโจทก์ลงบัญชีว่าได้รับชำระเงินค่าหุ้นครบตามทุนจดทะเบียนแล้ว ทั้งนี้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4)
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง ผู้ประกอบการจะต้องลงบัญชีรับรู้รายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่ต้องคำนึงว่าได้รับชำระเงินหรือได้จ่ายเงินไปแล้วภายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือไม่ แต่การรับรู้รายได้หรือรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธินั้นมีหลักสำคัญอยู่ว่า รายได้หรือรายจ่ายนั้นจะต้องมีความแน่นอนที่ผู้ประกอบการมีสิทธิจะได้รับชำระหรือมีหน้าที่จะต้องจ่าย อีกทั้งยังต้องเป็นจำนวนที่แน่นอน สามารถลงบัญชีรับรู้ได้ สำหรับรายจ่ายค่าตอบแทนกรรมการในการบริหารงานของปี 2535 ของโจทก์ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นจะอนุมัติให้จ่ายค่าตอบแทนหรือไม่ ทั้งไม่เป็นการแน่นอนว่าจะจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่าใด สิทธิของกรรมการที่จะเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าตอบแทนและหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการจะเกิดขึ้นต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นมีมติเห็นชอบให้จ่ายค่าตอบแทนตามจำนวนที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ ดังนั้น แม้ว่าค่าตอบแทนกรรมการในการบริหารงานของปี 2535 จะสัมพันธ์กับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่ก็ไม่ใช่รายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้หรือเป็นต้นทุนของรายได้โดยตรง และยังไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนกรรมการดังกล่าวนั้นหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่ารายจ่ายนั้นได้เกิดขึ้นแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 โจทก์จึงไม่ต้องนำรายจ่ายดังกล่าวมาลงบัญชีหรือตั้งเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่อย่างใด แต่โจทก์สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ได้ เพราะหน้าที่ของโจทก์ในการจ่ายเงินเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นคือหลังจากที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นให้ความเห็นชอบในการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการในการประชุมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536 เมื่อถือเป็นรายจ่ายของปี 2536 โจทก์ก็ไม่จำต้องนำรายจ่ายนี้ไปปรับปรุงเป็นรายจ่ายของปี 2535 ในการยื่นเพื่อเสียภาษีตามแบบภ.ง.ด.50
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า มีเหตุที่จะงดการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์หรือไม่นั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงเหตุที่จะขอให้งดการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์ และศาลภาษีอากรมิได้ตั้งประเด็นนี้ไว้ โจทก์ก็มิได้คัดค้าน จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คผู้ถือ: การสลักหลังถือเป็นการอาวัล การชำระหนี้โดยผู้รับอาวัลไม่ถือเป็นการขืนใจลูกหนี้
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงินบ. โดยออกเช็คไว้ ต่อมาบ. ขอร่วมลงทุนทำการค้าโดยถือเอาเงินที่จำเลยเป็นเงินร่วมลงทุน และตกลงยกเลิกการกู้ยืม มูลหนี้ตามเช็คจึงระงับไป จำเลยอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยออกเช็คโดยมีข้อตกลงในขณะ ออกเช็คไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินและนำเข้าบัญชี จึงเป็นข้อ ที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่าง ผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน แล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็น การห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้จึงต้องเป็นไปตาม บทบัญญัติของกฎหมายการที่จำเลยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่า กระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 จึงถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ ได้รับเช็คและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึง ลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 898 โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คผู้ถือ ต้องถือว่าเป็น การประกันหรืออาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 เป็นการอาวัลตามผลของกฎหมายมิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึง ไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัล โจทก์ต้อง รับผิดต่อ บ. ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง และต้องชำระหนี้ไปตามความรับผิดที่มีต่อ บ. ตามตั๋วเงิน การชำระหนี้นี้โจทก์ไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบและจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ โดยขืนใจลูกหนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดแต่ไร้ความเสียหาย: แม้จำเลยประมาทเลินเล่อไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่บริษัทลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน โจทก์จึงไม่เสียหาย
แม้จำเลยได้รับมอบฉันทะจากโจทก์ให้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ ในคดีล้มละลายที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัท ส.แต่จำเลยไม่ไปตามที่ได้รับมอบฉันทะจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าบริษัท ส.เองก็ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะยึดมาชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ ทั้งหลาย และปัจจุบันก็ได้ปิดกิจการทิ้งร้างไปแล้ว ดังนั้นหากจำเลยไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดโจทก์ก็ไม่อาจได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทนั้นได้ เมื่อโจทก์ไม่มีทางจะได้รับชำระหนี้จากบริษัทลูกหนี้ผู้ล้มละลายแม้การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์แต่ก็ไม่มีความเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2542 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องจำเลยที่ 1 แทนการหมายเรียก และอายุความการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน
ป.พ.พ.มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย ก็เพื่อประสงค์ให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57 (3) จึงถือได้ว่ามีการเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา 4 แล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 แทนการขอหมายเรียกจำเลยที่ 1 ให้เข้ามาในคดีได้ หาเป็นเหตุที่จะต้องยกฟ้องโจทก์และไม่เป็นเหตุขัดข้องที่จะพิพากษาให้จำเลยอื่นชำระหนี้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์มิได้หมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีไม่
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้นั้นก็เนื่องจากศาลฎีกาเคยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ไปก่อนแล้ว จึงไม่จำต้องมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 อีก ทั้งเมื่อมิได้มีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ศาลก็พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่แล้ว ตาม ป.วิ.พ.มาตรา142 หาเป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ต้องเสียไปถึงกับยกฟ้องโจทก์ไม่ และการฟ้องเรียกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ.มาตรา 1269 กฎหมายก็มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไว้แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ให้จำเลยทั้งแปดยื่นคำให้การใหม่และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้โดยเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้เองได้ และอายุความการเรียกทรัพย์คืนจากผู้ถือหุ้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย ก็เพื่อให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1เข้ามาในคดีนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1เข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)จึงถือได้ว่ามีการเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 แล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 แทนการขอหมายเรียกจำเลยที่ 1 ให้เข้ามาในคดีได้ หาเป็นเหตุที่จะต้องยกฟ้องโจทก์และขัดข้องที่จะพิพากษาให้จำเลยอื่นชำระหนี้แก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์มิได้หมายเรียกจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีไม่ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้นั้นก็เนื่องจากศาลฎีกาเคยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ไปก่อนแล้วจึงไม่จำต้องมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 อีก ทั้งเมื่อมิได้มีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ศาลก็พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1ไม่ได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 หาเป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ต้องเสียไปถึงกับยกฟ้องโจทก์ไม่ การฟ้องเรียกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ถือหุ้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269 กฎหมายก็มิได้กำหนด อายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้แทนการขอหมายเรียก และอายุความการเรียกทรัพย์สินคืนจากผู้ถือหุ้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 234 บัญญัติให้เจ้าหนี้ ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วยก็เพื่อประสงค์ให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตน ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1เข้ามาในคดีนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 1เข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)จึงถือได้ว่า มีการเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 แล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้นั้นก็เนื่องจากศาลฎีกาเคยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ไปก่อนแล้วจึงไม่จำต้องมีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 อีก ทั้งเมื่อมิได้มีคำขอบังคับจำเลยที่ 1 ศาลก็พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1ไม่ได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 หาเป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ต้องเสียไปถึงกับยกฟ้องโจทก์ไม่ และการฟ้องเรียกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1คืนจากผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1269กฎหมายก็มิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
of 83