คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หลีกเลี่ยงภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 125 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19144/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและการขายสินค้าหลีกเลี่ยงภาษีเป็นความผิดต่างกรรมกัน
การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายเครื่องปรับอากาศของกลาง 250 เครื่อง ที่ยังมิได้เสียภาษีสรรพสามิต และจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปลอมเครื่องหมาย (สติกเกอร์) แสดงการเสียภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องปรับอากาศอันเป็นเอกสารราชการและนำเอกสารราชการปลอมดังกล่าวไปใช้ติดกับเครื่องปรับอากาศของกลางเป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับ ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน และเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัว ทั้งเจตนาในการกระทำความผิดสองฐานก่อให้เกิดผลที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16116/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำเข้าพืชกระท่อมไม่เข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ความผิดฐานนำเข้ายาเสพติดให้โทษต่างจากความผิดศุลกากร
ความผิดฐานนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ไม่จำต้องมีองค์ประกอบในเรื่องหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรหรือเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาล เมื่อมีการนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นความผิดแล้ว ซึ่งแตกต่างจากความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ที่ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาล เมื่อใบพืชกระท่อมสดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นของที่มีไว้เป็นความผิด ไม่อาจเสียภาษีได้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรจึงมิใช่เป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรหรือเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาล จึงไม่เป็นความผิดฐานนำของที่ยังมิได้เสียภาษีหรือผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13930/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การประเมินต้นทุนซื้อทอง, การลดเบี้ยปรับ, และเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
กำหนดเวลาให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) เป็นการกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี แม้ไม่เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ แต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากร ศาลย่อมมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17
บันทึกคำให้การที่โจทก์ขอคัดถ่ายสำเนาปรากฏรายละเอียดและเหตุผลในการตรวจสอบ รวมทั้งข้อมูลที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ในการประเมิน ดังนี้ ย่อมฟังได้ว่าเหตุผลแห่งการประเมินเป็นที่รู้กันอยู่แล้วแก่โจทก์ จึงไม่จำต้องระบุในหนังสือแจ้งการประเมินถึงรายละเอียดและเหตุผลอีก ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 37 วรรคสาม (2) แล้ว
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์รับซื้อทองคำเก่าโดยใช้ราคาตลาดโลก แต่โจทก์ไม่สามารถชี้แจงที่มาของราคาตลาดโลกตามที่โจทก์อ้างซึ่งมีหลายราคา ทั้งโจทก์ไม่สามารถนำสืบอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการรับซื้อ ตลอดจนไม่สามารถชี้แจงถึงค่าความเสี่ยงที่โจทก์อ้างคืออะไร และเป็นจำนวนเท่าใด การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ใช้ราคาประกาศของสมาคมค้าทองคำในการคำนวณต้นทุนจึงมีเหตุผลและเป็นธรรม
แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 27 ทวิ ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรวางระเบียบในการงดหรือลดเบี้ยปรับออกมาใช้ แต่ก็เป็นเพียงระเบียบที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องถือปฏิบัติ ไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบเช่นว่านั้น ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการลดหรืองดเบี้ยปรับนั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดได้เองในกรณีมีเหตุสมควรอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13008/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการใช้ใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องหลายเดือน ถือเป็นกรรมเดียว
จำเลยทั้งสองร่วมกันนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปลงรายการในรายงานภาษีซื้อแต่ละคราวในเดือนเดียวกัน แล้วนำไปใช้ในการเครดิตภาษีก็โดยมีเจตนาและจุดประสงค์อย่างเดียวกันคือเพื่อจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีนั้น ๆ จึงถือว่าการกระทำตามฟ้องในแต่ละเดือนภาษีเป็นการกระทำกรรมเดียวกันอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อจำเลยทั้งสองกระทำการในลักษณะดังกล่าวรวม 7 เดือนภาษี จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสองเพียง 7 กรรม ตาม ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6860/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินฝากและเงินเดือนที่ไม่ได้ยื่นแบบชำระภาษี และการหลีกเลี่ยงภาษีร่วมกันระหว่างผู้รับเงินได้และนายจ้าง
เจ้าพนักงานประเมินได้หลักฐานว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินเป็นเงินเดือนและค่าน้ำมันรถยนต์ที่ได้รับจากห้าง ส. ซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่ง ป.รัษฎากร และนำเงินฝากเข้าบัญชีโจทก์ซึ่งโจทก์ไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินได้ประเภทใด จึงถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) วิธีการตรวจสอบและประเมินภาษีนั้น เป็นการตรวจสอบและประเมินภาษีตามมาตรา 19 ถึง 27 แห่ง ป.รัษฎากร ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบและประเมินโดยวิธีพิเศษ โดยกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้น อันจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเสียก่อนตามมาตรา 49 แห่ง ป.รัษฎากร
โจทก์มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (8) เป็นจำนวนตามการประเมินในแต่ละปีภาษีพิพาท ซึ่งโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์หักล้างได้ว่ามิใช่เงินได้ของโจทก์ เงินฝากดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้รับ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่ง ป.รัษฎากร
เมื่อโจทก์มีรายการเงินฝากในบัญชีซึ่งโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินได้ประเภทใด จึงถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบชำระภาษีครึ่งปีตามมาตรา 56 ทวิ
แม้ห้าง ส. มิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง โจทก์เป็นผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบและชำระภาษี แต่โจทก์ไม่ยื่นแบบและชำระภาษี โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีตามการประเมิน
โจทก์และห้าง ส. ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษี จึงไม่สมควรงดเบี้ยปรับ ส่วนเงินเพิ่มยังไม่มีเหตุอันสมควรให้งดหรือลด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5399/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท กรณีหลีกเลี่ยงภาษีอากรจากบุหรี่ลักลอบเข้า และโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร
การที่จำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดๆ ซึ่งบุหรี่ซิกาแรตของกลางที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร แล้วมีไว้ในครอบครองและมีไว้เพื่อขายซึ่งบุหรี่จำนวนเดียวกันอันเป็นยาสูบที่มีน้ำหนักเกินกว่าห้าร้อยกรัมซึ่งมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย แม้การกระทำนั้นจะผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายฉบับแต่ก็มุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีอากรตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งยาสูบที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้มาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติข้อความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่าๆ กัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15072/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ การวางแผนหลีกเลี่ยงภาษี และการประเมินภายในกำหนดอายุความ
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกสำหรับการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีของปีภาษี 2539 เกินกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 19 การประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ปลดภาษีดังกล่าว มีผลทำให้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนภาษีที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระให้ถูกต้องและเป็นจำนวนเงินของภาษีปี 2539 เต็มปี ซึ่งโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงมีอำนาจออกหมายเรียกและทำการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 23 และ 24 ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาในการออกหมายเรียก เมื่อสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และเจ้าพนักงานประเมินได้กระทำภายในกำหนดเวลาดังกล่าว การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเต็มปีภาษีสำหรับปีภาษี 2539 จึงรวมถึงจำนวนเงินได้พึงประเมินเต็มปีภาษีที่โจทก์ยังมิได้นำมารวมคำนวณและชำระภาษีสำหรับปีภาษี 2539 ด้วย การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คิดภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยมิได้เอาเงินได้อื่นมารวมคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษีและมิใช่เป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่นจึงชอบแล้ว
ป.รัษฎากร มาตรา 91/21(5) ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนอำนาจเจ้าพนักงานประเมินเฉพาะมาตรา 88/3, 88/4 และ 88/5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมิได้บัญญัติให้นำมาตรา 88/6 ในเรื่องกำหนดเวลาการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้บังคับด้วย จึงไม่อาจนำกำหนดเวลาการประเมินของภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แก่กรณีของโจทก์ และตามมาตรา 88/4 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาบังคับ อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.รัษฎากร มาตรา 19 ซึ่งเป็นบททั่วไป
เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 193/31 กำหนดให้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี ดังนั้น นับตั้งแต่วันครบกำหนดที่โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2539 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่มีปัญหาพิพาทจนถึงวันที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากโจทก์ยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่จะเรียกเอาภาษีธุรกิจเฉพาะยังไม่ขาดอายุความ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานช่วยเหลือการนำเข้าของเถื่อน โดยการฟ้องยึดทรัพย์แล้วประมูลซื้อเองเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 20 และมาตรา 120 มิได้มีข้อความตอนใดที่ระบุเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบ หรือระบุว่าหน้าที่นำสืบตกอยู่แก่ฝ่ายจำเลย ฉะนั้นเรื่องหน้าที่นำสืบและการวินิจฉัยพยานหลักฐานย่อมเป็นไปตามหลักที่ใช้ทั่วไปแก่คดีอาญาทั้งปวง คือโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 และจะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังโดยปราศจากความสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
จำเลยที่ 1 วางแผนการฟ้องคดีเพื่อให้มีการยึดทรัพย์รถยนต์ของกลางซึ่งนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียอากรออกขายทอดตลาด แล้วจำเลยที่ 1 เข้าสู้ราคาแต่เพียงผู้เดียว เมื่อประมูลซื้อจากการขายทอดตลาดได้ ก็นำไปจดทะเบียนเพื่อให้ได้ทะเบียนรถยนต์ใหม่แล้วนำไปขายต่อ ถือได้ว่าเป็นการช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง หรือโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3027/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกัน: ครอบครองโคเดอีน-หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร มีเจตนาและพฤติกรรมแยกต่างหาก
ความผิดฐานรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ และฐานมีโคเดอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโคเดอีนตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มีการกระทำที่แยกจากกันเป็นแต่ละฐานความผิดได้โดยชัดเจนไม่เกี่ยวเนื่องกันและเจตนาในการกระทำความผิดก็เป็นคนละอย่างแตกต่างจากกัน ความผิดแต่ละข้อหาดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อตอบแทนการหลีกเลี่ยงภาษี มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม เป็นโมฆะ
การที่จำเลยสามารถลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเนื่องจากโจทก์ทำหลักฐานว่ามีรายจ่ายซึ่งโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงและนำไปหักออกจากกำไรจากการประกอบกิจการของจำเลย นั้น ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ฉะนั้น โจทก์จึงไม่อาจนำเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่โจทก์กำหนดขึ้นเองไปหักออกจากกำไรสุทธิของจำเลยในปี 2542 และปี 2543 ซึ่งโจทก์และจำเลยควรรู้ได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น การที่จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 23,400,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนในการที่โจทก์ช่วยจำเลยหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยผู้มีเงินได้ที่จะต้องเสียตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์
of 13