พบผลลัพธ์ทั้งหมด 116 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ทำร้ายร่างกายจนเป็นอันตรายสาหัส: การกระทำร่วมกันและเจตนาในการทำร้าย
จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมต่อเนื่องกัน เมื่อ ร. พวกของจำเลยนำมีดหัวตัดที่นำติดตัวมาฟันโจทก์ร่วมจนเป็นอันตรายสาหัส จำเลยทั้งสามต้องรับผลในสิ่งที่ตนเองกับพวกกระทำลงไป จะอ้างว่ามีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายเท่านั้นหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 83
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8583/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การร่วมกันทำร้ายร่างกายจนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส โดยมีพยานยืนยันถึงการกระทำของจำเลย
จำเลยดันรถจักรยานยนต์ไปชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายนั่งซ้อนมาจนล้มลง เพื่อให้พวกของจำเลยรุมทำร้ายผู้เสียหายจนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 325/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 3-4
ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา กับทั้งไม่ใช่กรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกาในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494-2495/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และความรับผิดของตัวการร่วม
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตามที่วางแผนกันไว้ โดยอยู่ที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ด้านหลังรถยนต์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับสถานที่เกิดเหตุ อยู่ในลักษณะที่อาจเข้าไปช่วยเหลือให้การกระทำความผิดสำเร็จ มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่พวกของจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้คบคิดนัดหมายมาก่อน จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นตัวการกระทำความผิดฐานทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษก็ตาม เพราะการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงไม่อาจกำหนดโทษให้สูงขึ้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2459-2460/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาทำร้าย vs. พยายามฆ่า: การร่วมกันทำร้ายร่างกายจนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
การที่จำเลยทั้งสี่กับพวกขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และ น. มีมีดติดตัวไปด้วย แม้มีดที่ น. พาติดตัวไปจะมีขนาดใหญ่เป็นที่สังเกตเห็นได้โดยง่ายแก่บุคคลทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสี่ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่มีพฤติการณ์สมคบกันที่จะใช้มีดนั้นฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเหตุที่จำเลยทั้งสี่ทำร้ายผู้เสียหายก็เป็นสาเหตุเพียงเล็กน้อยไม่น่าจะถึงกับเอาชีวิตกัน และเมื่อ น. ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 4 ได้ผลัก น. ออกไปเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ น. ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายอีก ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มิได้ใช้มีดที่พามาฟันทำร้ายผู้เสียหาย คงมีเพียง น. ผู้เดียวที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย ทั้งเป็นการฟันทำร้ายหลังจากที่จำเลยทั้งสี่รุมเตะต่อยและใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายเสร็จแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่มิได้ห้ามปราม น. ไม่ให้พามีดดังกล่าวติดตัวไป ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับ น. ที่จะใช้มีดนี้ก่อเหตุ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกจากรถแล้วขว้างทิ้งหรือการที่จำเลยที่ 2 ดึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกจากมือของผู้เสียหาย น่าจะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนีและติดต่อขอความช่วยเหลือเพื่อความสะดวกในการที่กลุ่มของจำเลยทั้งสี่จะรุมทำร้ายผู้เสียหายมากกว่าจะฟังว่าเป็นการสมคบกันมาใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า พฤติการณ์ที่ น. ใช้มีดขนาดใหญ่ฟันผู้เสียหายที่บริเวณศีรษะและใบหน้าหลายครั้งหลังจากจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รุมทำร้ายผู้เสียหายแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันอันเกิดจากการตัดสินตามลำพังของ น. เอง นอกเหนือขอบเขตแห่งเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ประสงค์จะถือเอาการกระทำของ น. เป็นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกับ น. พยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่เมื่อผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสอันเนื่องมาจาก น. ใช้มีดฟันทำร้าย เกิดขึ้นจากการที่จำเลยทั้งสี่และ น. คบคิดกันมาทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลที่เกิดจากการกระทำของ น. ดังกล่าวด้วย จำเลยทั้งสี่มีความผิดเพียงฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 218/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสนับสนุนการกระทำความผิดทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และประเด็นการพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 288 แม้ศาลชั้นต้นฟังว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) โดยไตร่ตรองไว้ก่อนก็ไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 298 ได้ เพราะตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยกับพวกกระทำโดยไตร่ตรอง ทั้งไม่มีบทขอให้ลงโทษในคำขอท้ายฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 298 เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง