คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เงินทดแทน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 127 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเงินทดแทนและผลกระทบการควบกิจการต่ออัตราเงินสมทบ
แม้กองทุนเงินทดแทนจะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์ฟ้องระบุชื่อสำนักงานประกันสังคมซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเข้ามาเป็นจำเลยที่ 1 ด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นจากการควบกิจการระหว่าง 10 บริษัทตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 แม้ในการควบกิจการดังกล่าวทั้ง 10 บริษัทเดิมจะหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล และโจทก์ซึ่งเกิดจากการควบกันย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 152 และมาตรา 153 ก็ตาม แต่ 10 บริษัทดังกล่าวต่างมีลักษณะการประกอบกิจการและรหัสกิจการสำหรับการประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่หลากหลายแตกต่างกัน มิได้มีลักษณะการประกอบกิจการและรหัสกิจการที่เหมือนกับโจทก์เสียทีเดียว ทั้งการควบกิจการนี้ยังทำให้ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์อันเกิดจากการควบกิจการระหว่าง 10 บริษัทดังกล่าวระคนปนกันไปจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ กรณีจึงไม่อาจนำอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ของ 10 บริษัทดังกล่าวก่อนการควบกิจการมาใช้เป็นส่วนลดอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนของโจทก์ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 45 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2537 ข้อ 15 กับตารางที่ 2 แนบท้ายประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ได้
เมื่ออัตราเงินสมทบ หมวด 1600 ประเภทกิจการอื่นๆ รหัส 1601 สถาบันการเงิน สถาบันการประกันภัย สถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย การบริหารเกี่ยวกับกฎหมาย บัญชี หรือบริการด้านธุรกิจ อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.2 ของค่าจ้างนั้นใช้สำหรับการประเมินเงินสมทบในประเภทกิจการที่เป็นวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการของนายจ้าง แม้โจทก์จะอ้างว่ากิจการของโจทก์มีลูกจ้างทำงานในสำนักงานด้วย แต่เมื่อโจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการผลิต จำหน่ายอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารและถนอมอาหาร ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการประเภทดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจปรับเข้ารหัส 1601 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1882/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเงินทดแทน: ต้องเป็นผู้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องต่อศาลแรงงาน
แม้โจทก์อาจได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยเรียกเก็บเงินสมทบจากโจทก์เข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นดังที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อ อ. เป็นผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลย และเป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จนคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้อุทธรณ์ที่จะมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนเมื่อนายจ้างจ่ายทดรองแล้ว: ลูกจ้างไม่มีสิทธิรับซ้ำ
การจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้นตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างโดยทั่วไป เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินทดแทนโดยมิต้องเสี่ยงกับฐานะการเงินของนายจ้าง โดยลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ซึ่งหากลูกจ้างได้รับเงินทดแทนครบตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 จากนายจ้างแล้ว จึงเท่ากับนายจ้างได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างนั้นไปก่อน ลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้อีก คดีนี้เมื่อโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานและห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้รับเหมาช่วงในลำดับถัดขึ้นไปได้รับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (1) แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 2 เดือน 22 วัน เป็นเงิน 9,167.60 บาท และค่ารักษาพยาบาลในการที่โจทก์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลปทุมธานีและโรงพยาบาลตำรวจให้แก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง อันเป็นการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ซึ่งโจทก์ยอมรับเงินทดแทนดังกล่าวโดยไม่โต้แย้งคัดค้านว่าจำนวนเงินทดแทนที่ได้รับไปแล้วไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และไม่ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ยินยอมให้โจทก์ขอรับเงินทดแทนที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 2 โจทก์จึงขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15582/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายจากการทำงาน แม้จะยังมิได้ยื่นแบบเสียภาษี
คดีนี้แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าวสัญชาติพม่าซึ่งเข้าเมืองมาโดยมิชอบ แต่ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ได้อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 17 ประกอบประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2549 และวันที่ 19 มกราคม 2551 ซึ่งโจทก์ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแล้วเรียกว่า บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(พม่า) กับแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เป็นหลักฐานที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดทำขึ้น นอกจากนี้โจทก์ยังได้รับอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 12 (1) (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะนั้น) และกฎกระทรวงกำหนดแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการขอรับใบอนุญาตทำงานและการออกใบอนุญาตทำงาน สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่หลบหนีเข้าเมือง พ.ศ.2547 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ออกใบอนุญาตทำงานให้โจทก์ทำงานกับ ว. ซึ่งเป็นนายจ้าง มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 โดยมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (พม่า) กับแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติ อันเป็นหลักฐานที่สามารถใช้นำมาจัดทำฐานทะเบียนของโจทก์ ทั้งมีใบอนุญาตให้ทำงานได้ที่ทางราชการออกให้แล้ว ว. ผู้เป็นนายจ้างสามารถใช้หลักฐานดังกล่าวไปดำเนินการลงทะเบียนโดยการยื่นแบบลงทะเบียนนายจ้างและแบบรายการแสดงรายชื่อลูกจ้างได้ ตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง การลงทะเบียนนายจ้างตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 ที่แนวปฏิบัติของสำนักงานประกันสังคมตามหนังสือที่ รส 0711/ว 751 ข้อ 2.1 ที่กำหนดว่า แรงงานต่างด้าวที่จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตให้ทำงานที่ทางราชการออกให้มาแสดงประกอบกับหนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนั้น เมื่อโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันจากทางราชการให้ประกอบอาชีพในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษ โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้ ในการอนุญาตให้ทำงานและให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรนั้น กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้ออกใบอนุญาตให้ทำงาน โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้จดทะเบียนไว้ในแบบรายการทะเบียนประวัติเพื่อให้ได้สิทธิอาศัยชั่วคราว (ท.ร.38/1) และจัดบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้แก่โจทก์แล้ว มิอาจถือได้ว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติตามข้อ 2.1 ที่กำหนดไว้ในหนังสือที่ รส 0711/ว 751
สำหรับเรื่องการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเป็นหน้าที่โดยตรงของนายจ้างตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 44 หากนายจ้างไม่ดำเนินการ ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 46 และรับโทษทางอาญาตามมาตรา 62 และเป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมตามมาตรา 47 ที่จะต้องดำเนินการต่อนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีไม่อาจอ้างว่านายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนมาปฏิเสธสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง ทั้ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ไม่มีบทบัญญัติจำกัดเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิในการได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนว่าลูกจ้างจะต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทยเสียก่อน ดังนั้นการที่สำนักงานประกันสังคมออกหนังสือที่ รส 0711/ว 751 กำหนดในส่วนที่ว่า แรงงานต่างด้าวจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จะต้องมีหลักฐานว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 เมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน แต่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่อาศัยแนวปฏิบัติตามหนังสือที่ รส 0711/ว 751 ที่ไม่ชอบมาออกคำสั่งปฏิเสธสิทธิไม่ให้โจทก์ขอรับค่าทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (1) เดือนละ 2,418 บาท ส่วนที่ขาดอีก 4 เดือน 20 วัน จึงเป็นออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และการที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติให้จำหน่ายเรื่องที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่เรียกร้องค่าทดแทนส่วนที่ขาดก็เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 52 กรณีจึงมีเหตุให้ต้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 401/2550 ในส่วนที่มีมติให้จำหน่ายอุทธรณ์ของโจทก์ที่เรียกร้องให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่าทดแทนรายเดือนตามมาตรา 18 (1) เพิ่มเติมแก่โจทก์ แล้วให้สำนักงานประกันสังคม โดยกองทุนเงินทดแทนรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนส่วนนี้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15310/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตบุริมสิทธิเงินสมทบประกันสังคม/เงินทดแทน: ครอบคลุมหนี้ทั้งหมด ไม่จำกัดปี
ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 บัญญัติให้ เงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม เงินทดแทนที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม มีบุริมสิทธิในระดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตาม ป.พ.พ. โดยมิได้บัญญัติให้เรียกได้ในวงเงินที่ค้างในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้านั้นหนึ่งปี แม้ ป.พ.พ. มาตรา 256 จะบัญญัติให้ บุริมสิทธิค่าภาษีอากรใช้สำหรับของบรรดาค่าภาษีอากรที่ยังค้างอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่บัญญัติเอาไว้ในเฉพาะเรื่องบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14928/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่ารักษาพยาบาลเงินทดแทน: ต้องพักรักษาในหอผู้ป่วยหนัก/วิกฤต หรือใช้เครื่องช่วยหายใจครบ 20 วัน จึงจะได้รับค่าชดเชยเพิ่ม
กรณีที่นายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ศ.2548 ข้อ 4 (2) ที่ระบุว่าการประสบอันตรายไม่ว่าเป็นกรณีต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือหอผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกตั้งแต่ 20 วัน ขึ้นไปนั้น ต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 20 วัน ขึ้นไปประกอบด้วย
ร. ลูกจ้างโจทก์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 17 วัน และพักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูซึ่งอาจแปลได้ว่าพักรักษาตัวอยู่ในหอพักผู้ป่วยหนัก 15 วัน แม้หลังจากนั้น ร. พักรักษาตัวอยู่ในห้องผู้ป่วยรวมจนถึงวันออกจากโรงพยาบาลรวมเป็นเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่สาธารณรัฐเกาหลี 27 วัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าห้องผู้ป่วยรวมที่สาธารณรัฐเกาหลีมีลักษณะเป็นหอผู้ป่วยหนักหรือหอผู้ป่วยวิกฤตหรือไม่ การประสบอันตรายของ ร. จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่โจทก์ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 พ.ศ.2548 ข้อ 4 (2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากจำเลยเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15972/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิตเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับประโยชน์ตามกฎหมาย ไม่ใช่สิทธิที่ตกทอดแก่ทายาท
ในการจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายซึ่งกฎหมายบัญญัติให้จ่ายเป็นรายเดือนมีกำหนด 8 ปี ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 18 (4) นั้น ผู้มีหน้าที่ต้องจ่ายกับผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนดังกล่าวจะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้ตามมาตรา 24 แม้ บ. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 (2) ได้ขอรับค่าทดแทนในคราวเดียวเต็มจำนวนจากจำเลยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วเห็นควรที่จะจ่ายค่าทดแทนให้ บ. คราวเดียวได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสิทธิที่สมควรได้รับตามแนวปฏิบัติการพิจารณาจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) คราวเดียวเต็มจำนวน การที่ บ. ยอมรับค่าทดแทนจากจำเลยส่วนแรกเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งไปก่อนจึงถือเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ บ. เกี่ยวกับการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 24 มีผลทำให้ค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งของ บ. จะถึงกำหนดจ่ายหลังจากได้รับเงินครั้งแรกไปแล้ว 4 ปี
แม้จะปรากฏต่อมาว่าสิทธิในการได้รับค่าทดแทนของ บ. ได้สิ้นสุดลงเพราะ บ. ถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะถึงกำหนดจ่ายค่าทดแทนส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งก็ตาม กรณีก็ต้องนำส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งดังกล่าวของ บ. ผู้หมดสิทธิไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไปตามมาตรา 21 วรรคสอง ดังนั้น สิทธิในการได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 18 (4) จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 โจทก์ซึ่งแม้จะเป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของ บ. แต่ก็มิใช่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 จึงไม่มีสิทธิขอรับค่าทดแทนเมื่อถึงกำหนดจ่ายส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14813/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตค่ารักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน: ค่าห้อง-อาหาร รวมในค่ารักษาพยาบาล 110,000 บาท
ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 "ค่ารักษาพยาบาล" หมายความว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจ การรักษา การพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นเพื่อให้ผลของการประสบอันตรายหรือการเจ็บป่วยบรรเทาหรือหมดสิ้นไป และหมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องใช้ หรือวัตถุที่ใช้แทนหรือช่วยอวัยวะที่ประสบอันตรายด้วย ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไปตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 6 จึงเป็นส่วนหนึ่งของ "ค่ารักษาพยาบาล" ด้วย เนื่องจากถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่จำเป็น
กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 6 มีเจตนารมณ์ให้นายจ้างรับผิดในส่วนของค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป โดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่นายจ้างหรือกองทุนเงินทดแทนรับผิดไม่เกินวันละ 1,300 บาท ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไปรวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์มีสิทธิได้รับ 110,000 บาท แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินทดแทนกรณีบุตรผู้เสียชีวิตยื่นคำร้องล่าช้า และสถานะความเป็นบุตรโดยมิได้มีผลต่อสิทธิ
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างคือ (3) บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 18 ปี แต่ยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีให้ได้รับส่วนแบ่งเงินทดแทนต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ เป็นบทบัญญัติที่ถือเอาอายุและการศึกษาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ไม่ได้บัญญัติว่าต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) จึงต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง
มาตรา 49 บัญญัติให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย แต่ไม่ได้บัญญัติว่าหากไม่ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนระงับสิ้นไป ระยะเวลาการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วัน จึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ใช้สิทธิโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิ ดังนั้นแม้โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนเกิน 180 วัน นับแต่วันที่ผู้ตายประสบอันตรายโจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเงินทดแทน – การทำลายมติคณะกรรมการ – การจ่ายค่าทดแทนตามกฎหมาย
โจทก์ประสงค์ฟ้องคดีเพื่อให้ศาลแรงงานภาค 6 เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนทดแทนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายและให้พิพากษาว่าการประสบอันตรายของ พ. บุตรโจทก์เกิดจากการทำงานให้แก่นายจ้างอันเป็นการฟ้องเพื่อทำลายมติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ยืนตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกผู้พิจารณาในชั้นต้น สำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่างเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งและคำวินิจฉัย การที่โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกเป็นการฟ้องผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ออกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยปัญหาพิพาทตามกฎหมายเพื่อทำลายคำสั่งและคำวินิจฉัยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกเป็นจำเลยได้
โจทก์ฟ้องคดีด้วยวาจา ศาลแรงงานภาค 6 บันทึกรายการแห่งข้อหาตามแบบคำฟ้องคดีแรงาน (รง.1) โดยคำขอท้ายคำฟ้องระบุขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ว่า พ. ถึงแก่ความตายไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้นายจ้าง ไม่เป็นการประสบอันตรายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 และขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทดแทนกรณี พ. ถึงแก่ความตายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นเวลา 5 ปี เมื่อสิทธิการได้รับค่าทดแทนของโจทก์ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสี่ ซึ่งบัญญัติให้จ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 8 ปี ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจึงให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์โดยการจ่ายเงินให้จำเลยปฏิบัติตาม มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสี่ (เกินไปจากคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์)
of 13