คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เงินประกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 124 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18514/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อที่ดินจากการประมูลตัดสิทธิสัญญาเช่าเดิม ผู้ขายมีสิทธิเรียกคืนเงินประกัน
เดิมบริษัท บ. เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โจทก์ประสงค์จะเช่า แต่บริษัท บ. มีหนี้สินจำนวนมาก จึงทำหนังสือยินยอมให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ใช้สอยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 1 จึงให้โจทก์เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยวางเงินประกันความเสียหายไว้ ต่อมาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากเจ้าหนี้ของบริษัท ก. แล้วนำออกขายทอดตลาด โจทก์เข้าประมูลราคาจากการขายทอดตลาดได้ ย่อมถือว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวตกแก่โจทก์ สิทธิใดๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากบริษัท ก. เจ้าของเดิมจึงหมดไป โดยไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่ามีสิทธิเหนือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะทำให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 1 ยังคงอยู่ โจทก์มีสิทธิในทรัพย์ดังกล่าวเหนือกว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่อาจกล่าวอ้างหรือแสดงสิทธิผ่านสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาและไม่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่ถือว่าโจทก์กระทำผิดสัญญาเช่าต่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิริบเงินประกันความเสียหายที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยที่ 1 กับทั้งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันความเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเงินวางประกันค่าอากร/ค่าปรับ, อายุความ, การคิดดอกเบี้ยทบต้น, การบังคับใช้มาตรา 112 จัตวา แห่ง พ.ร.ก.ศุลกากร
ตามคำพิพากษาของศาลอาญาในคดีหมายเลขแดงที่ 2522/2527 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ บริษัทสุนิสา จำกัด จำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งศาลพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในประเภทศุลกากร ประเภทที่ 39.6 ข จึงพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับคดีส่วนแพ่งนั้นจำเลยได้ฟ้องเรียกค่าภาษีอากรโดยอาศัยพิกัดศุลกากรตามที่อ้างให้โจทก์วางประกันค่าอากรและขาดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 แล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เป็นกรณีต้องคืนเงินประกันค่าอากรดังกล่าว เพราะเหตุที่ได้เรียกเก็บไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ซึ่งตามมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลากากร พ.ศ.2469 บัญญัติให้คืนพร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้วางเงินประกันค่าอากรจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน
เงินประกันค่าอากรกับเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดตามฟ้องเป็นเงินคนละส่วนกัน และแม้ว่ามาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าปรับ แต่การที่โจทก์ต้องวางประกันค่าปรับดังกล่าวถือว่าโจทก์ต้องเสียหายตั้งแต่วางเงินประกันค่าปรับดังกล่าวโดยไม่สมัครใจ ดอกเบี้ยในเงินประกันค่าปรับตามที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยเข้าลักษณะเป็นดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม ปรากฏตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์มิได้ขอวางเงินประกันดังกล่าวเอง แต่ฝ่ายพิกัดกับฝ่ายวิเคราะห์สินค้ามีความเห็นขัดแย้งกัน และต่อมาฝ่ายวิเคราะห์สินค้าส่งเรื่องให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์และให้โจทก์วางเงินประกันค่าปรับดังกล่าว อันเป็นการวางเงินประกันโทษทางอาญาโดยโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ระงับคดีแต่อย่างใด โจทก์ย่อมต้องเสียหายตั้งแต่วันวางเงินประกันค่าปรับดังกล่าวและตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 7 โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนี้นับแต่วันวางเงินค่าปรับเช่นเดียวกับการวางเงินประกันค่าอากรดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น แม้โจทก์ขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยอ้างมาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ก็เป็นกรณีโจทก์ประสงค์ในดอกผลนิตินัยหาใช่กรณีโจทก์มิได้ขอมาในคำฟ้องดังที่จำเลยอ้างไม่
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ ฯลฯ คำว่า ดอกเบี้ยไม่ได้หมายความเฉพาะดอกเบี้ยจากหนี้เงินกู้เท่านั้น อาจเป็นดอกเบี้ยจากหนี้กรณีอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งดอกเบี้ยค้างชำระที่กำหนดอายุความ 5 ปีนี้ หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้องคดี แต่อย่างไรก็ตาม กรณีผู้เสียภาษีต้องจ่ายเงินค่าอากรหรือเงินประกันอากร แต่ต่อมามีสิทธิได้คืนเงินอากรหรือเงินประกันค่าอากรเพราะเหตุที่มีการเรียกไว้เกินจำนวนอันพึงต้องเสียหรือเสียเพิ่มเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ต้องเสียภาษี มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงบัญญัติให้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ชำระค่าอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืน และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ให้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน การที่กฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นอากรที่ต้องจ่ายคืนมีผลทำให้ดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ใช่ดอกเบี้ยตาม ประมวลกฎหมายและพานิชย์ ซึ่งมีกำหนดอายุความเพียง 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)
มาตรา 10 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเฉพาะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันนำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี แต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักและราคาแห่งของใดๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใดๆ นั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้นๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว หรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก หมายถึง ผู้เสียหายที่เสียอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสียต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรที่ต้องเสียไว้เกินภายใน 2 ปี คดีนี้โจทก์ฟ้องขอดอกเบี้ยสำหรับเงินวางประกันค่าอากร แม้มาตรา 112 จัตวา วรรคสี่ บัญญัติให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายนี้ถือเป็นเงินอากรที่ต้องจ่ายคืน แต่กรณีของโจทก์มิใช่กรณีสิทธิเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนพึงต้องเสียจริงซึ่งจะอยู่ในบังคับของมาตรา 10 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่สำหรับกรณีดอกเบี้ยเงินวางประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดเป็นดอกเบี้ยในหนี้เงินซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตาม ประมวลกฎหมายและพานิชย์ โดยมีอายุความ 5 ปี นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2548 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระจากจำเลยย้อนหลังไปเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี คือนับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2543 จนกระทั่งถึงวันที่จำเลยคืนเงินประกันค่าปรับกรณีสำแดงพิกัดเป็นเท็จทำให้อากรขาดให้แก่โจทก์คือวันที่ 23 มกราคม 2546 เท่านั้น โดยใช้ให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน หรือร้อยละ 7.5 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398-399/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายตู้โทรศัพท์: การรับประกันความเสียหายจากไฟฟ้าลัดวงจร และสิทธิการเรียกร้องเงินประกัน
คดีสำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินคืนแก่โจทก์ด้วยเหตุลาภมิควรได้ โดยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ การที่จำเลยทั้งสองเรียกเอาหลักประกันการปฏิบัติผิดสัญญาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์และธนาคารจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แล้วธนาคารใช้สิทธิไล่เบี้ยหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องเกิดขึ้น ณ ที่ทำการธนาคาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการจ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ เมื่อธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาว่า มูลคดีนี้เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำสัญญาซื้อขายตู้สาขาโทรศัพท์นั้นเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นข้อพิพาทเรื่องผิดสัญญาซื้อขายโดยตรง สัญญาดังกล่าวเป็นแต่เพียงเหตุที่มาของการหักเงินชำระแก่จำเลยทั้งสองเท่านั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในการรับค่าเช่าและเงินประกันจากสัญญาเช่าเดิม
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เช่าจากจำเลยผู้ให้เช่ามีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าต้องชำระหลังจากโอนกรรมสิทธิ์และเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระให้แก่จำเลยไว้ตั้งแต่วันทำสัญญาเช่า ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับหรือยึดถือเงินดังกล่าวไว้ แม้ต่อมาโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับผู้เช่าก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้รับโอนสัญญาเช่า: การรับชำระค่าเช่าและเงินประกันจากผู้เช่า
ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 569 ที่กำหนดให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า และผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าด้วยนั้น ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนมีสิทธิรับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าต้องชำระหลังจากโอนกรรมสิทธิ์ และเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิได้รับหรือยึดถือเงินดังกล่าวไว้ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์แม้ในเวลาต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังผู้เช่าก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าและการเลิกสัญญาเนื่องจากเหตุสุดวิสัย (เพลิงไหม้) จำเลยต้องคืนเงินประกัน
สัญญาเช่าร้านค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง มีสาระสำคัญคือจำเลยผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องส่งมอบสถานที่เช่าให้โจทก์ และโจทก์ในฐานะผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่ารวมถึงค่าบริการอื่นๆ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ให้แก่จำเลย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบสถานที่เช่าให้โจทก์ได้เพราะอาคารที่เช่าเกิดเพลิงใหม่บริเวณชั้นที่ 7 และชั้นที่ 8 และเป็นเหตุให้อาคารที่เป็นสถานที่เช่าตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยต้องปิดดำเนินกิจการ และไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเปิดดำเนินการได้เมื่อใด จึงเป็นผลให้โจทก์ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในสถานที่เช่าตามเจตนารมณ์ในการเข้าทำสัญญาได้ เหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นจนทำให้คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาต่อกันได้เป็นพฤติการณ์พิเศษอันไม่อาจถือเป็นความผิดทั้งของโจทก์และของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิขอเลิกสัญญากับจำเลยได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคแรก โดยจำเลยต้องคืนเงินประกันการเช่าตามสัญญาและเงินประกันการชำระค่าบริการที่รับไว้ทั้งหมดให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9384/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดสิทธิโจทก์บังคับจำเลยถอนเงินจากเช็คชำระหนี้ แม้เป็นเงินประกันตัวคดีอาญา
โจทก์มอบหมายให้ ส. นำเงินของโจทก์ไปประกันตัว ก. ต่อศาลชั้นต้น จำเลยรับเงินจาก ส. ไปดำเนินการ เมื่อคดีถึงที่สุดศาลชั้นต้นสั่งคืนเงินประกันโดยสั่งจ่ายเช็คธนาคาร อ. ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงิน จำเลยย่อมอยู่ในฐานะผู้ทรงในฐานเป็นผู้รับเงินที่พึงจะยื่นเช็คเพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คแก่ตนเท่านั้น เงินที่ธนาคารพึงใช้ให้แก่จำเลยตามเช็คจึงไม่ใช่เงินหรือทรัพย์สินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 โดยตรง หากจำเลยไม่ชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิจะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของจำเลย รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินจากธนาคารตามเช็คเพื่อมอบให้แก่โจทก์ รวมทั้งจะขอให้บังคับธนาคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีใช้เงินตามเช็คดังกล่าวแก่โจทก์ไม่ได้
คำฟ้องของโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยเบิกถอนเงินตามเช็คจำนวน 70,000 บาท ชำระแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงิน แม้ไม่อาจบังคับให้จำเลยกระทำการตามฟ้อง ศาลก็พิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีสิทธิปรับค่าเช่ารายวันได้ โจทก์ไม่รื้อถอนโครงสร้างตามสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันคืน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าคืนเงินประกันค่าเสียหายจากการใช้สถานที่เช่าเนื่องจากภายหลังครบกำหนดเวลาสัญญาเช่า โจทก์ผู้เช่าได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าโจทก์มิได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กออกจากที่เช่า แต่กลับขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยให้จำเลยที่ 1 หักเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าเช่า ซึ่งเป็นคำให้การที่ปฏิเสธข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็ก คดีจึงมีประเด็นพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลทำให้เกิดข้อแพ้ชนะในคดี และจะต้องวินิจฉัยก่อนประเด็นข้ออื่น ส่วนคำให้การที่ว่าโจทก์ขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างนอกเหนือไปจากข้ออ้าง ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ เพราะหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าแล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อไป เนื่องจากเป็นข้ออ้างที่เกินเลยไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นว่าโจทก์ได้ต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเมื่อจำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวน ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิหักเงินประกันเป็นค่าปรับรายวันนั้น จำเลยที่ 1 ได้แสดงมาโดยชัดแจ้งในคำให้การเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4614/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความสัญญาเช่าตามเจตนาจริงและข้อยกเว้นการริบเงินประกันความเสียหายเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยหรือความผิดของผู้เสียหาย
แม้สัญญาเช่าจะระบุว่า ถ้าอาคารที่เช่าเกิดอัคคีภัยขึ้นไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตามมากน้อยเท่าใดก็ตาม สัญญาเช่านี้เป็นอันระงับสิ้นสุดลงทันทีและผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าริบเงินประกันการเช่าได้ทั้งสิ้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้ร่างสัญญาเช่าดังกล่าวว่าเงื่อนไขของสัญญาเช่าในข้อดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์ที่เช่ามิให้เกิดอัคคีภัยขึ้น ดังนั้น การตีความตามสัญญาต้องตีความตามเจตนาแท้จริงของคู่สัญญาคือเงินประกันความเสียหายดังกล่าวเป็นเงินที่วางไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าโจทก์จะไม่ทำความเสียหายให้เกิดแก่ทรัพย์ที่เช่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ตรงกันว่าเหตุไฟไหม้เกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในขณะที่ทรัพย์ที่เช่าอยู่ในครอบครองของโจทก์ กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ โจทก์จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ความเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายคือจำเลยที่ 1 โจทก์จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิริบเงินประกันความเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1990/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเช่าและการหักเงินประกันความเสียหาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้รับโอนไม่ผูกพันตามสัญญาเดิม
โจทก์ซื้อตึกแถวพิพาทมาจาก ป. โดยมีจำเลยเช่าตึกแถวดังกล่าวจาก ป. อยู่ก่อนแล้ว โดยจำเลยชำระเงินประกันความเสียหายจากการเช่าให้ ป. ใช้จำนวนหนึ่ง เงินประกันการเช่านี้เป็นเงินประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างจำเลยผู้เช่าและผู้ให้เช่าเดิม แม้ระบุไว้ในสัญญาเช่าก็เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่อื่นตามสัญญาเช่า ทั้งไม่ใช่หน้าที่และความรับผิดระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าตามที่ ป.พ.พ. กำหนดไว้จึงไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับสัญญาเช่า กรณีไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าที่ผู้รับโอนจะต้องรับไป ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง การคืนเงินประกันการเช่าจึงไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่าที่โจทก์ในฐานะผู้รับโอนจะต้องรับผิดและปฏิบัติตาม เมื่อโจทก์ไม่ต้องรับผิดคืนเงินประกันการเช่าศาลอุทธรณ์จึงไม่มีสิทธินำเงินประกันการเช่าจำนวน 72,000 บาท มาหักจากค่าเสียหายที่จำเลยค้างชำระค่าเช่าโจทก์ได้
of 13