คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แก้ไขโทษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 473 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและการแก้ไขโทษโดยศาลฎีกา
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 219 ตรีซึ่งในกรณีนี้มาตรา 221 ไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้
คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 219ตรี ฎีกาของจำเลยที่ขอให้ศาลรอการลงโทษหรือลงโทษปรับจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และการอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7775/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานทำไม้และบุกรุกป่า: ศาลแก้ไขโทษกระทงความผิดกรรมเดียว
ความผิดฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานก่นสร้างแผ้วถางป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11,73 วรรคสอง และมาตรา 54,72 ตรี เมื่อเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 11,73 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มี โทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสีย ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6560/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก เนื่องจากศาลอุทธรณ์แก้ไขเฉพาะโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสามมิได้แก้บทมาตราด้วยเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ข้ออ้างที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยาน เพียงปากเดียวและไม่พบของกลาง ส่วนจำเลยทั้งสามมี ประจักษ์พยาน 2 ปากยืนยันว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่สามารถเอาผิดแก่จำเลยทั้งสามได้นั้นเป็น การโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับข้ออ้างที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ผู้เสียหายสมัครใจเข้าต่อสู้กับฝ่ายจำเลยจึงมิใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่รับฟังว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายเพื่อนำไปสู้การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดกรรมเดียวจากการลักลอบนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศและไม่ปิดแสตมป์ยาสูบ ศาลแก้ไขโทษปรับให้ถูกต้อง
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักลอบนำบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรและโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีและมีบุหรี่ซิกาแรต จำนวนเดียวกันนั้นโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบในวันเวลาเดียวกัน เป็นการกระทำ ที่จำเลยทั้งสองมีเจตนาในผลของการกระทำเป็นอย่างเดียวกันคือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและปิดแสตมป์ยาสูบตามกฎหมาย แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะผิดต่อกฎหมายหลายบทก็เป็นการกระทำโดยเจตนาเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียว ต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2467 มาตรา 27 ซึ่งเป็นบทกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานนำบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากร ปรับคนละ22,257 บาท แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ปรับจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดดังกล่าวเป็นเงินสี่เท่าของราคาซึ่งได้รวมค่าอากรจำนวน 5,564.45 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 22,257.80 บาทแม้ศาลชั้นต้นจะปรับจำเลยทั้งสองเป็นรายตัวคนละ 22,257 บาทซึ่งไม่ถูกต้องตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 เพราะต้องปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ และเป็นเงินสีเท่าดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้น ดังนี้ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจลงโทษปรับให้หนักขึ้นได้ศาลฎีกาก็แก้ไขเสียให้ถูกต้องเป็นให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงิน 22,257 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6397/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับคำสารภาพและการคำนวณโทษผิดพลาด ศาลฎีกาไม่สามารถแก้ไขโทษให้ได้
จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี 4 เดือน เป็นการคำนวณโทษผิดพลาด ที่ถูกเป็น 2 ปี 8 เดือนและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้องศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ.มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5448/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษกรรมเดียวผิดหลายบท อาญา – ใช้อาวุธปืนร่วมกับความผิดอื่น ศาลฎีกาแก้ไขโทษตาม ป.อ.มาตรา 90
จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานใช้อาวุธปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นหรือปล้นทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 288 หรือมาตรา 340 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78วรรคสาม และความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดอย่างอื่นตาม ป.อ.มาตรา 289 ประกอบมาตรา 80 กับความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนติดตัวและใช้ยานพาหนะตามมาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานใช้อาวุธปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแต่เพียงบทเดียวตาม ป.อ.มาตรา 90 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานใช้อาวุธปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงในการกระทำความผิดกระทงหนึ่ง ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดอย่างอื่น กับความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดอีกสถานหนึ่งต่างหากจากที่ลงโทษในความผิดฐานใช้อาวุธปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นหรือปล้นทรัพย์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.อ.มาตรา 90 ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องแม้จำเลยที่ 1 ผู้เดียวจะฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 225 ประกอบมาตรา 213

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร: การพิสูจน์เจตนาผู้รับซื้อ ความผิดฐานรับของโจร การแก้ไขโทษจำเลย และการคืนทรัพย์สิน
จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการหล่อโลหะและหล่อพระพุทธรูปมานานถึง 20 ปี น่าจะรู้ว่าพระของกลางเป็นรูปหล่อโลหะเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื้อโลหะเก่ามีลักษณะแตกต่างจากโลหะที่หล่อใหม่อย่างเห็นได้ชัด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่า นำไปทาน้ำยาฝังดินเพื่อให้เกิดสนิมทำให้ดูเป็นของเก่าจึงฟังไม่ขึ้น ทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงพระของกลางมีราคาถึง 300,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 รับซื้อไว้ในราคาเพียง 15,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำตัวผู้ขายมาเบิกความต่อศาลสนับสนุนข้อต่อสู้ของตนได้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อพระของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจร โจทก์ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ มิได้ขอให้ศาลริบของกลางดังกล่าว ศาลย่อมริบของกลางนั้นไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรกและสมควรคืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของตามที่โจทก์ขอ พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ล้างมลทินให้แก่จำเลยที่ 3และที่ 4 ซึ่งต้องคำพิพากษาและพ้นโทษไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีอาญาที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษไม่เกินที่กฎหมายกำหนด
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกจำเลย 2 เดือน และปรับ 24,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะลงโทษปรับจำเลยด้วยแต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ โทษที่จำเลยได้รับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงต่ำกว่าโทษที่จำเลยจะต้องรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย คดีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4282/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษคดีบุกรุกป่าสงวน: ศาลฎีกาแก้ไขโทษต่ำกว่าขั้นต่ำและให้รอการลงโทษโดยพิจารณาพฤติการณ์
จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง และแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ อันเป็นการกระทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธาร เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ประกอบด้วยมาตรา 31วรรคสอง (3) ซึ่งมาตรา 31 วรรคสอง กำหนดให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จึงเป็นการลงโทษต่ำกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินป่าสงวนและปลูกบ้านอยู่อาศัยมานานแล้ว และปลูกต้นไม้และผลอาสินทำมาหากินซึ่งโจทก์มิได้คัดค้านว่าไม่เป็นความจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยได้แก้ไขฟื้นฟูตนเองในสังคมภายนอก การรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยน่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมมากกว่า แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาขอให้รอการลงโทษแต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างลงโทษจำเลยไม่เหมาะสมก็ย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4147/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดกรรมเดียวฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูป แม้เป็นคนละชนิด ศาลฎีกาแก้ไขโทษจำคุกและให้รอการลงโทษ
ไม้สักแปรรูป 46 แผ่น ปริมาตร 0.19 ลูกบาศก์เมตรและไม้แดงแปรรูป 12 แผ่นปริมาตร 0.54 ลูกบาศก์เมตร ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ทั้งสองจำนวน เป็นไม้หวงห้ามในประเภท ก. ซึ่งจำเลยมีไว้ในเวลาเดียวกัน บทมาตราที่บัญญัติเป็นความผิดและบทกำหนดโทษก็คือมาตรา 48 และมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 อันเป็นบทมาตราเดียวกัน เพียงแต่กำหนดประเภทไม้ทั้งสองและกำหนดระวางโทษไว้ต่างวรรคกันโดยที่มาตรา 73 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้ลงโทษหนักขึ้น สำหรับความผิดเกี่ยวกับไม้สัก ไม้ยางหรือไม้หวงห้ามประเภท ข.แสดงว่าไม้หวงห้ามแปรรูปนั้นไม่ว่าจะเป็นไม้หวงห้ามชนิดใดก็ถือว่าเป็นวัตถุในประเภทเดียวกัน ฉะนั้น การมีไม้สักแปรรูปและไม้แดงแปรรูปไว้ในครอบครองในคราวเดียวกันจึงเป็นความผิดกรรมเดียวหาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225
จำเลยมีไม้สักแปรรูปและไม้แดงแปรรูปจำนวนดังกล่าวข้างต้นไว้ในครอบครองซึ่งเป็นไม้เก่าที่จำเลยรื้อถอนจากบ้านหลังเก่ามาเก็บสะสมไว้ส่วนหนึ่งและอีกบางส่วนก็เก็บรวบรวมมาจากไม้เก่าที่มิได้ใช้ประโยชน์แล้ว พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรงและจำเลยพึ่งกระทำความผิดเป็นครั้งแรก การลงโทษจำคุกจำเลยเสียทีเดียวโดยไม่ให้โอกาสแก่จำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีก่อนน่าจะไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวม ตามพฤติการณ์แห่งคดีโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้งให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติหรือจำเลยเห็นสมควร 30 ชั่วโมง มีกำหนด 1 ปี
of 48