คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่ปฏิบัติตาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 120 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระค่าขึ้นศาลตามคำสั่งศาล และผลของการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต่อการรับคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 4,818,750 บาท พร้อมยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลกึ่งหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น จึงผูกพันโจทก์ที่จะต้องนำค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งค่าขึ้นศาลกึ่งหนึ่งที่โจทก์ต้องชำระนั้น หมายถึงค่าขึ้นศาลกึ่งหนึ่งของทุนทรัพย์ตามคำฟ้อง เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องลดจำนวนทุนทรัพย์ลงเหลือ 2,409,375 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว โจทก์จึงต้องชำระค่าขึ้นศาลกึ่งหนึ่งของทุนทรัพย์ดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนทุนทรัพย์ที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล และรับคำฟ้องในส่วนทุนทรัพย์ที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล คือกึ่งหนึ่งของทุนทรัพย์ 2,409,375 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15010/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคัดค้านอนุญาโตตุลาการต้องยื่นต่อคณะอนุญาโตตุลาการก่อน หากไม่ปฏิบัติตาม ไม่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอน
สัญญาประกันภัยต่อระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านมีข้อกำหนดการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการว่า หากคู่ความมีข้อพิพาทใด ๆ เกี่ยวข้องกับสัญญานี้ ให้เสนอข้อพิพาทนั้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการ (an arbitration tribunal) ตามสำเนาข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมาตรา 20 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 บัญญัติว่า ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะคัดค้านอนุญาโตตุลาการจะต้องยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตั้งอนุญาโตตุลาการหรือรู้ข้อเท็จจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคสาม ที่กำหนดเหตุแห่งการคัดค้านไว้ตามคำร้องและคำคัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านแจ้งการแต่งตั้ง จ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน ผู้ร้องแจ้งคัดค้านการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้ร้องแล้วร่วมกันตั้งอนุญาโตตุลาการเพิ่มอีกหนึ่งคนเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เพื่อประกอบกันเป็นคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงวิธีคัดค้านอนุญาโตตุลาการไว้เป็นอย่างอื่น จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องยังไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง คือไม่ได้ยื่นหนังสือแสดงเหตุแห่งการคัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการแต่งตั้ง จ. เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1427/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม อาจทำให้ถูกถือว่าทิ้งฟ้อง
คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มตามราคาทรัพย์สินที่พิพาท เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ประกอบมาตรา 246 แม้โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้น และได้ยื่นคำโต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิฎีกาแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เพื่อที่ศาลอุทธรณ์จะได้พิจารณาชี้ขาดตัดสินอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป และหากโจทก์ยังติดใจปัญหาเรื่องค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ว่าคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มไม่ถูกต้อง โจทก์ก็มีสิทธิฎีกาได้ภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว การที่โจทก์เพียงแต่ยื่นคำโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวโดยไม่นำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระเพิ่มตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นนี้ จึงเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246
แม้โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่าได้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ถูกต้องแล้วก็ตาม แต่การตรวจรับอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์เป็นกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นทำการแทนศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าผู้อุทธรณ์ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาไม่ถูกต้องครบถ้วน ก็เป็นอำนาจศาลอุทธรณ์ที่จะให้ศาลชั้นต้นเรียกให้ผู้อุทธรณ์ชำระเสียให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังได้ เมื่อโจทก์ได้รับหมายนัดของศาลชั้นต้นให้นำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระเพิ่มตามราคาทรัพย์สินที่พิพาท แต่โจทก์กลับไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจยกความสุจริตของโจทก์ขึ้นกล่าวอ้างได้ ทั้งกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดระเบียบที่ศาลอุทธรณ์จะต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาตรวจรับอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์ของศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16887/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเรื่องค่าธรรมเนียม ทำให้ฎีกาถูกทิ้ง และคดีถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยว่า ให้จำเลยวางเงินค่านำส่งตามข้อบังคับว่าด้วยการส่งคำคู่ความและเอกสารทางคดีในวันถัดไป จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องวางเงินค่านำส่งดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนด เมื่อจำเลยไม่วางเงินค่านำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งของศาลและศาลฎีกามีคำสั่งว่าจำเลยทิ้งฎีกา ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความแล้ว คดีย่อมถึงที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาเพื่อคัดค้านคำสั่งของศาลฎีกาได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2955/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องฎีกาเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการส่งสำเนาฎีกา
ทนายผู้ร้องทำใบมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นฎีกา นำหมายและรับทราบคำสั่ง ปรากฏว่า เสมียนทนายผู้ร้องได้นำฎีกาของผู้ร้องมายื่นต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 13 มิถุนายน 2551 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาฎีกาให้ผู้คัดค้านภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งฎีกา และในฎีกาดังกล่าวมีข้อความประทับไว้ว่า "ข้าพเจ้าจะมาฟังคำสั่งภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว" เมื่อเสมียนทนายผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้ใต้ข้อความดังกล่าว จึงต้องถือว่าทนายผู้ร้องได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งในฎีกาของผู้ร้องแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2551 และถือว่าผู้ร้องได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นด้วย เมื่อผู้ร้องเพิกเฉยไม่นำส่งสำเนาฎีกาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ จึงเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 703/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกตรวจสอบภาษี และผลกระทบต่อการอุทธรณ์การประเมิน
เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 มีหนังสือเชิญหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบ แต่โจทก์อ้างว่ายังรวบรวมเอกสารไม่เสร็จ จึงไม่ได้ไปพบโดยมิได้แจ้งพนักงานของจำเลยที่ 1 ทราบ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกให้หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไปพบเพื่อให้ถ้อยคำประกอบการตรวจสอบไต่สวนและให้นำเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไปส่งมอบ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ได้โทรศัพท์ไปขอเลื่อนนัดถึง 3 ครั้ง โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักงานบัญชีเกี่ยวกับเอกสารที่จะต้องนำไปส่งมอบ เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามหมายเรียก แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็มิได้ไปพบหรือส่งมอบเอกสารแต่อย่างใด หลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกหนังสือเชิญพบอีก 2 ครั้ง เพื่อรับทราบผลการตรวจสอบภาษี แต่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ก็มิได้ไปพบ พฤติการณ์ของโจทก์ที่เพิกเฉย เป็นการไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 88 (3) แม้โจทก์นำส่งเอกสารในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ก็เป็นคนละขั้นตอนกับในชั้นตรวจสอบ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์การประเมินจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 88/5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1353/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินต่อศาลเพื่อฟ้องคดีแรงงาน: เงื่อนไขและผลของการไม่ปฏิบัติตาม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง โดยมาตรา 125 วรรคสาม กำหนดให้นายจ้างที่นำคดีไปสู่ศาลต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงจะฟ้องคดีได้ เงินดังกล่าวเป็นเงินที่นายจ้างต้องวางต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 193/2548 อันเป็นคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา 124 แล้วเป็นฝ่ายนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โจทก์จักต้องนำเงินที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของจำเลยมาวางศาลจึงจะฟ้องคดีได้ เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลภายในสิบห้าวันโจทก์ไม่ปฏิบัติตามแล้วอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันแล้วศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์ไม่วางเงินภายในกำหนดจึงไม่รับฟ้องของโจทก์แล้วให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้โจทก์วางเงินต่อศาลและเมื่อโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลจึงสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์จึงชอบแล้ว
เมื่อโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลแรงงานกลางภายในกำหนดศาลแรงงานกลางจึงไม่รับฟ้องของโจทก์ เช่นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4423/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หลังทราบผลตรวจพิสูจน์ ทำให้ไม่อาจส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจ
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้" พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดเวลาให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องก็เพื่อต้องการให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องโดยเร็วเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 โดยอ้างว่ากัญชาของกลางมีน้ำหนัก 5.51 กรัม ต่อมาผู้ร้องได้รับรายงานการตรวจพิสูจน์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 เวลา 16 นาฬิกา ปรากฏว่าน้ำหนักเฉพาะกัญชาของกลาง 4.44 กรัม ไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม จึงเข้าเงื่อนไขของมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 ข้อ 3 (2) อันเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย แต่ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้มีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยเร็วเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา แต่ผู้ร้องไม่ดำเนินการ กลับยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 และครั้งที่ 4 วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 และเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 หลังจากทราบผลรายการตรวจพิสูจน์แล้วถึง 33 วัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง จึงชอบจะยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3997/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเรื่องการเตรียมพยาน และการไม่แจ้งเหตุขัดข้อง อาจนำไปสู่การงดสืบพยานได้
ภายหลังศาลชั้นต้นชี้สองสถาน คู่ความไปกำหนดวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความของศาลชั้นต้น โดยกำหนดวันสืบพยานโจทก์วันที่ 19 มกราคม 2559 สืบพยานจำเลยวันที่ 20 มกราคม 2559 เวลา 9.00 น. ถึง 16.30 น. ทั้งสองวัน อันเป็นการกำหนดวันนัดพิจารณาต่อเนื่องล่วงหน้าเป็นเวลา 5 เดือนเศษ ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอที่คู่ความจะได้เตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้เสร็จตามกำหนดทั้งคู่ความลงลายมือชื่อในรายงานเจ้าหน้าที่ว่าได้รับเอกสาร ทราบคำสั่งศาลในการเตรียมคดี และจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการเตรียมคดีโดยเคร่งครัด ตามคำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องการเตรียมคดี ข้อ 1 ระบุว่า เมื่อศาลกำหนดวันนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องแล้ว คู่ความมีหน้าที่เตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้เสร็จตามกำหนดโดยเคร่งครัด และข้อ 7 หากมีเหตุขัดข้องใด ๆ ที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวพร้อมกำหนดแนวทางแก้ไขให้ศาลทราบ หรืออาจร้องขอให้ศาลสืบพยานล่วงหน้าไว้ทันทีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 101 มิฉะนั้น ศาลอาจถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นมีพฤติการณ์ในการประวิงคดี และอาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ฉะนั้น คู่ความทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องเตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้เสร็จตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด หากมีเหตุขัดข้องที่ทำให้คู่ความฝ่ายใดไม่สามารถนำพยานมาสืบได้ คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่แจ้งเหตุขัดข้องพร้อมแนวทางแก้ไขให้ศาลทราบ มิฉะนั้นศาลอาจมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และในการเลื่อนคดี ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชักช้า โดยห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม สำหรับโจทก์ขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่า ก. กรรมการโจทก์ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2559 ไม่สามารถเดินทางกลับมาเบิกความได้ทัน โจทก์ยอมรับในอุทธรณ์ว่า ก. ไปเจรจาธุรกิจการค้ากับชาวต่างชาติซึ่งติดต่อมากะทันหันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับวันนัดของศาล ก. มีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยวันที่ 19 มกราคม 2559 เวลา 9.00 น. แสดงว่าโจทก์รู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ก. ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยมาเบิกความในวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ทัน โจทก์ยังยินยอมให้ ก. เดินทางไปต่างประเทศโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องพร้อมแนวทางแก้ไขให้ศาลทราบ และไม่ได้นำพยานที่ประสงค์จะสืบอีก 2 ปาก มาเบิกความ พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าโจทก์มิได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล และจงใจฝ่าฝืนคำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องการเตรียมคดี ข้อ 1 และข้อ 7 ดังกล่าว นอกจากนี้ศาลชั้นต้นให้โอกาสโจทก์ติดตามพยานมาเบิกความโดยรอพยานโจทก์จนถึงเวลา 10.45 น. แต่โจทก์ไม่สามารถนำพยานมาเบิกความได้ กรณีมิใช่เหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ แม้เป็นการขอเลื่อนคดีครั้งแรกและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้านก็ไม่สมควรให้เลื่อนคดีหรือเลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในช่วงบ่ายดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดี เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาทิ้งฟ้องเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการส่งสำเนาฎีกาและเอกสารให้แก่คู่ความอื่น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า รับเป็นฎีกาของจำเลยที่ 1 สำเนาให้ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แก้ฎีกา ให้ผู้ร้องนำส่งภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา ในวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาและคำแถลงดังกล่าว ทนายจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องที่ประทับตราด้านล่างฎีกาและคำแถลงของจำเลยที่ 1 ว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นอย่างช้าที่สุดในวันที่ 25 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่นำส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 แต่จำเลยที่ 1 คงนำส่งสำเนาฎีกาแก่โจทก์โดยวางเงินค่านำส่งในวันที่ยื่นฎีกาและคำแถลงเท่านั้น มิได้ส่งคำร้องไม่คัดค้านของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 และไม่นำส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามคำสั่งศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 (เดิม) และ 247 (เดิม)
of 12