คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โมฆะ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,314 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15919/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ น.ส.3ก.ออกโดยมิชอบ สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ จำเลยต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย
การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4410 เป็นการออกเฉพาะราย โดยมีการนำหลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐาน เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่ง ป.ที่ดิน ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่า จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาหลอกขายให้โจทก์และได้รับเงิน 660,000 บาท จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินแปลงนั้น โจทก์ซื้อที่ดินมาไม่ได้สิทธิครอบครอง การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 ดังนั้น โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินได้ และการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการติดตามเอาเงินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินคืนเมื่อไร จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาว่าจ้างทนายความที่มีส่วนได้เสียทางการเงินเป็นโมฆะ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
ข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างทนายความที่ระบุว่า จำเลยทั้งเก้าตกลงให้ค่าจ้างจำนวนร้อยละ 10 ของจำนวนเงินค่าเสียหาย ดอกเบี้ย และผลประโยชน์ที่ได้รับนอกเหนือจากต้นเงินที่ซื้อขายที่ดิน... มีลักษณะเป็นข้อตกลงที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดีที่รับว่าความ จึงไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความถือว่าเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้จะปรากฏว่าตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 27 (3) (จ) และมาตรา 51 มิได้กำหนดให้การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2477 และ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2508 ก็มีผลเพียงว่าการทำสัญญาระหว่างทนายความและลูกความทำนองนี้ไม่เป็นการผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลให้ลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น หามีผลทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งเก้าดังกล่าวซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนกลับมีความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ สัญญาว่าจ้างทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งเก้าจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12115/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะนิติกรรมโอนสิทธิเช่าที่ดินราชพัสดุของผู้เยาว์ ฝ่าฝืนมาตรา 1574 (11) และ 1575
การทำนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุทำขณะที่โจทก์ทั้งสองยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ได้กระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 1574 (11) นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะทันที และยังเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กิจการนั้นย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุเกิดขึ้นเลย สิทธิการเช่าดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยรับโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไว้ แม้จะอ้างว่า รับโอนโดยสุจริตก็หามีผลทำให้จำเลยกลับมีสิทธิตามนิติกรรมโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวไม่ และเป็นกรณีมิใช่โมฆียกรรม ไม่อาจให้สัตยาบันหรือบอกล้างนิติกรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างว่าความที่มีการแบ่งผลประโยชน์จากผลคดี เป็นโมฆะ ฝ่าฝืนจริยธรรมทนายความ
การที่จำเลยทั้งสามทำบันทึกคำมั่นจะให้รางวัลแก่โจทก์อีกร้อยละ 5 ของเงินส่วนที่จำเลยทั้งสามได้รับเกินกว่า 80,000,000 บาท มีมูลเหตุมาจากปัญหาการกำหนดจำนวนทรัพย์มรดกที่โจทก์รับจะฟ้องให้จำเลยทั้งสาม โดยโจทก์ต้องการกำหนดค่าตอบแทนในการว่าความเพิ่มเติม ซึ่งมีเงื่อนไขที่โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 2 ข้อ กล่าวคือ จำเลยทั้งสามชนะคดีฟ้องแบ่งทรัพย์มรดกที่โจทก์รับว่าความให้และเป็นผลให้จำเลยทั้งสามได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาท ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับดังกล่าวย่อมเกิดจากการว่าความให้จำเลยทั้งสามจนชนะคดี กรณีเป็นการกำหนดค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าจ้างว่าความตามปกติ แม้จะเป็นบันทึกข้อตกลงที่จำเลยทั้งสามทำให้โจทก์หลังจากทำสัญญาจ้างว่าความแล้วอีกฉบับหนึ่งต่างหากก็ตาม ก็ไม่มีผลลบล้างลักษณะของนิติกรรมที่จำเลยทั้งสามทำไว้แก่โจทก์ แม้บันทึกที่ทำขึ้นภายหลังจะใช้คำว่า คำมั่นจะให้รางวัล กรณีก็ไม่อาจบังคับตามหลักกฎหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 362 บันทึกคำมั่นจะให้รางวัลดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น
บันทึกข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสามจะได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาทหรือไม่ หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือได้รับไม่เกินกว่า 80,000,000 บาท โจทก์จึงจะไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากจำเลยทั้งสาม ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความ แม้ไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้โดยชัดแจ้ง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6638/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้การพิจารณาคดีทั้งหมดเป็นโมฆะ
คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 297 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด และตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ปรากฏว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2544 วันที่ 4 กันยายน 2544 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 และวันที่ 13 มีนาคม 2545 มีผู้พิพากษานั่งพิจารณาเพียงผู้เดียว จึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีผลให้การพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายหลังย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเช่นกัน แม้คู่ความจะมิได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2976/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิการทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนฯ เป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ฯ มาตรา 14 และมาตรา 16 กฎหมายมิได้กำหนดเกี่ยวกับการโอนหนังสืออนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา 16 ไว้ ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตจึงไม่สามารถโอนสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้ผู้อื่นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำสวนปาล์มน้ำมันในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 เท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับอนุญาตจะเปลี่ยนแปลงฐานะผู้ได้รับอนุญาตจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกัน เป็นการเปลี่ยนตัวผู้รับอนุญาตหรือการโอนสิทธิตามที่ได้รับอนุญาตให้แก่บุคคลอื่นนั่นเอง จึงไม่สามารถกระทำได้ ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความรวมทั้งข้อตกลงเพิ่มเติมในรายงานกระบวนพิจารณา เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่ดำเนินมาภายหลังคำพิพากษาตามยอมไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมตกไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม พินัยกรรมเป็นโมฆะ ไม่ขาดอายุความ
การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีทุกประเด็นแต่ไม่ได้มีคำพิพากษาในคำขอเกี่ยวกับที่ดินที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 โอนคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องให้ครบทุกข้อ โดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
การบรรยายฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับพินัยกรรมทั้งสองฉบับว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 และไม่ว่าจะฟังข้อเท็จจริงอย่างไรพินัยกรรมฉบับนี้ก็ถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2545 เป็นการบรรยายฟ้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยก็เข้าใจสภาพแห่งข้อหาไม่ได้หลงต่อสู้ คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
การห้ามฟ้องบุพการีเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิจำต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า กรณีของผู้สืบสันดานชั้นบุตรหมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562
ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า ผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2545 โดยผู้ตายสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมซึ่งถือเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 กรณีมิใช่การฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1710 จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดอายุความตามมาตรา 1710

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11883/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายหุ้นต้องปฏิบัติตามหลักการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ แม้การโอนหุ้นไม่ถูกต้องก็ไม่ทำให้การซื้อขายเป็นโมฆะ
การซื้อขายหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งซึ่งต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง เพียงกำหนดแบบของการโอนหุ้นที่มีหลักฐานการโอนที่แน่นอนเท่านั้น หาใช่แบบของการซื้อขายหุ้น ผู้ซื้อหุ้นที่มิได้โอนหุ้นให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวยังไม่อาจอ้างว่าตนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท และไม่อาจใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นตามที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้เท่านั้น หาทำให้การซื้อขายหุ้นตกเป็นโมฆะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11645/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย โมฆะ และสิทธิในการคิดดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่า ขั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วันกู้ ดังนี้เป็นการนำสืบเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ
การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืนจึงจะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือหักจากยอดต้นเงินไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยสัญญาเงินกู้ที่สูงเกินไปเป็นโมฆะ การหักชำระดอกเบี้ยที่เคยชำระแล้วออกจากต้นเงิน และการแก้ไขคำพิพากษา
การที่ธนาคาร ธ. ระบุดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา โดยในขณะดังกล่าวนั้นลูกหนี้ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาแต่อย่างใด จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคาร ธ. อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ มาตรา 14 ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 3 (ก) ถือเป็นโมฆะ แม้ว่าตามความจริงแล้วจะยังไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในขณะที่ลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะกลับกลายไปเป็นชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ จึงเท่ากับว่าตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับไม่อาจมีการคิดดอกเบี้ยกันได้
การที่ธนาคาร ธ. เป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินย่อมต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์รวมถึงอัตราในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนลูกหนี้นั้นโดยสภาพและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจะทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด การดำเนินการของสถาบันการเงินซึ่งประกอบกิจการอันเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้ลูกหนี้เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่ามีการคิดดอกเบี้ยโดยถูกต้องแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าการชำระดอกเบี้ยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 กรณีจึงต้องนำเงินดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดไปหักชำระออกจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ
of 132