คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ครอบครองปรปักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,380 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3619/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจพิเศษครอบครองปรปักษ์ผูกพันตามคำพิพากษาเดิม การอ้างสิทธิขัดแย้งกับคดีก่อนหน้า
ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยทั้งสี่ ผู้ร้องบรรยายคำร้องกล่าวอ้างแสดงอำนาจพิเศษและเบิกความในชั้นไต่สวนว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว นับแต่ ป. ละทิ้งการครอบครองไป แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 339/2551 ของศาลชั้นต้นเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดียวกันนี้เฉพาะเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ โดยการครอบครองปรปักษ์อ้างเหตุ ป. ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ยิ่งไปกว่านั้นในคดีแพ่งดังกล่าว โจทก์คดีนี้ก็ได้ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1151/2552 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเป็นบริวารของ ป. และผู้ร้องมิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ พิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ดังนี้ คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความคือผู้ร้องและโจทก์ในฐานะผู้คัดค้าน นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษา จนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างเพื่อสนับสนุนว่าผู้ร้องมีอำนาจพิเศษจึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3356-3357/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย, การครอบครองปรปักษ์, สิทธิในการฟ้องขับไล่, และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ
เมื่อ ข. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ที่จะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงที่มีชื่อ ข. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เมื่อโจทก์ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ถึงแก่ความตายระหว่างฎีกา จึงไม่สามารถบังคับโจทก์ที่ 3 ได้ คงได้แต่อาศัยคำพิพากษาศาลแสดงเจตนาแทนโจทก์ที่ 3 ตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คำร้องครอบครองปรปักษ์ที่ขัดแย้งกับคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 ผู้คัดค้านทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ได้ยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12730 และ 12732 เป็นของผู้คัดค้านทั้งสามที่ได้รับมรดกมาจาก ก. ขอให้ผู้ร้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้คัดค้านทั้งสาม ต่อมาผู้คัดค้านทั้งสามและผู้ร้องตกลงกันได้โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาตามยอมเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1627/2549 ระบุให้มีการรังวัดเนื้อที่ดินในโฉนดเลขที่ 12730 และ 12732 ให้ได้เนื้อที่ครบตามหน้าโฉนด หากปรากฏว่ามีที่ดินเหลือจากการรังวัดให้ถือว่าส่วนที่เหลือเป็นที่ดินของผู้ร้อง คดีถึงที่สุด ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดที่ดินกับมีการปักหลักเขตเรียบร้อยแล้ว การที่ผู้ร้องมาร้องขอครอบครองปรปักษ์ เป็นคดีนี้ซึ่งเป็นที่ดินที่เดียวกับที่พิพาทและมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1627/2549 ของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามในคดีนี้กับโจทก์และจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่ต้องพิจารณาในคดีนี้กับคดีดังกล่าวก็เป็นประเด็นเนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ซึ่งผู้ร้องในคดีนี้มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็มิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ให้แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องกลับหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาฎีกาว่า ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาตามยอม หาได้เป็นการกระทบกระเทือนการครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องไม่ คำร้องขอของผู้ร้องไม่เป็นฟ้องซ้ำนั้น จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14291/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และประเด็นการครอบครองปรปักษ์ที่ต้องห้าม
ปัญหาว่า โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก..." โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมแต่ผู้เดียวย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยโดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของรวมรายอื่นอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ประเด็นว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่นั้นไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยย่อมไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้
จำเลยให้การโดยบรรยายมาในคำให้การข้อ 3 ว่า จำเลยได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็โดยที่ดินพิพาทและบริเวณใกล้เคียงที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า สภาพของที่ดินเป็นที่ลุ่ม มีน้ำฝนขังในหน้าฝนและแห้งแล้งในหน้าแล้ง มีต้นหญ้ากกต้นวัชพืชขึ้นรกเต็มพื้นที่ ไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดินแต่ประการใด จำเลยได้สอบถามชาวบ้านใกล้เคียงต่างบอกว่าไม่เห็นมีใครทำประโยชน์และไม่ทราบว่าเป็นที่มีเจ้าของ จำเลยเห็นว่าสภาพของที่ดินพอเป็นที่เลี้ยงสัตว์ได้ถ้าได้ถากถางต้นหญ้าต้นไม้ที่ขึ้นรกออก จำเลยจึงได้เข้าไปทำประโยชน์ โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ใดและไม่มีผู้ใดขัดขวางห้ามปราม ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้แผ้วถางที่ดินพิพาทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2529 การที่จำเลยให้การในตอนหลังว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์จึงขัดกับคำให้การในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยในประเด็นการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)
จำเลยให้การในตอนหนึ่งว่า โจทก์ได้แสดงความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาท เมื่อปี 2542 พร้อมกับแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยไม่ยอมออกไป ตามคำให้การดังกล่าว แม้จะถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่เมื่อนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องก็ยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14118/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ vs. สิทธิจำนอง: สิทธิยังไม่ได้จดทะเบียนใช้ต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้
โจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 อันเป็นอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียน จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ผู้รับจำนองซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินเดิมอันถือว่าเป็นบุคคลภายนอกที่ได้สิทธิตามสัญญาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคือที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 ในคดีที่จำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 3 ไม่อาจยึดนำที่ดินและบ้านพิพาทดังกล่าวออกขายทอดตลาดในคดีดังกล่าวได้เท่านั้น แต่ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิในฐานะผู้รับจำนองของจำเลยที่ 3 ที่มีต่อทรัพย์จำนอง ซึ่งสิทธิตามสัญญาจำนองจะระงับไปก็ต่อเมื่อมีเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เท่านั้น อันได้แก่ เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น เมื่อถอนจำนอง เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาล อันเนื่องมาแต่การบังคับจำนองหรือถอนจำนอง เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด เมื่อเหตุที่โจทก์อ้างไม่ใช่เหตุตามบทบัญญัติที่กล่าว สัญญาจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 จึงยังไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 91005 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13969/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มจากที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ การครอบครองใน น.ส.3ก. ไม่นำซึ่งกรรมสิทธิ์
บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่น ที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เสียก่อน จึงจะถูกอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้จะมีเจตนาครอบครองอย่างเป็นปรปักษ์ก็หาได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสิทธิคนละประเภทกับสิทธิครอบครองที่มีอยู่แต่เดิมไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน น.ส. 3 ก. ที่มีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทได้
โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้สิทธิครอบครองจะเป็นสิทธิในทรัพย์สินที่อยู่ในอันดับรองจากกรรมสิทธิ์ แต่ก็หาใช่สิทธิที่กฎหมายรับรองให้มีการร้องขอแสดงสิทธิได้เช่นเดียวกับกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ กรณีจึงไม่อาจมีคำพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไปเสียในคราวเดียวกันในชั้นนี้เพราะสิทธิครอบครองในที่ดินของผู้อื่นจะมีได้ก็แต่การแย่งการครอบครองเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เมื่อคดีไม่มีประเด็นพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง ประกอบกับไม่ได้ความว่าโจทก์เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 จึงต้องรับฟังว่าการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นการครอบครองแทนจำเลยตลอดมา กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท: เจ้าหนี้คำพิพากษาไร้สิทธิคัดค้าน
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งผู้ร้องกับ ส. ร่วมกันซื้อมาระหว่างเป็นสามีภริยา ผู้ร้องกับ ส. จดทะเบียนหย่ากัน โดยผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทนั้นตลอดมาและได้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทในส่วนของ ส. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของ ส. ดังกล่าว ผู้คัดค้านเป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ ส. ในคดีอื่นไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคดีนี้ จึงไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีเพื่อขอรับความรับรอง หรือคุ้มครองว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และผู้ร้องไม่สมควรได้สิทธิครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ได้ อีกทั้งคำคัดค้านนั้นได้ยื่นเข้ามาภายหลังที่คดีถึงที่สุดไปแล้ว แม้ผู้คัดค้านอ้างว่าตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่ผลของการคัดค้านโดยการร้องสอดตามมาตรา 57 (1) ผู้คัดค้านจะต้องเข้ามาเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง โดยผู้ร้องมีฐานะเป็นโจทก์ ส่วนผู้คัดค้านมีฐานะเป็นจำเลย ผู้คัดค้านจึงต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังได้กล่าวเพื่อจะได้ใช้สิทธินั้นคัดค้านว่าผู้ร้องมิได้ครอบครองปรปักษ์ เมื่อผู้คัดค้านมิได้อยู่ในฐานะใดฐานะหนึ่งตามเงื่อนไขที่มาตรา 57 (1) บัญญัติ จึงชอบที่ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการตามสิทธิส่วนของตนในคดีอื่น มิใช่โดยการยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12356/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองปรปักษ์ vs. สิทธิที่ได้จากการซื้อขายและจดทะเบียน: การคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้ซื้อโดยสุจริต
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. และ ม. และจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ผู้ร้องซึ่งอ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาท เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าโจทก์อย่างไร ทั้งตามคำร้องเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียน กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เมื่อผู้ร้องมิได้ตั้งประเด็นในคำร้องว่า โจทก์มิใช่บุคคลภายนอกและซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต จึงต้องฟังว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. และ ม. โดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของ ป.พ.พ. มาตรา 6 นอกจากนี้ ผู้ร้องยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำร้องว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วก่อนโจทก์จะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ร้องจึงยกเอาสิทธิที่ได้มาอยู่ก่อนและยังมิได้จดทะเบียนขึ้นใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามบทมาตราดังกล่าว และเมื่อตามคำร้องของผู้ร้องไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิดีกว่าโจทก์ที่อยู่ในที่ดินพิพาทได้จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งยกคำร้องโดยไม่จำต้องทำการไต่สวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11238/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ที่ดิน: ศาลต้องรับฟ้องแย้งเพื่อพิจารณาข้ออ้างการได้กรรมสิทธิ์
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งห้าออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งห้าให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งห้าอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสัดส่วน เนื้อที่ 70 ตารางวา โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาแล้วเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีโดยมิได้อาศัยสิทธิของผู้ใด ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งห้า ให้โจทก์ไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งห้า หากโจทก์ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งห้าโต้เถียงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งห้าจึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ส่วนคำขอท้ายฟ้องแย้งแม้จะขอมาเป็นข้อเดียว แต่แยกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 70 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งห้า กับส่วนที่สองขอให้โจทก์ไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยทั้งห้า ถึงแม้คำขอท้ายฟ้องแย้งส่วนที่สองจะไม่มีกฎหมายให้ศาลบังคับโจทก์ปฏิบัติเช่นนั้น ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องแย้งในส่วนที่สองเท่านั้น แต่ศาลชั้นต้นจะต้องสั่งรับฟ้องแย้งในส่วนที่ขอให้พิพากษาว่าจำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 70 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ไว้พิจารณาและพิพากษาไปตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: การครอบครองปรปักษ์, การรุกล้ำที่ดิน, และสิทธิเหนือสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ส่งหลักฐานการชำระราคาที่ดิน ลำพังหนังสือสัญญาขายที่ดิน ไม่อาจรับฟังได้ว่า ส. ชำระเงินให้แก่ ป. แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่า ส. รับโอนที่ดินโดยเสียค่าตอบแทนนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ตั้งเป็นประเด็นในคำให้การว่า ส. รับโอนที่ดินพิพาทจาก ป. โดยมิได้ชำระค่าที่ดินหรือไม่เสียค่าตอบแทน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ส. ซื้อและรับโอนที่ดินจาก ป. โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จึงได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต จำเลยกล่าวอ้างว่า ส. รับโอนที่ดินโดยไม่สุจริต จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หมายถึงการได้มาโดยไม่รู้ว่ามีบุคคลอื่นได้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์มาก่อนแล้ว ถ้าได้มาโดยรู้เช่นนั้นย่อมไม่สุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินซึ่งสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้โดยไม่จำต้องส่งมอบ การครอบครองที่ดินให้แก่กัน ทั้งในทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินก็ระบุชัดว่า ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยได้รับมรดกมาจากบิดา กับไม่มีการจดแจ้งอย่างใด ๆ ว่าจำเลยเป็นเจ้าของตึกแถวที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดิน ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่ ส. จะตกลงซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทในทางทะเบียน โดยไม่จำต้องคำนึงว่า ป. เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริงหรือไม่ ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่ ส. ซื้อที่ดินมาในราคาสูงก็ดี ที่ดินอยู่ในทำเลการค้าหรือในที่เจริญก็ดี แต่ ส. ไม่ไปตรวจสอบที่ดินก่อนว่ามีใครเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์และเข้าไปอยู่ในตึกแถวได้อย่างไรในฐานะใด จึงยังไม่พอฟังว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ส. อันเป็นการซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต จำเลยยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้ ส. ไม่ได้ ส. มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย เช่นนี้ ต่อมาการที่โจทก์ทั้งสองซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจาก ส. ไม่ว่าจะสุจริตหรือไม่ จำเลยก็ไม่อาจที่จะยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง เพราะสิทธิที่จะอ้างข้อกฎหมายดังกล่าวของจำเลยขาดช่วงไปตั้งแต่ที่ ส. ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ป. โดยสุจริตแล้ว โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย การครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของจำเลยจึงต้องเริ่มใหม่นับแต่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ซึ่งนับถึงวันจำเลยฟ้องแย้งยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
การที่ ม. และ ข. ปลูกสร้างตึกแถวในที่ดินของตนเอง ต่อมาแบ่งแยกที่ดินและยกตึกแถวให้แก่บุตร โดยปรากฏในภายหลังว่าตึกแถวเลขที่ 1/12 ซึ่งยกให้ อ. อยู่ในที่ดินพิพาทที่ยกให้แก่ ล. ทั้งแปลงและอยู่ในที่ดินของ อ. เป็นส่วนน้อย จึงต้องถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตมาแต่เดิมและกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้โดยตรง จึงต้องอาศัยเทียบเคียงตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1310 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามมาตรา 4 วรรคสอง อันมีผลทำให้โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของตึกแถวเลขที่ 1/12 แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างตึกแถวเลขที่ 1/12 นั้นให้แก่จำเลยและพวกซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวม ส่วนที่ตึกแถวเลขที่ 1/12 บางส่วนที่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1247 ประมาณ 2 ตารางวา ก็ต้องปรับบทเทียบเคียง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โดยถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตึกแถวเลขที่ 1/12 ส่วนปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยจึงเป็นของโจทก์ทั้งสองด้วย แต่โจทก์ทั้งสองต้องเสียเงินค่าที่ดินส่วนที่รุกล้ำให้แก่จำเลยและพวก การครอบครองตึกแถวของจำเลยจึงไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เพราะจำเลยมีสิทธิครอบครองโดยชอบมาแต่เดิมและโจทก์ทั้งสองยังมิได้ใช้ค่าที่ดินทั้งในสองกรณีให้แก่จำเลย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองต้องไปบังคับแก่จำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องต่อไป ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 246 และ 247
of 138