คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
โมฆะ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,314 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นโมฆะ แม้มีสัญญาซื้อขายและทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่า สัญญาจะซื้อจะขายในส่วนของที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงเป็นโมฆะเนื่องจากที่ดินสาธารณประโยชน์ไม่อาจซื้อขายกันได้ ดังนี้ โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าสัญญาจะซื้อจะขายในส่วนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ได้ตกเป็นโมฆะตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขและวินิจฉัยไปตามภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้องได้
ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงเป็นที่ชายตลิ่งที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 การมีหรือการได้สิทธิครอบครองในที่ดินจึงต้องอาศัยการยึดถือครอบครองตามความเป็นจริง หาอาจโอนกันได้ดังเช่นสิทธิครอบครองที่รัฐให้การรับรองสิทธิแล้วไม่ ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายในส่วนดังกล่าวได้ และเมื่อโจทก์ยังไม่ได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงดังกล่าว ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จึงไม่อาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงดังกล่าวได้เช่นกัน
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงฐานลาภมิควรได้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขาย มิได้ตั้งประเด็นในเรื่องลาภมิควรได้และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงินค่าที่ดินแต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์ได้
สำหรับที่โจทก์ขออ้างส่งสำเนาคำฟ้อง แผนที่วิวาท สำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและสำเนาคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 556/2560 ของศาลชั้นต้นเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นพยานเพิ่มเติมนั้น เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารที่โจทก์ขอให้ใช้ประกอบดุลพินิจของศาลฎีกาในข้อที่โจทก์ฎีกาว่า สิทธิครอบครองในที่ดินสาธารณประโยชน์สามารถโอนให้แก่กันได้ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานในประเด็นแห่งคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ต้องขออนุญาตระบุเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อโมฆะจากโฆษณาที่เป็นเท็จ ผู้บริโภคมีสิทธิคืนทรัพย์และเงิน
แผ่นป้ายโฆษณาของจำเลยข้อความว่า "ให้เงินกู้ค่ะ มีบ้านมีรถเงินสดทันใจ ไม่โอนเล่ม ไม่จดจำนอง" และ "ให้เงินกู้ จัด 2 แสน รถยนต์ไม่ต้องโอน ทะเบียนรถทุกชนิด รถไถ โฉนดบ้าน ที่ดิน คอนโด" แม้ป้ายโฆษณาจะระบุให้ติดต่อกับสาขาของจำเลยคนละสาขา แต่ก็เป็นการโฆษณากิจการให้เงินกู้ของจำเลย เมื่อโจทก์เข้าทำธุรกรรมทางการเงินกับจำเลยเนื่องมาจากการโฆษณาตามแผ่นป้ายดังกล่าว จึงถือว่าแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์ผู้บริโภคกับจำเลยผู้ประกอบธุรกิจ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 เมื่อรถที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยเป็นรถแทรกเตอร์ขุดตักประเภทเดียวกับที่ระบุในแผ่นป้ายโฆษณาว่าไม่โอนเล่ม การที่จำเลยให้โจทก์กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้อและมีการโอนกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ให้แก่จำเลยจึงไม่เป็นไปตามที่โฆษณา การโฆษณาดังกล่าวของจำเลยถือได้ว่าเป็นข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการตามมาตรา 22 (2) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ถือเป็นโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมมีลักษณะเป็นการลวงผู้บริโภคซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 47 อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และต้องคืนทรัพย์สินต่อกันตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ จำเลยจึงต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์คันพิพาทคืนแก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับมาจากจำเลยทั้งหมดให้แก่จำเลย โดยต้องนำเงินที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้ว มาหักออกจากจำนวนที่โจทก์ต้องรับผิด และเมื่อการคืนทรัพย์สินหรือเงินอันเกิดจากโมฆะกรรม ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องใช้ดอกเบี้ย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องคืน แต่มีอำนาจเพิกถอนรายการจดทะเบียนอันเกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะนั้นเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายสินค้า/บริการโดยใช้เทรดบาท ไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่เป็นโมฆะ
ธุรกิจตามสัญญาการเป็นสมาชิกระบบการค้าแลกเปลี่ยนที่กำหนดเทรดบาทเพื่อใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ เป็นการให้สินเชื่อแก่จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการในระหว่างสมาชิกด้วยกัน โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ กำหนดวงเงินการซื้อขายหรือให้บริการ ควบคุมและจัดทำบัญชีการซื้อขายและการบริการระหว่างจำเลยกับกลุ่มสมาชิกของโจทก์ โดยมีหน่วยที่ใช้วัดมูลค่าของสินค้าหรือการบริการที่โจทก์กำหนดขึ้นที่เรียกว่าเทรดบาทมาเป็นตัวกำหนดวงเงินที่จำเลยมีสิทธิซื้อขายสินค้าและการบริการได้ในระหว่างสมาชิก รวมถึงการกำหนดมูลค่าของสินค้าหรือการบริการที่มีการซื้อหรือการให้บริการกัน ตลอดจนค่าตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลย โดยใช้วิธีหักทอนบัญชีสินเชื่อที่กำหนดมูลค่าเป็นเทรดบาทระหว่างจำเลยกับคู่ค้าที่เป็นสมาชิกของโจทก์ โดยไม่มีการชำระด้วยเทรดบาทเป็นเงินสด แต่มีการใช้เงินสดเป็นเงินบาทในการชำระหนี้เมื่อสมาชิกอีกฝ่ายหนึ่งมียอดซื้อและยอดขายสินค้าหรือบริการที่ไม่สมดุลกันเกินระยะเวลาที่กำหนดทำให้มียอดค้างชำระค่าสินค้าหรือบริการแล้วมีการเลิกสัญญากัน อันเป็นรูปแบบการให้สินเชื่อทางการค้าอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถทำได้ทำนองเดียวกับการให้สินเชื่อของผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเทรดบาทดังกล่าวไม่ใช่เงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย หรือเงินตราต่างประเทศที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศอื่นใดนอกจากประเทศไทย หรือค่าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามความหมายตามนัยมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของจำเลยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงควบคุม กำกัด หรือห้ามการปฏิบัติกิจการเกี่ยวกับกรณีตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย จึงไม่ถือว่า สัญญาดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 อันจะทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงวิ่งเต้นแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นโมฆะ, การคืนเงินถือเป็นลาภมิควรได้, โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อตอบแทนการหลีกเลี่ยงภาษี มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม เป็นโมฆะ
การที่จำเลยสามารถลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเนื่องจากโจทก์ทำหลักฐานว่ามีรายจ่ายซึ่งโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงและนำไปหักออกจากกำไรจากการประกอบกิจการของจำเลย นั้น ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ฉะนั้น โจทก์จึงไม่อาจนำเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่โจทก์กำหนดขึ้นเองไปหักออกจากกำไรสุทธิของจำเลยในปี 2542 และปี 2543 ซึ่งโจทก์และจำเลยควรรู้ได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น การที่จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 23,400,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนในการที่โจทก์ช่วยจำเลยหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยผู้มีเงินได้ที่จะต้องเสียตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3023/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้: ไม่เป็นโมฆะหากมิได้มีการฟ้องขอให้โอนทรัพย์เฉพาะสิ่ง
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ทราบว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจ้างทำของและต้องบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5919/2555 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาจ้างทำของ มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 อันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 4 จึงมิใช่กรณีที่เป็นการโอนและรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทตามที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลไว้อันจะทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หากเป็นจริงดังอ้างก็เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินสาธารณะเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนได้ตามกฎหมาย แม้เวลาผ่านไป
โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ ราคา 10,000,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วน และจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยขายแก่โจทก์ตั้งอยู่ในเขตที่สวนเลี้ยงสัตว์บ้านท่าแดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ซึ่งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามมาตรา 150 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่นำมาขายแก่โจทก์เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจซื้อขายได้ แต่จำเลยจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งความจริงดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทคงจะไม่เกิดขึ้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกำหนดอายุความ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินราคาที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7394/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายนมขัดต่อระเบียบ อ.ส.ค. และขัดต่อความสงบเรียบร้อย โมฆะ
จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการผลิตนมจำหน่ายคาดหมายว่าองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จะซื้อผลิตภัณฑ์นมจากจำเลยและมอบอำนาจให้จำเลยนำไปจำหน่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อในนามของ อ.ส.ค. ตามระบบที่เคยกระทำมาก่อน จึงทำสัญญาพิพาทขายสิทธิการจำหน่ายนมดังกล่าวให้โจทก์ล่วงหน้าในลักษณะเป็นคำมั่นที่จำเลยให้โจทก์ไว้ก่อนที่จำเลยจะได้รับสิทธินั้นมาแม้ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. ว่าด้วยการซื้อขายตามบรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 1 ซื้อขายก็ตาม แต่ตามสัญญาพิพาทไม่ปรากฏข้อกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องทำสัญญาขายนมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อในนามของจำเลยในฐานะตัวแทนของ อ.ส.ค. ไม่มีหลักฐานที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ทำสัญญาซื้อขายนมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อในฐานะที่โจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยมาแสดง มีผลเท่ากับจำเลยไม่ได้ขายนมให้ อ.ส.ค. เพื่อให้ อ.ส.ค. นำไปขายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อ และแม้ต่อมาจำเลยจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของ อ.ส.ค. ในการจำหน่าย จำเลยก็ไม่ได้ขายนมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อในฐานะตัวแทนของ อ.ส.ค. สัญญาพิพาทจึงเป็นเรื่องที่จำเลยขายสิทธิการจำหน่ายอาหารเสริม (นม) โรงเรียนตามจำนวนที่จำเลยจะได้รับจัดสรรและได้รับมอบหมายจาก อ.ส.ค. ให้เป็นตัวแทนในการจำหน่ายนมดังกล่าวให้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์นำไปจำหน่ายแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อในเขตพื้นที่ที่ อ.ส.ค. กำหนดในนามของโจทก์เอง ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีและระเบียบราชการฝ่ายบริหารที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนเอกชน หรือหน่วยจัดซื้อจะต้องเป็นคู่สัญญาซื้อจาก อ.ส.ค. เพียงรายเดียว ไม่อาจเป็นคู่สัญญาซื้อจากบุคคลอื่นได้และพฤติการณ์ตามทางนำสืบเห็นได้ว่าโจทก์ทราบระเบียบดังกล่าวแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยนอกจากจะเป็นสัญญาที่คณะกรรมการจำเลยในฐานะตัวแทนจำเลยกระทำต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจขอบวัตถุประสงค์ ข้อบังคับและข้อสัญญาที่จำเลยกระทำกับ อ.ส.ค. ไม่มีผลผูกพันจำเลยซึ่งเป็นตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่อาจใช้บังคับได้อีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6527/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินปฏิรูปที่ดินโดยพินัยกรรมเป็นโมฆะตามกฎหมาย
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่บุคคลทำข้อกำหนดในพินัยกรรมยกที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ผู้อื่นได้แต่ประการใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 เป็นที่ดินที่ ส. ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ข้อกำหนดในพินัยกรรมของ ส. ที่ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 ให้แก่ ถ. มารดาของโจทก์ ย่อมเป็นการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามพินัยกรรมมาเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายฝากที่ดินที่เป็นโมฆะเนื่องจากอำพรางสัญญา และการชำระหนี้ครบถ้วน ทำให้ต้องคืนที่ดินพิพาท
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน และกำหนดเวลาชำระคืนกันไว้ แต่จำเลยทั้งสองมีเงินให้โจทก์กู้ยืมเพียงบางส่วน จึงขอให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ในหนังสือมอบอำนาจที่มิได้กรอกข้อความให้จำเลยทั้งสองยึดถือไว้เพื่อทำนิติกรรมกู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ชำระเงินต้นและกู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสองอีกหลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงชื่อไปกรอกข้อความและโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลัง โจทก์ทราบการโอน โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ภายใน 3 ปี หากไม่ไถ่ถอนถือว่าสละสิทธิและโจทก์จะได้รับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่หากโจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาทก่อนครบกำหนด โจทก์ต้องชำระภาษีพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินที่ยืมไปทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การตอนแรกว่าไม่เคยตกลงทำสัญญากับโจทก์ แต่ตอนท้ายกลับให้การว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ชำระเงินไม่ครบจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ผิดสัญญาและไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกร้องตามสัญญา เท่ากับจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่ามีการทำสัญญากับโจทก์จริง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงขัดแย้งกันเอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์
of 132