คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความเสียหาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,842 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 902/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง: เจตนาทำความเสียหาย vs. ละเลยหน้าที่ และข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย
กรณีที่ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119(2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541นั้น หมายถึงลูกจ้างกระทำโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างหรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างกระทำโดยรู้ถึงผลเสียหายที่จะเกิดแก่นายจ้าง
พนักงานแผนกซ่อมบำรุงของจำเลยรายงานโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานว่าเครื่องเติมอากาศบ่อบำบัดน้ำเสียมีเสียงดังผิดปกติแต่โจทก์ไม่พูดอะไรและไม่ได้ไปดู ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง จึงมิใช่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์แต่การกระทำดังกล่าวของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานเป็นการละเลยต่อหน้าที่อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยเคร่งครัด ถือว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสุดท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 873/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองชั่วคราวในคดีละเมิดสิทธิบัตร: ขอบเขตการห้ามดำเนินคดีอาญาและการวางเงื่อนไขเพื่อป้องกันความเสียหาย
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่เจ้าพนักงานออกให้แก่จำเลย โดยอ้างว่าสิทธิบัตรนั้นได้ออกไปโดยไม่ชอบ การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่โจทก์ใช้งานอยู่ในระหว่างพิจารณา ทั้ง ๆ ที่ก่อนฟ้องได้นำเจ้าพนักงานตำรวจยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มอันอื่นไปเป็นพยานหลักฐานบ้างแล้ว ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ในสถานที่ก่อสร้างที่โจทก์รับเหมาตอกเสาเข็มก่อนพิพากษาได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 255 (2)
การที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยห้ามจำเลยดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยเพื่อนำชี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่าศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยไม่ให้ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรของจำเลยได้ ทั้ง ๆ ที่สิทธิบัตรของจำเลยยังไม่ถูกเพิกถอน และสิทธิในการดำเนินคดียังคงเป็นของจำเลยตราบเท่าที่สิทธิบัตรยังไม่ถูกเพิกถอน และศาลไม่อาจห้ามการกระทำใด ๆ ในการดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ที่จำเลยได้ดำเนินการไปแล้วได้ ศาลจึงชอบ ที่จะมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์ในสถานที่ก่อสร้างก่อนพิพากษาเท่านั้น แต่ไม่ห้ามจำเลยดำเนินคดีอาญาในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรของจำเลย
เมื่อจำเลยอาจได้รับความเสียหายในอนาคตจากการใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาของโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรของจำเลย ศาลจึงกำหนดเงื่อนไขในคำสั่งโดยให้โจทก์ทำบัญชีการใช้วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของโจทก์เสนอศาลทุกเดือนนับแต่เดือนที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและให้โจทก์วางเงินประกันต่อศาลเพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่จำเลยในกรณีที่ปรากฏต่อมาภายหลังว่าสิทธิบัตรของจำเลยเป็นสิทธิบัตรที่สมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 873/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองชั่วคราวในคดีทรัพย์สินทางปัญญา: การห้ามตรวจค้นยึด และการวางประกันเพื่อชดใช้ความเสียหาย
เมื่อโจทก์กับจำเลยยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มที่เจ้าพนักงานออกให้แก่จำเลยเป็นสิทธิบัตรที่สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรฯ หรือไม่ และการกระทำของโจทก์ เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยผู้ทรงสิทธิบัตรหรือไม่ การที่จำเลยนำ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปยึดวัสดุรับแรงกระแทกที่โจทก์นำมาใช้งาน ตลอดมา ทั้ง ๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจ ก็ได้ยึดวัสดุรองรับแรงกระแทก ไปเป็นพยานหลักฐานบ้างแล้ว ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจะกระทำซ้ำ หรือกระทำต่อไปอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ ถ้าหากข้อเท็จจริง ได้ความเป็นที่ยุติว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของจำเลยเป็นสิทธิบัตรที่ ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือโจทก์มิได้ละเมิดสิทธิของจำเลยดังกล่าว โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายดังที่โจทก์บรรยายมาในคำขอคุ้มครองชั่วคราว ระหว่างพิจารณา โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจค้น และยึดวัสดุรองรับแรงกระแทกของโจทก์ในสถานที่ก่อสร้างได้ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฯ มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255(2)
แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินคดีอาญาข้อหาละเมิดสิทธิบัตรเพื่อนำชี้ให้ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทก ของโจทก์นั้น อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่าศาลมีคำสั่งห้าม จำเลยไม่ให้ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ซึ่งสิทธิในการดำเนินคดีข้อหา ดังกล่าวยังคงเป็นสิทธิของจำเลยตราบเท่าที่สิทธิบัตรของจำเลย ยังไม่ถูกเพิกถอน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่าไม่ห้ามจำเลย ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ในข้อหาดังกล่าว แต่ห้ามชั่วคราวมิให้จำเลย นำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปทำการตรวจค้นและยึดวัสดุรองรับแรงกระแทก ของโจทก์ในสถานที่ก่อสร้างก่อนพิพากษาคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8663/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ขับรถที่หยุดรอโดยสารหลังเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับไม่ถือเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย
ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่ต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ ตาม พ.ร.บ.จราจร ทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 หมายถึง ผู้ควบคุมรถที่กำลังแล่นอยู่และมีความเสียหายเกิดขึ้น หาใช่ผู้ขับรถที่จอดอยู่หรือหยุดอยู่ไม่
จำเลยหยุดรถในช่องเดินรถด้ายซ้ายอยู่แล้ว โดยมีผู้โดยสารกำลังขึ้นรถ มิใช่ขับมาแล้วหยุดกะทันหัน การที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความประมาทเฉี่ยวชนท้ายรถแท๊กซี่ที่จำเลยขับ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อความเสียหายอันจะต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8663/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดตาม พรบ.จราจรฯ มาตรา 78 กรณีรถหยุดอยู่ ไม่ใช่ขับเคลื่อน
แม้พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78 บัญญัติว่า ผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินจะต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันทีไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตามนั้น หมายถึงว่าผู้ขับรถต้องเป็นผู้ควบคุมรถที่กำลังแล่นอยู่และมีความเสียหายเกิดขึ้น หาใช่กรณีผู้ขับรถที่จอดอยู่หรือหยุดอยู่ไม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยหยุดรถในช่องเดินรถด้านซ้ายอยู่แล้ว โดยมีผู้โดยสารกำลังขึ้นรถ มิใช่ขับมาแล้วหยุดกระทันหัน การที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความประมาทเฉี่ยวชนท้ายรถแท็กซี่ที่จำเลยขับ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ก่อความเสียหายอันจะต้องหยุดรถให้ความช่วยเหลือและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78,160 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขวันที่ในเช็คเพื่อใช้เป็นหลักฐานเท็จในคดีแพ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้สั่งจ่าย ถือเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
การที่จำเลยที่ 1 แก้ไขวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาทจากวันที่ 2 กรกฎาคม 2531 เป็นวันที่ 2 กรกฎาคม 2539 แล้วนำเช็คพิพาทที่แก้ไขวันที่สั่งจ่ายดังกล่าวไปอ้างเป็นพยานในคดีแพ่งที่จำเลยฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้จากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแก้ไขข้อความในตั๋วเงินที่แท้จริงเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริงที่โจทก์ทำขึ้นโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้นำเช็คพิพาทไปฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาแล้วหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเช็คตาม ป.อ. มาตรา 266 (4) และโจทก์เป็นผู้เสียหายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8001/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของวิศวกรผู้ออกแบบและควบคุมงาน กรณีออกแบบและควบคุมงานผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงการก่อสร้าง
ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบสะพานช่วงยาวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 5 และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานให้ร่วมกันควบคุมการก่อสร้างสะพานตามที่วิศวกรผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้ ตามสัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้อง แล้วโจทก์ยังบรรยายด้วยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาคือมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ออกแบบให้ปูสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับสะพาน ซึ่งจะทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัว พื้นผิวทางเกิดเป็นคลื่นอย่างรุนแรงและแตกตัวในที่สุด และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาคือมิได้ตรวจสอบแบบและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารกันน้ำซึมและวัสดุพื้นผิวจราจรที่ใช้ในการก่อสร้างว่าถูกต้องสามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างได้ดีหรือไม่ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเปลี่ยนสารกันน้ำซึมจากมาสติค แอสฟัลท์มาเป็น ที.อี.ยู. ตามคำแนะนำของวิศวกรผู้ควบคุมงานโดยเสียค่าใช้จ่ายในการปูสารกันน้ำซึม ที.อี.ยู. เกินกว่าที่ปูด้วยสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์31,821,821.80 บาท และหลังจากเปิดทดลองใช้สะพานแล้ว ปรากฏว่าระบบพื้นผิวจราจรชำรุดเสียหายอย่างมาก ในที่สุดต้องรื้อพื้นผิวจราจรออกทั้งหมดและทำพื้นผิวจราจรโดยใช้สารกันน้ำซึมใหม่ เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนค่าขาดประโยชน์รวมเป็นเงิน 139,937,235.79 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 171,759,057.59 บาทซึ่งเหตุแห่งความเสียหายดังกล่าว เกิดจากความบกพร่องของวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานที่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงข้ออ้างที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานก็เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งสองฐานะตามข้อผูกพันของสัญญาแต่ละฉบับซึ่งมีความรับผิดแตกต่างกัน หาใช่เป็นการซ้ำซ้อนไม่ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมแซมที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าใช้วัสดุชนิดใดเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยโจทก์เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ข้อ 2 ซึ่งตามข้อ 17 บัญญัติว่า "ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และเป็นผู้กระทำแทนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย..." หมายถึง ผู้ว่าการเป็นผู้แทนโจทก์ในการกระทำกิจการต่าง ๆ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลย ผู้ว่าการซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 70วรรคสอง (มาตรา 75 เดิม)
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบปฏิบัติผิดสัญญาจ้างโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ออกแบบผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหายขึ้น และฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างโดยมิได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเนื่องจากการผิดสัญญาจ้างธรรมดาคือออกแบบและควบคุมงานผิดพลาด ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
สัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.1 และจ.2 ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งสองฉบับระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 จะร่วมกันทำงานและร่วมรับผิดชอบตามข้อกำหนดในสัญญา และในสัญญาไม่มีข้อความตอนใดแบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนไว้ แต่กลับเรียกชื่อคู่สัญญาฝ่ายจำเลยทุกคนรวมกันว่า "วิศวกร" ซึ่งบ่งบอกถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการจัดองค์การทำงานระหว่างจำเลยด้วยกันเองเป็นเรื่องภายในกลุ่มของจำเลยเอง ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แบ่งแยกความรับผิดของจำเลยแต่ละคนต่อโจทก์ได้
ตามสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้ทั้งทางเทคนิคและทางเศรษฐศาสตร์อย่างดีที่สุดและเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาชีพวิศวกรด้วยความชำนาญ เอาใจใส่ ขยันหมั่นเพียรและจะต้องดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อโจทก์มากที่สุดในการออกแบบสะพานให้สามารถก่อสร้างและใช้งานได้เป็นอย่างดี และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะวิศวกรผู้ควบคุมงานมีหน้าที่และความรับผิดชอบในงานควบคุมการก่อสร้างที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างดีที่สุดให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับกันทางด้านวิชาชีพนานาชนิด ต้องดำเนินงานด้วยความชำนาญเอาใจใส่ขยันหมั่นเพียร และเป็นประโยชน์ต่อโจทก์มากที่สุด โดยต้องตรวจสอบแบบก่อสร้างข้อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างเพื่อให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์ นำไปใช้ในงานก่อสร้างได้สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย ในกรณีที่ปรากฏข้อผิดพลาดในการออกแบบ ต้องเสนอแนะต่อโจทก์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบและข้อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ในฐานะวิศวกรผู้ออกแบบจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องศึกษาถึงคุณสมบัติของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างเพื่อให้งานก่อสร้างสำเร็จลุล่วงใช้ประโยชน์ได้สูงสุดการที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกแบบให้ใช้มาสติค แอสฟัลท์เป็นสารกันน้ำซึมบนพื้นผิวสะพานที่เป็นเหล็กนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ควรที่จะศึกษาถึงคุณสมบัติของมาสติค แอสฟัลท์อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอุณหภูมิที่จะทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูป เพราะประเทศไทยมีอากาศร้อนและพื้นผิวสะพานที่ออกแบบไว้ก็เป็นเหล็กอากาศร้อนย่อมมีโอกาสที่จะทำให้ความร้อนที่สะสมบนพื้นผิวสะพานที่ทำด้วยเหล็กสูงขึ้นจนทำให้มาสติค แอสฟัลท์อ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปได้ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้ศึกษาโดยละเอียดถึงคุณสมบัติของมาสติค แอสฟัลท์ แต่กลับยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติคแอสฟัลท์ จนผู้รับเหมาต้องทักท้วงหลายครั้ง จึงได้ทำการทดสอบและยอมรับว่ามาสติคแอสฟัลท์ ไม่สามารถใช้เป็นวัสดุกันน้ำซึมบนสะพานได้ นอกจากนั้นหัวหน้าวิศวกรประจำจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ยังมีหนังสือถึงผู้อำนวยการโครงการของโจทก์ มีข้อความเกี่ยวกับความเหมาะสมของมาสติค แอสฟัลท์ ว่าเมื่อพิจารณาถึงการรับน้ำหนักและความลาดชันของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานครแล้ว เป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ของการอ่อนตัวของมาสติค แอสฟัลท์ซึ่งจะทำให้ผิวทางเกิดเป็นคลื่นอย่างรุนแรงและแตกในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในฤดูร้อนแรกของการเปิดใช้งาน การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกแบบให้ใช้สารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์โดยไม่ได้ศึกษาให้ดีเกี่ยวกับคุณสมบัติที่แท้จริงของวัสดุ โดยเฉพาะอุณหภูมิที่จะทำให้วัสดุนั้นอ่อนตัวหรือเปลี่ยนรูปรวมทั้งการคำนวณเกี่ยวกับความร้อนสะสมของโครงสร้างสะพานที่เป็นเหล็กในประเทศที่มีอากาศร้อนเช่นประเทศไทยว่าสมควรจะใช้วัสดุนั้นเป็นสารกันน้ำซึมหรือไม่ ย่อมเป็นความผิดพลาด บกพร่อง ไม่ใช้ความรู้ความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน มีหน้าที่ต้องตรวจสอบแบบของวิศวกรผู้ออกแบบตั้งแต่แรกด้วยความระมัดระวังว่าสารกันน้ำซึมชนิดมาสติค แอสฟัลท์เหมาะสมที่จะใช้กับสะพานที่มีพื้นผิวเป็นเหล็กหรือไม่ แต่กลับไม่ทำการตรวจสอบให้ดีแม้ผู้รับเหมาจะได้ทักท้วง แต่วิศวกรผู้ควบคุมงานก็ยังคงยืนยันในระยะแรกให้ใช้มาสติคแอสฟัลท์ และให้ผู้รับเหมาส่งตัวอย่างวัสดุพร้อมแผนงานเพื่อตรวจสอบ ยังคงเป็นสารกันน้ำซึมได้ เพียงแต่ต้องปรับปรุงบ้าง และในเดือนเมษายน 2530 ต่อมาจึงยอมรับว่ามาสติค แอสฟัลท์ไม่เหมาะสม รวมระยะเวลาที่เสียไปถึง 9 เดือน ทำให้เกิดความล่าช้าแก่โครงการก่อสร้างโดยเฉพาะระยะเวลาการทดสอบหาสารกันน้ำซึมชนิดใหม่ที่มีคุณภาพเหมาะสม ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 บกพร่องต่อหน้าที่ตามสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นกัน
การว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ออกแบบและให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานนั้นมุ่งประสงค์ให้การก่อสร้างสะพานสัมฤทธิ์ผลใช้งานได้ตามความมุ่งหมาย ที.อี.ยู. โดยความเห็นชอบของวิศวกรดังกล่าว แต่ทั้งวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานซึ่งทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วมิได้ทำการทดสอบให้แน่ชัด เมื่อสาเหตุของความเสียหายทั้งหมดเกิดจากความบกพร่องในการออกแบบและควบคุมงานเกี่ยวกับการใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน วิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย การที่ผู้ออกแบบจะเลือกใช้วัสดุใดในการก่อสร้าง ผู้ออกแบบควรที่จะต้องทราบถึงคุณสมบัติของวัสดุนั้นว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ หากไม่แน่ใจก็ควรจะทดสอบให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจก่อนที่จะกำหนดให้ใช้วัสดุนั้น การกำหนดใช้วัสดุให้ถูกต้องกับการคิดค้นประดิษฐ์วัสดุขึ้นใหม่เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อจำเลยที่ 1 รับออกแบบ จำเลยที่ 1 ก็ต้องกำหนดหรือหาวัสดุที่จะใช้งานได้กับแบบที่ออกมาหากไม่สามารถหาวัสดุดังกล่าวได้เพราะไม่มีในประเทศไทยหรือไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำการทดสอบการใช้งาน จำเลยที่ 1 ก็จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบและปรึกษาหาทางแก้ไขมิใช่กำหนดวัสดุหรือเปลี่ยนแปลงวัสดุโดยเพียงแต่เข้าใจว่าน่าจะใช้งานได้หรือทำการทดสอบผิวเผิน แล้วทำการก่อสร้างไปจนเกิดความเสียหายขึ้น
จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ออกแบบและควบคุมงานให้งานก่อสร้างสัมฤทธิ์ผลใช้งานได้ เมื่อการออกแบบกำหนดให้ใช้สารกันน้ำซึมครั้งแรกไม่ถูกต้องแล้วมีการเปลี่ยนมาใช้สาร ที.อี.ยู. โดยวิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานเห็นชอบโดยไม่ตรวจสอบหรือทดสอบให้แน่ชัดเสียก่อน จึงไม่อาจอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นคนเลือกสรร ที.อี.ยู. และมีการรับประกันโดยบริษัทผู้ผลิตเพื่อให้ตนเองพ้นผิดได้ ส่วนการที่โจทก์ไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิต ที.อี.ยู. ก็เป็นสิทธิในส่วนของโจทก์ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว
แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จะมิได้ฎีกา แต่เนื่องจากเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247
จำเลยทั้งหกก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ จำเลยทั้งหกจึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกหลังจากผ่านขั้นตอนอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแล้วได้ และการฟ้องคดีของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการทวงถามการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งหกเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7728-7731/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ขัดขวางการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษแก่โจทก์ ก่อความเสียหาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โจทก์ทั้งสี่มาปฏิบัติราชการทำการสอนนักศึกษาตามกระบวนวิชาที่ได้รับมอบหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษแม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จะไม่ลงเวลาทำงานตามระเบียบว่าด้วยการลงเวลาอันเป็นการผิดระเบียบก็ตาม ก็เป็นเรื่องคนละส่วนกันกับเรื่องนี้ที่จะต้องไปดำเนินการตามระเบียบข้าราชการพลเรือนอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หาได้กระทบถึงสิทธิอันมีอยู่โดยชอบในการรับเงินค่าตอบแทนพิเศษของโจทก์ทั้งสี่แต่อย่างใดไม่ ทั้งแบบฟอร์มก็เป็นแบบฟอร์มที่ให้จำเลยในฐานะหัวหน้าภาควิชารับรองการปฏิบัติราชการของอาจารย์ในภาควิชาไม่ใช่หลักฐานรับรองการลงเวลาปฏิบัติงาน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องรับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ทั้งสี่และไม่มีสิทธิขีดฆ่าชื่อโจทก์ทั้งสี่ออกจากแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษได้ นอกจากนี้จำเลยในฐานะหัวหน้าภาควิชาซึ่งมีหน้าที่รับรองการปฏิบัติราชการเพื่ออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ จะต้องปฏิบัติการในส่วนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์โดยเคร่งครัดด้วยความเที่ยงธรรมและเสมอภาค แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า จำเลยก็รับรองการปฏิบัติราชการและทำเรื่องขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้อาจารย์อื่นซึ่งไม่ได้ลงชื่อในบัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการของข้าราชการเช่นเดียวกัน แสดงว่าจำเลยไม่ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณารับรองการปฏิบัติราชการเช่นเดียวกับที่ใช้กับโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ในการที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษซึ่งโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้รับ ดังนั้น การที่จำเลยไม่รับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ทั้งสี่และขีดฆ่าชื่อโจทก์ทั้งสี่ออกจากแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ เพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายในงวดประจำเดือนตามฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
แม้จำเลยจะมีเจตนาอย่างเดียวในอันที่จะไม่เสนอชื่อโจทก์ที่ 1ให้ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษในแต่ละงวดเดือน เจตนาของจำเลยเช่นว่านั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ธุรการการเงินเสนอขึ้นมาให้จำเลยพิจารณาลงลายมือชื่อรับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ที่ 1 เฉพาะในวันหนึ่งวันหนึ่งที่จำเลยพบเห็นแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษในแต่ละเดือนที่เจ้าหน้าที่เสนอขึ้นมาเท่านั้น เมื่อสิ้นวันแล้วจำเลยมีเจตนาเช่นนั้นอีกในงวดเดือนต่อมาก็เป็นการกระทำอีกวันหนึ่งซึ่งเป็นการกระทำต่างหากจากวันที่ล่วงมาเป็นอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยไม่รับรองการปฏิบัติราชการของโจทก์ที่ 1 และขีดฆ่าชื่อโจทก์ที่ 1 ออกจากฟอร์มการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษจำนวน 7 งวดจึงเป็นความผิด 7 กรรมต่างกันต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7251/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น และการใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย
แม้ ช. ผู้จัดการของโจทก์อำเภอลาดหลุมแก้ว ได้รับมอบอำนาจจากสำนักงานเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนก็ตาม แต่เป็นการแจ้งความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องในเหตุนั้นบ้างเพื่อหาผู้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วรายงานตามลำดับชั้นบังคับบัญชาให้ผู้แทนของโจทก์คือ ผู้ว่าการสั่งการ ทั้งในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีก็ไม่ปรากฏข้อความว่าจำเลยที่ 1 เข้าเกี่ยวข้องรับผิดด้วยแต่อย่างใดจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์รู้ถึงการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และรู้ว่าจำเลยที่ 1ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ ช. ไปแจ้งความ
สายโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ที่พาดผ่านถนนบริเวณที่เกิดเหตุสูงกว่าพื้นถนนเพียงไม่เกิน 5.18 เมตร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ว่าสายโทรศัพท์จะต้องอยู่สูงจากระดับผิวการจราจรช่วงที่มีรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล่นผ่านได้ไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคอยดูแลเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าวการที่จำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลสายโทรศัพท์บริเวณที่เกิดเหตุจนทำให้สายโทรศัพท์อยู่สูงจากระดับผิวจราจรเพียงไม่เกิน 5.18 เมตรเป็นเหตุให้รถพ่วงบรรทุกถังเกี่ยวสายโทรศัพท์ที่พาดผ่านดังกล่าวดึงเสาไฟฟ้าของโจทก์หัก 8 ต้น และอุปกรณ์เสียหาย จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 และที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 4 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ไปเป็นเงิน 70,000 บาท และใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ให้แก่ผู้เสียหายอีกรายหนึ่งไปเป็นเงิน 6,925 บาท แต่จำเลยที่ 4 ให้การเพียงว่าความรับผิดของจำเลยที่ 4 มีจำนวนจำกัดในวงเงินไม่เกิน 250,000 บาท เท่านั้น มิได้ให้การถึงการใช้ค่าสินไหมทดแทนอื่นแต่อย่างใด ทั้งที่จำเลยที่ 4 อ้างว่าได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วก่อนยื่นคำให้การ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 4 นำสืบถึงการใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวล้วนแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 4 มิได้ยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องนอกประเด็น ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลล่างต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 719/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีเรียกค่าเสียหาย: เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เสียหายต้องเป็นผู้มีอำนาจฟ้อง
จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่ต้องซ่อมรถยนต์คันที่จำเลยขับชนกับรถยนต์โจทก์รวมทั้งที่รถยนต์คันดังกล่าวต้องเสื่อมราคาและไม่สามารถใช้งานได้ในระหว่างที่ซ่อม ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แต่ปรากฏว่ารถยนต์เป็นของบิดาจำเลยมิใช่ของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของเรียกค่าเสียหายสำหรับความเสียหายดังกล่าวได้จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
of 185