คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความแตกต่าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 126 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4603/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่คล้ายกัน แม้มีบางส่วนเหมือนกัน ผู้บริโภคไม่สับสน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญคืออักษรโรมันที่มีลักษณะประดิษฐ์ เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณะระหว่างเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับ ของจำเลยที่ 2 จะมีจำนวนอักษรเท่ากันคือ 9 ตัว กับมีตัวอักษรที่ 1, 3, 4 และ 5 เหมือนกัน อักษรตัวแรกแม้จะเหมือนกัน แต่การประดิษฐ์ลายเส้นของตัวอักษรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนอักษรตัวที่ 6 ถึง 9 นั้นแตกต่างกัน คือระหว่างอักษรโรมันคำว่า lite กับคำว่า trim และเมื่อพิจารณาโดยรวมทั้งเครื่องหมาย ซึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ยังมีรูปคนประดิษฐ์และรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นส่วนประกอบด้วย ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าได้อย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาต่อไปถึงเสียงเรียกขานก็เห็นได้ว่ามีความเหมือนกันใน 2 พยางค์แรก แต่ต่างกันในพยางค์สุดท้าย หากเรียกทั้งสามพยางค์แล้ว เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็จะมีความแตกต่างกันและยังไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าผู้บริโภคในสังคมจะเรียกหาสินค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 2 สั้นๆ เหมือนกันว่า "ไฮโดร" ส่วนสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้ารวมตลอดถึงบรรจุภัณฑ์ของสินค้า แม้จะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันและรายการสินค้าอาจเหมือนหรือคล้ายกัน คือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้กับสินค้าสิ่งที่สกัดจากพืชใช้เป็นอาหาร ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 ใช้กับสินค้าอาหารเสริมที่ทำจากผลส้มแขกที่ไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์ แต่สินค้านี้มีราคาสูง ใช้บริโภคเพื่อสุขภาพของบุคคลเชื่อว่าผู้บริโภคสินค้านี้จะศึกษาอย่างรอบคอบและระมัดระวังทั้งทำความเข้าใจอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า การที่สินค้ามีขนาดบรรจุเท่ากันหรือมีราคาเท่ากันนับเป็นเรื่องของการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ ไม่ถึงขนาดที่จะเป็นเจตนาไม่สุจริตจงใจลอกเลียนสินค้าเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยที่ 2 จึงไม่คล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
สำหรับกรณีของเครื่องหมายการค้า ของโจทก์กับ ของจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณะจะเห็นได้ว่า ยังมีความแตกต่างกันทั้งในรูปลักษณะ เสียงเรียกขาน และจำพวกสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าโดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีอักษรโรมันจำนวน 13 ตัว และมีอักษรไทยคำว่า "ไฮโดรไลท์สลิม" กำกับอยู่ เสียงเรียกขานมี 5 พยางค์ และใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า อาหารควบคุมน้ำหนักใช้ในทางการแพทย์ ในขณะที่เครื่องหมายการค้า สินค้า อาหารควบคุมน้ำหนักใช้ในทางการแพทย์ ในขณะที่เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 2 มีอักษรโรมันจำนวน 9 ตัว โดยมีรูปคนประดิษฐ์และรูปสี่เหลี่ยนมผืนผ้าเป็นส่วนประกอบ เสียงเรียกขานมี 3 พยางค์ และใช้กับสินค้าจำพวก 29 รายการสินค้า อาหารเสริมที่ทำจากผลส้มแขกที่ไม่ได้ใช้ในทางการแพทย์ ความแตกต่างเหล่านี้เห็นได้ชัดเจน ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยที่ 2 ไม่คล้ายกัน สาธารณชนไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2044/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายหยดน้ำขาดลักษณะบ่งเฉพาะ แม้เป็นภาพประดิษฐ์แต่ไม่สามารถแยกแยะสินค้าจากผู้อื่นได้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำถือว่าเป็นภาพประดิษฐ์ตามความหมายของคำว่า "เครื่องหมาย" ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อโจทก์มีความประสงค์จะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนี้ของโจทก์แตกต่างสินค้าของบุคคลอื่นก็ย่อมถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 4 ได้ แต่จะเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 ว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่
เครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำของโจทก์มีลักษณะทรงรี แม้จะตกต่างด้วยเส้นโค้งมนและมีปลายแหลมเพื่อทำให้เกิดความสวยงามและแตกต่างไปจากรูปทรงเรขาคณิตทั่วไป แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับรูปทรงเรขาคณิตอื่นทั่วๆ ไป ต่างจากเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพประดิษฐ์รูปทรงเรขาคณิตอื่นซึ่งสามารถทำให้สาธารณชนเห็นถึงความแตกต่างได้ อันถือได้ว่าเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นจนมีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย
เครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำของโจทก์ถูกนำมาใช้ในลักษณะของส่วนประกอบที่มีอักษรโรมันคำว่า "MAGGI" หรือคำว่า "แม็กกี้" ปรากฏอยู่ข้างในไม่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในอันที่จะทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้าจดจำหรือแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าได้ หากนำไปใช้โดยลำพังกับสินค้า เครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำของโจทก์ไม่อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่นเช่นใด ถือว่าเครื่องหมายการค้าภาพประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำของโจทก์ไม่ใช่ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นอันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะโดยตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความเหมือนหรือความแตกต่างของเครื่องหมายการค้า คำสามัญทั่วไป ไม่ทำให้สับสน
หน้าที่หลักของเครื่องหมายการค้า คือ หน้าที่บอกแหล่งที่มาของสินค้า และหน้าที่บอกความแตกต่างระหว่างสินค้า หมายความว่า เครื่องหมายการค้าจะต้องบ่งบอกได้ว่า สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด และสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าอีกเครื่องหมายหนึ่ง
การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหยิบยกเครื่องหมายการค้าหลายเครื่องหมายมาพิจารณาประกอบกันในการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ภายใต้กรอบหน้าที่ของเครื่องหมายการค้า
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรโรมันคำว่า "California" และ "WOW" ซึ่งเป็นคำเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ย่อมจะเกิดความสับสนหลงผิดได้ แต่เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อักษรโรมันคำว่า "California" และ "WOW" เป็นคำสามัญทั่วไปที่มีความหมายในพจนานุกรมโดยคำว่า "California" เป็นชื่อมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนคำว่า "WOW" เป็นคำอุทานแสดงความสำเร็จยอดเยี่ยม ดังนั้น บุคคลทั่วไปจึงสามารถนำคำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าได้ตราบเท่าที่ไม่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น หรือเหมือนหรือคล้ายกันจนเป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งเครื่องหมายมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายกขึ้นเปรียบเทียงเป็นอย่างมาก แม้เครื่องหมายการค้าเหล่านี้มีคำซ้ำกันอยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นคำสามัญที่มีการใช้อยู่ทั่วไป ไม่ได้เป็นคำเฉพาะพิเศษและไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับเสียงเรียกขาน การจะถือว่าเสียงเรียกขานบางคำซ้ำกันจนเป็นเหตุให้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันจนไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้น่าจะไม่ได้ เพราะการเรียกขานสินค้าย่อมขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะเรียกขานเช่นใด ทั้งการเรียกขานก็ไม่ใช่สาระสำคัญประการเดียวที่จะใช้ในการพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4883/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตร: การเพิกสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องพิจารณาความแตกต่างจากงานที่มีอยู่เดิมและรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงาม
ปัญหามีว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์ อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของโจทก์เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ มีเหตุเพิกถอนตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้วันที่โจทก์ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2552 และหนังสือ "4WHEELS" เป็นนิตยสารฉบับเดือนสิงหาคม 2552 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือดังกล่าวทั้งสี่แผ่นที่มีลักษณะเน้นไปในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกล่าวอ้างถึงการติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของโจทก์ในทำนองว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โจทก์คิดค้นพัฒนาขึ้น มีความปลอดภัยตามมาตรฐานต่าง ๆ และคุ้มค่า โดยแจ้งชื่อบริษัท พร้อมที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์และโทรสารของโจทก์ไว้ตอนท้ายสุดของบทความกรณีหากผู้อ่านหนังสือนิตยสารดังกล่าวสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการติดต่อสอบถาม ทั้งยังได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ยินยอมให้มีการเผยแพร่ภาพบทความดังกล่าว ดังนี้ ย่อมเห็นว่าในขณะเผยแพร่หนังสือนิตยสารดังกล่าว อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังในหนังสือดังกล่าว หรือการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ ยังมิได้มีแพร่หลายในราชอาณาจักร เพราะมิเช่นนั้นแล้วโจทก์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์การติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของตนในหนังสือนิตยสารดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งตามข้อความที่เผยแพร่ก็ใช้คำว่า "เป็นนวัตกรรมใหม่" อันมีความหมายว่า เป็นสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกไปจากเดิม ย่อมเข้าใจได้ว่าในขณะที่หนังสือนิตยสารดังกล่าวออกเผยแพร่นั้น ไม่มีการประดิษฐ์เช่นนี้มาก่อน อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ ประกอบกับภาพและข้อความที่เผยแพร่ตามหนังสือก็ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญของสิทธิบัตรดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น หนังสือดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นหลักฐานที่จะทำให้รับฟังได้ว่าสิ่งประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ มีแพร่หลายในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง (1)
ปัญหาต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตีความคำว่า "แบบผลิตภัณฑ์" ขัดกับบทนิยามตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 หรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 บัญญัติให้นิยามศัพท์คำว่า "แบบผลิตภัณฑ์" หมายความว่า "รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้" แม้บทกฎหมายดังกล่าวไม่ระบุถึงความสวยงามไว้โดยตรง แต่จากนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปร่างหรือองค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ หาได้เน้นที่คุณสมบัติการใช้งานของสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีการประดิษฐ์ หากแบบผลิตภัณฑ์ใดมีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในการใช้งานเท่านั้นย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่หากรูปลักษณะที่ปรากฏภายนอกมีความสวยงามหรือดึงดูดใจแล้วย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในส่วนนี้จึงไม่ขัดกับบทนิยามตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับของโจทก์ไม่แตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมแต่กลับมุ่งเน้นถึงประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ในข้อนี้ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ในการประกอบธุรกิจให้บริการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวี โจทก์ออกแบบและคิดค้นนวัตกรรมเกี่ยวกับการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวีขึ้น โดยการออกแบบได้กำหนดจุดติดตั้งถังบรรจุก๊าซไว้ที่ด้านล่างกระบะหรือใต้ท้องรถกระบะ แทนการติดตั้งแบบเดิมทั่วไปที่ติดตั้งบนลูกกระบะ และสามารถทำให้ติดตั้งถังบรรจุก๊าซได้ถึง 3 ถัง ด้วยการใช้โครงสร้างอุปกรณ์รองรับถังก๊าซที่เป็นเหล็กแผ่นเรียบปั๊มขึ้นรูปซึ่งมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และสวยงาม และยึดติดอุปกรณ์ดังกล่าวเข้ากับโครงรถยนต์โดยไม่ต้องเชื่อมหรือเจาะรู แล้วโจทก์จึงนำงานนวัตกรรมดังกล่าวไปขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยในส่วนแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์อุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า ในขณะที่โจทก์คิดได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์นั้น ไม่เคยมีผู้ประกอบการรายใดทั้งในและต่างประเทศใช้แบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกับแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ โดยในชั้นตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้มีการตรวจสอบเปรียบเทียบกับทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียแล้วก็ไม่พบงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่สมบูรณ์เนื่องจากขาดความใหม่ แต่ในชั้นพิจารณาทางนำสืบของฝ่ายจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีแบบผลิตภัณฑ์อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์มาแสดง คงมีเพียงเอกสารทางวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประกาศและกฎกระทรวงเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์และส่วนควบที่ออกตามความใน พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรฐานความปลอดภัยของหน่วยงานต่าง ๆ และภาพถ่ายรถประเภทต่าง ๆ ติดถังก๊าซ แต่เอกสารและภาพเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏหรือแสดงให้เห็นภาพหรือรูปลักษณะของอุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซได้อย่างชัดเจน ทั้งภาพถ่ายบางภาพยังเป็นการติดตั้งถังบรรจุก๊าซกับรถประเภทอื่น เช่น รถบรรทุกและรถตู้ ซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ใช้ติดตั้งกับรถกระบะ จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีแบบผลิตภัณฑ์อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนอันจะทำให้เห็นได้ว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับของโจทก์แตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมหรือไม่ อย่างไร คงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์เพียงว่าการติดตั้งถังบรรจุก๊าซที่ใช้กันทั่วไปแบบเดิมนั้นจะเป็นการติดตั้งไว้บนตัวกระบะรถซึ่งแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ติดตั้งอยู่ใต้กระบะรถ นอกจากนี้ยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ด้วยว่าในการออกแบบอุปกรณ์ยึดจับหรือจับยึดถังบรรจุก๊าซตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับ โจทก์ออกแบบให้มีความสวยงามด้วย ซึ่งในข้อนี้ฝ่ายจำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ปากดังกล่าวหรือนำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงในส่วนดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับหนังสือ "4WHEELS" ในแผ่นที่ 3 มีบทความภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมความปลอดภัย OEM" ระบุว่า การติดตั้งระบบก๊าซซีเอ็นจีของโจทก์ใช้มาตรฐาน OEM ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ มาตรฐานเดียวกับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จึงมั่นใจได้ในความสวยงาม การออกแบบดังกล่าวจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว ดังนี้จึงไม่ปรากฏเหตุอันจะทำให้การออกสิทธิบัตรทั้งห้าฉบับของโจทก์ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: กลุ่มอักษร/ตัวเลขธรรมดาไม่จำเป็นต้องมีลักษณะพิเศษ หากบ่งบอกถึงความแตกต่างของสินค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "A380" เป็นการนำเอาตัวอักษรโรมัน 1 ตัว คือ A และตัวเลขอาระบิกอีก 3 ตัว มาเรียงต่อกันเป็นลักษณะของกลุ่มตัวอักษรและตัวเลข โดยมีแนวคิดจากการนำตัวอักษร A ซึ่งมีที่มาจากอักษรโรมันคำว่า "AIRBUS" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชื่อเต็มของนิติบุคคลโจทก์ (แอร์บัส โอเปอร์เรชั่น จีเอ็มบีเอช) ซึ่งแม้จะเป็นการนำมาวางเรียงต่อกันในลักษณะธรรมดาทั่วไปโดยมิได้สร้างให้มีลักษณะพิเศษ แต่ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (3) บัญญัติให้เฉพาะแต่กลุ่มของสีเท่านั้นที่ต้องแสดงลักษณะพิเศษ ไม่รวมถึงตัวหนังสือหรือตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "A380" ที่ขอจดทะเบียนดังกล่าว จึงไม่จำต้องเป็นกลุ่มคำตัวหนังสือ หรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้นซึ่งต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษด้วยแต่อย่างใด เมื่อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น โจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับรายการสินค้า เครื่องเล่นเกม ของเล่น อุปกรณ์ยิมนาสติกและอุปกรณ์กีฬา ยานพาหนะจำลองย่อส่วน ยานพาหนะของเล่น เครื่องร่อนชูชีพ เกมปริศนา ไพ่ ในจำพวกที่ 28 ของโจทก์ ประชาชนผู้บริโภคย่อมสามารถทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่น ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประดิษฐ์ไม่ขึ้นใหม่: เปรียบเทียบอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 กับเลขที่ 5116 และสิทธิบัตรจีน CN 201068257Y
คดีนี้เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ โดยผู้มีส่วนได้เสียขอให้ตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ หลังจากมีการยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ฉ วรรคหนึ่ง แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการประดิษฐ์และทำรายงานการตรวจสอบเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสอง เมื่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารายงานการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว เห็นว่าการประดิษฐ์ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ จึงมีคำสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงและแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ โดยโจทก์ยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลของตนแล้วตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนต้น หลังจากสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีลักษณะตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 มีลักษณะทางเทคนิคแตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 10 และกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์แก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยให้ระบุขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนเฉพาะข้อถือสิทธิที่แตกต่างดังกล่าวเท่านั้น เห็นได้ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของอนุสิทธิบัตรดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่ที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็เนื่องจากเห็นว่าหากโจทก์ยอมแก้ไขข้อถือสิทธิใหม่โดยระบุขอบเขตความคุ้มครองเฉพาะข้อถือสิทธิข้อที่ 10 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา แล้วอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 72 โดยในอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ยังคงโต้แย้งเป็นประเด็นด้วยว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่พร้อมเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนวนการพิจารณาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ฉ ในคดีนี้ จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร ดังนี้ แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรเพื่อเพิกถอนอนุสิทธิบัตร แต่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีการดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 ฉ วรรคสี่ แล้ว เมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจในการพิจารณาสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ วรรคสี่ ตอนท้าย ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับอนุสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ ตามที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 7 (2) บัญญัติ คณะกรรมการสิทธิบัตรซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการจึงมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว และหากพิจารณาแล้วเห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ของโจทก์ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้
ที่โจทก์แก้ฎีกาโต้แย้งทำนองว่า คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้โจทก์แก้ไขอนุสิทธิบัตรตามกรณีปัญหาในคดีนั้นถือว่ายังอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง การที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นการให้ถ้อยคำชี้แจง ส่งเอกสาร หรือสิ่งใดเพิ่มเติม ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวและไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งฉบับ แต่มีหน้าที่เพียงรวบรวมหนังสือและข้อชี้แจงดังกล่าว และทำความเห็นเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพิจารณาสั่งประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ หากคณะกรรมการสิทธิบัตรมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรได้โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังไม่ได้ทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรย่อมเป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น เห็นว่า เมื่อคดีมีการเริ่มดำเนินกระบวนการตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ฉ มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จ โดยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาแสดงเหตุผลในประเด็นเกี่ยวกับความใหม่ของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว การพิจารณาต่อมาของคณะกรรมการสิทธิบัตรจึงมิใช่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 มีรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่แตกต่างไปจากอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ส่วนข้อถือสิทธิข้อที่ 2 ถึงที่ 9 ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 นั้น ก็ล้วนเป็นการอ้างถึงลักษณะทางเทคนิคอันเป็นลักษณะพิเศษหรือรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมจากข้อถือสิทธิข้อที่ 1 เว้นแต่ข้อที่ 9 ซึ่งเพิ่มเติมจากข้อถือสิทธิข้อที่ 8 อีกต่อหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นได้ว่ามีรายละเอียดการประดิษฐ์ไม่แตกต่างไปจากอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 เช่นกัน ดังนี้ ข้อถือสิทธิข้อที่ 1 ถึงที่ 9 ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดไว้ในอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว สำหรับข้อถือสิทธิข้อที่ 10 ของอนุสิทธิบัตรพิพาทเลขที่ 5467 ซึ่งมีครีบยื่น (8) มีลักษณะเป็นครีบเฉียงนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่ามีลักษณะตรงกับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5116 ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ส่งผลต่อองค์ประกอบสำคัญของการประดิษฐ์ ไม่ทำให้การทำงานต่างไปจากเดิม เมื่อพิจารณาข้อถือสิทธิทั้งหมดโดยรวมแล้วเห็นว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ไม่แตกต่างไปจากงานที่ปรากฏอยู่แล้วเดิม นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ชิ้นส่วนตัวจุกและชิ้นส่วนช่องไหลอาจถอดแยกออกจากกันได้โดยปรับปรุงให้ชิ้นส่วนตัวจุกและชิ้นส่วนช่องไหลกลายเป็นชิ้นส่วนเดียวกันนั้น ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเพียงเล็กน้อยโดยไม่ทำให้ลักษณะการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 ทั้งฉบับจึงไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการสิทธิบัตรเห็นว่าอนุสิทธิบัตรเลขที่ 5467 มีข้อถือสิทธิส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ถือว่าไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และมีคำสั่งให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวจึงชอบแล้ว
of 13