พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,024 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย: การฎีกาโดยไม่แสดงเหตุผลความไม่ถูกต้องของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
จำเลยฎีกาว่าจำเลยยังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาได้โปรดพิจารณาพิพากษาอีกชั้นหนึ่ง โดยมีข้อความเพียงว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากพยานโจทก์ที่นำสืบเป็นพยานบอกเล่าไม่ควรรับฟัง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลย 12 ปี เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความเห็นไม่ตรงกันเช่นนี้ สมควรที่คดีนี้จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุด เพื่อได้โปรดพิจารณาพิพากษาชี้ขาดเป็นที่สุด จำเลยก็พร้อมจะยอมรับตามคำพิพากษาของศาลฎีกาทุกประการ ฎีกาของจำเลยดังกล่าวมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา เพื่อให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4944/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขยายระยะเวลายื่นฎีกาต้องมีเหตุพิเศษ มิใช่ความบกพร่องของทนายความ
การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยซึ่งศาลจะขยายระยะเวลาให้ตามคำร้องหรือไม่เป็นดุลพินิจที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาติดต่อกันรวม 3 ครั้ง โดยทุกครั้งจะอ้างเหตุผลทำนองเดียวกันว่า ทนายความจำเลยที่ 1 จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของคำพยานและเอกสารในสำนวน รวมทั้งต้องทำคำฟ้องอุทธรณ์และฎีกาในคดีอื่นอีกหลายสำนวน จึงไม่อาจจัดทำคำฟ้องฎีกาได้ทัน ทั้ง ๆ ที่คดีมีข้อเท็จจริงไม่สลับซับซ้อน กรณีนับได้ว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องของทนายความจำเลยที่ 1 เอง หาใช่พฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4755/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขอดำเนินคดีอนาถาหลังยื่นอุทธรณ์: ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเด็ดขาด, ฎีกาไม่ได้, ค่าฤชาธรรมเนียม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลย ด้วยเหตุที่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นภายใน 7 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคห้า ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคห้า ตอนท้าย จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลอุทธรณ์อีกต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4517/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีฟ้องขับไล่และค่าเสียหายเกินเกณฑ์ที่ห้ามอุทธรณ์ฎีกา แม้เกี่ยวข้องกระบวนพิจารณา
คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาท จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท อันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง แม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกันก็ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4043/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ทุนทรัพย์ฎีกาไม่เกินสองแสนบาท, ข้อจำกัดการฎีกาในข้อเท็จจริง, การแยกคำนวณทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคน
คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 688,295 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสี่ตามความเสียหายของแต่ละคน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสี่ฎีกาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสี่จึงต้องถือตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคน แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์แต่ละคนแยกกัน เมื่อทุนทรัพย์ชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสี่แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3751/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ไขโทษโดยศาลอุทธรณ์และข้อจำกัดในการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทกฎหมายที่ใช้ในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยและแก้โทษจำคุกให้น้อยลงสำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจาก 6 ปี เป็น 5 ปี และความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจาก 5 ปี เป็น 4 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำเลยแต่ละกระทงจำคุกไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือหากศาลเห็นว่าจำเลยจะทำความผิดก็ขอให้ลงโทษสถานเบาเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3636/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 126,580.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 111,596.30 บาท นับถัดจากฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกินสองแสนบาท แม้จำเลยจะเสียค่าขึ้นศาลมาในชั้นฎีกาในจำนวนทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้น 277,298.06 บาท ก็ตาม แต่ทุนทรัพย์ที่แท้จริงที่พิพาทในชั้นฎีกาเป็นเงินจำนวน 126,580.79 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3545/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาตกเพราะยื่นหลังกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับกับคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมก่อน
แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาตามยอมก่อนที่ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมจะมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 หลังจากบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติมีผลใช้บังคับแก่คู่ความแล้ว คดีของจำเลยจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยลูกหนี้ตามพิพากษายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้อีกต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3491/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องโดยอ้างสิทธิรับช่วงสิทธิ vs. การโอนสิทธิเรียกร้อง: ข้อจำกัดในการยกข้อต่อสู้ในชั้นฎีกา
โจทก์บรรยายฟ้องระบุข้อเท็จจริงว่า โจทก์ชำระเงินให้แก่บริษัท ง. ตามบันทึกข้อตกลงซึ่งโจทก์รับเป็นนายหน้าชี้ช่องให้บุคคลภายนอกเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทดังกล่าว โดยโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าและมีหน้าที่ต้องชำระเงินต้นคงเหลือตามสัญญาเช่าซื้อหากผู้เช่าซื้อผิดนัด โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัท ง. ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ จึงเป็นการฟ้องโดยอ้างสิทธิว่าเป็นการรับช่วงสิทธิตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 2 ซึ่งการรับช่วงสิทธิจะพึงมีได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมายเท่านั้นตามมาตรา 229 ส่วนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาซึ่งเป็นเรื่องของการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่บัญญัติในบรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 4 โดยมีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 306 ฎีกาของโจทก์จึงนอกฟ้องและมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3448/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ไขความผิดและโทษในศาลอุทธรณ์: ข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 279 วรรคหนึ่ง จำคุก 8 เดือน เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกันไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะแก้ไขโทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคหนึ่งและมาตรา 317 วรรคสาม เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 284 ให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 317 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แก้วรรคของความผิดในบทหนักอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษ แม้จะยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคหนึ่งและมาตรา 317 วรรคสาม เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 317 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 284 ให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 317 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แก้วรรคของความผิดในบทหนักอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษ แม้จะยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน