คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ดอกเบี้ยผิดนัด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 125 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3373/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องค่าธรรมเนียมค้ำประกัน, ผู้ค้ำประกัน, ดอกเบี้ยผิดนัด, และผลกระทบจาก พรบ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อประเภทวงเงินกู้โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 มอบหลักประกัน คือ บุคคลค้ำประกัน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันจำนวน 20,000,000 บาท เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 บสย. ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 20,000,000 บาท ต่อโจทก์ โดยหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่โจทก์จัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี ต่อมาโจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน รวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ครั้งละ 350,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ชำระแทนไป รวมเป็นต้นเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน 700,000 บาท ดอกเบี้ย 184,339.72 บาท รวมเป็นเงิน 884,339.72 บาท อันเป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน บสย. ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ บสย. ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระ แต่ไม่ชำระและโจทก์ได้ชำระแทนไปก่อน
หนังสือค้ำประกันมีข้อความระบุว่า หนังสือค้ำประกันมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่ผู้ให้กู้ (โจทก์) จัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี จึงแสดงให้เห็นว่าหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว แม้โจทก์มิได้นำสืบโดยตรงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าธรรมเนียม จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายแทนโดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระคืนให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้มีหนังสือค้ำประกันของ บสย. เป็นหลักประกันก็ย่อมประสงค์ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจาก บสย. ในฐานะผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้เข้าจัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้หนังสือค้ำประกันมีผลใช้บังคับต่อเนื่องอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ยังคงมีหลักประกันเพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) วงเงิน 20,000,000 บาท ที่มีอยู่กับโจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบสนับสนุน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปรวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 จำนวน 350,000 บาท และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 จำนวน 350,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินทดรองจ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปในแต่ละปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดนั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือสัญญาให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว แต่เมื่อมิได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 (เดิม) นับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไป ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกัน นั้น ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สัญญารับชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงยอมรับผิดในมูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าบริการสาธารณะ, ดอกเบี้ยผิดนัด, ค่าปรับ, การบังคับตามสัญญา, และการปรับอัตราดอกเบี้ยตาม พรบ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง
ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเป็นคนละส่วนกับค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ดังที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 นิยามคำว่า "สาธารณูปโภค" กับคำว่า "บริการสาธารณะ" แยกจากกัน การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากความรับผิดเมื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 44 หากมีการทำข้อตกลงที่เป็นการผลักภาระความรับผิดในค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนที่จะมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ในส่วนบริการสาธารณะ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 และมาตรา 44 ไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องรับผิดชอบเหมือนดังเช่นสาธารณูปโภค ประกอบกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะซึ่งเป็นบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการจัดสรรที่ดินโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อคดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชำระค่าบริการส่วนกลางที่ค้างชำระ แม้คำฟ้องบางช่วงบางตอนจะใช้ถ้อยคำว่า โจทก์จัดทำสาธารณูปโภคในพื้นที่ส่วนกลาง ค่าบริการสาธารณูปโภคส่วนกลาง แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและมีพยานมาสืบโดยยกตัวอย่างถึงบริการส่วนกลางที่ดำเนินการ เช่น การจัดให้มีไฟทางส่องสว่างภายในหมู่บ้าน การจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยในการเข้าออกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการสาธารณะ
เมื่อจำเลยชำระค่าบริการสาธารณะเรื่อยมา จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2555 พฤติการณ์บ่งชี้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะระหว่างกัน แม้โจทก์ไม่ได้อ้างส่งสัญญาหรือข้อตกลงเป็นพยานหลักฐาน กรณีรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะ ส่วนที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แม้ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ขึ้นใช้บังคับให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่มาตรา 69 พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ใบอนุญาตหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ให้ไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า การบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ให้นำมาตรา 53 มาใช้บังคับแก่การจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ด้วยโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 53 ก็บัญญัติให้นำความมาตรา 50 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะได้ตามอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ แต่อย่างไรก็ตามแม้โจทก์ไม่ได้ยื่นขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ทั้งหากศาลไม่รับบังคับหนี้ค่าบริการสาธารณะย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่และความสงบสุขโดยรวมของผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการที่ดินจัดสรรที่มิได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป
ตามคำฟ้องไม่ปรากฏข้อตกลงกำหนดเวลาชำระค่าบริการสาธารณะที่จำเลยต้องชำระรายเดือนเมื่อใด จะต้องถือว่าจำเลยผิดนัดเมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าวทวงถามแล้วไม่ชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 ได้ความว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าบริการสาธารณะภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้รับเมื่อใด จึงไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ก่อนฟ้องได้ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ข้อ 4 กำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่เจ้าของที่ดินแปลงย่อยในโครงการจัดสรรที่ดินชำระเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดว่าต้องไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนเงินค้างชำระ เมื่อนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การชำระค่าบริการสาธารณะล่าช้ากรณียังไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีความหมายเพียงว่าผู้จัดสรรที่ดินและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอาจตกลงให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรชำระค่าปรับล่าช้าได้ เมื่อไม่ปรากฏข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วยระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากค่าบริการสาธารณะที่จำเลยค้างชำระตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4456/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการตัดต้นปาล์มและไม่นำเงินขายผลผลิตไปวางศาล, ดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย, การคิดดอกเบี้ยหลัง พ.ร.ก.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง
บริษัท ย. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ปลูกปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีโจทก์และผู้อื่นเป็นผู้ถือหุ้น กับมีจำเลยและผู้อื่นเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน ก่อนคดีนี้ บริษัท ย. โดยจำเลย ฟ้องบุคคลอื่นอ้างว่าบุกรุกที่ดินสวนปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ระหว่างพิจารณาคดีก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้บริษัท ย. มีอำนาจเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันในที่ดินพิพาทฝ่ายเดียวแล้วนำเงินที่ได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมบัญชีรับ-จ่ายมาวางศาลทุกเดือน หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว จำเลยได้บริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันโดยมอบอำนาจให้บุคคลภายนอกรวมถึง ฉ. เข้าทำประโยชน์แทนบริษัท ย. ดังนี้ แม้บริษัท ย. จะไม่ได้ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันเอง แต่ก็ได้มอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทน โดยบริษัท ย. ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน ถือได้ว่าเป็นเงินที่ได้รับจากการขายผลปาล์มน้ำมันที่จำเลยในฐานะกรรมการของบริษัท ย. ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อน ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมบัญชีรับ-จ่าย การที่ ฉ. ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทที่จำเลยมอบอำนาจให้ ฉ. ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันได้ ฟังได้ว่า จำเลยตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทแล้วไม่นำเงินที่ได้จากการขายผลปาล์มน้ำมันหลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมบัญชีรับ-จ่ายไปวางต่อศาลตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อน แต่กลับนำไปใช้เป็นการส่วนตัว ทำให้บริษัท ย. ไม่มีรายได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทดังกล่าวซึ่งโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น
จำเลยหยุดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทในวันที่ศาลมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จำเลยจึงหยุดกระทำละเมิดในวันดังกล่าว และต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ย. ถึงวันดังกล่าวเท่านั้น
การทำสวนปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุประสงค์หลักของบริษัท ย. ดังนั้น การบริหารจัดการเกี่ยวกับการปลูกหรือการตัดต้นปาล์มน้ำมันย่อมมีผลต่อรายได้ของบริษัท จึงต้องขอความเห็นชอบจากกรรมการอื่นด้วย การที่จำเลยในฐานะกรรมการบริหารจัดการงานไปโดยลำพังในการขุดคูและตัดต้นปาล์ม 20 ต้น แล้วเกิดความเสียหายแก่บริษัท ย. จึงเป็นการละเมิดและต้องรับผิดต่อบริษัท ย.
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในปัญหาอำนาจฟ้องว่า ต้นปาล์มน้ำมันและผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นของป่า ไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ปลูก และไม่มีใครเป็นเจ้าของ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดิน, ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค, และการคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดสรรที่ดินโอนที่ดินสาธารณูปโภคพร้อมที่ดินในโครงการจัดสรรให้แก่บรรษัท บ. เป็นการโอนที่ดินจัดสรรทั้งโครงการ ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคนั้นให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ การโอนที่ดินดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินสาธารณูปโภค จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18 และผลของการโอนไม่ตกเป็นโมฆะ
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 1 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่บรรษัท บ. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่บรรษัท บ. ขายที่ดินเปล่าที่เหลือจากที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิซื้อคืนให้แก่โจทก์ ให้นิยามคำว่า "ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร" ทำนองเดียวกันว่าผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 4 ให้นิยามเพิ่มเติมว่า ให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิในที่ดินคนต่อไปด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้ใดที่ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร รวมทั้งผู้รับโอนสิทธิจากผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินไม่ว่าในทางใด ย่อมเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรร แม้บรรษัท บ. ไม่ได้ซื้อที่ดินจัดสรรจากจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัท บ. และโอนที่ดินตีใช้หนี้แก่บรรษัท บ. ถือได้ว่าบรรษัท บ. เป็นผู้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร และเมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินจัดสรรจากบรรษัท บ. เนื่องจากการควบรวมกิจการตามมติคณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินคนต่อไปอันเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินจัดสรรแปลงย่อยที่ตนซื้อและเหลืออยู่ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน ฯ มาตรา 49 วรรคสอง
สำหรับค่าตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิเข้าไปตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้อย่างไร และมีเหตุผลความจำเป็นใดที่จะต้องตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 ส่วนค่าตัดหญ้าในที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องดูแลที่ดินแปลงสาธารณูปโภคตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 43 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าตัดหญ้าในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1003/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้ใหม่จากหนี้เดิมหลายประเภท (เงินกู้, ทองคำ, ค่าแชร์) และดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
หนี้ตามสัญญากู้เงินพิพาทเกิดจากการนำหนี้เงินกู้ 100,000 บาท หนี้ยืมทองคำ และหนี้ค่าแชร์มารวมกัน แม้หนี้เงินกู้เดิมไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมแต่จำเลยยังมีหน้าที่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์เพียงแต่โจทก์ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีจำเลยได้ อย่างไรก็ตาม คู่กรณีสามารถตกลงกันทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินได้ ทั้งการส่งมอบเงินกู้ไม่จำเป็นต้องส่งมอบเงินในวันทำสัญญา สามารถส่งมอบก่อนหรือหลังทำสัญญาก็ได้ และจำเลยรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ 100,000 บาท ดังกล่าวจริง หนี้ส่วนนี้จึงสมบูรณ์ ส่วนหนี้ยืมทองคำ แม้มีการไถ่ถอนทองคำคืนโจทก์ แต่ก็เป็นการกระทำภายหลังที่มีการทำสัญญากู้ยืมเงินแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยมีการตรวจสอบยอดหนี้ในส่วนนี้ว่ายังมีหนี้ค้างชำระกันอีก หนี้ในส่วนนี้จึงสมบูรณ์เช่นกัน สำหรับหนี้ค่าแชร์เมื่อนำมารวมกับหนี้เงินกู้และหนี้ยืมทองคำแล้วจัดทำเป็นหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท จำเลยยอมรับว่ามีการทำสัญญากู้ยืมเงินพิพาทจริง ส่วนจะเป็นโมฆะตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 หรือไม่ นั้น จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวกันโจทก์มีการจัดให้เล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง หรือมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน และมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าหนี้ค่าแชร์ที่นำมารวมเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เมื่อจำเลยไม่นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่าหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์เป็นนายวงเป็นโมฆะ และเมื่อมีการนำหนี้ทั้งสามประเภทมารวมกันเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงก่อหนี้ขึ้นมาใหม่โดยมีเจตนาให้หนี้เดิมระงับอันมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่
of 13