คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประกันชีวิต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 130 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6711/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างนิติกรรมประกันชีวิตเนื่องจากปกปิดข้อเท็จจริง ศาลพิพากษายืนตามศาลล่างว่าจำเลยมีหน้าที่พิสูจน์การบอกล้างภายในกำหนด
โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์จากการถึงแก่ความตายของ ก. ซึ่งประกันชีวิตไว้ต่อจำเลย จำเลยให้การรับว่าได้รับประกันชีวิต ก. แต่ยกข้อต่อสู้ว่านิติกรรมเป็นโมฆียะและได้บอกล้างแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด และให้จำเลยมีภาระการพิสูจน์ จึงเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันชีวิต คือ ก. ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (H.I.V) หรือโรคเอดส์ และจำเลยได้บอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียกรรมภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง บัญญัติให้สิทธิไว้
หลักเกณฑ์ในการบรรยายฟ้องให้ถูกต้องตามกฎหมายดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติไว้กำหนดให้โจทก์ต้องบรรยายคำฟ้องโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นเท่านั้น โดยมิได้บัญญัติให้โจทก์ต้องบรรยายถึงข้อปฏิเสธความรับผิดของจำเลยในชั้นก่อนฟ้องมาเป็นสาระสำคัญของคำฟ้องด้วย ดังนี้ในชั้นพิจารณาจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยซึ่งปฏิเสธความรับผิดตามที่โจทก์ฟ้องมีภาระการพิสูจน์จะต้องนำสืบให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์แห่งข้อยกเว้นความรับผิดในฐานะผู้รับประกันชีวิต ก. ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระยะเวลาในการบอกล้างนิติกรรมและพิพากษาคดีมานั้น จึงไม่เป็นการพิจารณาพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตเนื่องจากผู้เอาประกันปกปิดเจ็บป่วย และขอบเขตตัวแทนประกันชีวิต
ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิตฯ มาตรา 5 ได้ให้คำจำกัดความของตัวแทนประกันชีวิตว่าหมายความว่า ผู้ซึ่งบริษัทมอบหมายให้ทำการชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท และมาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ตัวแทนประกันชีวิตอาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามของบริษัทได้เมื่อได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากบริษัท แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่า ช. เป็นตัวแทนประกันชีวิตผู้ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากจำเลยให้ทำสัญญาประกันชีวิตในนามของจำเลยได้ เช่นนี้ ช. จึงเป็นเพียงตัวแทนในการหาผู้เอาประกันมีหน้าที่ชักชวนให้ผู้อื่นมาทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยเท่านั้นไม่ใช่ตัวแทนในการทำสัญญาประกันชีวิตของจำเลย จึงไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยตาม ป.พ.พ. การที่ ช. ได้ทราบหรือควรทราบข้อเท็จจริงขณะทำหนังสือรับรองสุขภาพว่า ส. เคยป่วยเป็นโรคตับอักเสบและมีอาการแน่นหน้าอกเนื่องจากดื่มสุรามากได้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล อ. จะถือว่าจำเลยได้ทราบความจริงดังกล่าวด้วยหาได้ไม่ นอกจากนี้จำเลยยังนำสืบว่าหลังจาก ส. เสียชีวิตจำเลยได้ตรวจสอบหลักฐานและประวัติเกี่ยวกับสุขภาพของ ส. ทราบผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2540 ว่า ส. ปกปิดข้อความจริงว่าเคยป่วยเป็นโรคตับอักเสบ หากจำเลยทราบความจริงจำเลยจะไม่ต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตกับ ส. โดยโจทก์ไม่นำสืบหักล้าง ดังนั้น การที่ ส. รู้อยู่ว่าตนเป็นโรคตับอักเสบแต่ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงที่อาจจูงใจให้จำเลยปฏิเสธไม่ทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้น ย่อมทำให้สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ส. กับจำเลยเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคหนึ่ง จำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 จึงเป็นการบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 787/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบหมายงานประกันชีวิตแก่ลูกจ้างที่ทำสัญญาจ้างเฉพาะงานวินาศภัย มิอาจเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม
โจทก์ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจประกันชีวิตต่อมาบริษัท ท. จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2543 โดยรับโอนงานในส่วนประกันชีวิตจากบริษัท ท. มา ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2535 ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2543 บริษัท ท. ยังคงประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจประกันชีวิตทั้งสองประเภทควบคู่มาด้วยกันโดยยังไม่ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามมาตรา 121 วรรคสอง แต่เป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิตภายใต้บทบัญญัติมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ที่ให้กระทำต่อไปได้ภายใต้เงื่อนไขว่าบริษัท ท. ต้องแยกรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันชีวิตออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรายรับและรายจ่ายของธุรกิจประกันวินาศภัย ดังนั้น งานในส่วนประกันวินาศภัยและงานในส่วนประกันชีวิตต่างก็เป็นงานของบริษัท ท. ผู้เป็นนายจ้างของโจทก์
หนังสือสัญญาข้อตกลงรับทราบเงื่อนไขในการจ้างทำขึ้นในตอนที่โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างทดลองงานเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2547 แต่ข้อความตามหนังสือก็ระบุว่าเป็นเงื่อนไขในการจ้างในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ท. ไม่ได้ระบุว่าเป็นเงื่อนไขที่ใช้เฉพาะในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างทดลองงานเท่านั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัท ท. และทำงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย ดังนั้น การที่บริษัท ท. ให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานบริการวินาศภัยทำงานประกันชีวิตด้วย งานประกันชีวิตซึ่งเป็นธุรกิจส่วนหนึ่งของบริษัท ท. จึงเป็นงานในความรับผิดชอบของโจทก์โดยชอบด้วยเงื่อนไขในการจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างที่โจทก์ทำงานประกันชีวิตให้บริษัท ท. ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 2543 จำเลยซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้น ก็รับโอนทรัพทย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบตามกรมธรรม์และลูกจ้างในส่วนธุรกิจประกันชีวิตจากบริษัท ท. แต่ไม่ได้รับโอนโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยมาด้วย และหลังจากวันที่ 27 มีนาคม 2543 ถึงวันที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง จำเลยมิได้ให้โจทก์ทำงานประกันชีวิต โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชมรมสงเคราะห์จ่ายเงินสงเคราะห์หลังสมาชิกเสียชีวิต เข้าข่ายประกอบธุรกิจประกันชีวิตโดยไม่ได้รับอนุญาต
การดำเนินกิจกรรมของชมรมเอื้ออาทรเกษตรกรอำนาจเจริญ สมาชิกจะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกแก่ชมรมทุกปี เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย ชมรมจะนำเงินค่าสมาชิกหมุนเวียนจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะของสมาชิกนั้น เป็นเหตุในอนาคตที่จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามที่สมาชิกนั้นกำหนดไว้ มิใช่เป็นการจ่ายเพื่อการสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 แต่เป็นการดำเนินกิจการอันมีลักษณะทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 มาตรา 862 และมาตรา 889 ซึ่งมิได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทมหาชนจำกัด จึงไม่อาจที่จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.การประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7
จำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินกิจการชมรมในการทำการเป็นผู้รับประกันชีวิตโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบรรดาสมาชิกทั้งหลายด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำชักชวนหาสมาชิก เป็นการร่วมกันทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใด ๆ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นความผิดตามมาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบริการประกันชีวิตผิดกฎหมาย: การจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะ
โจทก์ทำสัญญาบริการกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างให้บริการสรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อเป็นตัวแทน 25 คน และผู้บริหารงานขาย 5 คน ในการเป็นตัวแทนของโจทก์ทำหน้าที่หาลูกค้าเข้าทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ให้ได้ผลงานเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 5,000,000 บาท ภายในรอบระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 ซึ่งโจทก์ได้ค่าตอบแทน 1,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไปรับแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 หากบุคลากรทำผลงานให้โจทก์ไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินตามวิธีคิดคำนวณที่กำหนดไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 กระทำไม่ได้เบี้ยประกันภัยได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ แต่การที่โจทก์จ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2553 แสดงว่าโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่จะครบรอบการผลิตผลงานให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2554 เป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้แก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) ซึ่งห้ามมิให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท และบริษัทที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 (7) ดังกล่าวต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 93 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการควบคุมบริษัทประกันชีวิตให้จ่ายเงินหรือค่าตอบแทนภายในขอบเขตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การทำสัญญาบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ถือเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจนำสัญญาบริการมาฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยทั้งสามได้ การที่โจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้โจทก์แก่จำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929-930/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันชีวิตโมฆียะเนื่องจากผู้ทำประกันมีอาการป่วยทางจิตและร่างกาย ผู้ฟ้องไม่มีส่วนได้เสียจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์เป็นผู้จัดให้ผู้ตายเอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 และบริษัทอื่นซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 7 โดยโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและเป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงเป็นผู้เอาประกันชีวิต แต่โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ สัญญาประกันชีวิตที่โจทก์จัดทำขึ้นย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 โจทก์ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์สัญญาประกันชีวิต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 7 ชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 7 จะมิได้ฎีกาในเรื่องนี้ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้มีผลรวมไปถึงจำเลยที่ 7 ด้วยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปกปิดเจ็บป่วยในสัญญาประกันชีวิต ทำให้สัญญามีโมฆียะ ผู้รับประกันมีสิทธิบอกล้างสัญญาได้
ในสัญญาประกันชีวิต การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่งเป็นสำคัญ และมาตรา 865 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. บัญญัติว่า "...บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยการทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเปิดเผยข้อเท็จจริงต่าง ๆ รวมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันชีวิต เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันชีวิตซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตน ที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ หาใช่หน้าที่ของจำเลยผู้รับประกันชีวิตที่จะต้องสืบหาประวัติการรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันชีวิตไม่ การที่ผู้เอาประกันชีวิตระบุในใบคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) ที่ถามชัดเจนว่าระหว่าง 6 เดือนที่ผ่านมาเคยให้แพทย์ตรวจหรือเข้าสถานพยาบาลทำการรักษาตัว ตรวจโลหิต ความดันโลหิตหรือไม่ แต่ผู้เอาประกันชีวิตกลับตอบว่า การตรวจสุขภาพประจำปีผลปกติ ทั้งที่ก่อนที่จะยื่นใบคำขอเอาประกันภัยสินเชื่อกลุ่ม (แบบสั้น) เพิ่งไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการป่วยด้วยโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง บ่งชี้ได้ว่า ผู้เอาประกันชีวิตจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพและอาการเจ็บป่วยดังกล่าวของตนที่เป็นข้อสาระสำคัญซึ่งหากจำเลยทราบก็จะไม่รับทำสัญญาประกันชีวิต การปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นผลให้สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะตามบทกฎหมายข้างต้น เมื่อจำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตไปยังโจทก์ทั้งสองผู้รับประโยชน์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง โดยชอบแล้ว สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2604/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีประกันอุบัติเหตุ: ประกันวินาศภัย 2 ปี vs. ประกันชีวิต 10 ปี
จำเลยรับประกันภัยจากโจทก์ตามกรมธรรม์อุบัติเหตุ โดยให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บทางร่างกายของผู้เอาประกันภัยโดยอุบัติเหตุและทำให้ผู้ประกันเสียภัยชีวิต สูญเสียอวัยวะโดยสิ้นเชิง หรือสายตาโดยถาวรสิ้นเชิง หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บที่ได้รับและทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องพักรักษาตัวติดต่อกันในฐานะผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลและเสียชีวิตเพราะการบาดเจ็บนั้น จะเห็นได้ว่ากรมธรรม์ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้เอาประกันเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แต่กรณีผู้เอาประกันไม่เสียชีวิตเพียงแต่สูญเสียอวัยวะ หรือสายตาโดยถาวรสิ้นเชิง หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง อันเป็นการถือเอาลักษณะการบาดเจ็บต่อผู้เอาประกันภัยเนื่องจากอุบัติเหตุเป็นเงื่อนไขในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยกำหนดจำนวนเงินแน่นอนสำหรับการชดใช้ ในส่วนนี้จึงหาใช่สัญญาประกันชีวิต แต่ถือว่าเป็นวินาศภัยอย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ แพทย์ลงความเห็นว่าโจทก์มีความพิการและถือว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุแต่ไม่เสียชีวิต การฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุนี้จึงเป็นในส่วนของการประกันวินาศภัย ซึ่งต้องใช้อายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคแรก เมื่อโจทก์ประสบอุบัติเหตุวันที่ 5 ตุลาคม 2556 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 22 กันยายน 2561 เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสจากประกันชีวิต: สิทธิของผู้ร้องในเงินคืนจากกรมธรรม์เมื่อล้มละลาย
จำเลยกับผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2521 และจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 ในระหว่างจำเลยกับผู้ร้องอยู่กินเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 ผู้ร้องดำเนินการจัดให้มีการทำสัญญาประกันภัยเอาประกันชีวิตของจำเลยกับบริษัทประกันภัย ในลักษณะสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท ชำระเบี้ยประกันปีละ 75,000 บาท มีระยะเวลา 20 ปี ระบุให้บุตร 2 คน เป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยจำเลยเป็นคนลงนามในคำขอเอาประกันชีวิต และบริษัทประกันภัย ออกกรมธรรม์ให้ในชื่อจำเลย แสดงว่า ผู้ร้องกับจำเลยร่วมรับรู้ในการทำประกันชีวิตจำเลย สัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) มีลักษณะเป็นการประกันความเสี่ยง ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของจำเลยเพื่อความมั่นคงของครอบครัว ทั้งยังมีลักษณะเป็นการออมทรัพย์และการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ที่บริษัทตกลงจะจ่ายคืนในอนาคตด้วย ประกอบกับได้ความว่าผู้ร้องได้นำเงินรายได้ที่ทำมาหาได้ในระหว่างสมรสกับจำเลยไปชำระเบี้ยประกันก่อนมีการหย่า งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 งวดละ 75,000 บาท งวดที่ 6 ถึงงวดที่ 9 และงวดที่ 11 งวดละ 54,400 บาท รวม 10 งวด เป็นเงิน 647,000 บาท สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยและผู้ร้องได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) และเป็นสินสมรสที่มีอยู่ขณะที่มีการหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าภายหลังมีการหย่า จำเลยกับผู้ร้องได้มีการตกลงแบ่งสินสมรสตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (มีเงินปันผล) ตามกรมธรรม์ จึงยังคงมีสภาพเป็นสินสมรสที่ยังมิได้แบ่ง และเมื่อกรมธรรม์ ครบกำหนดในวันที่ 26 ธันวาคม 2558 บริษัทผู้รับประกันภัยจ่ายเงินคืนตามกรมธรรม์ จำนวน 671,000 บาท เป็นสินสมรสที่จำเลยกับผู้ร้องมีส่วนคนละครึ่ง ผู้คัดค้านคงมีอำนาจจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่มีอำนาจรวบรวมเอาเงินส่วนของผู้ร้องเข้ากองทรัพย์สินของจำเลย และต้องคืนเงินส่วนนี้ให้แก่ผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ส่วนที่จำเลยและผู้ร้องจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 อันทำให้การสมรสสิ้นสุดลง ต่อมาในวันที่ 30 มกราคม 2550 ผู้ร้องนำเงินส่วนตัวไปชำระเงินค่าเบี้ยประกันจำนวน 54,400 บาท เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าชำระหนี้แทนจำเลย เงินจำนวนนี้มิใช่เงินที่ผู้ร้องจะได้รับในฐานเป็นสินสมรสในคดีนี้ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวเป็นกรณีอื่นต่างหาก เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับเงินที่ชำระไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 คืนในคดีนี้และเงินที่บริษัทผู้รับประกันภัยคืนมาจำนวน 671,000 บาท รวมเงินจำนวนดังกล่าวไว้ด้วย จึงต้องหักเงิน 54,400 บาท ออกจากเงินบริษัทผู้รับประกันภัยคืนมา โดยคำนวณเทียบเป็นสัดส่วนร้อยละ คงเหลือเงินสินสมรส 618,957.80 บาท และผู้ร้องมีสิทธิได้รับคืนครึ่งหนึ่งจำนวน 309,478.90 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4237/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตต้องเป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้น สัญญายังคงมีผลผูกพัน
การบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยผู้รับประกันภัยให้การต่อสู้ว่า สัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นโมฆียะ และจำเลยได้บอกล้างแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่า จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่เมื่อใด และได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้วภายใน 1 เดือน นับแต่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยทราบเหตุอันบอกล้างโดยทราบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 แต่ตามพยานหลักฐานจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยมอบหมายให้บุคดลใดเป็นผู้ตรวจสอบหรือจำเลยทำการตรวจสอบอย่างไร แต่ปรากฏจากสำเนาบัตรตรวจโรคโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ว่า โรงพยาบาลวารินชำราบ ส่งตัว ป. ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เกี่ยวกับโรคติดสุรา โดยระบุที่มุมด้านข้างของเอกสารว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 และมี ว. เจ้าพนักงานเวชสถิติชำนาญงาน เป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้องเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความ ล. ว่าประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนจำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของ ป. ไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในช่วงเวลาดังกล่าวและโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้ออกเอกสารตามสำเนาบัตรตรวจโรคให้แก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 แล้ว กำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือนในการใช้สิทธิบอกล้างโมฆียกรรม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ที่ตัวแทนของจำเลยได้รับสำเนาประวัติการตรวจรักษาของ ป. ซึ่งเป็นการทราบมูลอันจำเลยจะบอกล้างโมฆียกรรมได้ การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 20 มิถุนายน 2559 บอกล้างสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับไปยังโจทก์ และโจทก์ได้รับหนังสือบอกล้างดังกล่าววันที่ 26 มิถุนายน 2559 จึงพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียกรรมได้
of 13