คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผลผูกพัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 804 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5419/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสภาพหนี้โดยบุคคลภายนอกและผลผูกพันตามกฎหมาย
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 193/14 (1) ผู้ที่จะรับสภาพหนี้ได้มีเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ทำสัญญารับใช้หนี้แทน ซ.ลูกหนี้ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 ขึ้น แต่ไม่มีผลบังคับเพราะ น.คู่สัญญาผู้กระทำการแทนโจทก์กระทำการโดยปราศจากอำนาจแม้ฟังได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้แสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวผูกพันตนเข้ารับชำระหนี้แก่โจทก์แทนลูกหนี้ของโจทก์ อันเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว ก็ไม่มีลักษณะของลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/14 (1) ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5349/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสดงเจตนาทางนิติกรรมโดยปริยาย (การเชิดตัวแทน) และผลผูกพันตามกฎหมาย
ทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จำเลยที่ 1 สามีของจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาจำเลยที่ 1แบ่งแยกที่ดินส่วนที่อยู่ทางทิศใต้ของทางพิพาทออกเป็น10 แปลง เนื้อที่แปลงละ 50 ตารางวา โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 1 แปลง และผ่อนชำระเงินจนครบถ้วนแล้วโจทก์และผู้ซื้อที่ดินรายอื่นใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะการที่ต่อมาจำเลยที่ 2 ทำบันทึกยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะคิดค่าตอบแทนจากโจทก์และผู้ซื้อที่ดินรายอื่นเป็นเงินรายละ 20,000 บาท โดยบางครั้งจำเลยที่ 2เป็นผู้รับชำระค่าที่ดินนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เก็บเงินค่าผ่อนชำระราคาที่ดินจากผู้ซื้อและรับชำระเงินค่าผ่อนที่ดินแทน และฝ่ายจำเลยที่ 1 เพิ่งจะไม่ยอมตกลงยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะหลังจากจำเลยที่ 2ตกลงทำบันทึกยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะแล้วถึง20 กว่าวัน เป็นการแสดงออกของจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2ออกเป็นตัวแทน หรือยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับที่ดินของจำเลยที่ 1ตลอดมาได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนไปทำบันทึกยกทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยคิดค่าตอบแทนจากโจทก์และผู้ซื้อที่ดินรายอื่นแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าการตั้งตัวแทนไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5282/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: ผลผูกพันตามคำพิพากษา และสิทธิบังคับคดีเมื่อผิดนัด
เมื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ระบุว่า กรณีที่โจทก์ผิดนัดให้เลิกสัญญาได้ ทั้งโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาตามยอมย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยให้ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่งแม้โจทก์จะเป็นฝ่ายผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตามจำเลยก็ไม่อาจเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความต่อโจทก์ได้เพราะเป็นกรณีนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความอันเป็นสาระสำคัญแห่งคำพิพากษาตามยอม เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและมิได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาคดีถึงที่สุด ซึ่งหลังจากนั้นเป็นเรื่องของการบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยจึงมีเฉพาะสิทธิขอให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาตามยอมที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างชัดแจ้งว่าหากโจทก์ผิดนัดยินยอมให้บังคับคดีได้ทันทีโดยการยึดทรัพย์ของโจทก์มาชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายซึ่งจำเลยก็ได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแก่โจทก์ และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีไปแล้ว และเมื่อโจทก์นำเงินที่จะต้องชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความมาวางศาล โจทก์ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิกระทำได้เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมให้ตนหลุดพ้นจากหนี้ตามคำพิพากษาได้ โจทก์นำเงินตามจำนวนที่คำพิพากษาตามยอมระบุไว้มาวางต่อศาลภายหลังโจทก์ผิดนัดแล้ว เป็นผลเพียงทำให้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยในต้นเงินที่นำมาวางศาลนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่นำเงินตามคำพิพากษาตามยอมมาวางศาลในอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วยเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5234/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขงานสัญญาภาครัฐ: การตกลงราคากับผู้มีอำนาจ และผลผูกพันสัญญา
สัญญาจ้างที่พิพาทข้อ 18 มีข้อความว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะทำการแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือลดงานจากแบบรูปและรายละเอียดตามสัญญาได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องเลิกสัญญานี้ การเพิ่มเติมหรือลดงานจะต้องคิดและตกลงราคากันใหม่ และถ้าต้องเพิ่มหรือลดเงินหรือยืดเวลาออกไปอีกก็จะได้ตกลงกัน ณ บัดนั้นและได้ระบุรายละเอียดส่วนหนึ่งของสัญญาว่าสำนักงบประมาณอนุมัติให้จำเลยลดจำนวนการถมดินลงพร้อมส่วนประกอบอื่น ๆ รวม 5 รายการ วงเงิน3,473,900 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างพิพาทเท่านั้น ซึ่งโจทก์ผู้รับจ้างทราบแต่ต้นแล้วว่าจำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐบาลมีวงเงินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นค่าจ้างได้ไม่เกินจำนวนดังกล่าว ทั้งการเพิ่มวงเงินจำเลยจะต้องขออนุมัติตามขั้นตอนของระเบียบทางราชการก่อน ส่วนการถมดินเพิ่มและการต่อฐานรากเสาเข็มเพิ่ม ปรากฏว่าโจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร และฝ่ายจำเลยซึ่งตกลงกับโจทก์คือคณะกรรมการตรวจการจ้างซึ่งไม่มีอำนาจตกลงเพิ่มหรือลดเงินแทนจำเลย ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยมิได้ทราบและโจทก์จำเลยมิได้ตกลงราคากันใหม่ตามสัญญาจ้างที่พิพาทข้อ 18 การถมดินเพิ่มและการต่อฐานรากเสาเข็มเพิ่มจึงไม่ผูกพันจำเลยจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารปลอม สัญญาค้ำประกัน และผลผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกา
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้โดยเอกสารสัญญากู้พิพาทยังไม่มีการกรอกข้อความ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอกู้ยืมจากโจทก์เป็นจำนวนเงินเพียง 200,000 บาท แต่ปรากฏว่าสัญญากู้ดังกล่าวกลับมีการกรอกข้อความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นจำนวน 2,800,000 บาท จึงเป็นการกรอกข้อความลงในสัญญากู้ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพียงแต่ลงลายมือชื่อให้ไว้ผิดไปจากความจริงโดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญากู้พิพาทจึงเป็นเอกสารปลอม และสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้แล้วมีการกรอกข้อความว่าเป็นการค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 2,800,000 บาท ซึ่งผิดไปจากความเป็นจริงโดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย จึงเป็นเอกสารปลอมเช่นกัน ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินและการค้ำประกันคดีนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
จำเลยที่ 3 ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลย ขอให้จดทะเบียนปลดจำนองรายเดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้นซึ่งต่อมาคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่ามีหนี้เงินกู้จำนวน 200,000 บาท ซึ่งผูกพันสัญญาจำนอง คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 3 และโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความรายเดียวกันนี้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา145 วรรคหนึ่ง เมื่อมีหนี้เงินกู้จำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงผูกพันสัญญาจำนองรายนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 3 ตามสัญญาจำนองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4626/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำพิพากษาถึงที่สุด: ห้ามฟ้องคดีซ้ำเรื่องกรรมสิทธิ์มรดกที่เคยมีคำพิพากษาแล้ว
ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์แบ่งที่ดินส่วนที่เป็นของ ม.ให้จำเลยทั้งสอง การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นการได้มาโดยผลของคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่ได้มาโดยทางมรดกในฐานะที่เป็นทายาทของม. ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลฎีกาการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงขั้นตอนของการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาเท่านั้น โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษานั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
ขณะที่ ม.ถึงแก่กรรม ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ม.มีจำเลยทั้งสองป.และ พ.รวม 4 คน เมื่อจำเลยทั้งสองยื่นฟ้องโจทก์ในคดีก่อนอ้างว่ามรดกของม.ตกได้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้น โดยขณะนั้น ป.บิดาโจทก์ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ให้การในคดีก่อนแต่เพียงว่า ม.ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ และโจทก์ได้ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 แล้ว ดังนั้น คดีก่อนจึงเป็นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งหมดเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่จำเลยทั้งสองเท่านั้นหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ม.ตกได้แก่ ป.และต่อมาตกเป็นของโจทก์ และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งให้โจทก์ ย่อมเป็นการขัดกับคำให้การของโจทก์ในคดีก่อนและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งคำฟ้องโจทก์คดีนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของ ม.ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องให้วินิจฉัยเรื่องมรดกของ ป.จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวล ป.วิ.พ.มาตรา144 วรรคหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นเมื่อคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองตั้งแต่ พ.ศ.2525 โจทก์ต้องผูกพันตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งโดยอ้างว่าเป็นมรดกของ ป.และ พ.ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน การระงับหนี้ และผลผูกพันตามสัญญาประกัน
คำบรรยายฟ้องโจทก์ได้ความชัดว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้ทำสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนำมาขายลดแก่โจทก์ เมื่อตั๋วถึงกำหนดชำระจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ แต่ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ชำระหนี้แก่โจทก์แทนตั๋วฉบับเดิม ที่จำเลยที่ 1ให้การว่า เป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ชำระหนี้ค่าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมและโจทก์รับชำระหนี้แล้ว หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมจึงระงับ แต่โจทก์ไม่ยื่นตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ภายในเวลาที่กำหนด จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่นั้น เป็นคำให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมแล้วโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แลกเปลี่ยน การเปลี่ยนเงื่อนไขวันถึงกำหนดใช้เงินจากวันที่กำหนดไว้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมเป็นเมื่อทวงถามตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ มิใช่เปลี่ยนสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เพราะยังเป็นมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอยู่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมจะระงับไปหรือไม่อย่างไรไม่ใช่ข้อสำคัญ ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ก็ไม่ระงับ หนี้ตามหนังสือสัญญาขายลดตั๋วเงินและสัญญาจำนองสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นประกันการชำระหนี้ก็ไม่ระงับไปด้วย คำให้การของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยทั้งสี่เข้าใจผิดหรือหลงข้อต่อสู้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ก่อนจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินขายลดแก่โจทก์ จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์โดยจำเลยทั้งสี่ได้ทำสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ มีข้อความสำคัญในสัญญาขายลดตั๋วเงินว่าหากโจทก์ไม่ได้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระเงินตามตั๋วคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับได้ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับจำเลยที่ 1 ตลอดไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินตามตั๋วที่นำมาขายลดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จนครบ โดยมีสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันของจำเลยทั้งสี่เป็นหลักประกัน
หลังจากจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 มาขายลดแก่โจทก์ 1 ฉบับเป็นเงิน 15,000,000 บาท เมื่อตั๋วถึงกำหนดชำระเงินจำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินแก่โจทก์ แต่ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่จำนวนเงินแลกเปลี่ยนหรือชำระหนี้ตามตั๋วฉบับเดิม เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินตามตั๋วฉบับใหม่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ชำระ ดังนั้นเงินจำนวน 15,000,000 บาท ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่โจทก์จึงยังไม่ได้รับชำระคืน หนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินและสัญญาจำนองกับค้ำประกันซึ่งเป็นประกันแห่งหนี้ จึงไม่ระงับและยังมีผลผูกพันจำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามบอกล่าวบังคับจำนอง การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ดังนี้ข้อที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมอบอำนาจให้ จ.เป็นผู้บอกกล่าวบังคับจำนอง การบอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในคำให้การขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ชำระหนี้แทนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิม แม้ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมจะไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋ว แต่เมื่อโจทก์ฟ้องและศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่รับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3352/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันสัญญาแบ่งทรัพย์สินหลังหย่า, การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์, และสิทธิของเจ้าหนี้จำนอง
บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาท้ายทะเบียนการหย่า เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1532 ย่อมมีผลบังคับผูกพันสามีภริยานับแต่นายทะเบียนจดทะเบียนการหย่าแล้ว หากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นภริยาผิดสัญญา ผู้ร้องในฐานะคู่สัญญาซึ่งเป็นสามีย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2ปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่เมื่อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสและเป็นอสังหาริมทรัพย์ดังนี้ การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นยังไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 2 จึงยังไม่ตกเป็นของผู้ร้อง การที่จำเลยที่ 2 กับผู้ร้องได้กู้เงินจากธนาคาร ท.โดยผู้ร้องได้ขอให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมบ้านพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 2 และผู้ร้องในฐานะเจ้าของรวมย่อมต้องผูกพันในหนี้จำนองดังกล่าวต่อธนาคาร ท.ด้วย ผู้ร้องหาอาจอ้างเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่ามาให้เป็นที่เสื่อมเสียสิทธิของผู้รับจำนองโดยสุจริตได้ไม่และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ธนาคาร ท.ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ผู้คัดค้านยึดที่ดินพร้อมบ้านพิพาทอันเป็นหลักประกันออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จำนองได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 95

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3208/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลคำพิพากษาศาลฎีกาผูกพันคู่ความ การงดสืบพยานชอบด้วยกฎหมาย และการดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ดังนั้น ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษา นับแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ซึ่งตามคำให้การของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าหลังจากศาลฎีกาพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 และจำเลยที่ 3 ก็มิได้ให้การต่อสู้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าโจทก์แต่ประการใด กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสามไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีไปกว่าโจทก์ คดีจึงสามารถวินิจฉัยชี้ขาดได้โดยไม่ต้องสืบพยานต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจึงชอบแล้ว แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อดำเนินการแบ่งแยกนั้นประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 78 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7(พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินฯ กำหนดไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งโจทก์สามารถนำคำพิพากษาไปดำเนินการตามขั้นตอนได้อยู่แล้วโดยไม่จำต้องอาศัยคำสั่งศาลให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินให้แต่อย่างใดจึงต้องยกคำขอในส่วนนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2910/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำพิพากษาคดีอาญาต่อคดีแพ่ง: ความประมาททางละเมิดและการรับผิดชอบของจำเลย
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46กำหนดให้ศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้ให้การในเรื่องนี้ไว้ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคสองโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของอ. ผู้ตายในคดีอาญาจึงต้องถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ทั้งสองข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองด้วยเมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ในคดีอาญานำสืบมายังไม่อาจรับฟังได้ว่าเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่1ดังนั้นคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาจำเลยที่1ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเมื่อจำเลยที่1ซึ่งกระทำแทนจำเลยที่2มิได้ประมาทจำเลยที่2จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่3ผู้รับประกันภัยจะมิได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่3ด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1)ประกอบด้วยมาตรา247
of 81