คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ละเมิดสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 128 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11315/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าที่สอดคล้องกับชื่อที่จดทะเบียนไว้แล้วของผู้อื่น และการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้า
จำเลยนำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลจำเลยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 และยังคงใช้ชื่อดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้อง อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อเนื่องกันฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อโจทก์ทั้งสองใช้คำว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อปู่โจทก์ที่ 2 เป็นชื่อนิติบุคคลและเครื่องหมายการค้ากับการค้าทองมานานกว่า 50 ปี จนมีชื่อเสียงก่อนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลย โจทก์ที่ 1 แม้เป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้นามว่า "โต๊ะกัง" และ "ตั้งโต๊ะกัง" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 67 และมาตรา 18 การที่จำเลยประกอบกิจการค้าทองโดยใช้ชื่อว่า "บริษัทห้างค้าทองโต๊ะกังเยาวราช ดิ โอล์ด สยาม จำกัด" ซึ่งมีคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย ย่อมทำให้เกิดความสับสนหลงผิดว่ากิจการค้าของจำเลยเกี่ยวข้องกับการค้าทองของโจทก์ทั้งสอง อันทำให้โจทก์ทั้งสองต้องเสื่อมเสียประโยชน์แม้ว่าชื่อนิติบุคคลจำเลยจะประกอบด้วยคำอื่นนอกเหนือจากคำว่า "โต๊ะกัง" และโจทก์ที่ 1 กับจำเลยจะเป็นนิติบุคคลคนละประเภทก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิใช้คำว่า "โต๊ะกัง" เป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อบริษัทจำเลย และการที่นายทะเบียนของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยินยอมจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยใช้ชื่อดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความเห็นของนายทะเบียน แต่ไม่ได้หมายความว่าการดำเนินการของนายทะเบียนดังกล่าวจะก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะใช้ชื่อบริษัทจำเลยเสมอไป หากการใช้ชื่อบริษัทจำเลยก่อให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลและนิติบุคคลอื่นที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 67 และมีการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอความคุ้มครองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยระงับความเสียหายและร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยกระทำการดังกล่าวได้ โดยมีอำนาจฟ้องห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อที่มีคำว่า "โต๊ะกัง" รวมอยู่ด้วย และการที่จำเลยนำคำว่า "โต๊ะกัง" ซึ่งเป็นชื่อนิติบุคคลห้างโจทก์ที่ 1 มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้จนเป็นเหตุให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 18 จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10230/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของร่วมมีหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แม้จะมีการละเมิดสิทธิจากจำเลย การกระทำที่ไม่รับผิดชอบและส่อเจตนาเอาเปรียบเป็นเหตุไม่ให้กำหนดค่าเสียหาย
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำสัญญาระหว่างกัน และเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.วิ.พ. ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การบังคับชำระหนี้โดยการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิพากษาบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้และตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้โดยวิธีอื่นหรือโดยพลการตรงกันข้ามพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 41 โดยกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิในหนี้ค่าใช้จ่ายตามาตรา 18 ไว้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายนี้ แสดงว่าการบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการโดยใช้สิทธิทางศาล นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดย่อมมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลของตนในอาคารชุดและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 13 วรรคหนึ่งด้วย จึงมีสิทธิใช้สอยทรัพย์ส่วนกลาง จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบจะใช้วิธีการขัดขวางการใช้ทรัพย์สินส่วนกลางของโจทก์เพื่อเป็นมาตรการบังคับให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์โดยพลการ
ข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที 1 ข้อ 13 และข้อ 15 ที่มีข้อความในทำนองให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิห้ามหรืองดสิทธิการใช้ทรัพย์ส่วนกลางหรือกำหนดมาตรการหรือดำเนินการตามมาตรการได้นั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะใช้วิธีการเพื่อป้องกันการกระทำโดยไม่ชอบเท่านั้น ไม่รวมถึงการห้ามหรือขัดขวางการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง เพื่อบังคับให้เจ้าของร่วมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แม้การจ่ายน้ำประปาไปยังให้องชุดของโจทก์ต้องใช้อุปกรณ์บางส่วนที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วย จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้โจทก์ใช้ประโยชน์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ผิดข้อตกลงในการซื้อน้ำประปา จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิงดจ่ายน้ำประปาแก่โจทก์
โจทก์ไม่จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพราะนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 นำเงินไปใช้จ่ายโดยพลการ โจทก์จะต้องว่ากล่าวดำเนินคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้กระทำเช่นนั้นหรือให้ชำระค่าเสียหาย ไม่เป็นเหตุโดยชอบที่โจทก์จะอ้างขึ้นเพื่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในการชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ไม่นำพา ไม่รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายร่วมกันของเจ้าของร่วมทุกคนที่ได้ใช้ทรัพย์ส่วนกลางเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกราย จึงเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางเอาเปรียบผู้อื่นโดยไม่ชอบและส่อไปในทางไม่สุจริตด้วย ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำการโดยไม่ชอบอันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาซื้อน้ำประปาต่อโจทก์ แต่โจทก์มีส่วนผิดกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและส่อไปในทางไม่สุจริต ศาลฎีกาจึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4840/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำสาธารณสมบัติของแผ่นดิน: สัญญาเช่าที่ดินผิดกฎหมาย และการละเมิดสิทธิการใช้ทางหลวง
ที่พิพาทเป็นพื้นที่ไหล่ทางของทางหลวงหมายเลข 3 จึงเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตทางหลวงซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) กรมธนารักษ์ซึ่งได้รับมอบที่ดินคืนจากกรมทางหลวงเพื่อดูแลรักษา หรือจังหวัดฉะเชิงเทราในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงจากกรมธนารักษ์ย่อมไม่มีอำนาจนำที่ดินส่วนนี้ไปให้เอกชนรายหนึ่งรายใดใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะตัว เพราะแม้กรมทางหลวงจะหมดความจำเป็นในการใช้สอยและส่งคืนแล้ว แต่ที่พิพาทซึ่งอยู่ในเขตทางหลวงไม่ใช่ที่ราชพัสดุ หากแต่เป็นทางหลวงและไหล่ทางตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 2 ประกอบข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และแม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอยู่ และยังคงสภาพเดิมเว้นแต่ทางราชการจะได้เพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในที่พิพาท การที่ทางจังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทจากอำเภอบางปะกง ย่อมเป็นการให้เช่าโดยปราศจากอำนาจ สัญญาเช่าระหว่างอำเภอบางปะกงกับจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างสิทธิครองครองเหนือที่พิพาทตามสัญญาเช่านั้น เมื่อจำเลยสร้างเพิงบนที่พิพาทล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างทางหลวงหมายเลข 3 กับที่ดินของโจทก์ อันเป็นการถือสิทธิเหนือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเช่นนี้ จึงกระทบสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้ทางหลวงสายนั้น และเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นพลเมืองที่จะใช้ทรัพย์สินนั้นด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับเอาแก่จำเลยตราบเท่าที่จำเลยยังคงอยู่บนที่พิพาทดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำทางร่วมและละเมิดสิทธิ โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยได้ แม้จะมีการกระทำละเมิดจากผู้อื่น
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ต่อเติมแนวกันสาดจากอาคารมากเกินความจำเป็นและไม่ได้วางแผงขายสินค้าบนถนน ฎีกาของจำเลยที่ว่ากระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิด เพราะโจทก์ยินยอมแล้วเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขัดแย้งแตกต่างไปจากคำให้การ จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยต่อเติมแนวกันสาดและนำสินค้ามาวางขายบนถนนเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารศูนย์การค้าย่อมมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 แม้เจ้าของร้านค้ารายอื่นจะกระทำการรบกวนสิทธิของโจทก์ด้วย แต่เมื่อโจทก์ประสงค์จะยังความเสียหายหรือเดือดร้อนซึ่งเกิดจากการกระทำของจำเลยให้สิ้นไป การที่โจทก์ฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยจึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11047/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและการโฆษณาเกินจริง ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้น
บทความเกี่ยวกับวิตามิน อี ที่โจทก์จัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นบทความที่จัดทำขึ้นด้วยการใช้ข้อความที่แตกต่างกัน แม้จะประกอบด้วยข้อมูลเพียง 3 ถึง 5 ย่อหน้าสั้น ๆ แต่บทความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลหรือเป็นการแปลข้อมูลจากบทความอื่นโดยตรง แต่ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจและความวิริยะอุตสาหะในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นบทความ จึงเป็นงานสร้างสรรค์และถือได้ว่าเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองการแสดงออก ไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด ดังนั้น แม้บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี มีอยู่แล้วในบทความต่าง ๆ ซึ่งมีปรากฏเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วไป ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องนำมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ทั้งบทความตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มีการระบุถึงแหล่งที่มาของบทความอ้างอิงไว้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการนำข้อความที่เป็นสาระสำคัญในเนื้อหาของบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มาใช้โดยตรง หรือเป็นการดัดแปลงบทความดังกล่าวเพียงเล็กน้อยหรือในส่วนที่ไม่สำคัญ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ของโจทก์
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 บุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อของตน การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อของโจทก์
จำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อของโจทก์ หาได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจะนำข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 74 มาใช้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 หรือไม่ เมื่อไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้วโจทก์จะต้องนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตนให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์เช่นใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3115-3126/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชุมนุมประท้วงในพื้นที่ส่วนบุคคลและการละเมิดสิทธิของนายจ้างต่อกรรมการลูกจ้าง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 กับพวกนัดหยุดงานโดยชอบตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 34 แต่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 กับพวกเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าวในการนัดหยุดงานนั้น ย่อมมีสิทธิใช้สอยพื้นที่ของตน รวมทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เข้าไปร่วมชุมนุมนัดหยุดงานในพื้นที่ของโจทก์ที่ 1 แม้ว่าจะมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการนัดหยุดงานโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 หรือมีกฎหมายบัญญัติให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 กระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จึงเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของโจทก์ทั้งสอง โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 รวมทั้งรื้อถอนเต็นท์ เคลื่อนย้ายรถยนต์ สุขาเคลื่อนที่ พร้อมสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ออกไป แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ใช้พื้นที่ของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จึงเป็นการจงใจทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เข้าไปชุมนุมนัดหยุดงานในพื้นที่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นทางเข้าโรงงานของโจทก์ที่ 2 โดยนำเต็นท์ขนาดใหญ่ เครื่องขยายเสียงและรถยนต์สุขาเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว จากนั้นทำการชุมนุมปราศรัยห่างจากโรงงานของโจทก์ที่ 2 ประมาณ 100 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับโรงงานของโจทก์ที่ 2 ย่อมทำให้โจทก์ที่ 2 และลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในโรงงานได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการใช้เครื่องขยายเสียงดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2การพิจารณาว่ากรณีมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้เลิกจ้างกรรมการลูกจ้างหรือไม่ เป็นคนละกรณีกับการพิจารณาว่าการเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างหรือไม่ ประกอบกับโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 13 ศาลแรงงานภาค 2 จึงไม่จำต้องพิพากษาถึงค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้น ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ว่ากรณีมีเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานภาค 2 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 กล่าวปราศรัยด่า ด. ส. และ พ. ว่า "ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ ไอ้ผู้หญิงขายตัว ไอ้พวกขายตัว" และจำเลยที่ 8 แต่งภาพของ ส. ซึ่งเป็นผู้บริหารโดยใส่จมูกเป็นจมูกสุนัข มีการแต่งหน้าใส่รูปจมูกสุนัข ดังนี้ เมื่อพิจารณาคำกล่าวปราศรัยของจำเลยที่ 3 และการกระทำของจำเลยที่ 8 แล้ว เป็นการดูหมิ่นผู้บริหารของโจทก์ทั้งสองโดยเปรียบเทียบว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานชั้นต่ำ เป็นคนขายตัว เป็นคนไม่มีคุณค่า และเปรียบเทียบ ส. ว่าเป็นสัตว์ประเภทสุนัข การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 8 เป็นการก้าวร้าวไม่เคารพยำเกรงผู้บังคับบัญชา มิใช่เป็นเพียงวาจาไม่สุภาพ และเมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า การชุมนุมนัดหยุดงานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นการเข้าไปในพื้นที่ของโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 ไม่ยินยอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4459/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปิดกั้นการเข้าใช้บัญชีผู้บริโภคโดยไม่แจ้งเหตุผล เป็นการละเมิดสิทธิ และขัดต่อหลักสุจริตตาม พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
จำเลยประกอบธุรกิจในการทำตลาดสินค้าหรือบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยการสื่อสารข้อมูลบนแพลตฟอร์มในเว็บไซต์ของจำเลย เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่นโดยตรงต่อบุคคลทั่วไปในฐานะเป็นผู้บริโภคที่สมัครเข้ารับบริการในเว็บไซต์ของจำเลย ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่น เข้าลักษณะตามนิยามศัพท์คำว่า "ตลาดแบบตรง" ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560
การนำหลัก "เสรีภาพในการทำสัญญา" มาใช้บังคับดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในขณะที่ฝ่ายผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรองหรือไม่มีอำนาจเหนือจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ย่อมไม่อาจนำมาใช้ได้ในขณะที่ธุรกิจการค้าขายในสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12
การระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของผู้รับบริการโดยเป็นดุลพินิจฝ่ายเดียวของจำเลยโดยไม่จำต้องแจ้งเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจควบคุมและกำกับดูแลจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้มีโอกาสตรวจสอบความชอบและถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายผู้รับบริการหากจะยกเลิกการรับบริการต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงที่ไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นสิทธิของผู้บริโภครายอื่นที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการและสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (1) (3)
จำเลยระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยมิได้แจ้งเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
การเยียวยาให้โจทก์สามารถกลับไปเข้าถึงบัญชีของโจทก์ในเว็บไซต์ของจำเลยอยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้จำเลยกระทำการได้และเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมยิ่งกว่าการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอดังกล่าวมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับที่เหมาะสมได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39
ค่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ได้เสียไป รวมทั้งลักษณะและวิธีการดำเนินคดีของโจทก์ตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลได้กำหนดวิธีการบรรเทาความเสียหายอื่นให้แก่โจทก์อย่างเหมาะสมแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4776/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานีบริการก๊าซไม่ละเมิดสิทธิหากปฏิบัติตามกฎหมายและผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากหน่วยงานราชการ
ขณะที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 ให้คำรับรองแก่โจทก์ทั้งหกว่าจะนำที่ดินพิพาทไปก่อสร้างอาคารพาณิชย์ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงเป็นการซื้อขายโดยสุจริต ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าโดยจำเลยที่ 3 นำที่ดินที่เช่าไปขออนุญาตปลูกสร้างและขออนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการแก๊สถูกต้องตามกฎหมายโดยก่อนที่จะออกใบอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ตั้งสถานีบริการแก๊สได้นั้นต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานด้วยกัน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยและผลกระทบต่าง ๆ การที่โจทก์ทั้งหกอ้างว่าการก่อสร้างสถานีบริการแก๊สอาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย และทรัพย์สินรวมทั้งสภาพความเป็นอยู่ของโจทก์ทั้งหกจึงเกิดจากการคาดคะเนของโจทก์ทั้งหกเอง ซึ่งกรณีที่โจทก์ทั้งหกจะได้รับความเดือดร้อนถึงกับต้องใช้สิทธิเพื่อยังความเดือดร้อนให้สิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 นั้น จะต้องได้ความว่าเป็นความเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรการที่จำเลยที่ 3 ใช้สิทธิใช้สอยทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 2 โดยมีการขออนุญาตปลูกสร้างและขออนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการแก๊สโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิโดยปกติ โดยมีเหตุสมควรถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งหก หรือเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งหกเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหกตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และมาตรา 1337 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก
of 13