คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลาออก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 136 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3129/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการลาออก: ศาลพิจารณาว่าการเลิกจ้างถูกต้องหรือไม่ และดอกเบี้ยค่าชดเชย
การที่โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 โดยให้มีผลวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 แม้จะเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายยินยอม แต่ในระหว่างสัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับนายจ้างและลูกจ้างยังคงมีนิติสัมพันธ์ต่อกันจนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล เมื่อโจทก์จงใจทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายและประมาททำให้จำเลยที่ 1 เสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ก่อนถึงวันที่การลาออกมีผลได้หาใช่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามความประสงค์ที่โจทก์ได้แสดงเจตนาลาออกแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13145/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนการลาออก การจ่ายค่าคอมมิสชันเกิน และดอกเบี้ย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลแรงงานเท่านั้นเป็นผู้ซักถามพยานของฝ่ายโจทก์หรือของฝ่ายจำเลย หรือพยานที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง โจทก์หรือจำเลยไม่มีสิทธิซักถามเว้นแต่ศาลแรงงานจะอนุญาตเท่านั้น และการถามพยานที่ฝ่ายตนอ้างหรืออีกฝ่ายหนึ่งอ้างให้เป็นซักถามทั้งสิ้น การซักถามพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างจึงไม่เป็นการถามค้านไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่บัญญัติให้ฝ่ายที่อ้างพยานซักถามพยานที่ตนอ้างก่อนแล้วจึงให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านพยานนั้น และเป็นสิทธิของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะซักถามและถามค้านพยานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน และไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) ที่บัญญัติให้ถามค้านพยานที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาและนำพยานนั้นเข้าสืบก่อนถึงข้อความที่ตนจะนำสืบภายหลังมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการซักถามพยานในศาลแรงงานได้
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยแสดงเจตนาแก่นายจ้างและไม่อาจถอนหรือยกเลิกเจตนานั้นได้หมายถึงกรณีที่ลูกจ้างแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างเพียงฝ่ายเดียวแล้วลูกจ้างขอถอนหรือยกเลิกเจตนาเลิกสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมพร้อมใจของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาของลูกจ้างที่ขอเลิกสัญญาจ้างด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างและจำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงยกเลิกและยินยอมให้โจทก์ถอนการแสดงเจตนาลาออกของโจทก์ จึงทำให้การลาออกของโจทก์ถูกถอนไปแล้ว
การชำระหนี้ตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 หมายถึงการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่ต้องชำระ การที่จำเลยชำระค่าคอมมิสชันให้โจทก์เกินจำนวนที่โจทก์มีสิทธิได้รับโดยผิดหลง ไม่แม่นยำในหลักการ หรือเกิดจากการคำนวณผิด ไม่ใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจ
โจทก์รับเงินค่าคอมมิสชันในเดือนสุดท้ายเท่ากับที่เคยรับ เชื่อได้ว่าโจทก์รับไว้โดยสุจริตโดยเชื่อว่ามีสิทธิรับไว้ได้ โจทก์จึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้รับ แต่เมื่อโจทก์ทราบว่าจะต้องคืนเงินดังกล่าวเมื่อถูกจำเลยฟ้องแย้งแล้ว ถือว่าโจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6998/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกโดยไม่สุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษทางวินัยและเรียกร้องสิทธิประโยชน์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบ
เดิมจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยการไล่ออกเนื่องจากโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่เรียกเงินจากลูกหนี้ของจำเลยที่มาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โจทก์เบิกความในคดีดังกล่าวว่าได้รับเงินจากลูกหนี้ของจำเลยจริงแต่เป็นเงินที่ลูกหนี้ประสงค์จะให้นำไปทำบุญโดยโจทก์นำไปทำบุญแล้ว โจทก์ไม่เคยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นปฏิเสธต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลย เพิ่งยกขึ้นอ้างขณะเบิกความในคดีดังกล่าว เมื่อศาลสืบพยานในคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วโจทก์กลับยื่นใบลาออกก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยเนื่องจากเห็นว่าเมื่อโจทก์ลาออกแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะพิจารณาว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากโจทก์ไม่ลาออกศาลต้องพิจารณาว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากโจทก์กระทำผิดศาลก็ต้องมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยลงโทษไล่โจทก์ออกได้ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกเนื่องจากเห็นว่าคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาและโจทก์มิได้ยื่นใบลาออกล่วงหน้าตามระเบียบของจำเลย แสดงให้เห็นว่าโจทก์คาดหมายได้ว่าศาลอาจจะอนุญาตให้จำเลยลงโทษโจทก์โดยการไล่ออกหรือเลิกจ้าง โจทก์จึงชิงลาออกเสียก่อนเพื่อไม่ให้กระบวนการพิจารณาในการขอลงโทษกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออก เนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุจากการลาออกโดยไม่สุจริตมาขอเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเพื่อให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการลาออกและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4756/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกมีผลเลิกสัญญาจ้างทันที แม้จำเลยมีมติยุบสายงานพร้อมกัน การยุบสายงานไม่ใช่การเลิกจ้าง
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยระบุให้มีผลเป็นการพ้นสภาพพนักงานในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย เจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยและจะถอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ตามหนังสือลาออกของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2666/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกหลังถูกเลิกจ้าง ยุติสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย แม้จะอ้างเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างต่อผู้บังคับบัญชาระดับบริหารตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยความสมัครใจและรับเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท จากจำเลย
แม้หนังสือลาออกของโจทก์ (ที่กระทำขึ้นภายหลังจากจำเลยมีหนังสือเลิกจ้าง) ไม่เป็นเหตุให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพฤติกรรมของโจทก์ที่ตกลงยินยอมรับเงินช่วยเหลือจากจำเลย 100,000 บาท ไปแล้วในภายหลังโดยปราศจากข้อโต้แย้งคัดค้านอื่นใดทั้งสิ้น เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมกับจำเลยเพื่อยุติเรื่องการเลิกจ้างที่อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ เท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้างอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9039/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินภาษีจากการได้รับการยกเว้นเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุ แม้ลาออกก่อนกำหนดโดยความตกลง
ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เป็นกรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ข้อ 1 (1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ กำหนดว่า กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 52) ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วดังกล่าว มิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่ากรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงานแต่อย่างใด จึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้ แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 26 คือ พนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็ตาม แต่การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลังอันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง หาใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52) แล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 58 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคลธรรมดา
มาตรา 63 แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้ว ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปนั้น เป็นกรณีผู้นั้นมีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น คดีนี้เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประจำปีภาษี 2547 นั้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52) ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 151) ลงวันที่ 16 มกราคม 2549 และ (ฉบับที่ 158) ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2549 ตามลำดับ ทั้ง (ฉบับที่ 151) ยังระบุให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำ พ.ศ.2537 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ.2538 เป็นต้นไป อันเป็นการยกเว้นให้ย้อนหลังไปถึงเงินได้ที่ไม่อาจยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปด้วย ซึ่งอาจไร้ผลหรือก่อผลประหลาดหากจะบังคับให้เป็นไปตามมาตรา 63 ดังนั้น เมื่อเงินได้ของโจทก์ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในคดีนี้ได้รับผลย้อนหลังตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 151) จึงต้องคืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10161/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกของลูกจ้างมีผลสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงาน แม้จำเลยให้ลูกจ้างออกจากงานก่อนกำหนดก็ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง
โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 โดยให้มีผลวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ จึงมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ และไม่อาจถอนเจตนานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานย่อมจะมีผลสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 แม้จำเลยจะให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันดังกล่าวตามที่โจทก์ประสงค์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ก็มีผลทำให้โจทก์เสียหายเพียงเท่าที่ไม่ได้รับค่าจ้างจนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะออกเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างอันมีผลที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8791/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกมีผลทันที นายจ้างไม่อาจเลิกจ้างโดยอ้างระเบียบภายในได้
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานการเงิน ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 โจทก์ได้ยื่นหนังสือขอลาออกตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 เมื่อถึงวันที่กำหนดในหนังสือขอลาออกโจทก์ก็ไม่ได้เข้ามาทำงานกับจำเลยอีก ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกต่อจำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง และการเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ในหนังสือขอลาออก การจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 แม้ว่าตามระเบียบของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่อัตราเงินเดือนค่าจ้างและการค้ำประกัน ฯ ข้อ 8 จะระบุว่า "พนักงานขอลาออกจากการเป็นพนักงานของสมาคมให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อคณะกรรมการของสมาคม และให้มีผลของการลาออกได้เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ" และคณะกรรมการดำเนินงานของจำเลยจะมีมติไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออกก็ตาม แต่การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด เมื่อเป็นกรณีที่โจทก์ลาออกจากงานโดยชอบ สัญญาจ้างแรงงานจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 แล้ว ดังนี้จำเลยจึงไม่อาจเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ด้วยการเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 โดยอ้างว่าการที่โจทก์ลาออกเป็นการกระทำผิดระเบียบสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่อัตราเงินเดือนค่าจ้างและการค้ำประกัน ฯ ข้อ 9 (5) ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งได้สั่งในกิจการของสมาคม ฯ (6) ละทิ้งหน้าที่เป็นเหตุให้สมาคม ฯ เสียหายอย่างร้ายแรง (7) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่สมาคม ฯ อย่างร้ายแรง และ (9) ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร ตามหนังสือแจ้งผลการสอบวินัยความผิดอีกแต่อย่างใด คำสั่งจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงานจึงไม่มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5954/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ: สิทธิลูกจ้างลาออก ไม่ใช่รายได้จำเลย
โจทก์เคยเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อมาโจทก์ลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงานกองทุนได้จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมให้โจทก์แล้ว และได้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 531,702.57 บาท ให้แก่จำเลยไว้จึงเป็นกรณีที่โจทก์ลาออกจากกองทุนโดยไม่ได้ลาออกจากงานตามข้อบังคับกองทุนฯ ข้อ 37 วรรคหนึ่ง (7) เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยต้องเก็บรักษาไว้แทนผู้จัดการกองทุนเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อพ้นจากตำแหน่งในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสมทบ ดังนั้น เมื่อโจทก์ลาออกจากงานด้วยความยินดีของทั้งสองฝ่าย โจทก์จึงมีสิทธิจะได้รับเงินสมทบ เงินดังกล่าวจึงยังมีสภาพเป็นเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุน มิได้กลับมาเป็นของจำเลยแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวไม่อาจโอนกันได้ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ มาตรา 23, 24 และไม่อาจนำไปหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 346

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกของลูกจ้าง vs. การเลิกจ้างโดยนายจ้าง สิทธิในการรับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การบอกเลิกสัญญานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด แม้ตามสัญญาจ้างแรงงานจะระบุว่า ถ้าลูกจ้างประสงค์จะบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ก็ตาม และนายจ้างจะอ้างว่าลูกจ้างยื่นหนังสือลาออกไม่ครบ 30 วัน นายจ้างจึงไม่อนุมัติให้ลาออกนั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของนายจ้างเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาได้ สัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 21 เมษายน 2558 ตามหนังสือขอลาออกของลูกจ้างและลูกจ้างไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้างอีกต่อไป การที่จำเลยอ้างอ้างว่าลูกจ้างขาดงานตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างนั้น ก็หามีผลตามกฎหมายไม่ เพราะสัญญาจ้างแรงงานได้สิ้นสุดลงไปก่อนหน้านั้นแล้วจึงไม่อาจมีการบอกเลิกสัญญาได้อีกตามข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วนของนายจ้างและข้อบังคับของกองทุนจำเลยมีข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างถูกไล่ออกหรือถูกนายจ้างเลิกจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างลาออกด้วย ดังนั้นเมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างสิ้นสุดลงเพราะลูกจ้างลาออกมิใช่เป็นเพราะถูกไล่ออกหรือถูกเลิกจ้าง ย่อมไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้าง
of 14