คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หักกลบลบหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 314 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดบังคับคดีเมื่อลูกหนี้ร่วมฟ้องคดีเรียกทรัพย์จากเจ้าหนี้ และการใช้ดุลพินิจของศาลตามมาตรา 292(2)
การงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 เป็นกรณีลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไว้เป็นคดีอีกเรื่องหนึ่งในคราวเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าหากศาลพิพากษาให้ฝ่ายลูกหนี้ชนะคดีก็ไม่ต้องมีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีอื่นเพราะสามารถจะหักกลบลบกันได้ ส่วนการงดบังคับคดีตามมาตรา 292(2) นั้นเป็นดุลพินิจของศาลโดยมีเงื่อนไขเพียงว่า ศาลต้องใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมแก่รูปคดี การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้น และศาลพิพากษาให้โจทก์คืนข้าวเปลือกหรือใช้ราคาแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ขอให้ศาลงดการบังคับคดี ศาลย่อมใช้ดุลพินิจงดการบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไว้ในระหว่างที่คดีจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ยังไม่ถึงที่สุดได้ เพราะหากคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ดังกล่าวถึงที่สุดและศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็อาจจะขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ได้ผลก็คือจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ กรณีจึงมีเหตุสมควรให้งดการบังคับคดีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไว้จนกว่าคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ ถึงที่สุดตามมาตรา 292(2).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องสัญญาซื้อขาย, การนำสืบหลักฐาน, สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายและการหักกลบลบหนี้
เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า จ.หาใช่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ไม่ การที่ จ.ลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายเป็นการทำในฐานะส่วนตัว โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ว่าผู้ขายคือโจทก์เพราะในสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้ระบุด้วยว่าผู้ขายคือโจทก์และมีตราประทับของโจทก์ด้วย สัญญาซื้อขายข้อ 10 กำหนดว่า ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 แล้วโจทก์ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาแก่จำเลยที่ 2 โดยสิ้นเชิงภายใน 30 วันนับแต่เมื่อได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเพียงให้สิทธิจำเลยที่ 2 เรียกค่าเสียหายจากโจทก์เท่านั้น มิได้ให้สิทธิจำเลยที่ 2 ไม่ต้องชำระราคาที่ค้างหรือหักกลบลบหนี้กันได้เอง หากจำเลยที่ 2 มีความเสียหายอย่างไรก็ชอบที่จะฟ้องแย้งหรือหักกลบลบหนี้เข้ามาในคำให้การทั้งตามคำให้การของจำเลยก็ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่แน่นอนอันพอจะถือได้ว่าจำเลยประสงค์จะให้เกิดประเด็นในเรื่องหักกลบลบหนี้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1970/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ต้องเป็นหนี้ที่ถึงที่สุดแล้ว และการบังคับคดีตามคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายย่อมทำได้
ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้โจทก์แล้วจำเลยทั้งสองขอหักกลบลบหนี้โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้เงินฝากไว้กับโจทก์ แต่โจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาโต้แย้งว่าหนี้นั้นมีข้อต่อสู้อยู่หลายประการข้อเท็จจริงจึงยังไม่ยุติว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้โจทก์อยู่ตามที่อ้าง จะนำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ และเมื่อจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ฟ้องร้องโจทก์ในมูลหนี้ที่อ้างเพื่อจะนำมาหักกลบลบหนี้กับโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะขอให้งดการบังคับคดีไว้ ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องดังกล่าว ดังนั้น ปัญหาตามฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ขอให้ถอนการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 นั้น จึงถือว่าเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้ และไม่ปรากฏว่ามีการออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายจำเลยที่ 2 จะมาโต้เถียงว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดโดยชอบแล้วเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายหาได้ไม่จึงไม่มีเหตุที่จะถอนการบังคับคดีให้แก่จำเลยที่ 2.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัญชีเดินสะพัด, การหักกลบลบหนี้จากเงินฝาก, และหนังสือขอเปิดบัญชีเป็นพยานหลักฐานได้
ข้อตกลงให้นำเงินฝากประจำไปหักกลบลบหนี้นั้นไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ หนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเป็นเพียงคำเสนอฝ่ายเดียวของจำเลย ในการขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นเอกสารฉบับนี้จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคือสัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือดังนั้น แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันผลงานและผลกระทบต่อการหักกลบลบหนี้: ความรับผิดของผู้ค้ำประกันเมื่อผู้รับจ้างผิดสัญญา
ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินค่าจ้างที่โจทก์จะจ่ายให้จำเลยที่ 1แต่ละงวดเพื่อเป็นประกันผลงาน แต่โจทก์มิได้หักเงินจำนวนนี้ไว้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันเงินจำนวนนี้ไว้กับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต้องรับผิดใช้ค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันที่ทำไว้กับโจทก์ เพราะหากจำเลยที่ 2 ไม่เข้าค้ำประกันเงินจำนวนดังกล่าวแล้วโจทก์ก็จะหักเงินจำนวนนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 และโจทก์มีสิทธิที่จะนำเงินดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับค่าปรับและค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดแก่โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5914/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาและสิทธิหักกลบลบหนี้ในสัญญาจ้างทำของ
ตามสัญญาจ้างทำของกำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ 5แก่โจทก์ภายหลังจากที่ได้ส่งมอบงานแล้ว 1 เดือน แม้ว่าโจทก์จะนำคดีมาฟ้องก่อนจะครบกำหนดเวลาดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินเพราะโจทก์ผิดสัญญา ย่อมแสดงว่าจำเลยไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นแล้ว เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยทั้งสองจะอ้างได้ต่อไป
จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ไม่ครบ ต่อมาจำเลยได้นำค่าฤชาธรรมเนียมที่ยังขาดอยู่มาวางศาลตามคำสั่งศาลแล้วดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นค่าสินจ้างตามสัญญาจ้างทำของแต่เห็นว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้า จำเลยมีสิทธิปรับโจทก์ตามสัญญา จึงให้หักกลบลบหนี้ออกจากค่าสินจ้างที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ คู่ความมิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะหักกลบลบหนี้แต่อย่างใด ดังนี้ ข้อที่ว่าจำเลยมีสิทธิหักกลบลบหนี้หรือไม่จึงไม่เป็นประเด็นมาสู่ศาลอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบกรณีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบ ร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โดยให้กรณีต้องถือยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิหักกลบลบหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4867/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์, สัญญาซื้อขาย, การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร, หักกลบลบหนี้, ค่าธรรมเนียมการโอน
โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็ค แต่โจทก์ฟ้องอ้างมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่ดิน โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์กี่โฉนด จำนวนเนื้อที่เท่าใด ราคาทั้งหมดเท่าใด ส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระจากจำเลยเป็นเงินเท่าใด โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยชำระเงินไม่ครบถ้วนอย่างไร รวมจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์เท่าใด ดังนี้คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 แล้ว ไม่จำต้องบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเช็คฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การซื้อขายที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ป.พ.พ. มาตรา 456 บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การฟังพยานหลักฐานในกรณีเช่นนี้ต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 94 โจทก์จำเลยจึงจะนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไม่ได้ ในเอกสารหนังสือซื้อขายที่ดินระบุว่า "ผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินรายนี้เรียบร้อยแล้ว" ดังนี้ในส่วนของจำนวนเงินที่จำเลยมิได้ชำระเป็นเช็ค โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงต่างไปจากความที่ระบุไว้ชัดแจ้งในหนังสือสัญญาดังกล่าวหาได้ไม่ แต่ในส่วนที่ชำระกันด้วยเช็คนั้นแม้โจทก์จะมิได้ฟ้องในมูลหนี้ตามเช็ค โจทก์ย่อมสืบได้ว่าหนี้เดิมตามสัญญาซื้อขายที่ดินยังไม่ระงับไปเพราะโจทก์ขึ้นเงินตามเช็คไม่ได้ ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
ข้อตกลงที่มาสู่การซื้อขายที่ดินพิพาทเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย มิใช่เกิดจากการวางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จึงเป็นกรณีที่ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ผู้จะขายเป็นผู้ชำระเองทั้งสิ้นโจทก์จึงจะนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยผู้จะซื้อตกลงออกค่าธรรมเนียมในการโอนไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4867/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์: การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญา, เช็คไม่ขึ้นเงิน, และการหักกลบลบหนี้
โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็ค แต่โจทก์ฟ้องอ้างมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่ดิน โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์กี่โฉนด จำนวนเนื้อที่เท่าใด ราคาทั้งหมดเท่าใด ส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระจากจำเลยเป็นเงินเท่าใด โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยชำระเงินไม่ครบถ้วนอย่างไร รวมจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์เท่าใด ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 172 แล้ว ไม่จำต้องบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเช็คฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การซื้อขายที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ป.พ.พ. มาตรา456 บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การฟังพยานหลักฐานในกรณีเช่นนี้ต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 94โจทก์จำเลยจึงจะนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไม่ได้ ในเอกสารหนังสือซื้อขายที่ดินระบุว่า "ผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินรายนี้เรียบร้อยแล้ว" ดังนี้ในส่วนของจำนวนเงินที่จำเลยได้ชำระเป็นเช็คโจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงต่างไปจากความที่ระบุไว้ชัดแจ้งในหนังสือสัญญาดังกล่าวหาได้ไม่ แต่ในส่วนที่ชำระกันด้วยเช็คนั้นแม้โจทก์จะมิได้ฟ้องในมูลหนี้ตามเช็ค โจทก์ย่อมสืบได้ว่าหนี้เดิมตามสัญญาซื้อขายที่ดินยังไม่ระงับไปเพราะโจทก์ขึ้นเงินตามเช็คไม่ได้ ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ข้อตกลงที่มาสู่การซื้อขายที่ดินพิพาทเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย มิใช่เกิดจากวางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จึงเป็นกรณีที่ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ผู้จะขายเป็นผู้ชำระเองทั้งสิ้นโจทก์จึงจะนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยผู้จะซื้อตกลงออกค่าธรรมเนียมในการโอนไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4826/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาซื้อขายขวด, เบี้ยปรับ, ความเสียหายจากการส่งมอบขวดชำรุด, และการหักกลบลบหนี้
การที่โจทก์มีหนี้ที่จะต้องผลิตและส่งมอบขวดแก่จำเลย ทุกเดือนนั้นโจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วน และผิดสัญญาไม่ชำระหนี้บางส่วน สำหรับส่วนที่โจทก์ชำระให้จำเลยรับไปแล้วนั้น จำเลยต้องชำระหนี้ตอบแทนคิดเป็นเงินตามจำนวนขวดที่รับไว้นั้นแก่โจทก์ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ ส่งมอบขวดไม่ครบ จึงไม่ต้องชำระเงินแก่โจทก์หาได้ไม่ส่วนข้อกำหนดในสัญญาที่ว่าถ้าโจทก์ไม่สามารถส่งมอบขวดได้ตามสัญญาให้ โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเท่าราคาขวดทั้งหมด ที่ยังค้างส่งอยู่ในงวดนั้น ๆ เป็นเพียงการกำหนดเบี้ยปรับ สำหรับบังคับเอาแก่จำเลยในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้เท่านั้น จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ยังไม่ชำระเบี้ยปรับ จำเลยจึงไม่ต้อง ชำระค่าขวดหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น เมื่อจำเลยยอมรับมอบ ขวดบางส่วนจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ค่าขวดดังกล่าว จึงเป็นการผิดสัญญา ชอบที่โจทก์จะฟ้องบังคับจำเลยชำระหนี้นั้นได้
เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งมอบขวดบางส่วน โจทก์ก็ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นแก่จำเลยและในเมื่อสัญญาได้กำหนดค่าเสียหาย ไว้ล่วงหน้าในลักษณะที่ เป็นเบี้ยปรับแล้ว เช่นนี้ จำเลยย่อมเรียกเอาเบี้ยปรับนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสองซึ่งหากเป็นจำนวนสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามมาตรา 373 วรรคแรก
ค่าน้ำมันพืชรั่วซึม เสียหายนั้น ปรากฏว่าอย่างช้าในวันสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2524 การรั่วซึม ของขวดที่ชำรุดบกพร่องจำนวนประมาณ 30,000 ใบได้ปรากฏแก่จำเลยจนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายส่วนนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2526 จึงพ้นกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ความชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้น ฟ้องแย้งของจำเลยข้อนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 601 แล้ว
ค่าใช้จ่ายและค่าจ้างคนงานในการตรวจสอบคุณภาพขวดของจำเลยเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์สินค้าว่าชำรุดบกพร่องหรือไม่ หากชำรุดบกพร่องจำเลยก็จะไม่รับมอบและคืนแก่โจทก์ ย่อมเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าตามปกติทั่วไปและเป็นประโยชน์แก่จำเลยฝ่ายเดียว และไม่ว่า โจทก์จะส่งมอบขวดที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ จำเลยก็คงต้องจ้าง คนงานตรวจคุณภาพขวดอยู่นั่นเอง หาใช่เป็นค่าเสียหาย เพราะโจทก์ส่งมอบขวดที่ชำรุดบกพร่องเป็นกรณีพิเศษไม่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่จำเลย
จำเลยมิได้เพียงแต่นำน้ำมันพืชบรรจุขวดอย่างใหม่ออกจำหน่ายแก่ลูกค้าตามปกติ แต่ได้ดำเนินกิจการขยายตลาดด้วยการลงทุนโฆษณาเป็นพิเศษควบคู่ไปด้วยโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ การลงทุนโฆษณาสินค้านี้เป็นพฤติการณ์พิเศษอย่างหนึ่งในการดำเนินกิจการค้าของจำเลย เมื่อโจทก์ส่งมอบขวดไม่ครบ ทำให้จำเลยขยายตลาดไม่ได้ และต้องสูญเสียเงินค่าโฆษณาสินค้า ไปโดยไม่มีสินค้าจำหน่าย ความเสียหายของจำเลยในค่าโฆษณาสินค้า จึงไม่ใช่ความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่ โจทก์ไม่ชำระหนี้ แต่เป็นความเสียหายที่เกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์มิได้คาดเห็นหรือควรได้คาดเห็นล่วงหน้า จำเลย จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง
การที่จำเลยคาดหวังว่าจะใช้ขวดบรรจุน้ำมันพืชแล้วนำไปขายได้กำไรขวดละ 3.80 บาท นั้น เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่แน่นอนว่าจำเลยจะขายมีกำไรตามที่คาดหมายหรือไม่ทั้งเป็นพฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบมาก่อน และโจทก์ไม่อาจคาดเห็นหรือควรคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้น ได้ล่วงหน้า จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดกำไรส่วน นี้จาก โจทก์เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้, อายุความ, สัญญาค้ำประกัน, และขอบเขตอำนาจฟ้องแย้ง
ในคดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องเรียกเงินค่าสุราสำรอง โจทก์ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ค่าส่วนแบ่งกำไรสุทธิและได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ไปแล้วประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนจึงมีว่าจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีสิทธิหักกลบลบหนี้หรือไม่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่จำเลยที่ 1 ชำระไม่ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยให้การว่าชำระแก่โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาแล้วประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิให้โจทก์ครบถ้วนหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนและคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
โจทก์ให้จำเลยที่ 1 เข้ามาดำเนินการในโรงงานโดยมีข้อตกลงในการผลิตและจำหน่ายสุรา ค่าตอบแทนพิเศษ ส่วนแบ่งกำไรสุทธิและข้อตกลงอื่น ๆ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนกันนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดา เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิมิใช่ค่าเช่า ทั้งมิได้กำหนดจำนวนเงินกันไว้แน่นอน แม้จะกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 จึงต้องใช้อายุความในบททั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มีกำหนด 10 ปี
การที่จำเลยที่ 1 ได้ตอบหนังสือทวงถามของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1พร้อมจะจ่ายเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิที่ยังส่งไม่ครบถ้วน พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาเช่า แต่มีเงื่อนไขว่าขอให้รอฟังผลคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีที่ตนเป็นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากรในปัญหาเรื่องการคำนวณกำไรสุทธิก่อน แสดงว่าจำเลยที่ 1 เห็นว่าการคำนวณส่วนแบ่งกำไรสุทธิของตนนั้นถูกต้องแล้ว มิได้ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามที่ทวงถามแต่อย่างใด ส่วนข้อความที่ว่าจะนำหนังสือค้ำประกันมามอบให้โจทก์นั้น ก็เป็นเพียงคำเสนอให้โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนากระทำผิดสัญญาเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 อย่างไรก็ตาม หนังสือดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความในเงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิและดอกเบี้ยส่วนเกิน 10 ปี และ 5 ปี ซึ่งขาดอายุความในวันทำหนังสือดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 192 จำเลยที่ 1 จึงหามีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าวไม่ ทั้งหนี้เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิและดอกเบี้ยส่วนที่ขาดอายุความนั้น แม้จำเลยจะสามารถยกขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ก็ตาม แต่อายุความย่อมไม่ตัดรอน การหักกลบลบหนี้โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้ได้ถ้าเวลาที่อาจจะหักกลบลบหนี้กับจำเลยที่ 1 ได้นั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
โจทก์ได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ไปยังจำเลยที่ 1 การแสดงเจตนาของโจทก์จึงมีผลย้อนหลังขึ้นไปถึงวันที่ 23 มกราคม 2523ซึ่งเป็นเวลาที่อาจหักกลบลบหนี้ได้เป็นครั้งแรก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 342 วรรคสอง ในวันดังกล่าวเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้เงินส่วนแบ่งกำไรสุทธิของปี 2522 นับถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
แม้หนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระให้โจทก์บางส่วนจะขาดอายุความซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่เป็นผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็ตาม แต่เมื่อหนี้ส่วนที่เหลือซึ่งยังไม่ขาดอายุความมีเกินกว่าวงเงินที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน
จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์เรียกเงินค่าสุราสำรองที่ศาลแพ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1มาฟ้องแย้งเรียกเงินค่าสุราสำรองจำนวนเดียวกันกับที่ได้ฟ้องในคดีดังกล่าวในคดีนี้อีก ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนของกำไรสุทธิที่เป็นส่วนแบ่งของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้ว จึงเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เอง มิใช่ชำระแทนโจทก์ โจทก์จะมีหน้าที่เสียภาษีหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิมาเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินในส่วนนี้ และไม่อาจรับช่วงสิทธิจากกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังมาเรียกร้องได้อีกเช่นเดียวกันจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งได้
สัญญาค้ำประกันข้อ 2 มีใจความว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่โจทก์ได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลา หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้นทั้งการที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในทันทีที่หนี้ถึงกำหนดชำระไม่ใช่การผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้
จำเลยที่ 1 มิได้ตกลงให้โจทก์นำเงินค่าสุราสำรองมาหักกลบลบหนี้ตามข้อเสนอของโจทก์ แต่โจทก์ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
of 32