คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อาวุธปืน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,022 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2657/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานซ่องโจรและมีอาวุธปืน ครอบครอง/พาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ประเด็นการนับโทษ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กับ ช. ร่วมกันเป็นซ่องโจรโดยสมคบคิดกันตั้งแต่ 5 คน เพื่อกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์และชิงทรัพย์ผู้อื่น แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าในคืนเกิดเหตุ ช. อยู่ร่วมกับจำเลยทั้งสี่ ดังนั้น พฤติการณ์ตามที่โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร
ขณะจำเลยที่ 1 ขึ้นไปโดยสารรถของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้นำอาวุธปืนซึ่งเป็นของตนเก็บไว้ในช่องที่เก็บของหน้ารถแล้วจำเลยที่ 1 นั่งโดยสารไปด้วย ถือว่าความครอบครองอาวุธปืนยังอยู่ที่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ลงจากรถลืมเอาอาวุธปืนลงมา และต่อมาในเวลาใกล้ชิดกัน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสี่ได้ ก็ยังถือว่าอาวุธปืนดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกฐานมีอาวุธปืนฯ 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนฯ 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีอาวุธปืนฯ จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนฯ จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนฯ 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืนฯ 4 เดือน รวมจำคุก 1 ปี ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ให้หนักขึ้น ดังนั้นในความผิดฐานมีอาวุธปืนฯ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลดโทษให้จำเลยที่ 1 เพียงหนึ่งในสามแล้วคงจำคุก 8 เดือน จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบอาวุธปืนของกลาง: ปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่ได้รับการยกขึ้นสู่การพิจารณา
โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง ป.อ.มาตรา 371, 376 ฐานพาอาวุธปืนฯ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสองซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ปรับ 2,000 บาท ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ ปรับ 500 บาทรวมปรับ 2,500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์แต่เฉพาะปัญหาข้อเท็จจริงว่าศาลชั้นต้นไม่ควรใช้ดุลพินิจริบอาวุธปืนของกลาง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 จำเลยฎีกาว่า อาวุธปืนของกลางมิใช่ทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดหรือใช้ในการกระทำความผิด จึงริบไม่ได้ตาม ป.อ.มาตรา 32 และ 33จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งคดีนี้เมื่อจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืนของจำเลยยิงในหมู่บ้านจริง อาวุธปืนของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด ข้อฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ.มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้อาวุธปืนข่มขู่และทำร้ายผู้อื่นเพื่อบีบบังคับให้ทำตามต้องการ ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
จำเลยใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยิงข่มขู่ผู้เสียหายกับใช้อาวุธปืนดังกล่าวตีประทุษร้ายผู้เสียหายที่บริเวณ หน้าผากของผู้เสียหายหลายครั้ง เพื่อให้ผู้เสียหายจำยอม ต้องกระทำการตามที่จำเลยประสงค์ (ให้เรียกจำเลยว่า "พี่") แม้ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของ ผู้เสียหายก็ตาม แต่พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าอุกอาจร้ายแรง ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมใช้เอกสาร, มีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนในเมือง ศาลฎีกาตัดสินแก้โทษจำคุก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษจำเลยในการกระทำอันเป็นความผิด ของจำเลยว่าเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ซึ่งเป็นปัญหา ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยให้การ รับสารภาพในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบและเมื่อ ศาลฎีกาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา พิพากษาใหม่ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัย ในปัญหานี้ไปเสียเลย การที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจดูหลักฐานเพราะมี พฤติการณ์เป็นที่น่าสงสัยเนื่องจากแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ ไม่ใช่ทะเบียนที่ทางราชการออกให้ โดยตรวจพบว่าแผ่นป้าย ทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีเป็นเอกสาร ที่ทำปลอมขึ้น การกระทำของจำเลยทั้งหมดคือ การปลอมใช้และ อ้างแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสีย ภาษีปลอมเป็นความผิดกรรมเดียวเพราะเป็นเอกสารและหลักฐาน ที่ติดอยู่ที่รถยนต์คันเดียวกันและตามฟ้องของโจทก์ก็ปรากฏ ว่าจำเลยแสดงเอกสารดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานตำรวจในเวลาเดียวกัน ซึ่งตามพฤติการณ์เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็น รถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยในจึงเป็นกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สำหรับข้อหาใช้หรืออ้างแผ่นป้ายแสดงการประกันภัย คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปลอม ใช้หรืออ้างใบอนุญาต ขับรถยนต์ปลอม และใช้หรืออ้างใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) ปลอม แม้ตามฟ้องจะปรากฏว่าจำเลยได้แสดงต่อ เจ้าพนักงานตำรวจในคราวเดียวกัน แต่ก็เป็นเอกสารคนละประเภทกันโดยเจตนาของการปลอม การใช้และอ้างซึ่งเอกสารดังกล่าว มีเจตนาก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การใช้หรืออ้าง แผ่นป้ายแสดงการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปลอม เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีการประกันภัย คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัย จากรถ พ.ศ. 2535 จริง การใช้หรืออ้างใบอนุญาตขับรถยนต์ปลอมเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีความสามารถขับรถยนต์ ได้ซึ่งทางราชการได้ออกใบอนุญาตให้แก่จำเลยแล้วและการใช้ หรืออ้างใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) ปลอมเพื่อ ให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ดังกล่าวได้ ซึ่งทางราชการได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 มีและ ใช้อาวุธปืนดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้จึงเป็นคนละกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แผ่นป้ายแสดงการประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ มิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงมิใช่เอกสารราชการการปลอมและใช้แผ่นป้ายแสดงการประกันภัย คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจึงเป็นเพียงความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก,268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก การที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 โดยไม่ได้ระบุ บทมาตราประกอบ และไม่ได้ระบุวรรคในความผิดอื่น ๆ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2090/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง: ยกประโยชน์แห่งความสงสัยเมื่อพยานหลักฐานไม่ชัดเจน
เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นที่สงสัยว่าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางตามฟ้องเป็นของจำเลยหรือไม่ ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครอง ศาลฎีกา ย่อมมีอำนาจพิพากษา ยกฟ้องไปถึงความผิดฐานมีอาวุธปืน ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยจำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน แต่อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่ามีไว้เป็นความผิดซึ่ง ต้องริบเสียทั้งสิ้น ศาลจึงมีอำนาจริบได้ ไม่ว่าจำเลยจะถูกลงโทษหรือไม่ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2089/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันฆ่า, เป็นผู้ใช้, รับของโจร, มีอาวุธปืนเถื่อน, ศาลพิพากษากลับ
พยานโจทก์มีพันตำรวจโทสมหมาย กองวิสัยสุข เบิกความว่า หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนไทย ได้ออกหมายจับนายถ่ายแซ่จึง และจำเลยทั้งห้าเนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายถ่ายได้ก่อน นายถ่ายให้การรับสารภาพว่า นายถ่ายได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ฆ่าผู้ตายทั้งสี่ เนื่องจากนายสมศักดิ์ผู้ตายจะให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ออกจากราชการระหว่างสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจจึงกันนายถ่ายไว้เป็นพยาน โจทก์มีนายถ่ายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ชวนพยานไปฆ่านายสมศักดิ์เนื่องจากนายสมศักดิ์จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบในกรณีมีคนลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนบ้านจานและยังจะไม่ให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นครูโรงเรียนบ้านจานขายของที่โรงเรียนบ้านจานอีกต่อไป โดยจำเลยที่ 1 นัดว่าจะไปรับพยานที่หน้าบ้านนางหลอดพี่สาวพยานเวลาประมาณ 21 นาฬิกา เมื่อถึงเวลานัด จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาหาพยานและบอกพยานว่าจำเลยที่ 1 จะล่วงหน้าไปก่อน ให้พยานรอจำเลยที่ 2 และที่ 4 จะขับรถยนต์มารับพยาน ต่อมาจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์กระบะมามีจำเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่กระบะท้ายแล้วจำเลยที่ 4 ได้ขับรถไปสมทบกับจำเลยที่ 1 ที่บริเวณวัดสระจระเข้ เมื่อไปถึงจำเลยที่ 4 หยิบอาวุธปืนเล็กกล อาร์ก้า 1 กระบอก ส่งให้พยาน จำเลยที่ 1 ที่ 2และพยานได้เดินไปซุ่มอยู่บริเวณรั้วบ้านนายสมศักดิ์จนถึงเวลาประมาณ 23 นาฬิกาทั้งสามจึงลอดรั้วลวดหนามเข้าไปในบริเวณบ้านนายสมศักดิ์ จากนั้นจำเลยที่ 1 ปีนขึ้นไปบนระเบียงชั้นสอง แล้วใช้ไขควงงัดหน้าต่างเข้าไปในบ้านและลงไปที่ชั้นล่าง พบผู้ตายทั้งสี่กำลังนอนหลับอยู่ จำเลยที่ 1 เดินมาเปิดประตูและรับอาวุธปืนจากพยานจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงบริเวณศีรษะผู้ตายทั้งสี่จนถึงแก่ความตาย ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และพยานได้ช่วยกันค้นหาทรัพย์สินภายในบ้านผู้ตาย พบกุญแจ 1 พวงวางอยู่บนโต๊ะรับแขก พยานได้ปลดสร้อยคอทองคำที่นางจิราภรณ์สวมอยู่ส่งให้จำเลยที่ 1และเอากุญแจบนโต๊ะรับแขกไปไขประตูโรงรถ มีรถยนต์กระบะและรถจักรยานยนต์ของนายสมศักดิ์จอดอยู่ในนั้น จำเลยที่ 2 พยายามติดเครื่องรถยนต์กระบะ แต่เครื่องยนต์ไม่ติด จำเลยที่ 1 จึงเข็นรถจักรยานยนต์ซึ่งมีกุญแจเสียบติดไว้มาติดเครื่อง แล้วขับรถออกไปหาจำเลยที่ 4 ซึ่งจอดรถคอยอยู่บริเวณวัดสระจระเข้ มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายส่วนพยานถืออาวุธปืนเดินมาสมทบ เมื่อมาถึงพยานได้ส่งอาวุธปืนให้แก่จำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 เอาไปเก็บไว้ที่พนักพิงในรถยนต์กระบะ จำเลยที่ 4 สั่งให้พยานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกรถจักรยานยนต์ของนายสมศักดิ์ขึ้นรถยนต์กระบะ แล้วจำเลยที่ 4 ได้ขับรถยนต์กระบะตรงไปทางจังหวัดนครราชสีมา ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปทางบ้านหนองกระสังข์ พยานจึงเดินไปดูลิเกที่บริเวณวัดสระจระเข้ หลังเกิดเหตุประมาณ 17 วัน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพยานวันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ เห็นว่า แม้คำเบิกความของนายถ่ายเข้าลักษณะคำซัดทอดของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ 2 ก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานดังกล่าวแต่อย่างใดการจะเชื่อพยานได้หรือไม่ จะต้องดูว่าพยานเบิกความอย่างมีเหตุมีผลหรือไม่ ในเรื่องนี้นายถ่ายเบิกความถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มตั้งแต่ขั้นตระเตรียมวางแผน ขั้นตอนการดำเนินการกระทำความผิด และขั้นตอนหลังเกิดเหตุแล้วโดยละเอียดสมเหตุสมผลไม่ปรากฏว่ามีพิรุธแต่ประการใด เมื่อฟังประกอบกับคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การต่อพนักงานสอบสวนทันทีในวันที่จำเลยที่ 2 ถูกจับกุมนั่นเอง จำเลยที่ 2 ยังไม่มีโอกาสที่จะปรุงแต่ง อีกทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 มีรายละเอียดกล่าวถึงขั้นตอนการกระทำความผิดยากที่พนักงานสอบสวนจะปรุงแต่งขึ้นเอง เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนด้วยความสมัครใจ ทั้งยังนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและมีการถ่ายรูปไว้ด้วย ปรากฏตามบันทึกการจับกุม บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 บันทึกการนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.33 จ.44จ.3 และ จ.2 ตามลำดับ การนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ก็ได้กระทำโดยเปิดเผยมีประชาชนมากมายมามุงดู ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าถูกบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพและแสดงท่าต่าง ๆ ประกอบคำรับสารภาพ จึงฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยที่ 2 เบิกความอ้างฐานที่อยู่ไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครอง ร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันควรและไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ ปัญหาต่อไปว่าจำเลยที่ 4มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่าผู้ตาย ร่วมกันมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะ หมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่ได้รับอนุญาต และรับของโจรหรือไม่ พยานโจทก์มีนายเสริมศักดิ์ กองดิน และนางดรุณี ทบวอ ซึ่งรับราชการครูอยู่ที่โรงเรียนเดียวกันกับจำเลยที่ 5 เบิกความว่า จำเลยที่ 4 เป็นสามีของจำเลยที่ 5เมื่อประมาณต้นปี 2536 จำเลยที่ 5 นำสิ่งของมาขายที่บ้านพักครูภายในโรงเรียนนายสมศักดิ์ในฐานะอาจารย์ใหญ่ได้ขอร้องให้จำเลยที่ 5 เลิกขายแข่งกับร้านสหกรณ์ของโรงเรียน จำเลยที่ 5 ไม่ยอมเลิก นายสมศักดิ์จะพูดกับจำเลยที่ 5 อีกครั้งเมื่อโรงเรียนเปิดเทอม แต่มาถูกฆ่าตายเสียก่อน นอกจากนี้พยานโจทก์มีจ่าสิบตำรวจพันธ์ศักดิ์ คล้ายนาค ซึ่งเคยทำงานร่วมกับจำเลยที่ 4 เบิกความว่า เมื่อต้นปี 2536พยานได้พูดคุยกับจำเลยที่ 4 และเคยถามจำเลยที่ 4 ว่ากลับบ้านบ่อยหรือไม่ จำเลยที่ 4 ตอบว่ากลับบ้านทุกสัปดาห์ เพราะจำเลยที่ 5 มีปัญหากับอาจารย์ใหญ่ อาจารย์ใหญ่จะเอาจำเลยที่ 5 ออก เมื่อฟังประกอบกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.43 ที่ว่า ประมาณเดือนพฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 4 มาหาจำเลยที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านจานและบอกจำเลยที่ 1 ว่าจะต้องจัดการเอาไว้ไม่ได้หรอกหมายถึงต้องฆ่านายสมศักดิ์ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีเรื่องไม่พอใจนายสมศักดิ์ที่จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดกรณีเกิดเหตุมีคนลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนบ้านจานอยู่แล้ว จำเลยที่ 1จึงตอบตกลง จำเลยที่ 4 บอกว่าจำเลยที่ 4 จะเป็นผู้เอาอาวุธปืนมาให้ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 มาที่บ้านพักครูที่จำเลยที่ 5 พักอยู่ นายถ่ายได้มาหาจำเลยที่ 1ที่บ้านพบจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงชวนให้นายถ่ายร่วมฆ่านายสมศักดิ์จำเลยที่ 1 ได้ไปหาจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ว่า นายถ่ายมา จำเลยที่ 4 พูดว่า"จัดการเป็นไรปืนมีแล้ว" ให้จำเลยที่ 1 กลับไปรับประทานอาหารก่อน แล้วมาที่นี่ประมาณ 20 ถึง 21 นาฬิกา คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นคำให้การของผู้กระทำความผิดด้วยกัน ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังแต่อย่างใด ดังนั้น คำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนย่อมนำมาประกอบการพิจารณาได้ เมื่อคำเบิกความของนายเสริมศักดิ์ นางดรุณี และจ่าสิบตำรวจพันธ์ศักดิ์สอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และเมื่อรับฟังประกอบกับคำเบิกความของนายถ่ายที่เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะมารับพยานกับจำเลยที่ 2 ไปยังที่บริเวณวัดสระจระเข้ใกล้บ้านนายสมศักดิ์พร้อมมอบอาวุธปืนเล็กกล อาร์ก้า ให้แก่พยานเพื่อนำไปยิงนายสมศักดิ์ จำเลยที่ 4 คงคอยอยู่ที่นั่น เมื่อยิงผู้ตายทั้งสี่แล้ว พยานเป็นคนนำอาวุธปืนมาคืนให้แก่จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 รับอาวุธปืนไปวางไว้ที่หลังพนักพิง จากนั้นจำเลยที่ 4 ได้บอกให้พยานกับพวกยกรถจักรยานยนต์ที่เอามาจากโรงรถบ้านผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 ก็ขับรถไปทางจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งก็ได้ความว่าจำเลยที่ 4 นำรถจักรยานยนต์ไปจอดทิ้งไว้ที่อื่นเพื่ออำพรางคดีพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 คือคนร้าย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 4 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 4 มาหาจำเลยที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านจาน และบอกจำเลยที่ 1 ว่า "จะต้องจัดการเอาไว้ไม่ได้หรอก" หมายถึงฆ่านายสมศักดิ์ ซึ่งจำเลยที่ 1 มีเรื่องไม่พอใจนายสมศักดิ์ที่จะให้จำเลยที่ 1 รับผิดกรณีเกิดเหตุลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนบ้านจานอยู่แล้ว จึงทำให้จำเลยที่ 1 ตอบตกลงถือว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 ตัดสินใจที่จะกระทำการฆ่านายสมศักดิ์และจำเลยที่ 4 รับว่าจะเป็นผู้พาอาวุธปืนมาให้ด้วย ในที่สุดจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายถ่ายได้นำอาวุธปืนที่จำเลยที่ 4 มอบให้ไปฆ่านายสมศักดิ์ บุตรและภริยาของนายสมศักดิ์ตามที่จำเลยที่ 4 ยุยงส่งเสริม จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และจำเลยที่ 4 ยังมีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองและร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะ หมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับอนุญาต และการที่จำเลยที่ 4 นำรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2กับพวกร่วมกันลักมาไปจอดทิ้งไว้ที่อื่น โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจรด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามฆ่าและชิงทรัพย์ด้วยอาวุธปืน ศาลพิจารณาพยานหลักฐานและแก้ไขคำพิพากษา
จำเลยร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนเล็กกลยิงมาทางผู้เสียหาย ทั้งหกในขณะนั่งมาในรถยนต์ซึ่งแล่นมาตามถนนสายพัทลุง-ตรัง โดยจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่ากระสุนปืน ที่จำเลยกับพวกใช้ยิงอาจถูกผู้เสียหายทั้งหกซึ่งนั่งอยู่ ในรถยนต์ได้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งหก เพื่อความสะดวกในการชิงทรัพย์ จำเลยกับพวกลงมือ กระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เนื่องจากกระสุนปืนถูกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้รับความเสียหาย ถูกผู้เสียหายที่ 5 ได้รับบาดเจ็บและกลุ่มผู้เสียหายหลบหนีได้ทัน จำเลยกับพวก ไม่อาจชิงทรัพย์ได้สำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกัน พยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งหกเพื่อความสะดวกในการที่จะ กระทำความผิดอย่างอื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 5 ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนนอกจากที่กำหนดใน กฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าว ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกัน พยายามชิงทรัพย์ตามมาตรา 78 วรรคสาม ฐานร่วมกัน พยายามฆ่าผู้อื่น และฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิด ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามชิงทรัพย์ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าเจ้าพนักงาน: การยิงอาวุธปืนใส่เจ้าพนักงานขณะหลบหนีถือเป็นความพยายามฆ่า
ขณะที่จำเลยกับพวกลงจากรถยนต์แท็กซี่ สิบตำรวจตรี ส.กับพวกแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นตัวจำเลย กับพวกเนื่องจากสงสัยว่าจำเลยกับพวกเป็นคนร้ายแต่จำเลยกับพวกไม่ยอมให้ตรวจค้นและวิ่งหนีไปทันที อันส่อ แสดงว่าจำเลยกับพวกมีพิรุธน่าสงสัย เมื่อสิบตำรวจตรี ส. กับพวกวิ่งไล่ตามจำเลยไปห่างกันประมาณ 10 เมตร จำเลยได้เอี้ยวตัวหันหน้ามาแล้วใช้อาวุธปืนยิ่งใส่ สิบตำรวจตรี ส. กับพวก แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด แม้จำเลยไม่ได้หยุดวิ่งขณะหันกลับมาใช้อาวุธปืนยิงไป 1 นัด แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงมาทาง เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ขณะวิ่งไล่ตาม จำเลยไป จำเลยย่อมเล็งเห็นผลหรือคาดหมายได้ว่า กระสุนปืนที่จำเลยยิงไปนั้นหากถูกเจ้าพนักงานคนใดคนหนึ่ง ที่วิ่งตามมา เจ้าพนักงานดังกล่าวย่อมถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และจำเลยได้ลงมือ กระทำไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจาก กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใดจำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1683/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความผิดฐานครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ลงโทษตามมาตรา 72วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามมาตรา 72วรรคสอง ต้องเป็นเพียงกรณีมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตเท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 7, 72วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1683/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพ.ร.บ.อาวุธปืน: การจำกัดโทษฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน การแก้ไขโทษที่ศาลล่างพิพากษาผิด
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคหนึ่งและวรรคสองให้ลงโทษตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดย่อมไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามมาตรา 72 วรรคสองต้องเป็นเพียงกรณีมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตเท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 7,72 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่าในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับใบอนุญาตจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7,72 วรรคหนึ่ง
of 103