คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เจ้าของรถ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 123 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3674/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สิน (รถบรรทุกและแร่) จากความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ เนื่องจากเจ้าของรถมีโอกาสทราบถึงการกระทำผิด
ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านต้องนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่า ตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดหรือจะมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงตามที่ผู้คัดค้านนำสืบได้ความเพียงว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ขณะเกิดเหตุได้ให้ อ. เช่าช่วงรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปประกอบธุรกิจโดยมีสำเนาหนังสือสัญญาเช่าช่วง ซึ่งเป็นหลักฐานที่อาจทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุได้โดยง่ายมาแสดง โดยไม่มีหลักฐานอื่นมาประกอบ ทำให้มีน้ำหนักน้อย ผู้คัดค้านจึงยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติได้ ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ในชั้นตรวจยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วง 22 คัน พ. ให้การเกี่ยวกับรถบรรทุกของกลางว่า มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ประกอบด้วยบุคคล 6 คน หนึ่งในนั้นมีผู้คัดค้านรวมอยู่ด้วยเป็นเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้าง พ. ขับรถขนหิน สอดคล้องกับสำเนารายการจดทะเบียนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ซึ่งระบุว่า รถทั้งสองคันมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นผู้ประกอบการขนส่งและมีผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของห้างในช่องผู้ประกอบการขนส่ง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านเป็นหนึ่งในผู้ครอบครองรถและเป็นผู้ว่าจ้าง พ. ขับรถบรรทุกขนแร่หินทรายของกลาง ผู้คัดค้านย่อมมีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า พ. จะกระทำความผิดและจะนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม เมื่อรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ไม่มีเหตุที่จะคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้แก่ผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรถจักรยานยนต์ไม่ต้องรับผิดชอบหากจำเลยใช้รถหลบหนีการจับกุมโดยไม่ได้ประสงค์จะกระทำผิดแต่แรก
แม้ผู้ร้องจะมิได้เก็บรักษากุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ในที่มิดชิด แต่เสียบกุญแจรถจักรยานยนต์คาไว้ที่รูกุญแจรถจักรยานยนต์ ทำให้บุคคลภายในครอบครัวสามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้โดยง่าย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดในการที่จำเลยและบุคคลภายในครอบครัวนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ก็ตาม แต่ได้ความว่าบุคคลภายในครอบครัวเพียงแต่นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ขับซื้อของและทำธุระทั่วไปเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยและบุคคลในครอบครัวเคยมีพฤติการณ์นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยินยอมหรืออนุญาตโดยปริยายให้จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อจะไปตกปลากับเพื่อน ไม่ได้ประสงค์จะนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปกระทำความผิด แต่เหตุที่จำเลยกระทำความผิดตามที่ถูกฟ้องเนื่องจากกลัวว่าจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม เพราะมีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครองโดยผิดกฎหมาย การที่จำเลยขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจที่สั่งให้หยุดรถและขับรถจักรยานยนต์หลบหนีการจับกุม จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทันทีในขณะนั้นอันเป็นการกระทำความผิดของจำเลยโดยลำพัง ผู้ร้องย่อมไม่อาจทราบหรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิดดังกล่าว ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในฐานะเจ้าของรถและนายจ้าง/ตัวการ, การคิดดอกเบี้ยผิดนัด, และขอบเขตความรับผิดร่วม
คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.951/2562 ของศาลจังหวัดทุ่งสง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถโดยประมาทหรือหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจและผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ซึ่ง ต. ผู้เอาประกันภัยยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ต. ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อฟ้องกันอีก ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ในคดีอาญาดังกล่าว ต. ผู้เอาประกันภัยได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยอ้างส่งหลักฐานการซ่อมเป็นรายการราคาของอะไหล่แต่ละชิ้นและภาพถ่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลจังหวัดทุ่งสงพิจารณาหลักฐานดังกล่าวแล้ว เห็นว่า รถยนต์ย่อมเสื่อมสภาพลงเพราะการใช้งาน การคิดคำนวนราคาซ่อมไม่อาจคิดคำนวณราคาค่าอะไหล่ทุกชิ้นเป็นเกณฑ์ในการเรียกราคา ทั้งพิจารณาจากสภาพรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย หากทำการซ่อมก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่ทั้งหมด เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ 400,000 บาท อันเป็นการวินิจฉัยราคาค่าซ่อมรถยนต์จากหลักฐานรายการซ่อมและสภาพความเสียหายที่ปรากฏจากภาพถ่ายรถยนต์คันเกิดเหตุ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จากการตรวจสอบสภาพความเสียหายและประเมินราคาค่าซ่อมรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย ปรากฏว่าได้รับความเสียหาย 254,463 บาท ตามเอกสารสรุปค่าอะไหล่และใบเสนอราคาความเสียหายของอู่ ซึ่งสูงเกินกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้ 200,000 บาท โจทก์จึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท ตามความผูกพันในสัญญาประกันภัยข้อ 2.1 การชดใช้ความเสียหายต่อรถยนต์ในกรณีรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง ค่าเสียหายที่ ต. ได้รับจากจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง 400,000 บาท และที่ ต. ได้รับจากโจทก์ 200,000 บาท จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์เช่นเดียวกัน การที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ต. ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แก่ ต. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 สิทธิของโจทก์ในการเข้ารับช่วงสิทธิของ ต. เรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัย ย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และมาตรา 880 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่ ต. และเข้ารับช่วงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จาก ต. ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญา ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ให้แก่ ต. เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดทุ่งสงที่กำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามคำร้องขอให้บังคับผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่ง ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งได้ทำให้แก่ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิในมูลหนี้ละเมิดโดยสุจริต การชำระหนี้ดังกล่าวย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 316 แม้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจาก ต. ก่อนจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าว แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของ ต. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง และการชำระหนี้ในมูลละเมิดสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ต. ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว มูลหนี้ส่วนนี้จึงระงับไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ 200,000 บาท ได้ แต่สำหรับค่าลากรถที่โจทก์ฟ้องเรียกมา 6,400 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ชดใช้ให้แก่ ต. ไปตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง เมื่อโจทก์ได้ชดให้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ ต. ไป และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ ต. แล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ต. เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ได้
of 13