พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,459 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13723/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลังหย่า ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หากไม่ได้รวมในคดีเดิม และอำนาจปกครองบุตรควรพิจารณาจากความเหมาะสม
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาหย่า และแบ่งสินสมรส โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน มิได้มีการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด ทั้งการฟ้องเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูสามารถฟ้องคดีได้ต่างหากโดยไม่ต้องอ้างอิงการหย่าเนื่องจากบิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไม่ว่าจะหย่ากันหรือไม่และบุตรผู้เยาว์จะอยู่ในอำนาจปกครองของฝ่ายใด ตามทะเบียนการหย่าก็ไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงเรื่องให้บุตรอยู่ในความปกครองของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ในคดีนี้ จึงมิใช่เรื่องที่เคยว่ากันมาก่อนในคดีเดิมหรือเป็นข้อเรียกร้องที่มีขึ้นก่อนการฟ้องคดีเดิมซึ่งต้องฟ้องเรียกร้องในคดีเดิม ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12953/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำหรือไม่: คดีเช่าซื้อรถยนต์ ประเด็นต่างกัน แม้มีข้อเท็จจริงบางส่วนเชื่อมโยง
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์เช่าซื้อเป็นจำเลยที่ 1 โจทก์ให้การว่า จำเลยที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า หลังทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อบางส่วน แล้วเสนอขอทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ โดยโจทก์นำค่าเช่าซื้อบางส่วนไปชำระปิดบัญชีค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ยังค้างอยู่ ส่วนที่เหลือโจทก์สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คระบุชื่อจำเลยที่ 1 และมีการนำฝากเข้าบัญชีของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหลังกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่เคยทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหลังกับโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนเงินโจทก์ ประเด็นแห่งคดีนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 1 รับเงินตามฟ้องไปจากโจทก์จริงหรือไม่และเป็นการรับไว้โดยมูลอันจะอ้างตามกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคนละประเด็นกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21282/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ: คดีแพ่งต้องไม่วินิจฉัยเฉพาะเรื่องอำนาจฟ้อง หากยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาข้อหา
ในคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเพียงว่า โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโดยศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีตามประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดี จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9206/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การนำยาเสพติดเข้าประเทศ - การรับสารภาพ - การฟ้องซ้ำ - การนำเข้าตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร และมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์สืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีน จำนวน 1.5 หน่วยการใช้ (เม็ด) ติดตัวมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเสพ ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างร้ายแรงและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยไม่อุทธรณ์ ส่วนโจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต การที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นว่าจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังว่า จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปในศาลชั้นต้นมาโต้เถียงใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มาด้วย เป็นการไม่ชอบ
การที่จำเลยเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและเดินทางกลับประเทศไทยโดยนำเมทแอมเฟตามีน 1.5 เม็ด เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือได้ว่าเป็นการนำเข้าตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งหมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามามากหรือน้อยหรือด้วยเหตุผลประการใดของจำเลยก็ตาม
การที่จำเลยเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและเดินทางกลับประเทศไทยโดยนำเมทแอมเฟตามีน 1.5 เม็ด เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือได้ว่าเป็นการนำเข้าตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งหมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามามากหรือน้อยหรือด้วยเหตุผลประการใดของจำเลยก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำหรือไม่: คดีสัญญาจ้างทำของ แม้มีมูลเหตุเดียวกัน แต่ประเด็นต่างกัน ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อนจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยว่าผิดสัญญาโดยเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 สูญเสียโอกาสที่จะได้รับเงินจากการทำบุญในการจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคี และค่าเสียโอกาสที่จะได้รับเงินจากการทำบุญในช่วงเข้าพรรษาออกพรรษา ทอดผ้าป่าสามัคคี ทอดกฐิน กับให้รื้อถอนห้างร้านก่อสร้างออกจากศาลาที่ก่อสร้าง โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนให้การต่อสู้ว่า ไม่ได้ผิดสัญญา ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ฟ้องมาเป็นค่าเสียหายในอนาคต จำเลยที่ 1 ไม่ได้เสียหายจริง จึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคดีก่อนจึงมีเพียงว่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนผิดสัญญาจ้างหรือไม่ และจำเลยที่ 1 มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุที่โจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาหรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อนยังไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย แล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือ และค่าเสียโอกาสจากการนำเงินค่าจ้างไปลงทุน คดีนี้จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือ และค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด แม้มูลเหตุที่ฟ้องในคดีนี้กับคดีก่อนจะสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างทำของอันเดียวกันก็ตาม แต่คำฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่ใช่ประเด็นเดียวกันกับประเด็นในคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5410/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำทางอาญา: การรับของโจรกรรมเดียว ศาลยกฟ้องเมื่อมีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้ว
รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในคดีนี้ และรถจักรยานยนต์ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรี ไม่ปรากฏโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 ได้รับมาคนละคราว จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 3 ได้รับรถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าวไว้ในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันรับของโจรเพียงกรรมเดียว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรีแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20100/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำความผิดพรากผู้เยาว์: ศาลยกฟ้องเมื่อความผิดกรรมเดียวกันได้รับการตัดสินเด็ดขาดแล้ว
แม้ตามฟ้องคดีนี้จะระบุว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของ ม. ผู้เสียหายที่ 1 และ ป. เพื่อนผู้เสียหายที่ 1 ตรงกันว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปพักอยู่กับ ป. มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 จึงเดินทางจากบ้านของ ป. ที่จังหวัดนครราชสีมาไปหาจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำเลยโอนเงินค่ารถไฟไปให้ 300 บาท แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของจำเลยจึงเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดเช่นนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบวรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่าเหตุความผิดฐานพรากผู้เยาว์ในคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ตามที่พิจารณาได้ความ หาใช่เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 538/2550 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาอีกคดีหนึ่ง โดยบรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 กรณีจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยฐานพรากผู้เยาว์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) การที่โจทก์นำเอาการกระทำของจำเลยที่พรากผู้เยาว์ในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16410/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ-สิทธิระงับ: การกระทำความผิดต่อเนื่องฐานทำลายทรัพย์สาธารณประโยชน์และความผิดฐานประกอบกิจการโรงงาน
คดีก่อนพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2371/2550 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการโรงงานโดยทำการดูดทรายบนที่ดินอันเป็นการแปรสภาพลำเลียงและทำลายหิน กรวด ดิน ทราย โดยใช้เครื่องจักรอันเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกประกอบกิจการดูดทรายทำให้ริมตลิ่งคลองบางบาลพังไปเป็นคุ้งน้ำยาวตามลำน้ำประมาณ 300 เมตร ลึกเข้าไปจากริมตลิ่งประมาณ 200 เมตร ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ทำการดูดทรายบริเวณพื้นที่ติดต่อกับคลองบางบาล เป็นเหตุให้ชายตลิ่งริมคลองบางบาลถูกทำลายจนพังทลายลง การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2371/2550 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคดีนี้จึงเป็นการกระทำในสถานที่เกิดเหตุเดียวกันคือ การดูดทรายในที่ดินบริเวณริมคลองบางบาล ตำบลวัดยม อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาเดียวกัน หาใช่เป็นการกระทำแยกจากกันหรือต่างกรรมต่างวาระกันไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16405/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำในความผิดอาญา: การกระทำอันเป็นกรรมเดียวกัน แม้โจทก์ต่างกัน สิทธิฟ้องระงับเมื่อมีคำพิพากษาแล้ว
จำเลยที่ 1 ถูกศาลในคดีก่อนพิพากษาลงโทษฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 ปรากฏว่าวัน เวลา และการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในคดีก่อนกับคดีนี้ เป็นวัน เวลา และการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดลักษณะอย่างเดียวกัน ถึงแม้ว่าโจทก์คดีนี้จะบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยอ้างความผิดตามมาตรา 267 เพิ่มเข้ามาอีกด้วยก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและนำสืบเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ในลักษณะอย่างเดียวกันกับคดีก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนกับคดีนี้จึงเป็นกรรมเดียวกัน และที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องคดีนี้ในข้อหาแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 137 และข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตามมาตรา 267 ก็ล้วนเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันโดยเจตนาและความมุ่งหมายอย่างเดียวกันที่จะให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทยอมรับการจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจการลงนามของกรรมการ การกระทำของจำเลยที่ 1 ในทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน
แม้คดีก่อนมี ย. เป็นโจทก์ ซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์คดีนี้ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองคดีต่างฟ้องจำเลยในการกระทำอย่างเดียวกัน เมื่อคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในการกระทำอันเดียวกันนั้นเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ในคดีนี้จะนำการกระทำอันเดียวกันของจำเลยที่ 1 มาฟ้องเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ซ้ำอีกนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะผู้ที่กระทำความผิดกรรมเดียวกันไม่จำต้องถูกลงโทษซ้ำสองครั้ง
แม้ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จะยังไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะคดีก่อนยังมิได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อคดีก่อนพิจารณาเสร็จและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว นับตั้งแต่นั้นมาย่อมเป็นผลให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์ในคดีนี้ย่อมต้องสิ้นสุดลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 อีกได้
แม้คดีก่อนมี ย. เป็นโจทก์ ซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์คดีนี้ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองคดีต่างฟ้องจำเลยในการกระทำอย่างเดียวกัน เมื่อคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในการกระทำอันเดียวกันนั้นเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ในคดีนี้จะนำการกระทำอันเดียวกันของจำเลยที่ 1 มาฟ้องเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ซ้ำอีกนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะผู้ที่กระทำความผิดกรรมเดียวกันไม่จำต้องถูกลงโทษซ้ำสองครั้ง
แม้ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จะยังไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะคดีก่อนยังมิได้มีคำพิพากษา แต่เมื่อคดีก่อนพิจารณาเสร็จและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว นับตั้งแต่นั้นมาย่อมเป็นผลให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาของโจทก์ในคดีนี้ย่อมต้องสิ้นสุดลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อขอให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 1 อีกได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14257/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมเดียว ฟ้องซ้ำ: สิทธิฟ้องระงับเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดกรรมเดียวกัน
การที่จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค บูรพานิวส์ ฉบับเลขที่ 94 ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2550 แม้เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอก ว. ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอก ว. ต่างถูกหมิ่นประมาทจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ในครั้งเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดอันเป็นกรรมเดียวและหาได้ทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ โดยการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว โจทก์ทั้งสองและพลตำรวจเอก ว. ซึ่งต่างเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มาในคดีเดียวกันหรือแยกกันฟ้องเป็นรายคดีก็ได้ ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น แต่หากคดีหนึ่งคดีใดศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว ย่อมทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในอีกคดีหนึ่งระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)