คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,449 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11571/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้และการรับสภาพหนี้จากการชำระหนี้บางส่วนและการขายหลักทรัพย์ประกัน
จำเลยกับบริษัทหลักทรัพย์ อ. เจ้าหนี้เดิม ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ฯ สิทธิเรียกร้องที่จะมีต่อกันต่อไปก็ต้องเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2540 แม้ตามบันทึกข้อตกลงตอนแรกให้ถือว่าจำเลยผิดสัญญา เจ้าหนี้เดิมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที ไม่ว่าหนี้เดิมจะถึงกำหนดแล้วหรือไม่ก็ตาม อันแสดงว่าเจ้าหนี้เดิมอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ผิดนัดดังกล่าวเป็นต้นไปซึ่งเป็นวันเริ่มนับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ก็ตาม แต่ตามข้อ 3 ใบบันทึกข้อตกลงระบุว่า เจ้าหนี้เดิมยังมีสิทธิที่จำหน่ายจ่ายโอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันตามควรแก่กรณีเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของเจ้าหนี้เดิมและเพื่อชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ตามบันทึกนี้ อันเป็นกรณีที่จำเลยตกลงให้เจ้าหนี้เดิมขายหลักทรัพย์ที่เป็นประกันได้ไว้ล่วงหน้า จึงไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบหรือรอให้จำเลยตกลงให้จำเลยตกลงในขณะขายอีกครั้งหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา เมื่อต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 เจ้าหนี้เดิมบังคับขายหลักทรัพย์ (หุ้น) นำเงินไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่บางส่วน ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิมตามข้อตกลงข้อ 3 ดังกล่าว ซึ่งนับได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้เดิมด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วน อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เมื่อนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้เมื่อเจ้าหนี้เสียชีวิต: ต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับจากทราบการเสียชีวิต
สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5992/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนอง: สิทธิในการได้รับชำระหนี้จำนองและดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
การร้องขอให้บังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โดยขั้นแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และขั้นต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี ต่อจากนั้นเจ้าหนี้ต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 278 ดังนั้น การที่ผู้ร้องเพียงแต่ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีโดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปอีกจนพ้นกำหนดเวลาสิบปี ย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่หนี้ตามคำพิพากษา แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าการจำนองได้ระงับสิ้นไป การจำนองจึงยังคงมีอยู่ ดังนั้น ผู้ร้องจึงยังคงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองตามกฎหมายกับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเป็นเวลาห้าปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 เท่านั้น ผู้ร้องจะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดของทายาทต่อหนี้จากการประมูลทอดตลาดที่ไม่สมบูรณ์ และอำนาจฟ้องของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้ตาย และแต่งตั้ง ก. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. แทน ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกในคดีนี้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
อ. ผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม อ. ผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 516 แห่ง ป.พ.พ. การกระทำของ อ. ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง เนื่องจากโจทก์ผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งถือว่ามีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 280 (1) แห่ง ป.วิ.พ. กล่าวคือ เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากขายได้ราคาสูงหรือต่ำย่อมมีผลต่อการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการบังคับเอาเงินส่วนที่ขาดไปจาก อ. ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิม มิใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดเท่านั้นที่จะมีอำนาจบังคับเอาจาก อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5093/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีละเมิดจากการจดทะเบียนสิทธิในที่ดินปลอม หลักการแยกจากกันของหนี้
กรณีโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดทางละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งโจทก์ให้การปฏิเสธ เมื่อคดีถึงที่สุดให้โจทก์รับผิดต่อผู้เสียหายและโจทก์วางเงินชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจำเลยผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์วางเงินดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้น 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 9
ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน แม้คำพิพากษาจะกำหนดให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหาย แต่ก็เป็นความรับผิดในฐานะนิติบุคคลเพื่อเยียวยาแก่ผู้เสียหายไปก่อนแล้วจึงให้โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้แทนนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 เมื่อโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีสิทธิไล่เบี้ยได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่มีผลใช้บังคับก่อนเกิดเหตุคดีนี้จึงต้องบังคับตาม มาตรา 8 วรรคสี่ ที่มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับแก่จำเลยทั้งสามผู้ทำละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยทั้งสามแต่ละคนจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4951/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีหนี้ที่อาจบังคับได้ ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค
จำเลยและผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนกันลงทุนซื้อเหล็กในแต่ละครั้ง เมื่อขายเหล็กได้ จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คตามยอดเงินที่ขายได้ให้แก่ผู้เสียหายซึ่งจะมียอดเงินในเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับเปรียบเทียบกับรายการซื้อขายเหล็ก ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า ขณะที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับแก่ผู้เสียหายตามมูลค่าการขายเหล็กซึ่งยังไม่ได้แบ่งเงินตามข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนกันเป็นยอดเงินสุทธิว่ามีจำนวนเท่าใด ทำให้ขณะนั้นจำเลยยังไม่มีหนี้ที่ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งยี่สิบสองฉบับโดยยังไม่มีมูลหนี้ซึ่งอาจบังคับได้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21165/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดี, ความรับผิดของกรรมการ, การจำนอง และการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหนี้
พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 บัญญัติให้สหกรณ์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมาตรา 51 บัญญัติให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ข้อบังคับของโจทก์ข้อ 65 ก็มีข้อความทำนองนี้ โดยในวรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง มติของคณะกรรมการดำเนินการ และมติของที่ประชุมใหญ่ รวมทั้งในเรื่องการฟ้องและดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ สำหรับหนังสือมอบอำนาจของโจทก์นั้น มีคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 จำนวน 15 คน เป็นผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจ เมื่อพิจารณาประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 71 พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อบังคับของโจทก์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการมอบอำนาจ ไม่ปรากฏว่าจะต้องให้กรรมการดำเนินการของโจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อเพื่อกระทำการแทนและให้มีผลผูกพันโจทก์ ดังนั้น แม้ต่อมาศาลปกครองขอนแก่นพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน ทำให้ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งยังคงมีผลอยู่ โดยตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการของ บ. ซึ่งส่งผลให้การสมัครรับเลือกตั้งของ บ. ไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย บ. ไม่มีฐานะเป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ในขณะที่ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ตนเองและหรือ ส. กรรมการดำเนินการของโจทก์อีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจก็ตาม แต่กรรมการดำเนินการของโจทก์ที่ยังเหลืออยู่อีก 14 คน ยังมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากที่จะดำเนินการแทนโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 71 และถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแล้ว การดำเนินการของ ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของโจทก์และผู้แต่งตั้งทนายความจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ และหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง อายุความในมูลละเมิดมีกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่มาตรา 74 บัญญัติว่า ถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ ดังนั้น กรณีละเมิดทำให้โจทก์รับความเสียหายโดยมีคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 24 ของโจทก์ทั้งคณะถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 ในคดีนี้ แม้จำเลยดังกล่าวจะเป็นผู้แทนของโจทก์อยู่ในขณะนั้น และได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวก็ตาม แต่ไม่อาจถือได้ว่าการรู้นั้นเป็นการรู้ของโจทก์แล้วอันจะทำให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 โดยต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 ของโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการชุดใหม่รู้ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 และได้ฟ้องเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20338/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้แทนบุคคลอื่นโดยมีเงื่อนไข การหักบัญชีหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็ค 13 ฉบับ ระบุชำระหนี้เงินต้นแทน ส. และเช็คทุกฉบับเรียกเก็บเงินได้แล้ว โดยจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิเสธการชำระหนี้ดังกล่าวทั้งที่อาจปฏิเสธได้เพราะเป็นการชำระหนี้แตกต่างจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 329 กำหนด จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจะนำเงินจำนวนตามเช็คไปหักชำระหนี้ของ ส. เฉพาะเงินต้นเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงนำไปหักชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ก่อนมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19491/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าจ้างชำระหนี้: ความยินยอมของลูกจ้างสำคัญกว่าข้อต่อสู้ทางหนี้
โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของ ส. ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ พ. โดยตกลงว่าหาก ส. ผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนสหกรณ์ออมทรัพย์ พ. โจทก์ยินยอมให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างหักเงินได้ส่งให้สหกรณ์ออมทรัพย์ พ. เพื่อชำระหนี้แทน ส. เมื่อ ส. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงหักค่าจ้างของโจทก์ซึ่งไม่เกินร้อยละ 10 ชำระหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ พ. ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13972/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิหักกลบลบหนี้หลังบอกเลิกสัญญา - การชำระหนี้หลังเลิกสัญญาโดยชอบ
แม้จำเลยจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้ยืมเงินและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่โจทก์ทั้งสองแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยจนครบจำนวนให้เสร็จสิ้น จำเลยย่อมมีสิทธิหักเงินเดือนและเงินโบนัสของโจทก์ที่ 2 ภายหลังจากเลิกสัญญาจำนวน 79,194.50 บาท เพื่อชำระหนี้ตามข้อตกลงที่โจทก์ที่ 2 ให้ไว้แก่จำเลยแต่เดิมได้เพราะเป็นสิทธิโดยชอบและโจทก์ที่ 2 ยังค้างชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อโจทก์ที่ 2 และจำเลยต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน จำเลยย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้ระหว่างกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ได้ด้วย การหักเงินของจำเลยจึงเป็นไปโดยสุจริตไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวน 79,194.50 บาท คืนจากจำเลยได้
of 145