คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,449 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16776/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินสิ้นสุดเมื่อไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี และไม่มีสิทธิยึดหน่วงเนื่องจากหนี้ไม่เกี่ยวกับโฉนด
การที่จำเลยไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา จำเลยย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีแก่ ส. และทายาท เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยเป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ไม่อาจบังคับคดีได้เสียแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้อีกต่อไป
เหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมายได้ ต้องปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้น จึงจะใช้สิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ได้ แต่การที่ ส. กู้ยืมเงินและส่งมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้นั้น หนี้เงินกู้ดังกล่าวหาได้เป็นหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดที่ดินไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้
โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายในการยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลยด้วยจึงเป็นการบังคับบุคคลภายนอกที่มิได้เป็นคู่ความในคดี ศาลไม่อาจบังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินกระทำการตามที่โจทก์ขอได้ อีกทั้งเป็นเรื่องวิธีการในชั้นบังคับคดี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้แก้ไขและปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16051/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา: เริ่มนับเมื่อพ้นระยะปลอดหนี้ 2 ปี ไม่ขาดอายุความ
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ส่วนการนำส่งคืนกองทุนยังให้โอกาสผู้กู้ยืมชำระคืนเมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งยังกำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินเงินฝากประจำหนึ่งปีของธนาคารออมสิน และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น กำหนดใช้คืนเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลาสูงสุดถึงสิบห้าปี ในกรณีผู้ยืมถึงแก่ความตาย ให้หนี้ตามสัญญาระงับไป หรือกรณีผู้กู้พิการหรือทุพลภาพไม่สามารถประกอบการได้ คณะกรรมการกองทุนมีอำนาจระงับการให้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ โดยมีเหตุผลการออกพระราชบัญญัติเนื่องจากมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการพัฒนามนุษย์ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้นการให้กู้ยืมเงินตามพระราชบัญญัติก็เป็นไปเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และให้โอกาสแก่บุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยแท้ กรณีเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องในเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ไม่ เพราะแม้ผู้กู้สามารถเลือกผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนหรือรายปีได้ แต่หากมีความจำเป็นอาจร้องขอผ่อนผันการชำระหนี้ตามระยะเวลาที่แตกต่างไปหรือชะลอการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15663-15664/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกเช็คหลังถูกพิทักษ์ทรัพย์ และข้อยกเว้น พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ใช้บังคับแก่การเรียกดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินเท่านั้นไม่อาจจะนำมาใช้บังคับแก่หนี้เงินที่เกิดจากมูลหนี้ประเภทอื่นได้ การคิดดอกเบี้ยในมูลหนี้การซื้อขายเช่นคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน ..." หมายความว่าบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินคดีในทางแพ่งด้วยตนเองหรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างพิทักษ์ทรัพย์อยู่ไม่ได้เท่านั้น หามีผลทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วยไม่ และมิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย คดีนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 จำเลยออกเช็คลงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 หนี้ที่จำเลยออกเช็คจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ แม้เช็คพิพาทดังกล่าวธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2546 หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยก็ตาม การกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยยังดำเนินต่อไปได้และไม่ทำให้จำเลยพ้นผิด จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13928/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้จากการเช่าทรัพย์สินและหักกลบลบหนี้จากค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คจำนวน 6 ฉบับ ที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย หาได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ การวินิจฉัยความผิดของจำเลยจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องตั๋วเงิน โจทก์จึงหาจำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมาแสดงตามที่จำเลยฎีกาไม่
จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คทั้ง 6 ฉบับ ตามฟ้อง จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่ามูลหนี้ตามเช็คระงับแล้ว ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยและจำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ทำให้ทรัพย์สินที่เช่าเสียหาย คิดเป็นเงิน 260,000 บาท จึงขอหักกลบลบหนี้กับเช็คตามฟ้องโดยจำเลยเบิกความว่า ก่อนที่โจทก์จะออกไปจากห้องเช่า ทำให้ห้องเช่าเสียหาย เนื่องจากต่อเติมห้องเช่าโดยเทพื้นคอนกรีตลงบนสนามหญ้า มูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 260,000 บาท นั้น ค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์มิได้ยอมรับ จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ ไม่อาจจะนำมาหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1268/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งมอบหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแก่ทายาท ความผูกพันทางทรัพย์สินหลังการตายของผู้ค้ำประกัน
ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อ พ. ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคหนึ่ง แม้ขณะที่ พ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดสัญญาหรือผิดนัดก็ตาม สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของ พ. ไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ พ. ทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12264/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้และการรับสภาพหนี้ใหม่: ฟ้องข้ามอายุความแม้มีการทำหนังสือรับสภาพหนี้
สำเนาใบกำกับภาษีระบุชื่อจำเลยเป็นลูกค้าทุกฉบับ และยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้มีรายการหักทอนกันระหว่างโจทก์และจำเลยหลายรายการ ระบุยอดสุดท้ายว่าเป็นรายการที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ คงเหลือ 314,965.05 บาท เท่ากับรายการตามหนังสือรับสภาพหนี้ ปรากฏว่ามีการส่งอะไหล่ครั้งสุดท้ายระบุวันที่ 18 ตุลาคม 2540 โดยไม่ปรากฏว่าได้มีกำหนดเวลาชำระค่าอะไหล่กันไว้ ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคแรก ดังนั้น ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะมีอายุความ 2 ปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย หรือมีอายุความ 5 ปี ดังที่โจทก์ฎีกา ก็เป็นที่เห็นได้ว่า หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 เป็นการจัดทำขึ้นหลังจากขาดอายุความแล้ว หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการที่จำเลยรับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายใน 2 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพความรับผิดดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ประกอบมาตรา 193/28 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องคดีหลังศาลสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แม้หนี้เกิดระหว่างฟื้นฟูกิจการ
แม้มูลแห่งหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงานของผู้ร้องเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจนถึงก่อนศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและมิได้กำหนดไว้ในแผน ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขออนุญาตฟ้องลูกหนี้ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ แต่เมื่อปรากฏต่อมาว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้พื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ย่อมมีผลให้การถูกจำกัดสิทธิในการที่ผู้ร้องจะฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) สิ้นไป ตามมาตรา 90/12 วรรคแรก ตอนต้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิฟ้องลูกหนี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10194/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาท - สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่ปิดอากรแสตมป์ ไม่กระทบความผิดอาญา
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานไม่ได้ ซึ่งห้ามเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายที่ดินส่วนที่เหลือ โดยมีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาแสดง ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ความประสงค์หรือเจตนาแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อที่ดิน โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีเจตนาออกเช็คพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 720/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดหน่วงสินค้าจากการขนส่งทางทะเลเมื่อลูกหนี้มีสถานะเป็นคนสินล้นพ้นตัว
โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการขนส่งมีหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องดำเนินการให้มีการส่งมอบสินค้าที่ท่าปลายทางแก่ผู้รับตราส่ง การที่โจทก์มีคำสั่งให้ระงับการส่งมอบใบตราส่งแก่ผู้รับตราส่งมีผลให้สินค้ายังคงอยู่ในความครอบครอบของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 15 ที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางหรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มีประกันตามสมควร โดยการใช้สิทธิยึดหน่วงนี้จะกระทำได้สำหรับหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยสินค้าที่โจทก์ครอบครองอยู่ อันได้แก่หนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งสินค้าครั้งที่ 19 เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์จะไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งก่อน ๆ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยค้างชำระค่าระวาง ค่าขนส่ง ค่าบริการ และค่าดำเนินการการขนส่งสินค้าก่อนหน้านั้นอีก 18 ครั้ง เพราะจำเลยประสบปัญหาทางธุรกิจนั้น นับได้ว่าจำเลยเป็นคนสินล้นพ้นตัวไม่สามารถใช้หนี้แก่โจทก์ได้ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 243 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวที่จะยึดหน่วงสินค้าที่ขนส่งไว้ได้ แม้ในขณะนั้นหนี้ค่าระวางและค่าบริการการขนส่งครั้งที่ 19 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม การที่โจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงสินค้าด้วยการไม่ส่งมอบใบตราส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ท่าปลายทาง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญารับขนของทางทะเล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4549/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้จากการเลิกจ้างหลังเริ่มกระบวนการฟื้นฟูกิจการ จำเลยยังต้องรับผิดชอบ
คดีนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและตั้งผู้ทำแผน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2544 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลย ส่วนโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2543 เรียกค่าจ้างที่ค้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยสืบเนื่องมาจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 หนี้ตามคำฟ้องของโจทก์อันเกิดจากการถูกจำเลยเลิกจ้างดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในวันดังกล่าวหลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน แต่ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบด้วยแผน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหนี้ส่วนนี้ได้กำหนดไว้ในแผนเป็นอย่างอื่น โจทก์ย่อมสามารถฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งได้โดยอยู่ภายใต้ข้อบังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) (5) และมาตรา 90/13 และแม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แต่มูลหนี้คดีนี้มิได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงมิใช่หนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/75
1/1
of 145