คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จดทะเบียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,377 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกัน: สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายเดิมที่ใช้โดยสุจริต และข้อยกเว้นการห้ามจดทะเบียน
พ.ร.ฎ.การแบ่งส่วนราชการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2535 มาตรา 3 และ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2542 มาตรา 4 กำหนดให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานรวมทั้งดำเนินการด้านกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่น การดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่อาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เมื่อคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 เป็นเหตุให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึง 13
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างได้แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนการพิจารณาโดยชอบ เช่น ได้จากพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องนำสืบในประเด็น เมื่อปรากฏว่าปัญหาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลา 90 วัน จำเลยทั้งสิบสามมิได้ให้การไว้ ทั้งคู่ความมิได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหานี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น จำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีสิทธิยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" ของบริษัท ย. ผู้คัดค้าน ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว มีสาระสำคัญที่เหมือนกันคือเป็นรูปเด็กนั่งอุ้มขวด แม้จะมีข้อแตกต่างกันบ้าง เช่น รูปเด็กของโจทก์ถือขวดทางด้านซ้ายมือ แต่รูปเด็กของผู้คัดค้านถือขวดทางด้านขวามือ ก็เป็นข้อแตกต่างในลักษณะปลีกย่อย สินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนของโจทก์เป็นสินค้าจำพวกน้ำปลา ส่วนสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วของผู้คัดค้านเป็นสินค้าจำพวกซีอิ้วอันเป็นสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส สินค้าจำพวกที่ 30 เช่นเดียวกัน ฉะนั้น เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อเป็นการขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันย่อมเป็นกรณีที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ซึ่งมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้บัญญัติห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว อย่างไรก็ดีถ้านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าสมควรรับจดทะเบียน มาตรา 27 ของกฎหมายฉบับเดียวกันก็บัญญัติให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ โดยจะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรกำหนดด้วยก็ได้
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามข้อนำสืบของโจทก์ ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" มานานแล้วโดยสุจริต เช่นเดียวกับที่ผู้คัดค้านใช้เครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วของผู้คัดค้านจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมมีอำนาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" ของโจทก์ตามมาตรา 27 ได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามมาตรา 27 ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน และแม้ข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายจำเลยนำสืบจะรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" ของผู้คัดค้าน ใช้กับสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการโฆษณาส่งเสริมการขายอย่างกว้างขวางเป็นที่แพร่หลายจนสาธารณชนทั่วไปที่บริโภคสินค้าของผู้คัดค้านรู้จักเป็นอย่างดี ตรงตามหลักเกณฑ์ของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2534) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามมาตรา 8(10) แต่ข้อห้ามดังกล่าวย่อมหมายถึงการห้ามบุคคลอื่นใดนำเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปมายื่นขอจดทะเบียนโดยเจตนาลอกเลียนเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าของตนโดยมิชอบ อันนำไปสู่การสร้างความสับสนหลงผิดให้แก่สาธารณชนทั่วไปในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า กรณีดังกล่าวไม่อาจแปลความรวมไปถึงเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของตนโดยสุจริตควบคู่ร่วมสมัยกับเครื่องหมายการค้าที่ต่อมาภายหลังกลับกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดั่งเช่น เครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" กับเครื่องหมายการค้า "ตราเด็กสมบูรณ์" ในคดีนี้ เพราะมิฉะนั้นแล้วเท่ากับว่าเป็นการจำกัดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมที่ใช้มาโดยสุจริตให้ไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ย่อมเป็นการไม่ชอบธรรมกับเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้ารายการน้ำปลามาเป็นเวลานานโดยสุจริต โจทก์ย่อมรับได้ความคุ้มครองตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีดุลพินิจที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันได้ โดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้นเพื่อป้องกันสาธารณชนสับสนหลงผิดไว้ด้วยก็ได้ ฉะนั้น ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 วินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ตราเด็ก" ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2705/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมิได้ตรวจรถตามระเบียบก่อนจดทะเบียน
ในคำฟ้องโจทก์ระบุชื่อจำเลยโดยมิได้ระบุว่าฟ้องนายทะเบียนขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี แต่ฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยดำรงตำแหน่งนายทะเบียนขนส่งจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งได้รับการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มีหน้าที่ดำเนินการรับจดทะเบียน โอนทางทะเบียน และจดแจ้งการโอนทางทะเบียนลงในใบคู่มือจดทะเบียน ทั้งโจทก์ยังมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งยกเลิกการจดแจ้งการโอนกรรมสิทธิ์ของจำเลย และให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อของโจทก์ กับให้จำเลยคืนใบคู่มือจดทะเบียนแก่โจทก์ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องตัวเจ้าพนักงานผู้ออกคำสั่งได้โดยไม่จำต้องฟ้องหน่วยงานต้นสังกัด
ในวันที่โจทก์ไปขอจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาท โจทก์มิได้นำรถยนต์พิพาทไปด้วย จึงไม่มีการตรวจรถตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2531 การโอนชื่อทางทะเบียนรถยนต์มาเป็นชื่อของโจทก์จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบ อันเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งนั้นได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 49 และ 50

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ค่าเช่าซื้อและการสละสิทธิบังคับคดี: จำเลยต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้โจทก์
แม้ตามคำพิพากษาในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ว่าผิดสัญญาเช่าซื้อจะกำหนดให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้ตามลำดับ ให้โจทก์ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อน หากคืนไม่ได้จึงจะใช้ราคาแทน ไม่ใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อการชำระหนี้นั้นมีหลายอย่างอันโจทก์จะพึงเลือกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 198 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ชำระเงินตามจำนวนหนี้ที่โจทก์ต้องใช้ราคาแทนในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนได้รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่จำเลยจนครบถ้วน แล้วจำเลยรับไว้โดยไม่โต้แย้งคัดค้าน แสดงว่าจำเลยได้สละสิทธิที่จะบังคับคดีในหนี้ลำดับแรกแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิในรถยนต์ที่เช่าซื้อและส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยไม่ไปดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 242/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การจดทะเบียนภายหลัง และการใช้ก่อนย่อมมีสิทธิเหนือกว่า
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกที่ 30 เมื่อปี 2539 ส่วนจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และ สำหรับสินค้าจำพวกที่ 29 เมื่อปี 2542 โจทก์จึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในประเทศไทยก่อนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับขอให้แสดงว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2545 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดเวลา 5 ปี ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง
สาระสำคัญของเครื่องหมายของโจทก์และจำเลยที่ 1 คืออักษร คำว่า Haldiram's ซึ่งออกเสียงเรียกขานได้หลายประการ เช่น ฮาลดิราม ฮาลดิแรม หรือฮาลไดแรม เป็นต้น สาระสำคัญและเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงมีความใกล้เคียงกันมาก เมื่อพิจารณาบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าของฝ่ายโจทก์และจำเลยเองแล้ว จะเห็นว่าอักษรคำว่า Haldiram's เป็นตัวใหญ่เด่นชัดมากกว่าส่วนประกอบอื่นของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน แม้จะใช้รูปแบบของตัวอักษรต่างกัน แต่หากไม่ได้นำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นมาวางเปรียบเทียบแล้ว เชื่อได้ว่าประชาชนทั่วไปจะสนใจในคำว่า Haldiram's มากกว่ารายละเอียดส่วนอื่นๆ ของเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะสินค้าตามรายการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 แม้จะต่างจำพวกกัน แต่ก็มีลักษณะเป็นอาหารอย่างเดียวกัน ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า หรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้ครั้งแรกในประเทศสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อปี 2484 จากนั้นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศอื่นในนามของโจทก์ โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าพิพาทจนแพร่หลาย คนทั่วไปรู้จักเครื่องหมายการค้าพิพาทดี สำหรับในประเทศไทยมีการจำหน่ายมาก่อนปี 2542 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าของแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "Haldiram Bhujiawala" และ "Haldiram's" ในประเทศไทยโดยกำหนดระยะเวลาแต่งตั้งการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในครั้งแรกนี้มีกำหนด 5 ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือ ได้รับมอบอำนาจจากฮาดิราม พูเจียวาลา พีวีที.ลิมิเต็ด เจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้มีการใช้มาเป็นเวลานานในประเทศสาธารณรัฐอินเดียก่อนปี 2501 มาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นของจำเลยที่ 1 อันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีส่วนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนแล้วโดยสุจริตตั้งแต่เวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวครั้งแรกในประเทศสาธารณรัฐอินเดียเมื่อปี 2484 จากนั้นได้นำมายื่นคำขดจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยปี 2539 โจทก์จึงมีสิทธิในคำว่า Haldiram's ดีกว่า จำเลยที่ 1 ไม่อาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนได้ในภายหลัง และเมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างได้ใช้มาก่อนแล้วโดยสุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างเหตุความเป็นเจ้าของของเครื่องหมายการค้าเพื่อให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนตามความหมายของมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุริมสิทธิจากการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน กับ สิทธิจำนอง: เจ้าหนี้จำนองมีสิทธิเหนือกว่า
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย" ก็คงมีความหมายถึงการที่เจ้าหนี้สามัญจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้นไม่ได้เท่านั้น แต่คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันพิเศษ และตามมาตรา 287 ดังกล่าว บุริมสิทธิที่จะใช้ได้ก่อนสิทธิจำนองจะต้องเป็นบุริมสิทธิที่ได้จดทะเบียนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 285 มาตรา 286 และมาตรา 287 เท่านั้น ผู้ร้องเป็นเพียงผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นสิทธิอื่นๆ และเป็นสิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียน จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์ เมื่อโจทก์บังคับคดีโดยชอบและไม่กระทบถึงสิทธิอื่นๆ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนอง vs. สิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียน: การบังคับคดีไม่กระทบสิทธิผู้ที่จะจดทะเบียนได้ก่อน
ป.วิ.พ. มาตรา 287 หมายถึงการที่เจ้าหนี้สามัญจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้นไม่ได้เท่านั้น แต่โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันพิเศษ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บุริมสิทธิที่จะใช้ได้ก่อนสิทธิจำนองจะต้องเป็นบุริมสิทธิที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 285 มาตรา 286 และมาตรา 287 เท่านั้น เมื่อตามป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องเป็นเพียงผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นสิทธิอื่น ๆ ตามมาตรา 287 ดังกล่าว และเป็นสิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียน จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนอง การบังคับคดีของโจทก์จึงไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการบังคับคดีของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าและโอกาสสับสนของผู้บริโภคเป็นเหตุต้องห้ามการจดทะเบียน
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าที่โอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของเครื่องหมายการค้า ลักษณะเด่น และสำเนียงเรียกขานในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนพิจารณาว่ารายการสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ทั้งต้องคำนึงถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าและกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้น ๆ เป็นสำคัญว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้า หรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้าได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า OASIS ที่โอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น ต่างก็มีคำว่า OASIS เป็นสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นเช่นเดียวกัน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีรูปต้นมะพร้าวประดิษฐ์ประกอบอยู่ที่ด้านหลังด้วย แต่ก็เป็นเพียงภาคส่วนประกอบเท่านั้น สำหรับเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า โอเอซิส หรือโอเอซิส ต้นมะพร้าว ส่วนเครื่องหมายการค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด อาจเรียกขานได้ว่า โอเอซิส นับได้ว่ามีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานคล้ายกันอย่างมาก ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งในส่วนนี้ แต่ความคล้ายกันดังกล่าวจะถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียน ช่องทางการจำหน่ายสินค้า และกลุ่มสาธารณชนผู้บริโภคสินค้าของโจทก์และผู้บริโภคสินค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด เป็นสำคัญด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 25 รายการสินค้า เสื้อ (ยกเว้นเสื้อชั้นใน) เสื้อกีฬา กางเกง (ยกเว้นกางเกงกีฬา) กางเกงชั้นใน เข็มขัด รองเท้า (ยกเว้นรองเท้ากีฬา) เสื้อสำหรับเด็ก หมวก ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 790118 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย ส่วนเครื่องหมายการค้าของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนั้นใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 18 รายการสินค้า หนังฟอกและหนังเทียม หีบเดินทางและกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก กระเป๋าสะพายนักเรียน กระเป๋าหนังใส่ชุดเครื่องใช้เดินทาง กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง ถุงใส่ของทำด้วยหนัง กระเป๋าสะพาย กระเป๋าที่เปิดออกสองข้างที่มีสายรัด เครื่องสะพายหลัง กระเป๋าจ่ายของ กระเป๋าใส่ของใช้ชายหาด กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เอกสาร กระเป๋าใส่เงิน กระเป๋าใส่กุญแจ กระเป๋าใส่บัตรเครดิต กระเป๋าใส่บัตรธุรกิจ กระเป๋าใส่สตางค์ ร่มและร่มกันแดด ไม้เท้า ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค205612 ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้โดยการพกพาติดตัวหรือใช้เป็นส่วนประกอบเสริมกับเครื่องแต่งกาย จึงมีลักษณะการใช้ควบคู่หรืออยู่เคียงกับเครื่องแต่งกายของผู้บริโภคโดยทั่วไป แม้จะเป็นการจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน แต่สินค้ามีลักษณะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันดังกล่าว ผู้บริโภคสินค้าก็เป็นกลุ่มเดียวกัน หากไม่ได้พิจารณาเครื่องหมายการค้าโดยละเอียดหรือไม่ได้นำเครื่องหมายการค้ามาพิจารณาเปรียบเทียบกัน หรือใช้แต่เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าในการเลือกซื้อสินค้า โดยไม่ได้สังเกตลักษณะของเครื่องหมายการค้าโดยตรงแล้ว ก็มีโอกาสที่จะสับสนในการเลือกสินค้าหรือแยกแยะเจ้าของสินค้าได้ ถือได้ว่าสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า OASIS ของโอเอซิส แฟชั่นส์ ลิมิเต็ด จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า อันต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465-2469/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ลักษณะบ่งเฉพาะ, การพิจารณาคำว่า DATA, และขอบเขตการบังคับใช้คำพิพากษา
เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า ของโจทก์ เป็นการนำคำว่า "NTT" ย่อมาจาก Nippon Telegraph and Telephone ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของโจทก์ มารวมกับคำว่า "DATA" แม้โจทก์อ้างว่าคำว่า เรียงติดกันเป็นคำเดียว แต่เมื่อพิเคราะห์คำดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่าคำดังกล่าวมีระยะห่างระหว่างคำว่า "NTT" กับคำว่า "DATA" มากกว่าตัวอักษรอื่น จึงยังคงมองแยกส่วนออกได้เป็นสองคำ สอดคล้องกับที่โจทก์ก็ระบุเสียงเรียกขานในคำขอจดทะเบียนว่า "เอ็นทีที ดาต้า" แสดงว่ามีเสียงเรียกขานแบ่งเป็นสองคำเช่นกัน เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์คำว่า จึงไม่ได้เรียงติดกันเป็นคำเดียว แต่ประกอบไปด้วยสองภาคส่วน เมื่อพิจารณาในส่วนของคำว่า "NTT" ไม่ปรากฏความหมายในพจนานุกรมและมีลักษณะเป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดาเรียงติดกัน โดยคำดังกล่าวไม่ได้เป็นเส้นทึบหนาแตกต่างจากตัวอักษรอื่น และตัวอักษร T ก็หาได้เขียนติดกันโดยส่วนหัวด้านบนเป็นเส้นตรงเชื่อมติดต่อกัน จึงไม่มีลักษณะประดิษฐ์ ส่วนคำว่า "DATA" โจทก์ระบุคำแปลในคำขอจดทะเบียนว่า คำว่า "ดาต้า" แปลว่า ข้อมูล และเมื่อนำคำดังกล่าวมาวางอยู่หลังคำว่า "NTT" เสียงเรียกขานอ่านออกเสียงได้ว่า "เอ็นทีที ดาต้า" โดยคำว่า "DATA" ยังคงอ่านออกเสียง "ดาต้า" และยังมีความหมายว่า ข้อมูล เหมือนเดิม แม้โจทก์จะได้ดัดแปลงคำว่า "DATA" โดยให้ตัวอักษร a เป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์เล็กมีลักษณะแตกต่างจากตัวอักษรตัวอื่นในเครื่องหมายที่เป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ และให้ตัวอักษร a มีขนาดและความสูงเท่ากับตัวอักษรอื่น แต่ก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อย ดังนั้นลำพังการนำคำที่มีความหมายมารวมกับตัวอักษรบางตัวในลักษณะเช่นนี้ จึงยังไม่มีลักษณะถึงขนาดที่จะเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นอันมีลักษณะบ่งเฉพาะ
ส่วนปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของโจทก์คำว่า ทั้งห้าคำขอ เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการโดยตรงหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์คำว่า ไม่มีลักษณะประดิษฐ์ แต่การเลือกเอาตัวอักษรมาเรียงกันในลักษณะเช่นนี้ ไม่น่าที่จะมีการเรียงตัวอักษรโรมันลักษณะเช่นเดียวกันนี้เป็นการทั่วไป ประกอบกับคำดังกล่าวย่อมาจาก Nippon Telegraph and Telephone ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของโจทก์ ไม่ใช่คำย่อที่มาจากคำที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการของโจทก์โดยตรงจนถึงขนาดที่ว่าทำให้สาธารณชนที่พบเห็นคำย่อดังกล่าวทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นทันที หรือหากสาธารณชนใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้ เพราะเป็นคำย่อที่สาธารณชนทราบว่าสื่อถึงคำที่บรรยายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง อีกทั้งยังเป็นภาคส่วนของคำที่อยู่ด้านหน้า และใช้เป็นส่วนสำคัญในการเรียกขาน คำว่า "NTT" จึงมีลักษณะเด่นทำให้สาธารณชนโดยทั่วไปจดจำและแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของโจทก์จากสินค้าหรือบริการอื่นได้ ถือเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายและมีลักษณะบ่งเฉพาะ ส่วนคำว่า "DATA" ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า ข้อมูล สถิติ จึงมีความหมายกว้าง มิได้จำกัดว่าต้องสื่อถึงข้อมูลเพียงอย่างเดียว อีกทั้งเป็นคำธรรมดาทั่วไปที่สามารถสื่อไปถึงสินค้าหรือบริการได้หลายชนิด คำว่า "DATA" จึงเป็นเพียงส่วนประกอบของคำว่า "NTT" ซึ่งเป็นคำหลัก เมื่อการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการใดมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมของทั้งเครื่องหมาย การที่ตัวอักษรทั้งสองคำมีขนาดเท่ากันและเรียงต่อกันเป็นลำดับ โดยคำว่า "NTT" ซึ่งเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการของโจทก์โดยตรงและมีลักษณะบ่งเฉพาะ เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์คำว่า จึงไม่ได้เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์โดยตรงกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการตามคำขอทั้งห้าคำขอโดยตรงจนถึงขนาดทำให้สาธารณชนทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นทันที หรือหากสาธารณชนใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้ในทันที เพราะเป็นคำที่บรรยายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์คำว่า เป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง และมีลักษณะบ่งเฉพาะ
อย่างไรก็ตามคำว่า "DATA" ซึ่งแปลว่า ข้อมูล สถิติ เมื่อพิจารณากับสินค้าหรือบริการบางชนิดของโจทก์ในแต่ละคำขอเห็นได้ว่าเป็นคำที่บ่งบอกถึงลักษณะของสินค้าหรือบริการของโจทก์ที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูล ถือว่าคำดังกล่าวไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงให้โจทก์แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้คำดังกล่าว
ที่โจทก์มีคำขอให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการตามคำขอทั้งห้าคำขอของโจทก์นั้น เห็นว่า สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการด้วยเหตุที่เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการตามคำขอของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมีเฉพาะเกี่ยวกับเหตุที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการตามคำขอของโจทก์เท่านั้น ไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยในข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 รวมทั้งข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับการพิจารณารับจดทะเบียนและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการในการรับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตราอื่น ดังนั้น แม้คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการตามคำขอของโจทก์จะเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งสมควรต้องเพิกถอนดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นก็ตาม แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ต่อไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการพิจารณาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน หาใช่โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เลยไม่ จึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ คงพิพากษาให้ได้แต่เพียงว่าให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ต่อไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5723/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าอากาศยาน การบอกเลิกสัญญา การเรียกร้องค่าเสียหาย และการส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียน
ตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "ใบสำคัญการจดทะเบียนอากาศยานเป็นอันใช้ไม่ได้ เมื่อ ...(1)...มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิครอบครองอากาศยานนั้นในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองเป็นผู้จดทะเบียน..." และมาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณี (1) ถึง (5) ให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า" ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าอากาศยานทั้ง 2 ลำ โดยชอบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบอากาศยานทั้ง 2 ลำ คืนแก่โจทก์ พร้อมทั้งส่งคืนใบสำคัญการจดทะเบียนแก่พนักงานเจ้าหน้าที่และใบสำคัญการจดทะเบียนเป็นอันใช้ไม่ได้โดยผลของบทบัญญัติดังกล่าว โดยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหาจำต้องพิพากษาให้จำเลยถอนการจดทะเบียนอากาศยานพิพาททั้ง 2 ลำ ไม่
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 15,464,961.36 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบอากาศยานและเอกสารอากาศยานคืนแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์จึงเป็นจำนวน 15,464,961.36 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อขณะยื่นฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโจทก์บรรยายฟ้องโดยคิดทุนทรัพย์ในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 32.9610 บาท ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งอัตราแลกเปลี่ยนตามคำฟ้องโจทก์ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงต้องคิดคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในขณะฟ้องคดีดังกล่าว การที่จำเลยอุทธรณ์โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันยื่นอุทธรณ์ในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 33.5258 บาท และนำเงินค่าขาดประโยชน์ตามคำพิพากษาจำนวน 760,000 ดอลลาร์สหรัฐ มารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ และเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 693,954 บาท จึงไม่ถูกต้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินมานั้นแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 992/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความคล้ายคลึงและกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน
เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า "T-TOUCH" แม้โจทก์จะแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษร "T" แต่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ไม่อาจใช้อักษรดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น มิได้ตัดอักษรดังกล่าวออกจากเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าวมีอักษร "T" อยู่หน้าคำว่า "TOUCH" โดยมีเครื่องหมายยัติภังค์คั่นและขนาดของตัวอักษรเท่ากัน อักษร "T" จึงไม่ใช่ส่วนปลีกย่อยของเครื่องหมาย การพิจารณารูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ต้องพิจารณาอักษรโรมันคำว่า "T-TOUCH" ทั้งคำ เมื่อเปรียบเทียบกับรูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นซึ่งเป็นอักษรโรมันคำว่า "TOUCH MAGAZINE" แล้วมีความแตกต่างกัน โดยคำว่า "MAGAZINE" มีขนาดเล็กจัดวางในแนวตั้งติดกับอักษร "H" โดยเน้นสาระสำคัญของคำว่า "TOUCH" แม้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์มีคำว่า "TOUCH" เช่นเดียวกัน แต่คำดังกล่าวเป็นคำในภาษาอังกฤษซึ่งปรากฏความหมายในพจนานุกรมและเป็นคำที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการได้เพราะมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองหากคำนั้นมิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง บุคคลที่นำคำดังกล่าวมาจดทะเบียนก่อนไม่มีสิทธิหวงกันมิให้บุคคลอื่นใช้คำดังกล่าวได้ เพียงแต่บุคคลที่จะใช้คำดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำให้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะแตกต่างออกไปจากเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ คำว่า "T-TOUCH" ของโจทก์จึงมีความแตกต่างจากคำว่า "TOUCH" ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สำหรับเสียงเรียกขานนั้น คำว่า "T-TOUCH" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ เป็นคำเดียวกันโดยออกเสียงเรียกขานเป็นสองพยางค์ว่า ที ทัช ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ออกเสียงเรียกขานเป็นสี่พยางค์ว่า ทัช แม็ก กา ซีน แม้อาจมีผู้ออกเสียงสั้นๆ เป็นพยางค์เดียวว่า ทัช ก็ยังคงแตกต่างจากเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ ประกอบกับโจทก์ประกอบธุรกิจด้านการเงินและการลงทุน การให้บริการข่าว ข้อมูล คำแนะนำ บทวิจารณ์ และบทวิเคราะห์ ย่อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ กลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องจึงเป็นผู้ประกอบอาชีพด้านการเงินและการลงทุน หรือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งช่องทางการเผยแพร่หรือให้บริการของโจทก์กระทำในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์มิใช่หนังสือ ส่วนลักษณะการประกอบธุรกิจของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วเป็นธุรกิจบันเทิง กลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องได้แก่บุคคลทั่วไปที่รับชม รับฟังรายการ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่บุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนจัดขึ้นบริเวณสยามสแควร์ รวมถึงผู้อ่าน "TOUCH MAGAZINE" ดังนั้นกลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับบริการของโจทก์ และของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียน จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และแม้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 16 เช่นเดียวกับบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียน แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าของโจทก์แล้ว สินค้าของโจทก์เป็นสิ่งพิมพ์ เอกสาร และจดหมายข่าวที่จำกัดเฉพาะเรื่องการเงินเท่านั้น เมื่อกลุ่มผู้บริโภคของโจทก์เป็นผู้ประกอบอาชีพด้านการเงินและการลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับผู้บริโภคของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียน ดังนั้น ผู้บริโภคหรือสาธารณชนที่เกี่ยวข้องย่อมสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์และของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียนได้โดยง่าย เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือบริการหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ
of 138