คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
จดทะเบียน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,377 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: กลุ่มอักษร/ตัวเลขธรรมดาไม่จำเป็นต้องมีลักษณะพิเศษ หากบ่งบอกถึงความแตกต่างของสินค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "A380" เป็นการนำเอาตัวอักษรโรมัน 1 ตัว คือ A และตัวเลขอาระบิกอีก 3 ตัว มาเรียงต่อกันเป็นลักษณะของกลุ่มตัวอักษรและตัวเลข โดยมีแนวคิดจากการนำตัวอักษร A ซึ่งมีที่มาจากอักษรโรมันคำว่า "AIRBUS" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชื่อเต็มของนิติบุคคลโจทก์ (แอร์บัส โอเปอร์เรชั่น จีเอ็มบีเอช) ซึ่งแม้จะเป็นการนำมาวางเรียงต่อกันในลักษณะธรรมดาทั่วไปโดยมิได้สร้างให้มีลักษณะพิเศษ แต่ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (3) บัญญัติให้เฉพาะแต่กลุ่มของสีเท่านั้นที่ต้องแสดงลักษณะพิเศษ ไม่รวมถึงตัวหนังสือหรือตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "A380" ที่ขอจดทะเบียนดังกล่าว จึงไม่จำต้องเป็นกลุ่มคำตัวหนังสือ หรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้นซึ่งต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษด้วยแต่อย่างใด เมื่อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น โจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับรายการสินค้า เครื่องเล่นเกม ของเล่น อุปกรณ์ยิมนาสติกและอุปกรณ์กีฬา ยานพาหนะจำลองย่อส่วน ยานพาหนะของเล่น เครื่องร่อนชูชีพ เกมปริศนา ไพ่ ในจำพวกที่ 28 ของโจทก์ ประชาชนผู้บริโภคย่อมสามารถทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่น ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8670/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า การเพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียน และการแก้ไขคำพิพากษา
คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียน โจทก์บรรยายคำฟ้องว่าโจทก์ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนดังกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ อันเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คดีจึงมีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ไม่มีสิทธิจดทะเบียนอันมีผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจมีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 ตามคำขอจดทะเบียนได้ และแสดงว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ต่อไป กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำวินิจฉัยทั้งสองได้โดยไม่ถือเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น
สำหรับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังเป็นยุติแล้วว่า ภายหลังนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์เป็นทะเบียนเลขที่ บ49734 แต่ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวไปแล้ว และมีหนังสือถึงโจทก์โดยแจ้งเหตุผลทำนองว่าเป็นการรับจดทะเบียนโดยผิดหลง และอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2554 เป็นต้นไป หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์จึงถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอดังกล่าวได้อีก หากโจทก์ยังประสงค์จะจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องหมายบริการตามคำขอเลขที่ 748789 ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการกันใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4326/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้มีองค์ประกอบภาพและคำทั่วไป ศาลฎีกาตัดสินให้ปฏิเสธการจดทะเบียน
"" เป็นเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยภาคส่วนอักษรโรมัน "W" และภาคส่วนคำภาษาอังกฤษว่า "HOTELS" โดยคำว่า "HOTELS" เป็นคำธรรมดาที่มีความหมายปรากฏในพจนานุกรมและเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าหมายถึง โรงแรม สำหรับภาคส่วนอักษรโรมัน "W" วางอยู่ตรงกลางของเครื่องหมายการค้า มีขนาดใหญ่กว่าภาคส่วนคำว่า "HOTELS" มาก หากมองภาพรวมของเครื่องหมายการค้าจะเห็นตัวอักษร "W" เด่นชัดกว่าภาคส่วนคำว่า "HOTELS" มาก ถือได้ว่า ภาคส่วน "W" เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้านี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอักษร "W" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับตัวอักษรโรมันดับเบิลยูในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการใช้อยู่ทั่วไปแล้ว แทบไม่พบความแตกต่างจากตัวอักษรดับเบิลยูตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดา จึงไม่อาจถือว่าอักษร "W" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวหนังสือที่ประดิษฐ์ขึ้นอันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (3) (เดิม) ประกอบกับภาคส่วน "W" ที่เป็นสาระสำคัญนั้น เป็นส่วนเครื่องหมายการค้าที่เป็นตัวหนังสือ ไม่ใช่ส่วนที่เป็นคำหรือข้อความตามมาตรา 7 วรรคสอง (1) หรือ (2) (เดิม) ที่อาจพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ได้ตามมาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในเรื่องการใช้เครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด ดังนี้ เมื่ออักษร "W" ในเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ทั้งสามคำขอถือเป็นส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า แต่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตามมาตรา 6 ถือว่าเครื่องหมายการค้า "" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน เป็นเหตุต้องปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2992/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า และการเพิกถอนคำสั่งปฏิเสธจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียน 2 รายการ ประกอบด้วยรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและคำว่า "Misty Mynx" ซึ่งเป็นคำอักษรโรมันสองคำประกอบกัน สำหรับคำว่า "Misty" เป็นคำธรรมดาทั่วไป มีความหมายปรากฏตามพจนานุกรมว่า ที่ปกคลุมไปด้วยหมอก คลุมเครือ พร่ามัว เลือนลาง จึงไม่เป็นคำที่สร้างความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอื่นได้ดี ส่วนคำว่า "Mynx" เป็นคำที่ไม่มีความหมายปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นส่วนที่สร้างความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอื่นได้ดีกว่าส่วนคำว่า "Misty" ย่อมมีเหตุผลให้เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและอักษรโรมันคำว่า "Mynx" เป็นสาระสำคัญ ส่วนคำว่า "Misty" ไม่ใช่ส่วนสาระสำคัญ ส่วนการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาคส่วนของเครื่องหมายการค้าโดยรวมทุกภาคส่วนของเครื่องหมายการค้า ดังนั้นจึงต้องนำรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและคำว่า "Mynx" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และคำว่า "Morning" ในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมารวมพิจารณาเปรียบเทียบความคล้ายของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เพราะทุกภาคส่วนล้วนต้องรวมกันจึงเป็นเครื่องหมายการค้าตามที่ขอจดทะเบียนมิใช่พิจารณาแยกเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณะเครื่องหมายและการประดิษฐ์ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เปรียบเทียบกับรูปลักษณะเครื่องหมายและลักษณะการประดิษฐ์ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบไปด้วย 2 ภาคส่วน คือ ภาคส่วนบนสุดเป็นรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและภาคส่วนล่างสุดเป็นอักษรโรมันคำว่า "Misty Mynx" นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนอีก 2 รายการ เป็นอักษรโรมันสองคำประกอบกัน คือ คำว่า "Misty" และคำว่า "Mynx" โดยอยู่ในระนาบเดียวกัน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น ประกอบด้วยอักษรโรมันสองคำ คือคำว่า "MISTY" และคำว่า "MORNING" โดยคำว่า "MISTY" อยู่ด้านบนและมีขนาดใหญ่กว่าคำว่า "MORNING" ซึ่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวมีความแตกต่างกันเป็นที่เห็นได้ชัดเจนหลายประการ ตั้งแต่รูปร่างโดยรวมของทุกภาคส่วนในแต่ละเครื่องหมาย รูปประดิษฐ์ ตัวอักษรที่ใช้และลักษณะการวางตัวอักษร ล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และเมื่อพิจารณาในส่วนเสียงเรียกขานตามคำที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า "มิส-ตี้-มิ้งซ์" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วอาจเรียกขานได้ว่า "มิส-ตี้-มอร์-นิ่ง" ซึ่งแม้มีคำเรียกขานว่า "มิส-ตี้" คล้ายกันส่วนหนึ่ง แต่เสียงเรียกขานโดยรวมก็แตกต่างกัน มิใช่จะเรียกขานแต่เฉพาะคำว่า "มิส-ตี้" ประกอบกับคำว่า "MISTY" เป็นคำธรรมดาที่ใช้กันทั่วไปซึ่งมีความหมายเข้าใจกันตามธรรมดา มิใช่คำประดิษฐ์ ดังนั้นแม้จะมีบุคคลอื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า "MISTY" ประกอบอยู่ด้วยไว้ก่อนแล้ว บุคคลอื่นก็ยังคงมีสิทธิใช้คำดังกล่าวได้ตราบเท่าที่ได้มีการสร้างความแตกต่างเพียงพอจนสามารถทำให้เป็นที่สังเกตได้ถึงความแตกต่างกันนั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปประดิษฐ์รูปหัวใจประกอบอยู่ด้วย และมีลักษณะการใช้และการวางตัวอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าที่แตกต่างกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีความแตกต่างกันเพียงพอที่สาธารณชนผู้บริโภคจะจดจำและสังเกตได้ถึงความแตกต่างกันนั้นแล้ว แม้รายการสินค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับรายการสินค้าที่บุคคลอื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว จะเป็นรายการสินค้าเดียวกันและเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนำมาใช้ในชีวิตประจำวันในครัวเรือนเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีผู้บริโภคกลุ่มเดียวกันหรือมีสถานที่วางจำหน่ายแห่งเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำฟ้องทั้งสี่คำขอมีความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า "DULUX INSPIRE": คำว่า "INSPIRE" ไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะสินค้าโดยตรง จึงจดทะเบียนได้
แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 ภาคส่วน สำหรับภาคส่วนคำว่า "DULUX" นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องการมีลักษณะบ่งเฉพาะในตนเองแล้วของคำดังกล่าว ส่วนภาคส่วนคำว่า "INSPIRE" นั้นแม้จะเป็นคำภาษาต่างประเทศแต่ก็เป็นคำธรรมดาทั่วไปที่ปรากฏความหมายของคำตามพจนานุกรมว่าคำว่า "INSPIRE" มีความหมายหนึ่งว่า กระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่คำภาษาต่างประเทศที่มีความหมายตามพจนานุกรมจะเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าความหมายของคำที่ประกอบเป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทำให้ผู้ใช้สินค้าสามารถทราบได้ทันทีหรือไม่ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด หากเป็นเครื่องหมายซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเป็นการบรรยายถึงลักษณะของสินค้าซึ่งทำให้ผู้ใช้สินค้าสามารถทราบได้ทันทีว่าเป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด จึงจะถือว่าเป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง ในขณะที่เครื่องหมายที่มีความหมายเป็นการบรรยายถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นทางอ้อม ผู้ใช้สินค้าต้องใช้ความคิดและจินตนาการหรือแปลความหมายที่ซ้ำซ้อนกันนั้นอีกชั้นหนึ่งก่อนจึงจะรู้ว่าเป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด แม้อาจเป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าก็เป็นไปโดยทางอ้อม หาใช่เป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงไม่ เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า "INSPIRE" ที่ปรากฏตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบกล่าวอ้างดังกล่าว คือ กระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยม ประกอบกับรายการสินค้าที่โจทก์นำคำว่า "INSPIRE" ไปใช้ คือ สีทา สีทาด้วยลูกกลิ้ง สีพ่น น้ำมันชักเงา แลกเกอร์ สารทำให้แห้ง ทินเนอร์ และสารทำให้เกิดสี ซึ่งทั้งหมดใช้เป็นสารเติมใส่แลกเกอร์ สารกันสนิม สารป้องกันการเสื่อมสภาพของไม้ สารที่เตรียมขึ้นใช้ทารองพื้นในลักษณะของสี สีแต้ม/ย้อมไม้ ยางเรซินธรรมชาติ(ยางมัสติก) สีโป๊ว สี น้ำมันชักเงา หรือแลกเกอร์ในลักษณะแผ่นปะติดที่สามารถย้ายตำแหน่งใหม่ได้ คำว่า "INSPIRE" ดังกล่าวไม่ได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์โดยตรงว่าเป็นสินค้าที่เมื่อผู้บริโภคใช้แล้วจะเกิดการกระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้แต่อย่างใด ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำว่า "INSPIRE" เมื่อนำมาใช้กับรายการสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนดังกล่าวแล้วจะทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านี้เป็นสินค้าที่ยอดเยี่ยมนั้น เป็นการใช้จินตนาการเกินเลยไปกว่าความหมายที่ปรากฏของคำดังกล่าว และแม้คำดังกล่าวจะเป็นคำที่โน้มน้าวจูงใจให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจ ใช้ความคิดจินตนาการต่อเนื่องกันไปได้ว่า สินค้าที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะเป็นสินค้าที่กระตุ้นหรือมีอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ ก็เป็นการใช้จินตนาการตีความหมายถ้อยคำที่ซับซ้อนให้โยงเกี่ยวข้องถึงสินค้าในทางอ้อม มิได้เป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง คำว่า "INSPIRE" จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว เมื่อนำคำว่า "INSPIRE" มาใช้ประกอบกับคำว่า "DULUX" เป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ในลักษณะที่ไม่มีคำใดเป็นจุดเด่นกว่าคำใด ทั้งสองคำจึงเป็นภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย แม้คำว่า "INSPIRE" จะเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วย แต่เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" จึงมิใช่เครื่องหมายการค้าที่มีเครื่องหมายส่วนหนึ่งส่วนใดอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน และเมื่อคำว่า "INSPIRE" เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าคำว่า "INSPIRE" เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงไม่จำต้องให้โจทก์แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "INSPIRE" ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ตามคำขอจดทะเบียนคำขอนี้ของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้หรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการ ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ หากเข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย
ป.รัษฎากร มาตรา 91/13 (2) บัญญัติว่า ผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีเฉพาะ และวรรคสอง บัญญัติว่า ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะพิจารณาว่าการประกอบกิจการในลักษณะใดเป็นการประกอบกิจการชั่วคราว ซึ่งตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ เรื่อง การกำหนดกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ข้อ 1 (1) กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ประกอบกิจการตามมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 โดยการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมิใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 4 (1) (2) (3) และ (4) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 เป็นการประกอบกิจการชั่วคราว
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 โจทก์ซื้อที่ดินรวม 4 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จเพื่อจะนำมาก่อสร้างให้เสร็จเพื่อใช้เป็นอาคารที่ทำการ และที่เก็บสินค้าของโจทก์ ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2553 โจทก์ขายที่ดินพร้อมอาคารในสภาพเดิม ราคาเดิมและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว เมื่อการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการตามมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.ฎ.ฯ (ฉบับที่ 342) โดยการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมิใช่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 4 (1) (2) (3) และ (4) อันเป็นการประกอบกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 91/13 โจทก์จึงไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6616/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ชื่อบุคคลธรรมดาไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจโดยธรรมดา ถือเป็นลักษณะบ่งเฉพาะ
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานรับรองว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี เอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าว เป็นหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ตามกฎหมายต่างประเทศ ทั้งตามคำให้การของจำเลยคงอ้างแต่เพียงว่าโจทก์มิได้แนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนเพื่อแสดงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล และมีผู้ใดมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์คงแนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาท้ายคำฟ้อง แต่เอกสารดังกล่าวก็มิใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ คำให้การดังกล่าวของจำเลย จึงมิใช่กรณีที่จำเลยแสดงเหตุอันสมควรสงสัยว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่ ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 47 นั้น เป็นเรื่องอำนาจของศาลในการดำเนินกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับใบมอบอำนาจหรือใบสำคัญและเอกสารอื่น ๆ ในกรณีที่ศาลมีความสงสัย หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันสมควรสงสัยว่าเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่ จึงให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความนั้นยื่นเอกสารตามวิธีการในวรรคสาม หาใช่ว่าหากเอกสารไม่มีการรับรองจากโนตารีปับลิกและตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสามแล้ว จะถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ดังนั้น การจัดทำหนังสือมอบอำนาจโดยมีการรับรองตามมาตรา 47 วรรคสาม ขึ้นในภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จึงเป็นการยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ก. ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ในการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจ ฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2553 เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามข้อความที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจว่า ก. ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ และโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ด. กระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า "VALENTINO" เป็นชื่อของบุคคลธรรมดา ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าชื่อของ ว. เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย คำว่า "VALENTINO" จึงเป็นชื่อของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจโดยธรรมดา ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีก เนื่องจากข้อความว่า "ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ" ที่ปรากฏใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) เป็นคำขยายของคำว่า "ชื่อทางการค้า" เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าว ก็มิได้เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ดังนั้น คำว่า "VALENTINO" จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนรายการจดทะเบียนบริษัท: โจทก์ต้องเพิกถอนมติที่ประชุมก่อน จึงจะขอให้จำเลย (นายทะเบียน) เพิกถอนรายการจดทะเบียนได้
เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า ล. กับพวกร่วมกันยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทโดยอาศัยมติที่ประชุมอันเป็นเท็จ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวก่อน และหากโจทก์ชนะคดีจึงจะมีสิทธินำคำพิพากษาไปยื่นต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไข
การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะนายทะเบียนให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นคดีนี้จึงไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นนายทะเบียนมิได้เป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จ การที่จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทก็เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับจดทะเบียนไว้โดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3271/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเหมือน/คล้าย และการพิจารณาความแตกต่างของสินค้า
คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 96 (1) กล่าวคือ มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 101 วรรคสอง บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด" ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ออกระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ในข้อ 18 มีความว่า "ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และจะพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทำคำชี้แจงพร้อมทั้งแสดงหลักฐานในประเด็นที่คณะกรรมการจะพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง" เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องลักษณะบ่งเฉพาะ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งเป็นประเด็นที่นอกเหนือจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งไว้โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อน ย่อมทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสที่จะชี้แจงและนำพยานหลักฐานมาแสดงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง หรือแม้โจทก์จะยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองของตนไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง แต่โจทก์อาจมีพยานหลักฐานว่ามีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลาย และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม แล้ว ดังนั้นการที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าละเว้นไม่แจ้งให้โจทก์ทำคำชี้แจงพร้อมแสดงหลักฐานก่อนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัย จึงขัดต่อระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ข้อ 18
ในการพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้า ทั้งสำเนียงเสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าว่าเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นสินค้าต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาว่าสาธารณชนกลุ่มผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันและมีความรู้เพียงพอที่จะแยกแยะความแตกต่างของสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ดีหรือไม่เพียงใดประกอบกันด้วย สำหรับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วแม้จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน โดยเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์เรียกขานได้ว่า "เวสเซล" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเรียกขานได้ว่า "เวสเซลล์" แต่ในส่วนรูปลักษณ์จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่ให้ตัวอักษรโรมัน "S" ตรงกลางมีลักษณะเด่นบนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบ ส่วนที่ปลายของกากบาททั้งสี่ด้านมีลักษณะโปร่งแสง และในส่วนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปประดิษฐ์ที่มีเครื่องหมายการค้าวางอยู่ด้านบน และมีรูปประดิษฐ์คล้ายลูกเต๋าวางอยู่ด้านล่างโดยมีรูปประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน "S" บนพื้นกากบาทที่มีพื้นตรงกลางทึบวางอยู่ภายในลูกเต๋า 3 ด้าน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ประกอบด้วยคำว่า "VESCELL"และมีรูปประดิษฐ์คล้ายอักษรโรมัน "V" และ "C" บนพื้นวงกลมทึบวางอยู่ด้านหน้า จึงมีความแตกต่างกันในส่วนของรูปลักษณ์อย่างชัดเจน เมื่อเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองคำขอเป็นการยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 รายการสินค้า ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับไตอันเกิดจากเบาหวาน ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคของระบบประสาท ยาสำหรับบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตาอันเกิดจากเบาหวาน เหมือนกัน ส่วนเครื่องหมายการค้า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแม้จะยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 5 เช่นเดียวกัน แต่รายการสินค้าแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ที่ย่อมต้องมีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้ากับยาภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอของโจทก์กับสินค้าสเต็มเซลล์สำหรับใช้ในทางการแพทย์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ว่าไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าเดียวกัน เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1755/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง ผู้ขายต้องส่งมอบรถยนต์สภาพพร้อมใช้งานตามกฎหมาย หากไม่สามารถจดทะเบียนได้ถือเป็นผิดสัญญา
ก่อนนำรถยนต์ของกลางออกขายทอดตลาด จำเลยปฏิบัติตามประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2556 ข้อ 1 3 4 22 ที่กำหนดให้ตรวจสอบรถยนต์ที่ตรวจยึดทุกคันไม่ว่าจะมีผู้ต้องหาหรือไม่ก็ตามจาก 6 หน่วยงานแล้ว ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการขนส่งทางบกนั้น จำเลยมีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบกขอความร่วมมือตรวจสอบรถยนต์ของกลางที่จะประมูลขายทอดตลาดว่าสามารถจดทะเบียนได้หรือไม่ โดยหากกรมการขนส่งทางบกพบว่ารถคันใดมีปัญหาในการที่จะนำไปจดทะเบียน ขอให้กรมการขนส่งทางบกแจ้งให้จำเลยทราบพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ต่อมากรมการขนส่งทางบกได้แจ้งผลการตรวจสอบรถยนต์ที่จะประมูลดังกล่าวตามหนังสือของกรมการขนส่งทางบก ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวกรมการขนส่งทางบกได้ส่งผลการตรวจสอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลางที่จะประมูลขายทอดตลาด 343 คัน โดยแบ่งออกเป็น 1. รายการรถที่สามารถจดทะเบียนได้ 3 คัน 2. รายการรถที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ 1 คัน 3. รายการรถที่มีการตรวจสอบพบว่ามีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องรถยนต์ไว้ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้ 70 คัน และ 4. รายการรถที่ตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลใด ๆ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรถยนต์ของกลางอยู่ในรายการที่ 3 คือตรวจสอบพบว่ามีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ไว้ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้ แสดงให้เห็นว่า กรมการขนส่งทางบกเองก็มิได้ยืนยันว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ดังเช่นรถในรายการที่ 1 การที่จำเลยอ้างตามฎีกาว่า กฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2556 ระบุไว้เพียงแค่ชิ้นส่วนที่เป็นตัวถังรถ โครงคัสซี หรือ แชสซี (Chassis) รถหรือโครงรถจักรยานยนต์เท่านั้น มิได้ระบุส่วนของเครื่องยนต์อันเป็นชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่จะนำมาประกอบการงดรับจดทะเบียนตามข้อ 1 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว รถยนต์ของกลางมีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ มิได้มีการส่งบัญชีตัวถังรถ โครงคัสซีรถและโครงรถจักรยานยนต์ ดังนั้น รถยนต์ของกลางจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของกฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2556 และคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่าสินค้าที่นำเข้ามาโดยไม่มีใบอนุญาตซึ่งถูกริบตกเป็นของแผ่นดิน ไม่ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากได้ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว ถ้าจำเลยนำสินค้าดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ซื้อไปจากการขายทอดตลาดไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าอีกเพราะมิได้เป็นผู้นำเข้า การที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางขายทอดตลาดและออกเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนจึงเป็นการกระทำภายใต้ความเชื่อโดยสุจริตว่ารถยนต์ของกลางสามารถนำไปจดทะเบียนได้นั้น จึงเป็นเพียงความเห็นของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถยนต์ของกลางยังไม่ได้รับการยืนยันจากกรมการขนส่งทางบกว่าจดทะเบียนได้หรือไม่ แต่กลับนำออกขายทอดตลาด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งให้ผู้เข้าประมูลรวมถึงโจทก์ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนการประมูล นอกจากนี้ เมื่อพิเคราะห์ประกาศส่วนกลาง สำนักสืบสวนและปราบปราม ที่ 5/2559 เรื่อง ประมูลขายทอดตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลาง วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2559 และบัญชีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลางที่จะทำการขายทอดตลาดในวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ที่มีรายละเอียดของรถยนต์ของกลางแล้ว ได้ความจาก ว. พนักงานจำเลย เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ตามเอกสารดังกล่าวรถยนต์ของกลางมิได้มีการระบุในช่องหมายเหตุ 1 ว่า "ไม่ออกแบบที่ 32" ซึ่งหมายความว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ ย่อมทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลรวมทั้งโจทก์ที่อ่านประกาศดังกล่าวเข้าใจได้ว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ เมื่อต่อมารถยนต์ของกลางไม่สามารถจดทะเบียนได้ จึงถือได้ว่าจำเลยในฐานะผู้ขายไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่มีสภาพเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติตามวิสัยของการใช้ทรัพย์แก่โจทก์ในฐานะผู้ซื้อ เนื่องจากผู้ซื้อรถยนต์ย่อมต้องการใช้รถยนต์ที่สามารถจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
of 138