คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลงโทษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,439 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ต้องมีคำขอท้ายฟ้อง มิฉะนั้นศาลจะลงโทษไม่ได้
ป.อ.มาตรา 340 ตรี บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง" ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 339 มาตรา 339 ทวิ มาตรา 340 หรือมาตรา 340 ทวิ แล้ว ยังจะต้องประกอบด้วยการกระทำอื่นตามที่บัญญัติในมาตรานี้ด้วย ผู้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวจึงจะมีความผิดและถูกลงโทษตามมาตรานี้ได้ ดังนั้นมาตรานี้ย่อมเป็นบทบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งโจทก์ต้องระบุมาในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ด้วย และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง" อันเป็นการกำหนดกรอบอำนาจการพิพากษาคดี หรือการมีคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลไว้ 2 ประการ คือ ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอประการหนึ่ง กับห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องอีกประการหนึ่ง ซึ่งศาลอยู่ในบังคับที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินประการหนึ่งประการใดมิได้ และทั้งสองประการดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องระบุในฟ้อง แม้โจทก์จะบรรยายข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 340 ตรี และจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ แต่เมื่อคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโจทก์ไม่ระบุมาตรา 340 ตรี มาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 340 ตรี และเป็นการเกินคำขอ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ศาลจึงพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอมิได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2338/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษคดีแข่งรถและการพักใช้ใบอนุญาตที่ไม่ปรากฏในฟ้อง
จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกขับรถแข่งขันในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น โจทก์มิได้ระบุในฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบสี่เป็นผู้มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ ที่ศาลล่างทั้งสองให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยทั้งสิบสี่มีกำหนดคนละ 6 เดือน เป็นการพิพากษาที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2001/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษตามกฎหมายทางหลวงที่แก้ไขใหม่ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาศาลล่างที่ไม่ถูกต้อง
ปรากฏตามคำขอท้ายฟ้องว่า โจทก์ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 (กฏหมายเดิม) แต่ขณะจำเลยกระทำความผิด กฎหมายได้แก้ไขให้ยกเลิกความในมาตราดังกล่าวและให้ใช้ความใหม่แทนแต่ยังคงบัญญัติเป็นบทความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่มาตรา 73/2 (ที่แก้ไขใหม่) กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 ของกฎหมายเดิม ที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา61 และมาตรา 73 เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น แม้โจทก์จะไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ใหม่ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วตามคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายวันเวลาในฟ้องอาญาเช็ค และการใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุก
ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงวันที่ที่เขียนลงในเช็คหรือวันออกเช็คและวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินว่า เป็นวันที่ 19 กันยายน 2548 แต่โจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญเกี่ยวกับเวลา แม้จำเลยจะไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจึงเป็นวันเกิดเหตุ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้ระบุว่า ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 จะมิได้ระบุว่าเป็นเวลาใด ก็พอเข้าใจได้ว่าโจทก์นำเช็คตามฟ้องไปยื่นให้ธนาคารใช้เงินในเวลากลางวัน อันเป็นเวลาทำการงานตามปกติของธนาคารทั่วไป ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิด ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9811/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาลงโทษจำเลยโดยศาลอุทธรณ์ในความผิดที่ไม่ได้ระบุในฟ้องโจทก์ และการที่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 และมาตรา 397 จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดทั้งสองฐานนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 และมาตรา 397 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด คือ ฐานรังแก ข่มเหง ทำให้เดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณสถานตามมาตรา 397 จำคุก 1 เดือน นั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9174/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย: การลงโทษกรรมเดียวและความถูกต้องของการคำนวณโทษ
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายให้ ศ. และ ร. ในแต่ละครั้งเป็นเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายหมดไปในแต่ละคราว การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งซึ่งเป็นทั้งความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจึงเป็นกรรมเดียวกันต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด แต่ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมีระวางโทษเท่ากัน จำเลยจึงควรรับโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน อย่างไรก็ดี ที่ศาลชั้นต้นรวมโทษทั้งสองกระทงเข้าด้วยกันแล้วจึงลดโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน แม้มีเศษเป็นเดือนก็คงให้เป็นเดือนต่อไปโดยไม่ปรับเป็นปีเพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน แล้วถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ เมื่อเป็นเช่นนี้การกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 366 วัน หรือ 365 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9057/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขบทกฎหมายอาญาเกี่ยวกับน้ำหนักบรรทุกเกินกำหนด และอำนาจศาลในการลงโทษตามกฎหมายใหม่
พระราชบัญญัติทางหลวงฉบับเดิมและฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ยังบัญญัติเป็นบทความผิดห้ามการใช้ยานพาหนะบนทางหลวง โดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าผู้อำนวยการทางหลวงได้ประกาศกำหนดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 บัญญัติเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 30 เป็นมาตรา 73/2 ดังนั้น การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษหนักกว่ากฎหมายเดิม การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม โดยมิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แล้ว แม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73/2 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี และมาตรา 221 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9047/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานใช้ธนบัตรปลอม: ศาลลงโทษฐานสนับสนุนได้แม้ฟ้องเป็นตัวการ
การที่จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกพักที่บ้านของจำเลยที่ 3 เพื่อใช้เป็นสถานที่ปรึกษาหารือกันในการนำธนบัตรปลอมของกลางไปใช้นั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการนำธนบัตรปลอมของกลางไปใช้ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2
แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในฐานเป็นตัวการ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8248/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท กรณีครอบครองเลื่อยโซ่ยนต์ และการจ่ายสินบนรางวัลเมื่อไม่มีการริบของกลาง
สำหรับความผิดฐานร่วมกันซื้อหรือรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้าม และฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 91 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกเป็นความผิด 2 กรรมก็ตาม แต่การที่จำเลยซื้อหรือรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้าม และการมีเลื่อยโซ่ยนต์ดังกล่าวไว้ในครอบครองนั้น เห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน คือการครอบครองเลื่อยโซ่ยนต์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ ฯ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเท่ากัน แต่คดีนี้ราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 3,730 บาท หากมีการลงโทษปรับสูงสุดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ มาตรา 27 ทวิ จะลงโทษปรับได้เป็นเงิน 14,920 บาท แต่ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับได้สูงสุดหนึ่งแสนบาท จึงถือว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ ฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง เป็นบทที่มีโทษหนักกว่า ต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด ฯ กำหนดให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบ หรือในกรณีที่ศาลมิได้สั่งริบของกลางหรือของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้ศาลมิได้สั่งริบของกลาง และมิได้ลงโทษปรับจำเลยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จ่ายสินบนและรางวัลตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8214/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษกรรมต่างกันในคดีอาญา: ลักทรัพย์และฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลฎีกาแก้ไขบทลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้ตายและร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนรวมมาในฟ้องข้อเดียวกัน เมื่อจำเลยลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ตายอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว จำเลยกับพวกจึงร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดฐานลักทรัพย์และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
of 144