คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,449 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9716/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการซื้อขายหลักทรัพย์: สิทธิเรียกร้องของตัวแทนต่อตัวการ และผลของการตายของลูกหนี้
การที่ลูกหนี้ในคดีล้มละลายซื้อและขายหลักทรัพย์ตามสัญญานายหน้าตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ให้แก่ ช. ผู้ตายมีลักษณะเป็นตัวการตัวแทน การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คักค้านใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเอาเงินที่ลูกหนี้ได้ทดรองจ่ายไปแทน ช. เป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของตัวแทนเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จึงเป็นกรณีที่สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อ ช. มีกำหนดอายุความเกินกว่า 10 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ช.
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านซึ่งมีอำนาจแต่ผู้เดียวในการติดตามเก็บรวบรวมและรับเงินซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) ประกอบมาตรา 119 ได้รู้ถึงการตายของ ช. นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2547 เมื่อผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้ไปยังผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของ ช. โดยวิธีการปิดหมายวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) มูลหนี้พิพาทที่ผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้และแจ้งยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องจึงยังไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9339/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค้ำประกัน-จำนองยังไม่ระงับ แม้ลูกหนี้ล้มละลาย-เจ้าหนี้ไม่ขอรับชำระหนี้ ผู้ค้ำ-ผู้จำนองยังต้องรับผิด
ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว แต่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ย่อมเป็นผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้รายนี้จากลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้หนี้ที่ไม่ได้ขอรับชำระหนี้ระงับไปเพียงแต่เจ้าหนี้หมดสิทธิเรียกร้องเอาหนี้ดังกล่าวจากลูกหนี้เท่านั้น เมื่อหนี้ยังไม่ระงับ ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ดังนั้น ผู้ค้ำประกันจึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ และหนี้จำนองก็ยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ผู้จำนองยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนองเช่นกัน ดังนั้น จำเลยทั้งสองซึ่งได้ทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองไว้แก่โจทก์ จึงยังคงต้องผูกพันรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองต่อไป โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8851/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองประกันหนี้บุคคลอื่น: สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินลูกหนี้ร่วม
ป.พ.พ. มาตรา 733 ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จึงใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลหนึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระด้วย
ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่จำเลยทั้งสองทำไว้กับโจทก์ไม่มีข้อตกลงยกเว้นไว้ว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในเงินที่ขาดจำนวนอยู่ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาเพียงว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โดยมิได้ระบุให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นอีก ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้นำยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดเสร็จสิ้นไปแล้ว แม้จะได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จะขอให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อไปอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยผู้รับประกันภัยมีหนี้โจทก์แยกจากสิทธิไล่เบี้ยจากผู้กระทำละเมิด หักกลบลบหนี้มิได้
จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์และรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เมื่อรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ในความเสียหายที่โจทก์ได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และในฐานะที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ในความเสียหายที่เกิดจากรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ จำเลยที่ 4 จึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองกรณีเพียงฝ่ายเดียว โจทก์ไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และรับช่วงสิทธิจากโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ที่ทำให้รถยนต์โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น หาได้ก่อให้เกิดภาระหนี้แก่โจทก์ไม่ เมื่อการใช้ค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 4 แก่โจทก์ยังไม่เพียงพอแก่ความเสียหายที่แท้จริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ทำละเมิด และยังเรียกให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ภายในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้อีกด้วย จำเลยที่ 4 จึงตกเป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนที่ขาดแก่โจทก์อีก เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระที่ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้ ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่สิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลเดียวกันอันจะทำให้หนี้รายนั้นระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 353

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7913/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ำประกันและจำนองประกันหนี้เดียวกัน เมื่อชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันย่อมระงับ
จำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจำกัดวงเงิน แม้การค้ำประกันเป็นบุคคลสิทธิส่วนการจำนองเป็นทรัพยสิทธิ แต่เมื่อเป็นการประกันหนี้จำนวนเดียวกันและจำเลยที่ 5 ได้ชำระหนี้ตามสัญญาจำนองครบถ้วนจนมีการไถ่ถอนจำนองให้จำเลยที่ 5 แล้ว อันมีผลให้ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันระงับไปด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือตามสัญญาค้ำประกันอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7907/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแปลงหนี้หลังคำพิพากษาตามยอม: ศาลไม่รับรู้หากมิได้ทำต่อหน้าศาล
ข้อตกลงในการชำระหนี้ที่คู่ความทำขึ้นใหม่แตกต่างจากข้อตกลงในการชำระหนี้ที่คู่ความกำหนดไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมไปแล้วนั้น เมื่อมิได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลไม่รับรู้ข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น หากปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัด ศาลย่อมออกหมายบังคับคดีตามที่โจทก์ร้องขอได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 789/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องความผิดเช็ค: การบรรยายฟ้องไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำตามกฎหมาย แต่ต้องแสดงให้เห็นถึงหนี้ที่บังคับได้
การบรรยายฟ้องตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ไม่จำเป็นต้องใช้คำตามบทบัญญัติดังกล่าวทุกถ้อยคำ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องมอบให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระค่าสินค้าผ้ายืด ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายสินค้าผ้ายืดและจำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าสินค้าผ้ายืดตามสัญญาซื้อขายนั้น จึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเพื่อแสดงว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5888/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเกินสิทธิหลังศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษา และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนนกเขาชวาสีขาวบริสุทธิ์ตาสีฟ้า จำนวน 8 ตัว แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้เงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย มิใช่การอันมีกำหนดพึงกระทำเพื่อชำระหนี้มีหลายอย่าง อันจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะพึงเลือกได้ แต่การที่โจทก์ขอให้บังคับคดีตามผลของคำพิพากษาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์ได้รับเงินอันเป็นหนี้ในลำดับหลังเสร็จสิ้นและไม่บังคับคดีต่อไปแล้วนั้น แสดงว่าโจทก์ได้สละสิทธิที่จะบังคับคดีในหนี้ลำดับแรกแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลดจำนวนเงินที่ให้ใช้แทนทรัพย์ที่ให้คืนลง โจทก์จะกลับไปขอบังคับคดีในหนี้ลำดับแรกอีกหาได้ไม่ทั้งไม่อาจอ้างได้ว่าการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปก่อนแล้วเป็นอันยกเลิกและต้องเริ่มต้นบังคับคดีกันใหม่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เนื่องจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพียงแต่ลดจำนวนเงินที่ให้ใช้แทนทรัพย์ที่ให้คืนลงเท่านั้น จึงไม่มีเหตุที่ต้องย้อนกลับไปบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนนกเขาชวาแก่โจทก์อันเป็นหนี้ในลำดับแรกอีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการบังคับคดีเพราะไม่เป็นไปตามลำดับในคำพิพากษาเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจไม่เพิกถอนการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจับกุมกรรมการของจำเลยที่ 2 มากักขังเพื่อให้ปฏิบัติการชำระหนี้ในลำดับแรกเป็นการไม่ชอบ เพราะศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งไปเองโดยโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้และให้โจทก์คืนเงินส่วนที่เกินจำนวนที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เพราะเป็นหนี้เงินแก่จำเลยที่ 2 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทวงถามโจทก์ให้คืนเงินดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้โจทก์คืนเงินมิใช่นับแต่วันที่โจทก์รับเงินเพราะมิใช่เป็นเรื่องละเมิด แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์นำเงินมาวางศาลโดยศาลชั้นต้นมิได้ให้จำเลยที่ 2 รับเงินในส่วนที่มีสิทธิได้รับคืนไป โดยให้รอไว้หักกลบลบหนี้เมื่อบังคับคดีใหม่เสร็จ ซึ่งมิใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเพียงถึงวันที่โจทก์ได้นำเงินมาวางศาลเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5313/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกหนี้จากการกู้ยืม และผลของการบอกเลิกสัญญา
ตามสัญญากู้ระบุว่า ผู้กู้จะชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญา โดยผู้กู้ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ทุกๆ เดือน ติดต่อกันภายในวันที่สิ้นสุดของเดือน ถ้าผู้กู้ผิดนัดข้อหนึ่งข้อใด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งสัญญานี้ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที แต่ตามสัญญาข้อต่อไประบุว่า เมื่อสัญญานี้ครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญานี้ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงเดิมทุกประการจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้บอกเลิกสัญญา และหากผู้ให้กู้บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ตาม ผู้กู้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดในทันที แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะให้สัญญาสิ้นสุดลงในทันทีที่ครบกำหนดในแต่ละปี แต่ถือเอาการบอกเลิกสัญญาของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ การที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดตามสัญญา คงมีผลทำให้ผู้ให้กู้มีสิทธิที่จะถือว่าผู้กู้ผิดนัดทั้งหมด และเรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีตามสัญญาเท่านั้น แต่ตราบใดที่ผู้ให้กู้ยังมิได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมด สัญญากู้ก็ยังมีผลต่อไป คู่สัญญาต้องผูกพันกันตามสัญญาดังกล่าว
โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 27 มกราคม 2538 ให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายใน 7 วัน เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 จึงมีผลให้สัญญาเลิกกันในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 จำเลยที่ 1 ต้องชำระต้นเงินแก่โจทก์ในวันดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินแก่โจทก์ได้นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์สำหรับต้นเงินจึงไม่ขาดอายุความ
ป.พ.พ. มาตรา 193/33 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ" จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534 จำนวน 28.99 บาท โจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน คงมีดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 212.91 บาท ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต้นเงินจำนวน 19,361.41 บาท จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตลอดมา โจทก์สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 นับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง ดังนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยที่มีกำหนดเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปย่อมขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยค้างชำระเพียง 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด: ความรับผิดของบุคคลภายนอกต่อหนี้ของห้าง ความแตกต่างจากห้างหุ้นส่วนสามัญ
จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 ก็หามีผลให้จำเลยที่ 4 กลายเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย และแม้จำเลยที่ 4 จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนกับชื่อของห้างจำเลยที่ 1 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือนเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1054 ประกอบมาตรา 1080 ไม่
of 145