พบผลลัพธ์ทั้งหมด 133 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจำหน่ายคดีอนุญาโตตุลาการ: ศาลต้องให้โอกาสคู่ความคัดค้านก่อนมีคำสั่ง
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า คำขอดังกล่าวอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ก่อนที่จะไต่สวนหรือมีคำสั่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะให้โอกาสโจทก์คัดค้านก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) โดยมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องเช่นว่านั้นแก่โจทก์ล่วงหน้า หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายในเวลาที่กำหนด การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพียงแต่หมายแจ้งวันนัดพร้อมไปยังโจทก์จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องดังกล่าวของจำเลยได้ทันเพราะเพิ่งได้รับสำเนาคำร้องในวันนั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้วได้ความว่า ไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการพิจารณาคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยก่อนส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์เป็นสิทธิของจำเลย การไม่ปฏิบัติตามทำให้การพิจารณาคดีไม่ชอบ
การที่เจ้าหน้าที่ส่งหมายนำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตรงตามฟ้อง แล้วเจ้าหน้าที่รายงานผลการส่งหมายว่า ส่งไม่ได้เพราะไม่พบภูมิลำเนา ค้นหาบริเวณใกล้เคียง และสอบถามผู้พักอาศัยบริเวณดังกล่าว ไม่มีผู้ใดพบบ้านเลขที่ซึ่งฟ้องระบุเป็นภูมิลำเนาจำเลย แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนตามรายงานผลการส่งหมายให้แก่จำเลยในครั้งก่อนๆ ว่า เจ้าหน้าที่เคยนำหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องไปส่งให้แก่จำเลย 2 ครั้ง และส่งหมายเรียกคดีอาญาให้แก่จำเลยอีก 1 ครั้งได้โดยวิธีปิดหมายที่ภูมิลำเนาเดียวกันนี้ และในการไต่สวนมูลฟ้องจำเลยได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาด้วย แสดงว่าที่เจ้าหน้าที่ส่งหมายนำสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยในครั้งนี้แล้วรายงานว่าไม่พบภูมิลำเนา อาจเป็นเพราะเสาะหาไม่ทั่วถึง จึงถือไม่ได้ว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้เป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือจำเลยหลบหนีหรือจำเลยจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ อันศาลชั้นต้นจะต้องรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 แต่เป็นกรณีที่ยังไม่มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 200 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน ย่อมทำให้จำเลยเสียสิทธิตามกฎหมายในการทำคำแก้อุทธรณ์ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาคดีโดยมิได้มีการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน แล้วส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8368/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน: การส่งหนังสือแจ้งผู้มีส่วนได้เสียเป็นสำคัญ
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งรวมถึงการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสารตามมาตรา 67 ถึงมาตรา 83 อัฏฐ ด้วย การที่ภายหลังจากศาลรับคำร้องที่พนักงานอัยการผู้ร้องยื่นต่อศาล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านทั้งสามรวมทั้ง ฐ. ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินทราบเพื่อใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านนั้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว การส่งหนังสือของเลขาธิการจึงเป็นการส่งคำคู่ความหรือเอกสารในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นประการหนึ่ง เพียงแต่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 บัญญัติกำหนดไว้โดยเฉพาะให้เลขาธิการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ทั้งยังบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าให้ส่งไปยังที่อยู่ครั้งสุดท้ายของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏในหลักฐาน การส่งหนังสือของเลขาธิการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับย่อมมีผลเป็นการส่งตามหลักเกณฑ์การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ที่กำหนดในไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ในคดีนี้ ซึ่งกำหนดให้ต้องนำจ่ายด้วยการส่งมอบหนังสือให้แก่ผู้รับที่มีชื่อระบุอยู่บนจ่าหน้า หรือผู้ได้รับมอบฉันทะจากผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับ โดยต้องนำจ่าย ณ ที่ทำการหรือ ณ ที่อยู่ของผู้รับตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2557 ข้อ 59 ถึงข้อ 63 ดังนั้น การส่งหนังสือของเลขาธิการไปยังผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ที่ส่งไม่ได้เพราะบ้านปิดและไม่มีผู้มารับที่ที่ทำการไปรษณีย์ในกำหนดเวลา อันเป็นการนำจ่ายให้แก่ผู้รับไม่ได้และพนักงานไปรษณีย์ต้องส่งหนังสือคืนผู้ฝากตามข้อ 64 นั้น จึงถือไม่ได้ว่ามีการส่งหนังสือให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคห้า โดยเมื่อมีข้อขัดข้องในการส่งหนังสือแก่ผู้มีส่วนได้เสีย อันเป็นข้อขัดข้องในการส่งคำคู่ความและเอกสารตาม ป.วิ.พ. จึงชอบที่เลขาธิการจะแจ้งให้ผู้ร้องแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งให้ดำเนินการส่งโดยวิธีอื่นตามที่กำหนดใน ป.วิ.พ. ต่อไป ส่วนที่ศาลชั้นต้นลงประกาศคำร้องในหนังสือพิมพ์ เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกอื่นที่อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ทราบ เพื่อยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี มิได้หมายถึงผู้คัดค้านทั้งสามกับพวก จะถือว่าผู้คัดค้านทั้งสามและ ฐ. ทราบคำร้องของผู้ร้องหาได้ไม่