คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชำระบัญชี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 141 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนชำระบัญชี การแบ่งกำไรและคืนทุนหลังข้อพิพาท และดอกเบี้ยผิดนัด
เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเลิกกันและไม่ปรากฏว่าหุ้นส่วนได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่น จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 1061 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หุ้นส่วนได้ตกลงร่วมกันชำระบัญชีโดยได้เริ่มต้นกระบวนการชำระบัญชีทำการรวบรวมรายรับรายจ่ายเพื่อการจัดทำบัญชีและทำการชำระหนี้ค้างชำระแก่ธนาคารผู้ให้กู้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว แต่เกิดข้อโต้แย้งขึ้นในขั้นตอนสรุปผลกำไรขาดทุนของห้างหุ้นส่วนเพราะผู้เป็นหุ้นส่วนอ้างค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการชำระบัญชีต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้คืนทุนและแบ่งผลกำไร
โจทก์จะมีสิทธิได้รับคืนทุนและส่วนแบ่งผลกำไรของห้างหุ้นส่วนต่อเมื่อได้มีการจัดสรรสินทรัพย์และหนี้สินของห้างหุ้นส่วนและทำการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนครบถ้วนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับผลกำไรขาดทุนทำให้กระบวนการชำระบัญชีไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ถือไม่ได้ว่าหนี้การคืนทุนและแบ่งผลกำไรให้แก่โจทก์ถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทุนและกำไรของห้างหุ้นส่วนนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับเงินตามสัญญาซื้อขายตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินทั้งสองจำนวนและจำเลยทั้งสองปฏิเสธ จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6043/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากผู้ชำระบัญชีที่ไม่ถูกต้อง การรู้ถึงการละเมิดและตัวผู้ชำระบัญชี การฟ้องคดีไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระภาษี เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ตั้งแต่พ้น 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 นำเงินภาษีอากรไปชำระ อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และเมื่อโจทก์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ ย่อมมีผลต่อการบังคับคดีของโจทก์ตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร เป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกัน กับการฟ้องคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงนับแต่วันดังกล่าวและเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดนับแต่พ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันดังกล่าว ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 30 กันยายน 2556 คดียังไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตาม มาตรา 1252 จำเลยที่ 2 จึงควรจะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรจากการยื่นแบบแสดง รายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นการประเมินตนเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรโจทก์ แต่ไม่นำรายได้ที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 มาลงในงบดุลและไม่จัดการใช้หนี้ให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินแทนชำระหนี้ตามมาตรา 1254 จำเลยที่ 2 กลับทำงบดุลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) โดยไม่ถูกต้องแล้วแบ่งกำไรสะสมคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1269 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระแต่ต้องไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
สำนักสืบสวนและคดีรายงานเรื่องการดำเนินคดีภาษีอากรและการดำเนินคดีละเมิดให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ซึ่ง ว. ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ลงนามให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 จึงยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5624/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิจำนองของผู้ชำระบัญชีตามกฎหมายบริษัทบริหารสินทรัพย์
เมื่อผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้อง และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนผู้ขอรับชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิมของจำเลยที่ 2 แสดงว่า ผู้ร้องมีความประสงค์ที่จะเข้าสวมสิทธิแทนที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองในฐานะเดียวกัน เท่าเทียมกับสิทธิของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองเดิมที่ศาลชั้นต้นเคยอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยผู้ร้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่ของผู้ขอรับชำระหนี้จำนองก่อน จึงจะมายื่นคำร้องในคดีนี้ได้ ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 6 และ 7 ประกอบกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง
แม้ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองได้โอนสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องหลังจากผู้ขอรับชำระหนี้จำนองถูกปิดกิจการและอยู่ระหว่างชำระบัญชี แต่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 15 บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติหมวด 5 ลักษณะ 22 ในบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับกับอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีโดยอนุโลม ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่สามารถอนุโลมบังคับใช้กับอำนาจหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. นี้ คือ มาตรา 1259 ที่บัญญัติว่า ผู้ชำระบัญชีทั้งหลายย่อมมีอำนาจดังจะกล่าวต่อไปนี้ (3) ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งความข้อนี้สอดรับกับ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย ดังนั้น การที่ผู้ขอรับชำระหนี้จำนองโอนขายสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องในระหว่างดำเนินการชำระบัญชี จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5471/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญโดยผลของกฎหมาย และการชำระบัญชีที่ไม่ขาดอายุความ
ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเลิกกันด้วยเหตุที่กิจการแบ่งขายที่ดินดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยผลของกฎหมาย ศาลจึงไม่จำต้องมีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญตามคำร้องขอของผู้ร้องอีก
การชำระบัญชีเป็นกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติให้จัดการทรัพย์สินกรณีห้างหุ้นส่วนเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องขอบังคับภายในกำหนดอายุความ แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ชำระบัญชีเกินกว่า 10 ปี นับแต่ห้างเลิกกันแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชี ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้จัดการชำระบัญชีตามบทบัญญัติว่าด้วยการเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญได้ หาได้เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้องที่ต้องอยู่ภายใต้กำหนดอายุความไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4881/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนภารกิจจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่ชำระบัญชีแล้วไปยังกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินคดีแทน
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 94 วรรคสอง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่ยังคงเหลืออยู่ ให้จัดโอนแก่กระทรวงการคลังภายในเวลาหกสิบวันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี" ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 19 ที่บัญญัติว่า "เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้วให้คณะกรรมการชำระบัญชีดำเนินการ ดังต่อไปนี้... (2) ให้โอนทรัพย์สินที่คงเหลือให้แก่กระทรวงการคลังภายในหกสิบวันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี" เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง กระทรวงการคลังจึงมีหน้าที่ในภารกิจที่ยังค้างอยู่ของจำเลยที่ 1 และย่อมเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนจำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้จัดการมรดกกรณีห้างหุ้นส่วนเสียหาย และการถอดถอนผู้ชำระบัญชีที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่
แม้โจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หากมีการกระทำไปในทางที่จะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลเสียหาย ย่อมถือว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดและตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกบริษัทจากความขัดแย้งผู้ถือหุ้น การชำระบัญชี และสัดส่วนการถือหุ้น
พฤติการณ์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างมีเจตนายุติความเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 3 คงเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 3 เพียง 2 คน เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทจำเลยที่ 3 ต่างมีความขัดแย้งกันจนผู้ถือหุ้นคนหนึ่งต้องการออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นผลให้จำนวนผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 3 ลดลงต่ำกว่าจำนวนผู้ถือหุ้นสามคนที่จะตั้งบริษัทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1097 ความขัดแย้งดังกล่าวย่อมทำให้บริษัทจำเลยที่ 3 ไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไป และเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น กรณีถือว่ามีเหตุที่ศาลจะสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 เพราะจำนวนผู้ถือหุ้นลดน้อยลงจนเหลือไม่ถึงสามคน ตามมาตรา 1237 (4) แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 แต่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินลงทุนและทรัพย์สินของบริษัทจำเลยที่ 3 ส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชําระได้เมื่อเลิกบริษัทและทำการชําระบัญชี เห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้ศาลสั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ 3 เพื่อขอแบ่งทุนและทรัพย์สินคงเหลือและเมื่อกรณีต้องด้วยเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 3 จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญหลังเลิกกิจการ: ศาลมีอำนาจสั่งชำระบัญชีได้แม้โจทก์มิได้ขอ
โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อจัดงานแสดงดนตรี เมื่องานแสดงดนตรีดังกล่าวได้จัดขึ้นและเสร็จสิ้นลงแล้ว ห้างหุ้นส่วนสามัญจึงเลิกกันเพราะเสร็จการนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1055 (3) เมื่อยังไม่ได้มีการชำระบัญชีของห้าง และไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินของห้างโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ลงทุนไปทั้งหมดคืนรวมถึงส่วนแบ่งกำไร แต่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าการจัดงานแสดงดนตรีดังกล่าวขาดทุน กรณีจึงมีข้อโต้แย้งเรื่องผลประกอบการของห้างหุ้นส่วนซึ่งต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนจริงหรือไม่ และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วย แต่การบรรยายฟ้องของโจทก์ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้ โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีกการตั้งโจทก์หรือจำเลยทั้งสามเป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกันย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาการไม่ร่วมมือกันในการชำระบัญชี เป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันต้องชำระบัญชี แม้ผู้เป็นหุ้นส่วนบางคนจัดการทรัพย์สินไปแล้ว ก็ยังไม่ถือเป็นการชำระบัญชี
การที่โจทก์ ช. และกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นตกลงเข้าหุ้นกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยประสงค์จะนำกำไรที่ได้จากการลงทุนของแต่ละคนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจึงเลิกกันตามมาตรา 1055 (5) และต้องจัดให้มีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งการชำระบัญชีนั้นมาตรา 1061 วรรคสาม ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำ หรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่นั้นเป็นผู้จัดทำ แต่กลับได้ความว่ามีเพียงหุ้นส่วนบางคนเท่านั้นที่เข้าไปเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. เกี่ยวกับการจัดการบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนร่วมกันและได้แสดงหลักฐานการโอนเงินร่วมลงทุน ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ได้ตกลงโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือคืนแก่ผู้ร่วมลงทุนบางคนตามสัดส่วนของการลงทุนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณ โดยที่โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งไม่ได้ร่วมเจรจาหรือตกลงด้วย จึงถือไม่ได้ว่ามีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ เนื่องจากหุ้นส่วนทุกคนไม่ได้ตกลงร่วมกัน แม้หุ้นส่วนบางคนจะเข้าไปเจรจากับจำเลยทั้งสองจนกระทั่งได้รับโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคืนไปแล้ว และจำเลยทั้งสองอ้างว่าหุ้นส่วนคนอื่นไม่มีใครคัดค้านก็ตาม แต่หุ้นส่วนบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจานั้น ย่อมไม่ได้ตรวจสอบหรือยืนยันความถูกต้องในการจัดการทรัพย์สินของห้าง ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาดและปัญหาโต้แย้งกันได้ในภายหลัง พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่ามีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันที่จะทำให้ไม่ต้องมีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน และกรณียังมีข้อโต้แย้งกันเรื่องผลเฉลี่ยขาดทุนและการคืนทุน จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนหรือไม่และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วยก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่คืนเงินลงทุนส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชำระได้เมื่อมีการชำระบัญชี ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน: ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่เรียกร้องทรัพย์สินคืนจากผู้ถือครองแทนห้างฯ
การชำระบัญชีนั้น เป็นกระบวนการที่ผู้ชำระบัญชีเข้าทำการตรวจสอบบัญชี ทรัพย์สินและหนี้สินของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน หากปรากฏว่าห้างฯ มีหนี้ค้างชำระอยู่แก่บุคคลภายนอก ผู้ชำระบัญชีก็ต้องจัดการนำทรัพย์สินของห้างฯ ชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกให้เสร็จสิ้นไป ในทางกลับกัน หากปรากฏว่าห้างฯ มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินใด ๆ อยู่แก่บุคคลภายนอก ผู้ชำระบัญชีก็ต้องดำเนินการเรียกร้องให้บุคคลภายนอกส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวคืนเข้ากองทรัพย์สินของห้างฯ หากบุคคลภายนอกซึ่งมีทรัพย์สินที่ต้องชำระหรือส่งมอบคืน ไม่ยอมชำระหรือส่งมอบคืน ผู้ชำระบัญชีก็ย่อมต้องฟ้องร้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลเป็นเรื่อง ๆ ไป คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แทนห้างฯ ซึ่งมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กรณีถือว่าจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้เป็นหุ้นส่วน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีที่จะต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินดังกล่าวคืนมายังกองทรัพย์สินของห้างฯ เพื่อจัดการชำระบัญชีในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน หากจำเลยที่ 3 ไม่ยอมโอนที่ดินคืน ผู้ชำระบัญชีก็ต้องฟ้องร้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินดังกล่าวคืน เพื่อผู้ชำระบัญชีจะได้รวบรวมและจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปตามกฎหมาย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ และขอให้บังคับจำเลยที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ และส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์หรือแก่ผู้ชำระบัญชีเป็นการไม่ชอบ เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีต้องดำเนินการในการชำระบัญชีของห้างฯ ตามกฎหมาย
of 15