คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลูกจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,226 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อละเมิดของลูกจ้าง และการระงับข้อพิพาทที่ไม่สมบูรณ์
คำฟ้องของโจทก์บรรยายไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงต่อสู้ จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีอย่างถูกต้อง ส่วนค่าเสียหาย ค่าแรงและค่าอะไหล่แต่ละรายการจำนวนเท่าใดล้วนแต่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบให้ปรากฏได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจนต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิง แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สินเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 สำหรับกรณีของจำเลยก็เช่นเดียวกันถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกับ ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยหรือ ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดคนใดคนหนึ่งได้โดยลำพังเพียงคนเดียวโดยไม่ฟ้อง ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดเป็นจำเลยด้วยก็ย่อมทำได้ ไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
หลังเกิดเหตุรถยนต์สองคันชนกัน ป. พนักงานของจำเลยและ ธ. พนักงานขับรถยนต์โดยสารสาธารณะคันเกิดเหตุได้ทำหนังสือยินยอมรับผิดว่ารถยนต์ของจำเลยได้ชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยระบุความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ไว้แก่เจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อนำไปตกลงค่าเสียหายต่อไป จึงเป็นเพียงหนังสือที่ออกให้เพื่อทราบความเสียหายและเพื่อแสดงความรับผิดชอบเบื้องต้นของจำเลยกับเจ้าของรถยนต์คู่กรณีเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหายที่ต้องชำระ วิธีชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก จึงมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นจากความรับผิดในมูลละเมิดแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6067/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ้างงานอิสระ: การพิจารณาความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง ต้องดูอำนาจบังคับบัญชา
การพิจารณาว่าโจทก์และจำเลยเป็นลูกจ้างและนายจ้างหรือไม่นั้น นอกจากจะพิจารณาว่าโจทก์และจำเลยมีความสัมพันธ์กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 แล้ว ยังต้องปรากฏว่าโจทก์อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 ด้วย คดีนี้โจทก์รับจ้างจำเลยทำงานตำแหน่งมัคคุเทศก์อิสระ อัตราค่าจ้างขึ้นกับการทำงานแต่ละครั้งโดยนำนักท่องเที่ยวไปตามตารางทัวร์ที่กำหนดไว้ หากไม่มาทำงานก็จะไม่ได้ค่าจ้าง กำหนดวันทำงานไม่แน่นอน ไม่มีการกำหนดวันหยุดวันลาและสวัสดิการสำหรับโจทก์ แสดงว่าโจทก์มีอิสระในการทำงานกับจำเลยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ใช่การจ้างแรงงานหรือเป็นลูกจ้างและนายจ้างกันตามบทกฎหมายข้างต้นโจทก์ไม่เป็นลูกจ้างของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6011-6017/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเร็วกว่าลูกจ้างชายถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับลูกจ้างของจำเลยเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้างสวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นใดอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนถึงออกจากงาน จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 5,10,11 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 108 ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานที่มีผลผูกพันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 50 ปี และลูกจ้างชายเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี เป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยไม่เท่าเทียมกัน โดยไม่ปรากฏว่าลูกจ้างชายและหญิงทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานแตกต่างกันอย่างไร จึงขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อบังคับดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่อครบ 50 ปี จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่มีผลใช้บังคับ
การที่จำเลยให้โจทก์เกษียณอายุโดยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากการเกษียณอายุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสอง โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่มีเหตุให้เลิกจ้างได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 49
จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยกำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณเมื่ออายุครบ 50 ปี ส่วนลูกจ้างชายเกษียณเมื่ออายุครบ 55 ปี ตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการตลอดมาขณะโจทก์ทำสัญญาจ้างเข้าทำงานกับจำเลยก็รับรู้และยอมผูกพันตามข้อบังคับฯ แต่ต่อมาข้อบังคับฯ ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ทำให้ข้อบังคับฯในส่วนที่กำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 50 ปี ไม่มีผลบังคับต่อไป ดังนั้นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมของจำเลยส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากผลของการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่เกิดจากการที่จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะใช้ประกอบดุลพินิจของศาลแรงงานกลางว่าจะให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด จึงสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานกระทำผิดจริยธรรมบริษัท กรณีมีส่วนได้ส่วนเสียกับคู่ค้า
คู่มือพนักงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคล ซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเป็นหลักจริยธรรมของจำเลยระบุว่า ลูกจ้างต้องไม่ให้ผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าแทรกแซงการดำเนินธุรกิจของจำเลย เช่น ห้ามลูกจ้างมี อิทธิพลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อการติดต่อของจำเลยกับผู้จัดจำหน่าย ซึ่งลูกจ้างมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือ ทางการเงินอยู่ด้วย หรือห้ามทำงานให้กับ เป็นตัวแทน หรืออนุเคราะห์ผู้จัดจำหน่ายด้วยเหตุผลส่วนตัวในการติดต่อ กับจำเลย เพราะถ้าลูกจ้างมีอิทธิพลหรืออำนาจต่อการติดต่อของจำเลยกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายซึ่งเป็นคู่ค้ากับจำเลย และลูกจ้างมีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวหรือทางการเงินกับบริษัทคู่ค้าย่อมเป็นมูลเหตุจูงใจและช่องทางให้ลูกจ้าง ใช้อิทธิพลหรืออำนาจหน้าที่ที่ตนมีอยู่ในทางที่อนุเคราะห์หรือให้ผลประโยชน์แก่บริษัทคู่ค้านั้นได้โดยง่ายและ ยากต่อการตรวจสอบจนอาจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างมาก การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง
โจทก์ทำงานกับจำเลยในตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลกับร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้จำเลยและเป็นผู้พิจารณาอะไหล่และอุปกรณ์สำหรับใช้กับเครื่องจักรของจำเลย แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นผู้พิจารณาให้บริษัท ส. ได้เป็นคู่ค้ากับจำเลย โดยวิศวกรอีกคนหนึ่งของจำเลยซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัท ส. ในชื่อของผู้อื่นเป็นผู้พิจารณาก็ตาม แต่ตำแหน่งของโจทก์สามารถมีอิทธิพลต่อการติดต่อและเป็นมูลเหตุจูงใจ กับเป็นช่องทางให้โจทก์กระทำประการใดประการหนึ่งที่สามารถเอื้อประโยชน์หรืออนุเคราะห์ประโยชน์ให้แก่บริษัท ส. ที่โจทก์ร่วมก่อตั้ง เป็นพยานการโอนหุ้น และเข้าประชุมที่บริษัทดังกล่าวแทนภริยาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นโดยทางอ้อมได้ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้อง จ่ายค่าชดเชย
หนังสือเลิกจ้างระบุรายละเอียดการกระทำของโจทก์แล้วระบุระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ตรงกับ ข้อห้ามที่โจทก์ฝ่าฝืน เป็นการระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5669/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงาน กรณีช่วยเหลือลูกจ้างกู้ยืมเงิน
ผู้ร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างและกรรมการลูกจ้างโดยอ้างว่าผู้คัดค้านฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ว่าลูกจ้างต้องไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่แสวงหาประโยชน์จากการกู้ยืมภายในบริเวณที่ทำการหรือโรงงานหรือหอพักที่นายจ้างจัดให้ ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรงโดยผู้คัดค้านให้ลูกจ้างของผู้ร้องกู้ยืมเงิน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ให้กู้ยืมเงินคือ บ. ไม่ใช่ผู้คัดค้านเหตุที่ผู้คัดค้านเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็เพราะ ม. ไปพบผู้คัดค้านแจ้งว่ากำลังเดือดร้อนต้องการใช้เงิน ผู้คัดค้านจึงรับไปติดต่อกับ บ. ลูกพี่ลูกน้องกับผู้คัดค้านซึ่งมีอาชีพปล่อยเงินกู้ให้อันเป็นการช่วยเหลือ ม. หลังจากที่ผู้คัดค้านติดต่อแล้ว บ. ยอมให้กู้ยืมโดยมอบเงินให้ผู้คัดค้านนำไปมอบให้ ม. การที่ผู้คัดค้านรับมอบเงินกู้จาก บ. นำไปให้ม. จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเพื่อช่วย ม. ให้ได้รับเงินกู้จาก บ. เช่นเดียวกัน แม้ บ. จะคิดดอกเบี้ยจาก ม. ถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ และไม่ว่าผู้คัดค้านจะเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้รับผลประโยชน์ใดจากการกู้ยืมระหว่างม. กับ บ. การกระทำของผู้คัดค้านจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกรณีไม่มีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5321/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาต้องแจ้งเหตุผล หากไม่แจ้ง นายจ้างยกข้ออ้างการเลิกจ้างภายหลังไม่ได้
บทบัญญัติตามมาตรา 17 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างโดยให้นายจ้างแสดงเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างพิจารณาว่าสมควรที่จะเรียกร้องค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญาจ้างนั้นหรือไม่เพียงใด ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ว่าจะกระทำเป็นหนังสือหรือกระทำด้วยวาจา นายจ้างก็ต้องระบุเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบ โดยหากกระทำเป็นหนังสือ ก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง แต่หากกระทำด้วยวาจา ก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้างนั้น คดีนี้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ด้วยวาจา แต่มิได้ระบุหรือแจ้งเหตุผลในการบอกเลิกจ้างไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยขึ้นอ้างภายหลังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณานิติสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง ต้องดูที่ข้อเท็จจริงและบทกฎหมาย ไม่ใช่ข้อตกลงหรือเอกสาร
การพิจารณาว่าโจทก์และจำเลยจะมีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในคดีและบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 5 มิใช่พิจารณาจากข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้างหรือพิจารณาจากข้อความที่ระบุในเอกสารเท่านั้น การที่โจทก์รับจ้างทำการงานให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยเป็นที่รับรู้ของคนในประเทศไทยว่าจำเลยมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างท่าเทียบเรือ โจทก์ทำงานดังกล่าวโดยอิสระไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยไม่มีเวลาทำงานปกติ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระเบียบหรือคำสั่งใด ๆ ของจำเลย นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยในลักษณะดังกล่าวจึงไม่ใช่คู่สัญญาในเรื่องจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และไม่ใช่นายจ้างและลูกจ้างกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับจากนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5222/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือเตือนต้องมีลักษณะตักเตือนชัดเจน การเลิกจ้างฐานลูกจ้างละเลยคำสั่งนายจ้าง
หนังสือเตือนนอกจากจะมีข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำนั้นของตนได้แล้ว ก็จะต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำการเช่นนั้นซ้ำอีกด้วย แม้หนังสือเตือนของจำเลยจะมีข้อความแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการที่โจทก์ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของจำเลยเพียงพอที่โจทก์จะเข้าใจการกระทำของโจทก์ได้ แต่ไม่มีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้โจทก์กระทำเช่นนั้นซ้ำอีก คงมีแต่คำว่า "ใบเตือนครั้งที่ 1" และ "ใบเตือนครั้งที่ 2"อยู่ด้านบนของเอกสาร เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหนังสือของจำเลยที่แจ้งการฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่งของโจทก์ให้โจทก์ทราบเท่านั้น ไม่เป็นหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119(4)
จำเลยสั่งให้โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกไปรับสินค้าที่อาคารเกษรพลาซ่า แต่โจทก์เดินทางไปไม่ถึงเพราะเหลือเวลาอีกประมาณ 43 นาที ก็จะติดเวลาห้ามรถยนต์บรรทุกแล่นในเขตกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงานของจำเลย เมื่อจำเลยมีระเบียบว่าในกรณีที่พนักงานขับรถไม่สามารถขับรถยนต์ไปถึงที่หมายปลายทางได้ทันเวลาและจะต้องนำรถยนต์กลับมาที่สำนักงาน พนักงานขับรถจะต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน แต่โจทก์ไม่ได้แจ้งให้ผู้มีอำนาจของจำเลยทราบก่อน การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยอันไม่ใช่กรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยไม่ได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แต่เมื่อโจทก์ได้เคยฝ่าฝืนระเบียบหรือขัดคำสั่งของจำเลยในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ขับรถมาแล้วถึง 2 ครั้ง ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นอาจิณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเรียกค่าชดเชยกรณีลูกจ้างได้รับเกินสิทธิ และประเด็นอายุความลาภมิควรได้
โจทก์ฟ้องว่า ม. ได้มาซึ่งค่าชดเชยเพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดย ม. ปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ อันเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นการฟ้องในฐานะเจ้าของทรัพย์สินเรียกเอาคืนทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามมาตรา 1336 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตามมาตรา 419
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทราบว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือของกระทรวงการคลัง โดยข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ปรากฏว่าผู้แทนนิติบุคคลของโจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนทราบเรื่องในเอกสารดังกล่าวเมื่อใดนั้น เป็นการไม่ชอบ กรณียังไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนเมื่อใดอันเป็นการกำหนดตั้งต้นนับอายุความ ให้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าผู้แทนนิติบุคคลของโจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนทราบเรื่องในเอกสารดังกล่าวเมื่อใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4850/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการลูกจ้างต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนฐานะนายจ้าง การแต่งตั้งขัดเจตนารมณ์กฎหมาย
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 45 บัญญัติให้มีคณะกรรมการลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นตัวแทนของลูกจ้างในการเข้าร่วมประชุมกับนายจ้างเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง ปรึกษาหารือเพื่อกำหนดข้อบังคับในการทำงานพิจารณาคำร้องทุกข์ของลูกจ้างและหาทางปรองดอง รวมทั้งระงับข้อขัดแย้งในสถานประกอบการตามมาตรา 50 โจทก์ตกลงทำงานให้บริษัทจำเลยที่ 1 เพื่อรับค่าจ้างอันมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ก็เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 อันมีฐานะเป็นนายจ้างด้วยตามมาตรา 5 ซึ่งฐานะนายจ้างและลูกจ้างนั้นจะมีผลประโยชน์บางส่วนที่ขัดกัน การที่สหภาพแรงงานพนักงานทีพีไอมีมติแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการประชุมระหว่างนายจ้างกับคณะกรรมการลูกจ้างตามมาตรา 50 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้าง และไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 ของบทกฎหมายดังกล่าว
of 223