คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาลฎีกา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3,432 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9105/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้กฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขใหม่กับคดีเดิม: ศาลฎีกาแก้ไขโทษจำคุกตามกฎหมายใหม่ที่เป็นคุณแก่จำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยมีเฮโรอีนจำนวน 1 ถุง หนัก 347.340 กรัม ซึ่งมีน้ำหนักสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าคำนวณเป็นปริมาณสารบริสุทธิ์ได้ทั้งหมดเท่าใด จึงฟังได้เพียงว่า เฮโรอีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 20 กรัม โทษจำคุกต้องด้วย พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์พิพาท, อายุความ, การอุทธรณ์, ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จะต้องคำนวณจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามข้อหาของการผิดสัญญาเล่นแชร์แต่ละวง โดยทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำหรับแชร์วงแรก มีจำนวน 42,787.23 บาท ต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรกเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับแชร์วงแรกเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนอุทธรณ์ในดอกเบี้ยค้างชำระเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เพราะหนี้ประธานต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์สำหรับแชร์วงแรก การที่โจทก์เพียงยื่นคำแก้ฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาใหม่ โดยพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 บังคับให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งคำแก้ฎีกาของโจทก์ไม่มีผลเป็นการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นดังกล่าว คดีสำหรับแชร์วงแรกจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา หนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความแล้ว นั้น เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้ในเรื่องอายุความว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าแชร์วงที่สองจัดตั้งเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2532 แล้วแชร์ล้มก่อนครบกำหนด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากจำเลยนับแต่แชร์ล้ม แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความซึ่งมีกำหนด 5 ปี คำให้การของจำเลยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าหนี้ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งเกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระขาดอายุความ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความดอกเบี้ยค้างชำระสำหรับแชร์วงที่สองนั้นชอบแล้ว
ยอดหนี้ค่าแชร์วงที่สองของโจทก์จำนวนสามหุ้นกับดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องคำนวณยอดเงินได้ 119,547.50 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์เพียง 118,566.16 บาท เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาและกรณีมิใช่การผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย จึงไม่มีเหตุที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8701/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชิงทรัพย์-ทำร้ายร่างกาย: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษา เน้นเจตนาต่อเนื่อง และความผิดฐานลักทรัพย์
จำเลยทั้งสองวางแผนลวงโจทก์ร่วมไปในที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยที่ 1 กระชากคอเสื้อโจทก์ร่วมลงมาจากรถและร้องบอกจำเลยที่ 2 ว่ามาแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเดินออกมาจากข้างทาง เมื่อโจทก์ร่วมปฏิเสธไม่ยอมถอดเสื้อผ้าตามคำสั่ง จึงถูกจำเลยที่ 1 ต่อยท้องและใบหน้าหลายครั้งจนล้มคว่ำ จำเลยที่ 2 ร้องบอกว่า "เอามันให้สลบก่อน" จากนั้นจำเลยทั้งสองจึงรุมเตะทำร้ายโจทก์ร่วมจนกระทั่งสิ้นสติไป จำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้หมัดและเท้าทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วม ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธหรือเลือกทำร้ายโจทก์ร่วมตรงบริเวณที่เป็นอวัยวะสำคัญอันอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ ทั้งที่มีกำลังคนและแรงกายภาพเหนือกว่าอยู่ในทำเลปลอดคน กับมีเวลาและโอกาสที่จะเลือกกระทำแก่โจทก์ร่วมได้ตามอำเภอใจ บาดแผลที่โจทก์ร่วมถูกทำร้ายไม่ร้ายแรงจนทำให้ถึงแก่ความตายได้ แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 298
หลังจากจำเลยทั้งสองรุมทำร้ายจนโจทก์ร่วมสลบแล้ว จำเลยที่ 2 จึงกระชากสร้อยคอของโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าเมื่อแรกวางแผนลวงโจทก์ร่วมมายังที่เกิดเหตุจนกระทั่งรุมทำร้ายโจทก์ร่วมสลบนั้น จำเลยทั้งสองยังไม่มีเจตนาจะเอาทรัยพ์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากหยุดทำร้ายโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเกิดเจตนาโลภปลดทรัพย์ของโจทก์ร่วมส่งให้จำเลยที่ 1 แล้วพากันหลบหนี เจตนาต่อทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นคนละตอนคนละเจตนากับการลวงโจทก์ร่วมมาทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส บาดแผลของโจทก์ร่วมจึงมิได้เกิดจากการมีเจตนาต่อทรัพย์ของโจทก์ร่วม แม้ภายหลังจำเลยที่ 2 จะใช้แรงกายภาพกระชากสร้อยไปจากคอโจทก์ร่วม แต่สร้อยคอและสร้อยข้อมือของโจทก์ร่วมเป็นสร้อยเส้นเล็กจึงค่อนข้างขาดง่าย สภาพบาดแผลที่คอโจทก์ร่วมไม่มีร่องรอยบาดแผลจากการถูกสร้อยบาดตามแรงกระชากที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อทรัพย์ปรากฏให้เห็น แสดงว่าแรงกายภาพที่จำเลยที่ 2 กระทำนั้นไม่ถึงกับอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วม สภาพเช่นนี้ไม่พอให้ถือว่าเป็นการประทุษร้ายแก่กายของโจทก์ร่วมตาม ป.อ. มาตรา 1 (6) การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน
จำเลยที่ 1 ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะไปลวงโจทก์ร่วมมาทำร้ายในที่เกิดเหตุ แม้โจทก์ร่วมจะหลงกลจนถูกทำร้ายและลักทรัพย์ โดยจำเลยทั้งสองพาทรัพย์ขึ้นรถจักรยานยนต์หลบหนีไป รถจักรยานยนต์ก็เป็นเพียงยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองตั้งใจใช้เพื่อการลวงทำร้ายโจทก์ร่วมโดยเฉพาะเท่านั้น มิใช่เพื่อการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่เกิดในภายหลังด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการร่วมกันชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดอันเป็นเหตุฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสกับความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนดังกล่าวล้วนแต่เป็นการกระทำที่เกิดต่อเนื่อง และต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องโดยแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยื่นฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไว้ด้วย แต่ปัญหาทุกข้อดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดีตาม ป.อ. มาตรา 89 ซึ่งกำหนดให้ใช้แก่ผู้กระทำความผิดในการกระทำความผิดนั้นด้วยกันทุกคน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8648/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้อง หรืออธิบดีอัยการ มิฉะนั้น ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัย
คดีของจำเลยทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยทั้งสองประสงค์จะฎีกาในปัญหาดังกล่าวจะต้องให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาต หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฯลฯ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ขั้นตอนในการปฏิบัติดังกล่าว ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติวางหลักเกณฑ์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยทั้งสองต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ตามคำร้องคงเพียงขอเฉพาะผู้พิพากษาสองคนที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยระบุชื่อให้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาคนอื่นที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังนี้ เมื่อผู้พิพากษาทั้งสองคนที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสอง ส่วนการที่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คนหนึ่งที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยลำพัง หามีผลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่ เพราะมิได้ต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยทั้งสองในการที่จะขอให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คนนั้นเป็นผู้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตลอดทั้งมิได้ผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8611/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมบัตรประชาชนและใช้เอกสารปลอมเพื่อขอออกบัตรใหม่ ศาลฎีกาปรับบทลงโทษตามกฎหมายที่ลงโทษหนักที่สุด
การที่จำเลยร่วมกับพวกปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการ ใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมดังกล่าว แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน แสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อหรือมีรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ และแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรใหม่ ล้วนแล้วแต่มีความมุ่งหมายเพียงประการเดียวคือเพื่อขอให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนใหม่จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานใช้หรือแสดงบัตรประจำตัวประชาชนปลอมตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 (3) ประกอบมาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้จำเลยมิได้ฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 86/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิด พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน และอายุความแจ้งความเท็จ ศาลฎีกายกฟ้องบางข้อหา
จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานเพื่อช่วยเหลือให้คนต่างด้าวได้รับบัตรประจำตัวประชาชน นับเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษให้
ภายหลังจากจำเลยที่ 2 กระทำความผิดคดีนี้มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2)ฯ มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ โดยเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็น "ผู้ไม่มีสัญชาติไทย" เป็น "ผู้ใด" ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ การพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสัญชาติไทย ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้
ความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยที่ 2 สำหรับความผิดดังกล่าวในห้าปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) แต่โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 ซึ่งเกินกว่าห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด ฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหาดังกล่าว จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8443/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีประกันยื่นคำร้องชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ศาลฎีกาวินิจฉัยชอบตามกฎหมายหากที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบ
ในคดีล้มละลายนั้นเจ้าหนี้มีประกันจะยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ก็ได้ แต่ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจตราทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 95 กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเท่านั้นมิได้บังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องดำเนินการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันให้แก่เจ้าหนี้มีประกันเสมอไป ซึ่งการตรวจดูทรัพย์สินตามมาตรา 95 นั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกระทำด้วยการสอบสวนหรือขอมติที่ประชุมเจ้าหนี้ตามคำสั่งของอธิบดีกรมบังคับคดีก็ได้ ถ้าปรากฎว่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันมีราคามากกว่าจำนวนหนี้ ราคาส่วนที่เกินจำนวนหนี้ย่อมเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะรวบรวมจัดการตามมาตรา 22 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายตามวิธีการที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดตามมาตรา 123 ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการยึดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันออกขายตามคำร้องของเจ้าหนี้ จะสั่งงดดำเนินการและให้เจ้าหนี้ไปดำเนินการตามกฎหมายอื่นไม่ได้ แต่ถ้าปรากฎว่าจำนวนหนี้ท่วมราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันและไม่มีกรณีต้องร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลหรือกระทำการใดแล้ว ประกอบกับที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน เนื่องจากเห็นว่าจำนวนหนี้ค้างชำระท่วมราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน การบังคับคดีต่อทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันไม่มีประโยชน์ต่อกองทรัพย์สินของลูกหนี้แต่อย่างใด ที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งงดดำเนินการต่อทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8350/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีกระสุนปืนและการครอบครองยาเสพติด: ศาลฎีกาตัดสินประเด็นความผิดและลดโทษ
ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนฯ มาตรา 8 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืน ซึ่งมิใช่สำหรับอาวุธปืนที่ตนได้รับอนุญาตให้มีและใช้ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ให้ออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ป้องกันตัวหรือทรัพย์สินหรือในการกีฬาหรือยิงสัตว์ และวรรคสองบัญญัติว่า ใบอนุญาตนั้นให้ออกสำหรับอาวุธปืนแต่ละกระบอก แต่ไม่ได้บัญญัติว่าให้ออกใบอนุญาตโดยเฉพาะสำหรับให้มีเครื่องกระสุนปืนด้วย แสดงว่าเมื่อมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว การมีกระสุนปืนสำหรับอาวุธปืนนั้นไม่ต้องมีใบอนุญาตพิเศษ การที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเป็นการอนุญาตให้มีและใช้เครื่องกระสุนปืนไปในตัว ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้วการที่จำเลยมีกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนนั้น จึงไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8188/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานจัดและเป็นเจ้ามือการพนันสลากกินรวบเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลฎีกาแก้ไขบทกฎหมายเพื่อความถูกต้อง
ความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินรวบและฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้การพนันสลากกินรวบ ต่างเป็นความผิดอยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างอิง ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยปรับบทกฎหมายเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดรวม 12 กระทง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขในเรื่องโทษได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 749/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอฎีกาอนาถาซ้ำโดยไม่แสดงหลักฐานเพิ่มเติม ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ชอบด้วยกระบวนการ
โจทก์ยื่นฎีกาวันที่ 12 เมษายน 2544 พร้อมกับยื่นคำร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถาศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 9 กรกฎาคม 2544 แต่ไม่มีคู่ความมาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่นำพยานมาไต่สวน ให้ยกคำร้อง ให้โจทก์นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมมาชำระภายใน 7 วัน ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 โจทก์ยื่นคำร้องขอยื่นฎีกาอย่างคนอนาถาใหม่ ดังนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของโจทก์ฉบับแรกโดยวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำร้องของโจทก์แล้วว่า โจทก์ไม่ใช่คนอนาถาการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ ย่อมถือเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสี่ ซึ่งโจทก์จะต้องขออนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าโจทก์เป็นคนยากจน แต่คำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ของโจทก์ มิได้ขอนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมโดยระบุถึงเหตุที่มิได้ระบุหรืออ้างไว้ในการไต่สวนครั้งแรกประกอบกับไม่มีการไต่สวนพยานโจทก์จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 156 วรรคสี่ ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ของโจทก์ไว้ไต่สวนจึงไม่ชอบ
of 344