คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เพิกถอนคำสั่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 135 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2992/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า และการเพิกถอนคำสั่งปฏิเสธจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียน 2 รายการ ประกอบด้วยรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและคำว่า "Misty Mynx" ซึ่งเป็นคำอักษรโรมันสองคำประกอบกัน สำหรับคำว่า "Misty" เป็นคำธรรมดาทั่วไป มีความหมายปรากฏตามพจนานุกรมว่า ที่ปกคลุมไปด้วยหมอก คลุมเครือ พร่ามัว เลือนลาง จึงไม่เป็นคำที่สร้างความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอื่นได้ดี ส่วนคำว่า "Mynx" เป็นคำที่ไม่มีความหมายปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นส่วนที่สร้างความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอื่นได้ดีกว่าส่วนคำว่า "Misty" ย่อมมีเหตุผลให้เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและอักษรโรมันคำว่า "Mynx" เป็นสาระสำคัญ ส่วนคำว่า "Misty" ไม่ใช่ส่วนสาระสำคัญ ส่วนการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาคส่วนของเครื่องหมายการค้าโดยรวมทุกภาคส่วนของเครื่องหมายการค้า ดังนั้นจึงต้องนำรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและคำว่า "Mynx" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และคำว่า "Morning" ในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมารวมพิจารณาเปรียบเทียบความคล้ายของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เพราะทุกภาคส่วนล้วนต้องรวมกันจึงเป็นเครื่องหมายการค้าตามที่ขอจดทะเบียนมิใช่พิจารณาแยกเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณะเครื่องหมายและการประดิษฐ์ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เปรียบเทียบกับรูปลักษณะเครื่องหมายและลักษณะการประดิษฐ์ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบไปด้วย 2 ภาคส่วน คือ ภาคส่วนบนสุดเป็นรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและภาคส่วนล่างสุดเป็นอักษรโรมันคำว่า "Misty Mynx" นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนอีก 2 รายการ เป็นอักษรโรมันสองคำประกอบกัน คือ คำว่า "Misty" และคำว่า "Mynx" โดยอยู่ในระนาบเดียวกัน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น ประกอบด้วยอักษรโรมันสองคำ คือคำว่า "MISTY" และคำว่า "MORNING" โดยคำว่า "MISTY" อยู่ด้านบนและมีขนาดใหญ่กว่าคำว่า "MORNING" ซึ่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวมีความแตกต่างกันเป็นที่เห็นได้ชัดเจนหลายประการ ตั้งแต่รูปร่างโดยรวมของทุกภาคส่วนในแต่ละเครื่องหมาย รูปประดิษฐ์ ตัวอักษรที่ใช้และลักษณะการวางตัวอักษร ล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และเมื่อพิจารณาในส่วนเสียงเรียกขานตามคำที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า "มิส-ตี้-มิ้งซ์" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วอาจเรียกขานได้ว่า "มิส-ตี้-มอร์-นิ่ง" ซึ่งแม้มีคำเรียกขานว่า "มิส-ตี้" คล้ายกันส่วนหนึ่ง แต่เสียงเรียกขานโดยรวมก็แตกต่างกัน มิใช่จะเรียกขานแต่เฉพาะคำว่า "มิส-ตี้" ประกอบกับคำว่า "MISTY" เป็นคำธรรมดาที่ใช้กันทั่วไปซึ่งมีความหมายเข้าใจกันตามธรรมดา มิใช่คำประดิษฐ์ ดังนั้นแม้จะมีบุคคลอื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า "MISTY" ประกอบอยู่ด้วยไว้ก่อนแล้ว บุคคลอื่นก็ยังคงมีสิทธิใช้คำดังกล่าวได้ตราบเท่าที่ได้มีการสร้างความแตกต่างเพียงพอจนสามารถทำให้เป็นที่สังเกตได้ถึงความแตกต่างกันนั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปประดิษฐ์รูปหัวใจประกอบอยู่ด้วย และมีลักษณะการใช้และการวางตัวอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าที่แตกต่างกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีความแตกต่างกันเพียงพอที่สาธารณชนผู้บริโภคจะจดจำและสังเกตได้ถึงความแตกต่างกันนั้นแล้ว แม้รายการสินค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับรายการสินค้าที่บุคคลอื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว จะเป็นรายการสินค้าเดียวกันและเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนำมาใช้ในชีวิตประจำวันในครัวเรือนเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีผู้บริโภคกลุ่มเดียวกันหรือมีสถานที่วางจำหน่ายแห่งเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำฟ้องทั้งสี่คำขอมีความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: การเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ชี้ขาดอำนาจศาล
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ได้บัญญัติไว้ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็นให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้นหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลใด และวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวยังบัญญัติให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเองก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดยะลา) ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนเบื้องต้นแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องโจทก์ไว้เป็นไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งฟ้องได้บรรยายถึงการกระทำโดยการใช้อำนาจทางกฎหมายของจำเลยทั้งสองอันเป็นที่มาของการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) นั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นเองว่าคดีโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก่อนมีคำพิพากษา ซึ่งกรณีนี้ได้แก่ศาลปกครองสงขลา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ศาลชั้นต้นต้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองสงขลา หากศาลปกครองสงขลาเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองสงขลา ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะโอนคดีไปยังศาลปกครองสงขลา หรือจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปฟ้องคดีที่ศาลปกครองสงขลา แต่ถ้าศาลปกครองสงขลามีความเห็นแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่รับฟ้องไว้เป็นไม่รับฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042-3043/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยทำให้ทนายจำเลยไม่สามารถมาศาลได้ทันตามกำหนด ศาลฎีกาเพิกถอนคำสั่งขาดนัดและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
ข้อเท็จจริงยุติว่าก่อนเวลานัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย รถยนต์ที่ทนายความจำเลยที่ 1 ขับมาศาลเครื่องยนต์ไม่ทำงานเนื่องจากสายพานระบบไฟฟ้าขาด ไม่สามารถเดินทางมาทันกำหนด ทนายจำเลยที่ 1 โทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องให้เจ้าหน้าที่ศาล โจทก์และทนายโจทก์ทราบแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ตามกำหนด เป็นการสมควรให้เพิกถอนคำสั่งศาลแรงงานภาค 2 ที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัด อันมีผลให้ศาลแรงงานภาค 2 ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำหลังจากที่มีคำสั่งนั้นใหม่เสมือนหนึ่งมิเคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41
เมื่อเพิกถอนคำสั่งที่ว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดแล้ว ข้อโต้แย้งตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 2 จึงหมดไป ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2255/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งไม่รับอุทธรณ์: ศาลฎีกาให้รับอุทธรณ์ในคดีแจ้งความเท็จ เนื่องจากโจทก์ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามกฎหมาย
คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ทั้งสี่ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ตาม ป.อ. มาตรา 83, 173 และ 174 ซึ่งความผิดดังกล่าวตามมาตรา 174 วรรคสอง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท โจทก์ทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นการสั่งที่ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ถือได้ว่าการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เป็นการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่และมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการฎีกาของผู้รับจำนองในคดีเพิกถอนคำสั่งริบเงินมัดจำการขายทอดตลาดที่ดิน
เดิมผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดและคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินที่ถูกขายทอดตลาดยื่นคำคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองฉบับ ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำ ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำแล้วให้ขายทอดตลาดใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือมาชำระแล้วผู้ร้องไม่ชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีคำสั่งริบเงินมัดจำและให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ เป็นเหตุให้ผู้ร้องมายื่นคำร้องเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นยกคำร้องโดยไม่ไต่สวน ผู้คัดค้านจึงมิได้เข้ามาเป็นคู่ความเกี่ยวกับคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำของผู้ร้องมาตั้งแต่แรก ประกอบกับผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้รับจำนองที่ดินที่ขายทอดตลาดซึ่งในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดโดยติดจำนองไปด้วย สิทธิของผู้คัดค้านในฐานะผู้รับจำนองยังคงมีอยู่ครบถ้วน คำร้องของผู้ร้องที่ขอเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำตลอดจนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไม่ได้กระทบสิทธิของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
of 14