คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,449 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันก่อน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ยังมีผลบังคับใช้ ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชอบ
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2340/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้จากการยอมรับหนี้ในการประชุมผู้ถือหุ้น มีผลผูกพันทางกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า ในการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ซึ่งจำเลยเข้าร่วมประชุมได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่า จำเลยได้ยืมเงินโจทก์จำนวน 6,100,000 บาท และจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์ข้างต้นโดยถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่ารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานการประชุมเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินและจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ดังกล่าวได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ 6,100,000 บาท และตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 1 เดือน แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้อันเป็นลักษณะของการฟ้องโดยอาศัยมูลเหตุแห่งการรับสภาพหนี้ของจำเลยตามรายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นสำคัญ อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่าจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมใหญ่ในฐานะผู้ยืม โจทก์ก็ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้กู้ยืมเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 แต่เป็นการฟ้องเรียกหนี้ที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามรายงานการประชุมใหญ่ ดังนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ และพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์
เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยแถลงยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ไปจำนวนดังกล่าวจริง และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน โดยจำเลยหาได้โต้แย้งหรือกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสำรองจ่ายที่จำเลยนำไปใช้ในกิจการของโจทก์ไม่ ประกอบกับจำเลยลงลายมือชื่อยอมรับความถูกต้องของสำเนารายงานการประชุมใหญ่โดยไม่ได้อิดเอื้อน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้เป็นลักษณะของการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ตามหลักเกณฑ์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) สำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามกฎหมาย
แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ และการประชุมใหญ่ดังกล่าวมิใช่เป็นการประชุมคณะกรรมการของโจทก์โดยเป็นการประชุมผู้ถือหุ้น จำเลยก็ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถือหุ้น อีกทั้งการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยก็ดี และการลงชื่อในสำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวก็ดี จำเลยกระทำไปในฐานะผู้ถือหุ้นและฐานะส่วนตัวในวาระเดียวกัน จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำไว้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8495/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิเรียกร้องหนี้บางส่วน และอำนาจศาลแก้ไขคำพิพากษาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้มิได้มีการฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายแสดงเจตนาสละสิทธิเรียกร้องในหนี้บางส่วนที่มีต่อจำเลยทั้งสอง โดยยังติดใจในหนี้อีกเพียง 500,000 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายอีก ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 2,352,243 บาท แก่ผู้เสียหาย และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องโดยพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ผู้มิได้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนอง, สิทธิเรียกร้องหนี้, เจตนาลวง, การกระทำโดยสุจริต, ข้อจำกัดดอกเบี้ย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดต่อหนี้ที่เกิดขึ้น
จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 8 กันยายน 2547 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2556 และมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2556 จนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์รับว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าโจทก์โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวดๆ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิด จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้หนี้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2) และมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากยังอยู่ในเวลาสองปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1087

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5554/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 3-5 ร่วมรับผิดชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยโจทก์มีหลักฐานการรับเงิน และศาลแก้ไขจำนวนหนี้ให้ถูกต้อง
การส่งเอกสารภาษาต่างประเทศต่อศาล ไม่จำต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทยเสมอไป นอกจากศาลสั่งให้ทำคำแปล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46 วรรคสาม เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐานที่รับฟังประกอบกับพยานอื่นที่โจทก์นำสืบ และตามเอกสารมีคำแปลที่เพียงพอแก่การพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ำประกันหนี้ - การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ทำให้การค้ำประกันสิ้นผล - ผู้ค้ำประกันยังคงมีหน้าที่รับผิด
จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ความว่า ตามที่จำเลยที่ 1 รับจ้างปรับปรุงตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้ตกลงสั่งซื้อสินค้าและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งม่านม้วนระบบมอเตอร์พร้อมผ้าตามใบสั่งซื้อเลขที่ PO.550523004 และ PO.550526001 ลงวันที่ 23 และ 26 พฤษภาคม 2555 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าและค่าติดตั้งงานดังกล่าวแก่โจทก์ได้ตามกำหนดเป็นเหตุให้งานสะดุดหยุดลง เพื่อให้งานสั่งสินค้าและติดตั้งสินค้าดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จำเลยที่ 3 ตกลงเข้าค้ำประกันการชำระหนี้และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามใบสั่งซื้อดังกล่าวในวงเงิน 3,474,995.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายโดยไม่จำกัดเวลาจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยจนครบถ้วนเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคารได้ขอสินเชื่อจากจำเลยที่ 2 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในโครงการปรับปรุงและตกแต่งอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง โดยขอโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้งหมดที่พึงจะได้รับตามสัญญาจ้างเหมาทุกจำนวนและทุกงวดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่างานจำนวน 205,529,194.72 บาท โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินทุกงวดทุกจำนวนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยตรงตามข้อสัญญา จะเห็นว่า มูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มีที่มาแห่งมูลหนี้ต่างกัน การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องสำหรับเงินทุกงวดทุกจำนวนที่มีมูลค่างานของโครงการเป็นเงิน 205,529,194.72 บาท ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญาว่าจ้างรับเหมาช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และไม่อาจถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะเป็นหนี้คนละส่วน ต่างข้อตกลงและต่างสัญญากัน เมื่อหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้เดิมและเป็นหนี้ประธานไม่ระงับสิ้นไป โดยไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2718/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสวมสิทธิเรียกร้องหนี้: หนังสือมอบอำนาจและการนิยาม 'ลูกหนี้' ในสัญญาโอนสิทธิ
ตามหนังสือรับรองกรรมการบริษัทผู้ร้องมีจำนวน 10 คน ในจำนวนนี้มี บ. กับ ก. เป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วย โดยกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทมีผลผูกพันผู้ร้องเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องโดย บ. กับ ก. ซึ่งเป็นกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัททำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 25 มีนาคม 2558 มอบอำนาจให้ ฤ. หรือ ศ. หรือ ส. หรือ ม. หรือ ว. หรือ น. มีอำนาจลงนามในสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่างโจทก์ในคดีนี้กับผู้ร้อง โดยมิได้ระบุเงื่อนไขว่า ผู้รับมอบอำนาจจะต้องร่วมลงนามด้วยกันสองคน หรือต้องประทับตราสำคัญของบริษัทผู้ร้องด้วย ดังนั้น โดยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว เมื่อ ส. ผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ลงนามในสัญญาโอนสินทรัพย์แทนผู้ร้อง สัญญาโอนสินทรัพย์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สัญญาโอนสินทรัพย์ระบุว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผู้โอน ประสงค์จะโอนสินทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนและผู้รับโอนประสงค์จะรับโอนสินทรัพย์จากผู้โอน โดยมีค่าตอบแทนการโอนสินทรัพย์ และข้อ 1 ของสัญญาดังกล่าว ได้นิยามคำว่า "สินทรัพย์" หมายถึง สิทธิเรียกร้องและผลประโยชน์ทั้งปวงที่ผู้โอนมีต่อลูกหนี้ตามสัญญาสินเชื่อและสัญญาอุปกรณ์ และผู้โอนตกลงโอนให้แก่ผู้รับโอนตามสัญญานี้ กับให้นิยามคำว่า "ลูกหนี้" หมายถึง ลูกหนี้ชั้นต้น ผู้ค้ำประกัน ผู้จำนอง ผู้จำนำ ผู้รับสภาพหนี้ และบุคคลอื่นใดซึ่งต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือแทนลูกหนี้ตามสัญญาสินเชื่อ หรือสัญญาที่บุคคลดังกล่าวข้างต้นทำไว้ หรือมีภาระผูกพันกับผู้โอน ตามนิยามดังกล่าว เมื่อบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินที่โอนระบุจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ จึงย่อมหมายรวมถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นบุคคลซึ่งต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ด้วย ดังนั้น ตามสัญญาโอนสินทรัพย์ หนี้ในส่วนของจำเลยทั้งสามจึงโอนมายังผู้ร้องแล้ว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4826/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คชำระหนี้ที่มีส่วนของหนี้ที่ไม่บังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นความผิด พ.ร.บ.เช็ค
หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินต้องเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์จ่ายเงินกู้ให้แก่จำเลยและโอนเงินจ่ายให้ผู้รับเหมาช่วงของจำเลย รวมเป็นเงินที่จ่ายไปยังไม่ครบจำนวนตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายในจำนวนเงินกู้เพียงเท่าที่โจทก์ได้จ่ายไปจริง เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายทั้งห้าฉบับรวมเป็นเงินเต็มตามจำนวนในสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งรวมมูลหนี้ทั้งหมดโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ว่ามีเช็คฉบับใดออกเพื่อชำระเงินกู้ส่วนที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยและโอนจ่ายให้ผู้รับเหมาช่วงของจำเลยไปแล้ว และเช็คฉบับใดมีหนี้ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดอยู่ เมื่อเช็คพิพาทสองฉบับเป็นเช็คที่รวมอยู่ในเช็คทั้งห้าฉบับดังกล่าว โดยมีมูลหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายระคนปนกันอยู่ในจำนวนเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วย จึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีส่วนของหนี้ที่ไม่มีอยู่จริงและไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายรวมอยู่ในเช็คพิพาท การออกเช็คพิพาทสองฉบับของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง, 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4675/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้สิ้นสุดก่อนฟ้องโกงเจ้าหนี้ ทำให้คดีอาญาไม่มีมูลความผิด
อุทธรณ์ข้อหนึ่งของโจทก์ร่วมโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ร่วมยังเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ แต่ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งมาวินิจฉัยในคดีอาญาเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46 ไม่อาจนำมาผูกพันคู่ความในคดีอาญาได้ ซึ่งเป็นการไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอีก เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ อันมีองค์ประกอบความผิดเบื้องต้นเป็นประการสำคัญว่า ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ก่อน เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในคดีแพ่งโดยฟังว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในมูลหนี้ที่โจทก์ร่วมฟ้องแพ่ง โจทก์ร่วมและจำเลยย่อมไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน คดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้จึงไม่มีมูลความผิดไปด้วยในตัว มิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งมาวินิจฉัยในคดีอาญาอันเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 46
of 145