คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟ้องซ้ำ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,459 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6138/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำคดีปล่อยทรัพย์ยึด แม้มีคำพิพากษาเพิกถอนสัญญาซื้อขายแล้ว ศาลยกคำร้องตามหลักการห้ามฟ้องซ้ำ
คดีก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์โดยอ้างเหตุว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนด้วยการทำสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ชำระราคาเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารแล้วนำเงินมาแบ่งปัน คดีถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามคำร้องก็ตาม แต่ผู้ร้องจะร้องขอให้ปล่อยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึด ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดไว้เป็นคดีนี้อีก แม้ผู้ร้องจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องเป็นโจทก์ ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาท แต่ศาลชั้นต้นก็ฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีนี้กล่าวอ้างว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนด้วยการทำสัญญาขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ชำระราคา เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารแล้วนำเงินมาแบ่งกัน แล้วพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์คดีนี้จึงเป็นการอ้างเหตุอย่างเดียวกันว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึด แต่ผู้ร้องให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนด้วยการทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ชำระราคา เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารแล้วนำเงินมาแบ่งกันนั่นเอง เหตุที่ผู้ร้องอ้างในคดีนี้จึงยังคงอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์คดีนี้ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์คดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6107/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: การฟ้องหนี้เดิมที่ศาลเคยวินิจฉัยแล้ว แม้ศาลจะยกเว้นบางส่วน โจทก์ต้องอุทธรณ์ ไม่ใช่ฟ้องใหม่
คดีก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยเป็นหนี้บัตรเครดิตและต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงมูลหนี้เดียว คำขออื่นให้ยกนั้น เท่ากับศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้สินเชื่อพร้อมใช้และสินเชื่อบุคคล หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีก่อนไม่ถูกต้องอย่างไร โจทก์ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์จนคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์นำมูลหนี้สินเชื่อพร้อมใช้และสินเชื่อส่วนบุคคลมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.1059/2554 ของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6008/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องบังคับจำนองหลังมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทรัพย์สิน การฟ้องซ้ำหรือไม่
พิเคราะห์ตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย คำให้การจำเลยร่วม และคำร้องขอให้ชี้ขาดข้อกฎหมายแล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 เพื่อชำระหนี้ที่บริษัท ท. ได้กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำนวน 30,000,000 บาท และได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวเพื่อเป็นประกันหนี้ และโจทก์เป็นผู้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าหนี้ ส่วนจำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากบริษัท ท. แม้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องได้ความว่า ก่อนฟ้องคดีนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ได้เคยฟ้องบังคับคดีตามสัญญาจำนองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 และคดีหมายเลขแดงที่ 861/2540 ระหว่าง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โจทก์กับบริษัท ท. ที่ 1 พ. ที่ 2 จำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในคดีนั้นร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี หากไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน และโจทก์ได้เข้าเป็นคู่ความแทนที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โจทก์ในคดีดังกล่าวแล้ว แต่คดีดังกล่าวเป็นการฟ้องบังคับให้ชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองเอาจากบริษัท ท. และ พ. จำเลยทั้งสองของคดีดังกล่าว โดยไม่ได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ให้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย แม้ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2551 ได้มีการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยกับบริษัท ท. ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 311/2541 ของศาลชั้นต้นและที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้โอนคืนกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่จำเลยไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว และไม่ใช่ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่บริษัท ท. ลูกหนี้ตามคำพิพากษา คำฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการฟ้องบังคับเอาจากจำเลยในฐานะผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดจำนองไปภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 และคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดจำนอง สิทธิและหน้าที่ของจำเลยเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยไม่เกี่ยวกับบริษัท ท. จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว ดังนั้น คดีนี้กับคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีประเด็นแห่งคดีที่แตกต่างกัน คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
ส่วนที่ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวเพื่อบังคับคดีในคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ระหว่าง อ. โจทก์ กับบริษัท ภ. ที่ 1 บริษัท ท. ที่ 2 จำเลย โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต นอกจากนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้บังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองรายนี้ติดภาระจำนองไปด้วยในคดีหมายเลขดำที่ 1342/2549 หมายเลขแดงที่ 412/2540 (คดีหมายเลขแดงที่ ขบ.1/2550) โดยโจทก์ยื่นคำร้องเข้าไปในคดีนี้เพื่อใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนในการซื้อทรัพย์จำนอง ศาลอนุญาต ซึ่งเป็นการขอใช้สิทธิรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น หากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองและขอใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนในวันขายทอดตลาดและหากโจทก์ในคดีดังกล่าวสละสิทธิในการบังคับคดีแทนหรือไม่ดำเนินการในการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด โจทก์ขอดำเนินการบังคับคดีแทนเท่านั้น แต่ปรากฏว่าต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 มาเป็นชื่อของจำเลย ต่อมาโจทก์ในคดีนี้ได้ขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองในคดีของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ระหว่าง ต. โจทก์ พ. ที่ 1 ณ. ที่ 2 บริษัท ภ. ที่ 3 จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวนี้ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น และต่อมามีการถอนการบังคับคดีและจำเลยในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 ยังไม่ได้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง ยังคงมีภาระหนี้คงค้างต้น 30,000,000 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระทั้งสิ้น 119,732,739.34 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 149,732,739.34 บาท ดังนั้นในคดีดังกล่าวจึงไม่มีการบังคับคดีอีกต่อไป และคำฟ้องในคดีนี้โจทก์ฟ้องให้บังคับจำนองจากจำเลยในฐานะผู้รับโอนไปซึ่งทรัพย์จำนองในส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5999/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีสัญญาซื้อขายของรัฐวิสาหกิจที่ไม่แสวงหากำไร และประเด็นฟ้องซ้ำ
โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีการดำเนินการด้านวิจัยสาขาต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเน้นในการให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการ การวิจัยมิใช่เป็นการประกอบการค้าซึ่งมุ่งแสวงหากำไรเป็นปกติธุระ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ทั้งโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา มิใช่ฟ้องเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น หรือเงินที่ได้ออกทดรองไป จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่กำหนดอายุความ 2 ปี และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4163/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-สัญญาประนีประนอมยอมความ: ค่าเช่าค้างชำระถูกปิดปากจากสัญญา
คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.1406/2559 ของศาลจังหวัดมีนบุรีซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มอบอำนาจหรือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าห้องชุดพิพาทกับโจทก์ โจทก์บุกรุกเข้าอาศัยในห้องชุดพิพาทเป็นการละเมิดจำเลยที่ 2 ขอให้โจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องชุดพิพาทพร้อมชดใช้ค่าเสียหาย ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าห้องชุดพิพาทกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมหรือไม่ และโจทก์อยู่อาศัยในห้องชุดพิพาทเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยที่ 2 หรือไม่ ซึ่งตามสัญญาเช่า โจทก์ได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าจนครบกำหนดเวลาเช่า ต่อมาโจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจะไม่ได้ตกลงกันในทุกประเด็นที่มีการฟ้องก็ตาม ก็ถือได้ว่ามีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้วและศาลจังหวัดมีนบุรีได้พิพากษาตามยอมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 ที่ระบุว่า โจทก์และจำเลย (จำเลยที่ 2 และโจทก์คดีนี้) ไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ กันอีกย่อมหมายรวมถึง ค่าเช่าล่วงหน้าตามสัญญาเช่าที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วย โจทก์จึงถูกปิดปากด้วยข้อสัญญาดังกล่าวมิอาจฟ้องค่าเช่าล่วงหน้าที่โจทก์ยังอยู่อาศัยในห้องชุดพิพาทไม่ครบกำหนดได้ และการที่โจทก์ฟ้องขอเรียกค่าเช่าล่วงหน้าดังกล่าวเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำเฉพาะจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าห้องชุดพิพาทกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เจ้าของห้องชุดพิพาท ในลักษณะจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทำสัญญาเช่ากับโจทก์ มิใช่กระทำเป็นส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าตามสัญญาเช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1858/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คำพิพากษาถึงที่สุดผูกพันคู่ความ ห้ามฟ้องประเด็นเดิมอีก
คดีก่อนมีประเด็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสิบห้าได้หรือไม่ ซึ่งที่ดินพิพาทในคดีก่อนก็คือที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันกับคดีนี้ แม้คดีนี้โจทก์จะเปลี่ยนรูปคดีจากเรื่องขับไล่และเรียกค่าเสียหายเป็นการเรียกทรัพย์คืนและเรียกค่าเสียหาย แต่ก็มีคำขอให้จำเลยออกไปจากสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทแปลงเดิมเหมือนคดีก่อน ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่า ประเด็นข้อนี้มีอยู่แล้วในคดีก่อนเป็นแต่ศาลยังมิได้วินิจฉัย เพราะศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำท้า แม้ในคดีก่อนศาลจะมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีโดยตรง เนื่องจากคู่ความตกลงท้ากันเฉพาะผลคดีแพ่งเรื่องอื่นเป็นข้อแพ้ชนะ แต่เมื่อศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีก่อนไปตามคำท้าของคู่ความให้โจทก์แพ้คดีโดยพิพากษายกฟ้องไปแล้ว คำพิพากษาคดีก่อนย่อมผูกพันคู่ความว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้ได้อีก มิฉะนั้นผู้ที่แพ้คดีตามคำท้าก็จะนำคดีมาฟ้องร้องใหม่อีกโดยไม่จบสิ้น อีกทั้งคู่ความในคดีก่อนและคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน และคดีก่อนได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีที่มีประเด็นเดียวกันและคดีถึงที่สุดแล้วมาฟ้องใหม่อีกเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 อีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-กรรมเดียว: คดีอาญาเชื่อมโยงกัน ศาลสั่งระงับคดีจำเลยเนื่องจากเคยถูกตัดสินแล้ว
เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่เป็นยกฟ้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (1) แล้ว สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาใหม่ดังกล่าวต้องพิจารณาตามมาตรา 15 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 13 แล้ว พนักงานอัยการผู้ร้องหรือโจทก์ในคดีเดิมซึ่งเป็นคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ดังนี้ (1) ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้นต่อศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด..." ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวแล้วคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด จำเลยที่ 8 ไม่อาจฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 8 มาจึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ที่บริษัท พ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 8 คดีนี้ (คือจำเลยที่ 9 ในคดีดังกล่าว) กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ส่วนคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 8 ร่วมกับพวก กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 8 กับพวก ร่วมกันกระทำความผิด 3 กรรม แม้การกล่าวข้อความหมิ่นประมาทจะกระทำขึ้นหลายคราวต่างวันต่างเวลาแต่การกระทำในแต่ละคราวมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้บริษัท พ. หลงเชื่อและตกลงเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับส่งมอบเงินจำนวน 50 ล้านบาท ให้จำเลยที่ 8 กับพวก อันถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 8 กับพวก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวมิใช่หลายกรรม เมื่อได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือนั้น ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 8 ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่การกระทำของจำเลยที่ 8 ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ถือเป็นเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 8 มิต้องรับโทษ และเป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งย่อมมีผลถึงผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 (1) ทำให้คดีต้องห้ามฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225 ทั้งเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและให้สอดคล้องกับผลในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2105/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2618/2561 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยอื่นตามคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเป็นฟ้องช้ำซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3956/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: หน่วยงานรัฐรับผิดละเมิดเจ้าหน้าที่ – ผูกพันตามคำพิพากษาเดิม
การที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนแล้วมาฟ้องคดีนี้ แม้จำเลยที่ 2 คดีนี้และจำเลยในคดีก่อนจะเป็นนิติบุคคลแยกจากกัน แต่จำเลยในคดีก่อนและจำเลยที่ 2 คดีนี้ ต่างเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ พ. (จำเลยซึ่งในคดีนี้) เป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับจำเลยในคดีก่อน เมื่อโจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดของ พ. ซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน และในคดีก่อนได้ถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้ โจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 อันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำคดีอาญา และความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร การกระทำความผิดร่วมกัน
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 กฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจพิเศษในการสั่งลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องขอหรือเป็นโจทก์ฟ้อง ส่วนความผิดของจำเลยคดีนี้เป็นเรื่องปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมโดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงโทษจำคุกจำเลยและคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ย่อมไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
of 146