คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้จัดการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 156 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1355/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของนิติบุคคลอาคารชุด: การฟ้องร้องความเสียหายโดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม
โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุด มี ธ. เป็นผู้จัดการ ธ. จึงเป็นผู้แทนของโจทก์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35 ประกอบมาตรา 36 (4) มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีแทนโจทก์ คำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทำให้เอกสารของโจทก์เสียหาย อันเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีแทนโจทก์เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ ไม่ใช่เป็นการฟ้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดโจทก์ จึงไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการและ/หรือที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมตามข้อบังคับดังกล่าว โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10159-10160/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี: การมอบอำนาจผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ
พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 มาตรา 23 ที่แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2549 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2549 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของธนาคารตามที่คณะกรรมการธนาคารหรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย วรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จัดการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนธนาคารตามมาตรา 19 ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดกระทำการแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร และมาตรา 19 บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการธนาคารเป็นผู้แทนธนาคารในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก แต่คณะกรรมการธนาคารจะมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารหรือผู้จัดการเป็นผู้แทนก็ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับขณะที่โจทย์ยื่นฟ้องแตกต่างจากบทบัญญัติเดิมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 317 ข้อ 10 ที่แก้ไขความในมาตรา 23 ตามที่โจทก์บรรยายอ้างมาในฟ้องซึ่งวรรคหนึ่งบัญญัติว่า ให้ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการธนาคารหรือคณะกรรมการบริหารจะมอบหมาย และวรรคสองบัญญัติว่า ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้จัดการเป็นผู้แทนธนาคารเพื่อการนี้ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้พนักงานของธนาคารผู้ใดปฏิบัติกิจการใดแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเนื่องมาจากคณะกรรมการธนาคารของโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ข. ผู้จัดการมีอำนาจดำเนินการแทน และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาเพียงว่าคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งให้ ข. ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 โดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการธนาคารของโจทก์มอบอำนาจให้ ข. ดำเนินการแทน ซึ่ง ข. จะมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการธนาคารของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 มาตรา 23 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการธนาคารของโจทก์มอบอำนาจให้ ข. ดำเนินการแทนได้ การที่ ข. ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่มีอำนาจ ถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5274/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด: ต้องใช้มติที่ประชุมใหญ่ ไม่ใช่ฟ้องศาลโดยตรง
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35/3 เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการพ้นตำแหน่งของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อเข้าเหตุในหลายกรณี มิใช่เป็นบทกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของบุคคลในการถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแต่อย่างใด เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไปแล้วด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังที่ได้บัญญัติไว้ทำให้ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ผู้จัดการได้อีกต่อไป จึงขอให้บังคับห้ามมิให้จำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ฟ้องโจทก์จึงมิเกี่ยวด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในอันที่จะนำมาใช้บังคับแก่คดี
อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 49 (1) ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ต้องดำเนินการด้วยมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด ซึ่งหากจำเลยจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 หรือข้อบังคับประการใด โจทก์และเจ้าของร่วมก็พึงต้องดำเนินการเพื่อให้มีการถอดถอนจำเลยทางมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่บุคคลใดจะมาใช้สิทธิทางศาลได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และเมื่อตามคำฟ้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะฟ้องขอให้บังคับห้ามมิให้จำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12798/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันต่อความเสียหายจากทุจริตของพนักงาน
จำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสถานีบริการน้ำมันเพื่อสวัสดิการข้าราชการศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 เมื่อการปฏิบัติงานสวัสดิการภายในดังกล่าวตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.2530 ข้อ 13 ให้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แม้จะไม่ได้มีค่าตอบแทนพิเศษและไม่มีคำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับ กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการไว้แต่หน้าที่ผู้จัดการโดยทั่วไปย่อมจะต้องดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของพนักงานหรือลูกจ้างในสถานีบริการน้ำมันนั้นให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย รวมทั้งเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการตามสมควรแก่กรณี แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เสนอรายงานที่ตนเองพบข้อสงสัยไปตามลำดับชั้นเพื่อให้มีการจัดการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความไม่สุจริตของพนักงานขาย ทั้งได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มิได้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานขายหรือเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20824/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาของผู้จัดการจากเหตุประมาทจากการจัดการสารเคมีอันตรายและการยกเลิกกฎหมายเก่า
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 166 บัญญัติว่า บรรดาประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ. นี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ เมื่อยังไม่มีกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ. นี้เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างหรือความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายใช้บังคับ หรือมีการยกเลิกมาตรการเพื่อความปลอดภัยในกิจการเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายตามประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2540 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2534 ซึ่งออกตามความใน ข้อ 2 (7) และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 จึงยังคงมีผลใช้บังคับ อย่างไรก็ตาม แม้โจทก์จะนำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีก๊าซประเภทสารเคมีอันตรายไว้ในครอบครองโดยไม่แจ้งการครอบครองตามแบบที่อธิบดีกรมแรงงานกำหนดต่ออธิบดีกรมแรงงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และไม่จัดให้ลูกจ้างระดับบริหารเข้ารับการฝึกอบรมและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการตามฟ้องโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 103, 148 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แต่เป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2 (7) และข้อ 8 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 3 ฉะนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานมีก๊าซประเภทสารเคมีอันตรายไว้ในครอบครองโดยไม่แจ้งรายละเอียดต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และฐานไม่จัดให้ลูกจ้างระดับบริหารเข้ารับการอบรมและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารของสถานประกอบกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16263/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการฝ่ายยานยนต์มีความรับผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดนิติบุคคล แม้ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจจดทะเบียน และการกระทำหลายขั้นตอนถือเป็นความผิดหลายกรรม
พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2539 มาตรา 42 กำหนดผู้รับผิดไว้คือ บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานซึ่งหมายความรวมถึงบุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในกิจการงานที่ตนต้องรับผิดชอบ มิได้หมายถึงเฉพาะเพียงแต่ผู้แทนของนิติบุคคล ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนของนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายยานยนต์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการบำรุงรักษาซ่อมแซมรถยนต์ จัดเตรียมสัญญาซื้อขาย จัดทำสัญญาเช่าพร้อมเอกสารประกอบ รวมทั้งทำหลักฐานการตรวจสภาพและการรับมอบรถ งานในหน้าที่ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 จึงเป็นงานส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้เสียหายตามบทกฎหมายดังกล่าว
การกระทำในวันเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันอาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ หากลักษณะของความผิดเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกัน ต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกัน การที่จำเลยที่ 2 ลงแบบฟอร์มกับบันทึกข้อมูลรถยนต์ใหม่ลงในแฟ้มข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์และการทำสัญญาเช่า เป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12066/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนเชิด-ผูกพันจำเลย: การซื้อขายสินค้าผ่านผู้จัดการ/กรรมการ จำเลยต้องรับผิด
ถ. ผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลย ติดต่อกับโจทก์ขอซื้อผลิตภัณฑ์นม โดยโทรสารจากสำนักงานจำเลย หลังจากโจทก์ส่งสินค้าครบแล้ว จำเลยร่วมซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เห็นได้ว่า ถ. และจำเลยร่วมต่างเป็นผู้กระทำการแทนจำเลย หาก ถ. ขายหรือสั่งซื้อสินค้าโดยอ้างว่ากระทำไปในฐานะผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยบุคคลภายนอกย่อมเข้าใจได้ว่า เป็นการสั่งสินค้าโดยจำเลย ส่วนจำเลยร่วมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลย เมื่อจำเลยร่วมแสดงเจตนาในการขายหรือซื้อสินค้ากับบุคคลภายนอก บุคคลนั้นย่อมเข้าใจได้ว่าตนซื้อขายสินค้ากับจำเลย การกระทำของ ถ. และจำเลยร่วมจึงเป็นตัวแทนเชิดของจำเลย จำเลยต้องผูกพันในการซื้อขายสินค้ากับโจทก์ ส่วนที่ใบสั่งซื้อสินค้าที่ส่งให้โจทก์ไม่มีลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งซื้อก็เป็นระเบียบภายในของจำเลยเท่านั้นและการส่งสินค้าให้แก่บุคคลอื่น ในสถานที่อื่นมิใช่ที่ทำการของจำเลยไปตามที่ระบุในใบสั่งซื้อสินค้า ก็เป็นปกติของการค้าขายที่ผู้ซื้ออาจขายต่อหรือนำสินค้าไปส่งต่อตามทางธุรกิจของตน จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8537/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการดำเนินคดีแทนผู้เสียหายที่ถึงแก่ความตาย: ผู้จัดการแทนไม่ใช่ผู้เสียหายจริง จึงไม่มีสิทธิฟ้องต่อ
นาย ก. สามีชอบด้วยกฎหมายของนาง ล. ผู้ตายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นาง ล. ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 นาง ล. เป็นผู้เสียหายซึ่งถูกทำร้ายถึงตายและโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการแทนผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) และมาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องแล้วตายลง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาสืบพยานโจทก์ของศาลชั้นต้น การพิจารณาของศาลชั้นต้นก่อนโจทก์ถึงแก่ความตายย่อมไม่เสื่อมเสียไปด้วยความตายของโจทก์ และถือว่าโจทก์ฟ้องนั้นเป็นกระทำการแทนรัฐด้วยส่วนหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่จากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยได้สืบไว้แล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 นั้นชอบแล้ว เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการแทนผู้เสียหายเท่านั้น มิใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงที่ยื่นฟ้องแล้วตายลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้สืบสันดานของผู้เสียหายกับโจทก์ก็ตาม ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์นั้นไม่ชอบ ผู้ร้องไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลย ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยและผู้ร้องที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ส่งมอบเอกสารและเงินให้ผู้จัดการคนใหม่ หากไม่ส่งมอบถือเป็นความผิด
โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของโจทก์ มีหน้าที่นำเงินกองทุนนิติบุคคล เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางฝากธนาคาร จัดทำและเก็บรักษาสมุดรายงานการประชุม เอกสารทางบัญชี บัญชีรายรับรายจ่าย งบประมาณประจำปี งบดุล รายงานประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์แล้ว อ. ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเงินกองทุนนิติบุคคล เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง รวมทั้งเอกสารทั้งหมดแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเงินที่เหลือพร้อมเอกสาร หากคืนเอกสารไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหาย ซึ่งเป็นการเพียงพอให้จำเลยที่ 3 เข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 จะได้รับเงินจากเจ้าของร่วมแต่ละห้องเมื่อใดและกระทำผิดหน้าที่เมื่อใด โจทก์กำหนดค่าเสียหายอย่างไรนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าการแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ชอบ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยที่ 3 ให้การในข้อนี้เพียงว่าที่ประชุมเจ้าของร่วมอาคารชุดที่พิพาทไม่ได้มีมติแต่งตั้งให้ อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ อ. ขอเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนข้อบังคับต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยพลการและไม่มีสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นนี้ ประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องจึงมีว่า ที่ประชุมเจ้าของร่วมของโจทก์มีมติแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีข้อเท็จจริงโต้แย้งกันว่า การประชุมเจ้าของร่วมของโจทก์ในการลงมติแต่งตั้งผู้จัดการของโจทก์ดังกล่าวมีองค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับของโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงฟังว่ามีเจ้าของร่วมของโจทก์เข้าร่วมประชุมจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสามของจำนวนห้องชุดทั้งหมด ทำให้มีองค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับของโจทก์ ซึ่งจะมีผลให้การแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ชอบตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกา แต่ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงนอกประเด็นแห่งคดีที่จำเลยที่ 3 ได้ให้การไว้ แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งคู่ความอาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5884/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเข้าร่วมดำเนินคดีแทนผู้ตาย, อายุความ และความชอบด้วยกฎหมายในการอนุญาตให้ดำเนินคดี
โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบิดาเด็กหญิง ร. มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ก็โดยฐานะเป็นผู้จัดการแทนเด็กหญิง ร. ผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาล โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงแก่ความตาย ส. ภริยาโจทก์ร่วมที่ 2 หามีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2 ตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 29 ไม่ เพราะโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเพียงผู้จัดการแทนเด็กหญิง ร. ผู้ตายเท่านั้น โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยตรง ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. เข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ
of 16