คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนี้สินล้นพ้นตัว

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 157 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2498/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ล้มละลาย: การพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2, การเพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 5, และการพิสูจน์ความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยที่ 3-4
โจทก์ฟ้องกองมรดกของจำเลยที่ 5 โดย ฐ. จำเลยที่ 4 ในฐานะทายาท จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับจำเลยที่ 5 ไม่มีหน้าที่แก้คดีแทน ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์ของจำเลยที่ 5 ที่ตาย หรือว่าตนไม่ยอมรับฐานะเช่นนั้นตามกฎหมาย ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความดังกล่าวและมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 83 วรรคสอง แต่ศาลล้มละลายกลางมิได้ดำเนินการ คงพิจารณาสืบพยานโจทก์ไป จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาสมควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 5 เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (เดิม) และให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในวันฟ้องคดี จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ประกอบ 1087 เมื่อศาลพิจารณาและได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด โดยที่ฟ้องของโจทก์มีคำขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเช่นนี้ โจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ถือได้ว่าโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 โดยโจทก์ไม่จำต้องมีคำขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายในภายหลังอีก
คดีนี้นับแต่เสร็จการพิจารณา ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ครั้นถึงวันนัดจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องอ้างว่าได้เจรจาขอประนอมหนี้กับโจทก์ และขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งออกไปอีกหลายนัด ครั้งสุดท้ายศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2555 อันเป็นเวลาภายหลังเสร็จการพิจารณานานถึง 2 ปีเศษ ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ได้กระทำโดยเร็วตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9928/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการไม่กระทบความรับผิดของผู้ค้ำประกัน และการสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย" ดังนั้น เมื่อบริษัท ส. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้รับอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวย่อมมีผลเฉพาะบริษัทดังกล่าวเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผน ส่วนจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหาหลุดพ้นไปด้วยไม่ เนื่องจากแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากบริษัทดังกล่าวตามแผนซึ่งเมื่อพิจารณาตามมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งที่นำมาชำระหนี้ทำให้หนี้ลดลงไปได้บางส่วน หนี้ส่วนของจำเลยผู้ค้ำประกันย่อมระงับไปเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทดังกล่าวจนครบถ้วน จำเลยจึงต้องมีความรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนที่เหลือตามฟ้องให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท
จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีนำมาขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา และหลังจากนั้นก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไปขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อยและสาขาธนบุรี ก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก จึงต้องข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างในส่วนนี้ได้ว่าตนไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงรับฟังได้ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยยังคงต้องรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามฟ้อง และไม่มีพฤติการณ์อย่างอื่นที่แสดงว่ามีเหตุอื่นที่จำเลยไม่ควรล้มละลายแต่อย่างใด การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีล้มละลาย: การมีหนี้สินล้นพ้นตัว การพิสูจน์ทรัพย์สิน และขอบเขตความรับผิดของคู่สมรส
การยื่นฟ้องและชั้นตรวจคำฟ้องในคดีล้มละลาย ไม่มีกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดคดีล้มละลายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นเอกสารที่ต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้อง ประกอบกับโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาแล้วว่า โจทก์มอบอำนาจให้ว่าที่พันตรี ส. หรือ ข. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ยื่นคำร้องอ้างเหตุที่มิได้ส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เนื่องจากหลงลืมและขอส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลและจำเลยทั้งสี่ ก่อนวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นเวลาประมาณ 1 ปี จำเลยทั้งสี่ย่อมมีโอกาสแก้ไขคำให้การได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบ ดังนั้น แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจะไม่มีหนังสือมอบอำนาจแนบมาด้วยก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์จะเคยนำหนี้ในคดีนี้ไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 862/2549 ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี ขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ โดยโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความคนเดียวกันและคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ก็ตาม แต่ในคดีดังกล่าวประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ ส่วนในคดีนี้ประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ จึงเป็นการยื่นคำฟ้องคนละเรื่องกัน ฟ้องของโจทก์หาเป็นฟ้องซ้อนไม่
ในการฟ้องคดีล้มละลายเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามกระบวนการกฎหมายล้มละลาย โจทก์มีสิทธิที่ฟ้องได้ภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด ส่วนจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ ย่อมมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยได้ตามข้อตกลงในสัญญาแห่งมูลหนี้นั้น ๆ เหตุที่ดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนมากก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสี่ผิดนัดชำระหนี้ แม้หากดอกเบี้ยเป็นเบี้ยปรับในชั้นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ นอกจากนี้ แม้โจทก์จะเคยฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งและขอถอนฟ้อง และจำเลยทั้งสี่คัดค้านก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีล้มละลายอีกได้ ประกอบกับศาลในคดีแพ่งได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเพื่อบีบบังคับแก่จำเลยทั้งสี่ และใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน และหนี้สินอื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 4 ทำหนังสือให้ความยินยอมในฐานะเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 แม้หนี้ดังกล่าวจะไม่ใช่หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสดั่งที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 4 ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวที่จำเลยที่ 4 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้วจึงเป็นหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในหนี้ที่มีต่อโจทก์
หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาวงเงินขายลดตั๋วเงินซึ่งสามารถคิดคำนวณยอดหนี้จนถึงวันฟ้องได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใดโดยหาจำต้องรอให้ศาลในคดีแพ่งพิพากษากำหนดจำนวนหนี้จนคดีถึงที่สุดแล้วนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) เพียงแต่กำหนดว่าหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น โดยหาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ย่อมมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายได้
ก่อนฟ้องโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่โดยยื่นคำขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสี่มีภูมิลำเนาในเขตรับผิดชอบแล้วปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงชำระหนี้ได้ นอกจากนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระหนี้ ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) แล้ว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12339/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์หนี้สินล้นพ้นตัวในคดีล้มละลาย: ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายและการหักล้างหลักฐาน
เมื่อโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการ อายัดเงินที่จำเลยที่ 2 จะได้รับจากการเฉลี่ยทรัพย์ในคดีหมายเลขแดงที่ 299/2546 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการดำเนินการให้ กรณีฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถูกบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ทางนำสืบของโจทก์จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว เนื่องจากการยึดหมายความรวมถึงการอายัดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10781/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ล้มละลาย: การพิสูจน์หนี้สินล้นพ้นตัว และผลของการไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้
มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดชุมพร จำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ถึงแม้ภายหลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยที่ 4 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าทนายความทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยปราศจากอำนาจ และฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นมูลหนี้เดิมของคดีแพ่งดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสี่ยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลจนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย จำเลยทั้งสี่จึงเป็นหนี้โจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้เดิม
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7136/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีล้มละลาย: การมีหนี้สินล้นพ้นตัว, การพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด, และเหตุไม่ควรให้ล้มละลาย
ในการขอแก้ไขคำฟ้องนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติเอาไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม หลังจากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทำนองว่าโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วพบว่าจำเลยมีที่ดิน 4 แปลง ติดจำนองสถาบันการเงินอยู่ หากมีการยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดก็ยังไม่สามารถใช้หนี้ให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง โดยยังมีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 1,000,000 บาท เมื่อคำฟ้องเดิมของโจทก์ครบเงื่อนไขในการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเฉพาะเพียงส่วนที่เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานที่ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เป็นเพียงการขอแก้ไขรายละเอียดอันเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการชอบแล้ว
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 13 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้วให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน" การที่กฎหมายได้บัญญัติเหตุดังกล่าวไว้ก็เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพิจารณาคดีล้มละลายที่จะให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วกว่าคดีแพ่งสามัญ จึงกำหนดให้ศาลนั่งพิจารณาเป็นการด่วนโดยไม่ได้กำหนดวันยื่นคำให้การเหมือนอย่างคดีแพ่งสามัญ ฉะนั้นจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การ จำเลยก็มีโอกาสยื่นได้ก่อนวันนั่งพิจารณา การที่จำเลยยื่นคำให้การภายหลังที่มีการเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้สินล้นพ้นตัว: การทวงถามหนี้โดยชอบ และข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เหตุที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ในครั้งแรกเกิดจากการที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ไปรับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งแรกด้วยแล้ว เมื่อในการส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่ 2 มีผู้รับไว้แทน จำเลยจึงได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาให้ล้มละลาย: การส่งหนังสือทวงหนี้ตามภูมิลำเนาและการสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
ก่อนฟ้องคดีล้มละลายโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2548 เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้นำหนังสือดังกล่าวไปส่งให้จำเลยที่บ้านเลขที่ 5/619 อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย แต่ไม่พบจำเลยและไม่มีผู้ใดรับไว้ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงมีหนังสือให้จำเลยไปรับหนังสือดังกล่าว แต่จำเลยไม่ไปรับหนังสือภายในกำหนด เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงส่งหนังสือคืนแก่โจทก์ หลังจากนั้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้อีกครั้งหนึ่งโดยส่งให้แก่จำเลยตามภูมิลำเนาดังกล่าว ปรากฏว่ามี อ. ซึ่งระบุว่าเป็นย่าของจำเลยเป็นผู้รับไว้แทน ดังนั้นจากพฤติการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เหตุที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ในครั้งแรกเกิดจากการที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ไปรับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งแรกด้วยแล้ว เมื่อในการส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่ 2 มีผู้รับไว้แทน จึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7602/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล้มละลาย: ข้อสันนิษฐานหนี้สินล้นพ้นตัวจากการเสนอประนอมหนี้หลายราย และการผูกพันตามบันทึกข้อตกลง
จำเลยทำบันทึกข้อตกลงระบุข้อความว่า "จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คที่ฟ้องจำนวน 431,103 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนี้จำนวน 1,565,486 บาท ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ และจำเลยจะผ่อนชำระแก่โจทก์" โดยบันทึกดังกล่าวมิได้ระบุว่าจำเลยกระทำการแทนบริษัท ซ. ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเป็นส่วนตัวยอมผูกพันตนเข้าเป็นลูกหนี้ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำนวน 1,565,486 บาท อีกคนหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งคือโจทก์จะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของจำเลยว่าจะชำระหนี้เพียงบางส่วน หนี้ส่วนที่เหลือจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาให้มีผลผูกพันบริษัท ซ. อันจะเป็นเหตุให้การแสดงเจตนาตกเป็นโมฆะตามที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 154 จำเลยจึงต้องผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ตามข้อตกลง จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยหรือบริษัท ซ. คนใดคนหนึ่งได้ การที่โจทก์ไม่เลือกใช้สิทธิบังคับเอาแก่บริษัท ซ. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
โจทก์ตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต ปรากฏว่าไม่พบทรัพย์สินของจำเลยแต่อย่างใด และจำเลยเสนอขอผ่อนชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 อีก 3 คดี กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยเสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) (8) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3915/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล้มละลาย: การโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงหนี้และการสันนิษฐานเรื่องหนี้สินล้นพ้นตัว
จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จำเลยไม่สืบพยานกรณีจึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ส่วนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยได้รับโอนที่ดิน 1 แปลง เพียงพอชำระหนี้ได้นั้น คดีนี้จำเลยขอเลื่อนการนัดฟังคำพิพากษาหลายครั้งเพื่อเจรจาประนอมหนี้กับโจทก์ จนกระทั่งปรากฏว่าเช็คที่ญาติของจำเลยออกให้เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ จึงมีการโอนที่ดินให้แก่จำเลยก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา 3 วัน พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าเป็นการโอนที่ดินให้เพื่อเป็นพยานหลักฐานให้ศาลพิพากษายกฟ้องในคดีล้มละลาย ซึ่งมีผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ค้างชำระตามคำพิพากษาคดีแพ่งอีกต่อไปเนื่องจากพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
of 16