คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อนุญาโตตุลาการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 274 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยผิดสัญญาได้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายจากพยานหลักฐาน ชอบแล้วตามกฎหมาย
การกำหนดค่าเสียหายเป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่างๆ สำหรับข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญามาจากข้อเท็จจริงในสำนวนที่ว่าผู้ร้องไม่ส่งมอบงานงวดที่ 3 ไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 23 มีนาคม 2554 เพื่อปรับปรุงงานงวดที่ 3 ของกรมการค้าภายในและไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 24 มีนาคม 2554 กับคณะกรรมการตรวจรับงานงวดที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับงานมีมติให้ผู้รับจ้างแก้ไขงานงวดที่ 3 ให้เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 หลังจากนั้นคณะกรรมการตรวจรับงานยังประชุมกับคณะทำงานของผู้คัดค้านอีกอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยผู้ร้องไม่เข้ามาดำเนินการใดในงวดที่ 3 ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยเห็นว่าข้อแก้ตัวต่างๆของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงชอบแล้ว การยอบรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาของศาลแพ่งไม่ได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2557/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องตามสัญญา, การยอมรับสภาพหนี้, บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์, ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยปัญหาอายุความว่า ผู้ร้องที่ 2 ไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ตามสัญญาซึ่งไม่ถูกต้องแล้วนับอายุความสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องทั้งสองในฐานะตัวการตัวแทนจึงไม่ถูกต้อง อันเป็นการวินิจฉัยสถานะของคู่ความโดยปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยอายุความเท่านั้น แต่เป็นกรณีปรากฏต่อศาลว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) และศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9610/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลเกี่ยวกับค่าขึ้นศาลในคดีอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามลำดับชั้นศาลตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) - (5)
คดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ มิใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ แต่เป็นเพียงการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในเรื่องการตรวจรับอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. ภาค 3 ลักษณะ 1 ว่าด้วยการอุทธรณ์ ที่ผู้อุทธรณ์ต้องอุทธรณ์ไปตามลำดับชั้นศาล
และจะถือเป็นการอนุโลมว่าผู้ร้องประสงค์จะอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะผู้ร้องมิได้ทำเป็นคำร้องมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์เพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ข้อกฎหมายต่อศาลฎีกา ตามหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติมาตรา 223 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องมายังศาลฎีกา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9477/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: ศาลบังคับได้เฉพาะตามคำขอและคำชี้ขาดเดิม, ไม่อาจเพิ่มดอกเบี้ยเกินกว่าที่อนุญาโตตุลาการตัดสิน
แม้หนี้ตามสัญญาซื้อขายที่มีคำชี้ขาดนี้จะเป็นหนี้เงิน ซึ่งกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ผิดนัด แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ต้องเป็นไปตามข้อเรียกร้อง และคำขอที่ให้ชี้ขาดในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งตามข้อเรียกร้องของผู้ร้องมิได้มีคำขอดอกเบี้ยหลังวันชี้ขาดด้วย และอนุญาโตตุลาการก็ชี้ขาดดอกเบี้ยเฉพาะตามที่ขอ เมื่อผู้ร้องมาขอบังคับตามคำชี้ขาด ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้บังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดนั้นได้ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมีคำขอดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันร้องขอเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จมาท้ายคำร้อง ก็เป็นการขอบังคับเกินไปกว่าคำชี้ขาดที่กำหนดสถานะความรับผิดของผู้คัดค้านจากการผิดสัญญาซื้อขายไว้โดยเฉพาะแล้ว และตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 นั้น ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับเกินคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9476/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ และการแก้ไขค่าเสียหายสกุลเงินต่างประเทศ
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งวาเรน - แฟร์ไอน์ แดร์ ฮามบัวร์เกอร์ เบอร์เซ อี.วี. ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จึงเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ถึงมาตรา 44 เห็นได้แจ้งชัดว่า คู่พิพาทอาจร้องขอต่อศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้ และศาลที่มีเขตอำนาจจะมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดนั้นให้ต่อเมื่อเป็นคำชี้ขาดที่อยู่ในบังคับแห่งสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่ประเทศไทยยอมตนเข้าผูกพันเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 หรือคู่พิพาทซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กระทำขึ้นในต่างประเทศอาจขอให้ศาลประเทศไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวหากสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (1) ถึง (6) บัญญัติได้เท่านั้น แต่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลไทยที่มีเขตอำนาจมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศ การร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงต้องร้องขอต่อศาลในประเทศที่คำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการได้กระทำขึ้นเท่านั้น สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 5 (1) (อี) ในอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติหรือ "UNCITRAL Model Laws" ที่กำหนดไว้ใน Ariticle 34 และ 36 การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 นั้น เฉพาะศาลที่มีการดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลเท่านั้นที่อาจพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอแย้งให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวซึ่งเป็นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกระทำขึ้นในต่างประเทศได้
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระเงินสกุลต่างประเทศโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ถึงกำหนดชำระเงินตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการนั้น ยังไม่ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ที่บัญญัติให้ลูกหนี้ใช้เป็นเงินไทยได้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8808/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันเฉพาะคู่สัญญา การเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลภายนอกสัญญายังคงดำเนินคดีในศาลได้
สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัย ที่โจทก์และจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่สัญญานั้น ย่อมมีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยและเข้าทำสัญญาผูกพันระหว่างกันเท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นเป็นบุคคลธรรมดา หาใช่บุคคลที่เป็นคู่สัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาเพื่อขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์มีสิทธิดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ในชั้นศาลต่อไป
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาตรงกันว่าให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ประกอบกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 กำหนดให้สิทธิเฉพาะคู่กรณีที่มีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการต่อกันเท่านั้น อันถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวขอให้ศาลจำหน่ายคดีในส่วนของตนได้ แม้จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องรับผิดด้วยและเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ก็ตาม แต่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีข้อโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8664/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทหลังคำชี้ขาดเดิม & สัญญาทางปกครอง vs. สัญญาทั่วไป
ปัญหาที่เกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในการทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ใช่ปัญหาที่จะทำให้การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่าอนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดเป็นภาษาไทยขัดกับสัญญาที่ให้ทำเป็นภาษาอังกฤษจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เข้าข้อยกเว้นอันจะไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 45 (1) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
อนุญาโตตุลาการชุดแรกมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องฝึกบินจนแล้วเสร็จ และให้เวลาแก่ผู้ร้องปฏิบัติและส่งมอบงานตามสัญญาแก่ผู้คัดค้านเป็นระยะเวลา 9 เดือน นับแต่วันทำคำชี้ขาด และให้ผู้ร้องติดตั้งอุปกรณ์สำหรับควบคุมกระแสไฟฟ้าแก่ผู้คัดค้านโดยไม่คิดมูลค่าตามที่ผู้ร้องแสดงความประสงค์ และภายหลังจากที่ผู้ร้องปฏิบัติถูกต้องตามคำชี้ขาดแล้วให้ผู้คัดค้านชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญาอีกร้อยละ 10 ของมูลค่างานตามสัญญาแก่ผู้ร้อง โดยสิทธิและหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายนอกจากที่ชี้ขาดไว้เป็นอย่างอื่นในคำชี้ขาดให้เป็นไปตามที่ตกลงกันในสัญญา เมื่อผู้ร้องติดตั้งเครื่องฝึกบินแล้วเสร็จให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าประกันการปฏิบัติตามสัญญาจำนวน 228,850 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินหลักประกันค่าชำระราคาล่วงหน้าจำนวน 1,144,250 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ผู้ร้อง เห็นได้ว่าเป็นการชี้ขาดให้คู่สัญญายังคงมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องฝึกบินต่อไปตามเดิมโดยเพียงแต่กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติตามสัญญาของผู้ร้องขึ้นใหม่ ต่อมาเมื่อการปฏิบัติตามสัญญาหลังจากที่อนุญาโตตุลาการชุดแรกมีคำชี้ขาดนั้นเกิดปัญหาพิพาทระหว่างกันอีกเกี่ยวกับเรื่องค่าปรับตามสัญญา ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดแรกผู้ร้องส่งมอบเครื่องฝึกบินและอุปกรณ์ให้แก่ผู้คัดค้านล่าช้า จึงเกิดปัญหาข้อพิพาทขึ้นใหม่ในเรื่องค่าปรับตามสัญญาซึ่งมิใช่ข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการชุดแรกได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้ แต่เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านนอกจากที่อนุญาโตตุลาการชุดแรกชี้ขาดไว้เป็นอย่างอื่นในคำชี้ขาด การระงับข้อพิพาทจึงต้องเป็นไปตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกันในสัญญา ผู้ร้องย่อมมีสิทธิอาศัยสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องฝึกบินเสนอข้อพิพาทนี้ให้อนุญาโตตุลาการชุดหลังวินิจฉัยชี้ขาดได้ อนุญาโตตุลาการชุดหลังจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับการคืนเงินค่าปรับจำนวน 315,813 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสัญญาได้ หาใช่เป็นการที่อนุญาโตตุลาการชุดหลังมีคำชี้ขาดอันมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือขยายระยะเวลาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดแรกไม่
แม้กองทัพอากาศผู้คัดค้านจะเป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งถือเป็นหน่วยงานทางปกครอง และสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องฝึกบินระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านจะเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของผู้คัดค้านโดยเฉพาะไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานหรือสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7082-7083/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้ต้องขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย แม้มีข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการ การสอบสวนหนี้สินไม่ทำให้เสียเปรียบ
เมื่อลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้ของลูกหนี้ที่ต้องการได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 กล่าวคือจะต้องขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กล่าวไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อผู้ร้องอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้และยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 บัญญัติให้ผู้คัดค้านมีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้ แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินต่อศาล ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวและในการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้นั้น บทบาทของผู้คัดค้านมิได้อยู่ในสถานะเป็นตัวลูกหนี้ แต่เป็นเพียงคนกลางในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานหาข้อเท็จจริงในเรื่องหนี้ทั้งจากฝ่ายของเจ้าหนี้และลูกหนี้ แล้วทำความเห็นเสนอศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่อไป ดังนั้น ลำพังการสอบสวนและความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังไม่มีผลผูกพันเจ้าหนี้ ส่วนการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 12 จะบัญญัติว่า "ความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการตั้งอนุญาโตตุลาการย่อมไม่เสียไปแม้ในภายหลังคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายหรือสิ้นสุดสภาพความเป็นนิติบุคคล ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ" บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บทยกเว้นหลักการในการขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย แต่เป็นบทบัญญัติถึงความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการตั้งอนุญาโตตุลาการว่าไม่เสียไปแม้ภายหลังคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น ผู้คัดค้านจึงยังคงมีหน้าที่ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 ขณะเดียวกันคณะอนุญาโตตุลาการก็ยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้และการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านเป็นคนละส่วนกับการดำเนินการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 ที่ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการโดยด่วน การสอบสวนของผู้คัดค้านจึงไม่ทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบ หรือมีผลกับการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใดไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องงดสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเพื่อรอผลการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ศาลจำหน่ายคดีให้ไปดำเนินการตามสัญญา แม้ฟ้องว่าเป็นการละเมิด
สัญญากู้ยืมเงินกับสัญญาซื้อขายทองคำ มีข้อสัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วหรือเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยยื่นข้อเรียกร้องให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการลอนดอน และต่อมาจำเลยได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการลอนดอน จึงเป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิเลือกที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ทำให้การระงับข้อพิพาทต้องใช้กระบวนการของอนุญาโตตุลาการตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาซื้อขายทองคำ การที่โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญาอนุญาโตตุลาการ
เหตุบกพร่องของสัญญาที่โจทก์อ้างไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมอำพรางหรือกลฉ้อฉล หรือข้อตกลงที่จำเลยให้โจทก์ชำระหนี้เงินกู้ด้วยทองคำโดยกำหนดราคาทองคำที่แน่นอนไว้ล่วงหน้าซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม หรือการกระทำของจำเลยที่ใช้อำนาจต่อรองสูงกว่า จัดทำสัญญาเอาเปรียบโจทก์ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเนื้อหา และความสมบูรณ์ของสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาซื้อขายทองคำ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาโดยตรง อีกทั้งการยกเหตุดังกล่าวถือเป็นการโต้เถียงในเรื่องความมีอยู่ของสัญญาและการมีผลใช้บังคับของสัญญาซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นเรื่องสัญญาหาใช่มูลละเมิด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องอันเป็นเนื้อหาข้อพิพาทซึ่งต้องระงับโดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ และเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำการไต่สวนแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลดังกล่าวจึงชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4107/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสัญญาอนุญาตใช้สิทธิเครื่องหมายการค้า ผลของคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการและอำนาจหน้าที่นายทะเบียน
เดิมจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 74 วรรคสอง แล้ว แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่ แต่เนื้อหาของคำอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวเป็นเพียงการเพิ่มเติมรายละเอียดของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และข้อเท็จจริงอื่นซึ่งได้มีการกล่าวอ้างมาแต่ในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเท่านั้น ซึ่งอุทธรณ์ฉบับเดิมก็ได้มีการกล่าวไว้แล้วเพียงแต่ไม่มีการยกข้อความซึ่งอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไว้หรือข้อความในสัญญาขึ้นกล่าวอ้างไว้ในอุทธรณ์ เพียงแต่อ้างว่ามีรายละเอียดปรากฏอยู่ในหน้าใดของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรืออยู่ในสัญญาข้อใดตามเอกสารที่แนบท้ายมาเท่านั้น อุทธรณ์ฉบับใหม่จึงไม่ใช่การเพิ่มเติมเนื้อหาสาระสำคัญหรือข้อเท็จจริงเข้ามาใหม่ต่างจากอุทธรณ์ฉบับเดิม แต่เป็นการเพิ่มรายละเอียดในอุทธรณ์ฉบับเดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงชอบที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะรับอุทธรณ์ฉบับใหม่ของจำเลยที่ 1 ไว้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเดิมของจำเลยที่ 1 ได้
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้รับอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วต้องแจ้งให้ผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิยื่นคำชี้แจงหรือคำคัดค้าน คงมีแต่ในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่กฎหมายบัญญัติว่า เมื่อได้รับคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาต ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณีทราบเพื่อยื่นคำชี้แจงภายในกำหนดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 74 วรรคสอง ที่ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตทราบเพื่อยื่นคำคัดค้าน จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 โดยผิดระเบียบหรือผิดกฎหมาย
เมื่อโจทก์ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็ได้นำข้อเท็จจริงในคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์มาพิจารณาด้วย ทั้งไม่มีบทบัญญัติตามระเบียบข้อบังคับหรือตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่กำหนดให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องวินิจฉัยตามคำโต้แย้งคัดค้านอุทธรณ์ทุกประเด็น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และคำโต้แย้งคัดค้านของโจทก์เฉพาะประเด็นสำคัญ ถือว่าการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแสดงให้เห็นว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการฉบับที่ 1 สิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้อนุญาตแล้ว ส่วนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิโดยชอบในการบอกเลิกสัญญาแล้ว แต่เนื่องจากมีการนำไปจดทะเบียนและยังไม่ได้รับการเพิกถอนจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า อนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบที่จะวินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวเลิกกันแล้ว เนื่องจากจะกระทบกระเทือนถึงอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าแสดงได้ว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า/บริการ ฉบับที่ 2 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 72
of 28