คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เจ้าหนี้

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,539 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5794/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการได้รับชำระหนี้จากเงินบำเหน็จก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตามกฎหมายสหกรณ์ และผลกระทบจากการละเว้นการใช้สิทธิ
เงินบำเหน็จจากการลาออกจากการรับราชการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายให้สมาชิกนั้น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้สามัญกับโจทก์ตกลงกันว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น จำเลยที่ 1 ยอมให้เจ้าหนี้ที่ผู้จ่ายเงินรายเดือน บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใดที่ทางราชการจะพึงจ่ายแก่จำเลยที่ 1 หักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยและอุปกรณ์แห่งหนี้ตามสัญญากู้นี้ให้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนได้ โดยให้ถือสัญญากู้นี้เป็นหลักฐานในการยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการเพื่อรับเงินและชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะไม่ยกข้ออ้างใดที่จะพึงมีมาเป็นข้อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการ ตามข้อความดังกล่าวแสดงถึงโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกได้ทำหนังสือยินยอมไว้กับโจทก์แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ได้รับชำระหนี้โจทก์ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ให้หักเงินบำเหน็จเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป และผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เป็นลำดับแรก ถัดจากเจ้าหนี้ภาษีอากรและหักเข้ากองทุนที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองระบบสหกรณ์ที่จะดำเนินกิจการส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและสมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้สามัญอันเป็นกฎหมายบัญญัติเพื่อรับรองสิทธิโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบิกความเท็จ-ฟ้องเท็จ: ไถ่ถอนจำนองด้วยเงินใคร? พฤติการณ์ฉ้อฉลเจ้าหนี้
โจทก์ฟ้อง พ. จำเลย และ ล. เป็นคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรีให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนอง จำเลยให้การต่อสู้ว่า พ. ขอให้ ล. นำเงินไปไถ่ถอนจำนองบ้านและที่ดินจากธนาคาร แล้ว พ. กับจำเลยจะเปลี่ยนมาจดทะเบียนจำนองกับ ล. แทน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีดังกล่าวคือการจดทะเบียนจำนองระหว่าง พ. และจำเลยกับ ล. เป็นการประกันหนี้ที่มีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นการแสดงเจตนาลวงฉ้อฉลโจทก์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาคือเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. หรือ ล. คำเบิกความของจำเลยที่ว่าเงินไถ่ถอนจำนองเป็นของ ล. จึงเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. มิใช่ของ ล. ตามที่จำเลยยืนยัน คำเบิกความของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 657/2556 ของศาลแพ่งธนบุรีฟังได้ว่าเป็นเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ
ส่วนความผิดฐานฟ้องเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4218/2557 ของศาลชั้นต้นเมื่อจำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วว่าเงินที่นำไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเป็นเงินของ พ. ไม่ใช่ของ ล. การกล่าวอ้างในคำฟ้องว่าโจทก์ฟ้องเท็จและเบิกความเท็จว่า เงินที่ไถ่ถอนจำนองเป็นของ พ. จึงเป็นการเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องโจทก์ต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3023/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้: ไม่เป็นโมฆะหากมิได้มีการฟ้องขอให้โอนทรัพย์เฉพาะสิ่ง
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 แก่จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ทราบว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาจ้างทำของและต้องบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ก็ตาม แต่เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5919/2555 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาจ้างทำของ มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 131362 และ 133534 อันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 4 จึงมิใช่กรณีที่เป็นการโอนและรับโอนที่ดินพิพาทเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาทตามที่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลไว้อันจะทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หากเป็นจริงดังอ้างก็เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 278/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องดำเนินคดีแทนลูกหนี้เมื่อมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อประโยชน์เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้
พ.ร.บ.ล้มละลาย
พ.ศ.2483 มาตรา 22 บัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
(2) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้
หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
อันเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ได้มากที่สุดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้
และมาตรา 25 บัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง
ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
ก็เห็นได้ชัดว่าในกรณีที่มีคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ผู้ถูกฟ้องนั้น
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า การที่จะให้มีการพิจารณาคดีต่อไปจะยังประโยชน์แก่การจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มากยิ่งกว่าและมิได้ร้องขอให้งดการพิจารณาไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
หาใช่ว่าศาลจะต้องงดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีที่ค้างพิจารณาทั้งหมดออกจากสารบบความได้เพียงสถานเดียว
ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่า
หลังจากถูกฟ้องคดี ต่อมามีการขอเลื่อนคดีเรื่อยมาด้วยเหตุผลว่า รอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่
249/2549 แม้กระทั่งวันที่ 1 กันยายน 2554 เป็นวันนัดพร้อมซึ่งขณะนั้นศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ทั้งสาม
คือจำเลยทั้งสามตั้งแต่วันที่ 23
สิงหาคม 2554 อำนาจการจัดการทรัพย์สินและการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามจึงตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
แต่จำเลยทั้งสามและทนายความจำเลยทั้งสามไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อศาลชั้นต้นจะได้หมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนต่อไป และแม้ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย
วันที่ 20 พฤษภาคม 2556 จำเลยทั้งสามก็คงวางเฉยไม่แถลงแต่อย่างไร
จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราวเมื่อวันที่
30 กันยายน 2556 เพื่อให้ขาดความต่อเนื่องของการพิจารณาคดีที่จะติดตามข้อเท็จจริงในช่วงระยะเวลาสั้นและยิ่งนำรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาพิจารณาประกอบ
ซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ที่ 2 ให้ถ้อยคำว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมายเรียกมาให้สอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ให้การว่าไม่ทราบแน่ชัดว่ามีคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องคดีใดบ้าง
ทั้งที่คดีนี้ทุนทรัพย์สูงถึง 50 กว่าล้านบาท จำเลยที่ 3
ก็เป็นจำเลยคนหนึ่งในคดีแพ่ง การกล่าวให้ถ้อยคำเช่นนั้นย่อมไม่อาจเชื่อได้
ทำให้เชื่อได้ว่า การเลื่อนคดีอย่างต่อเนื่องโดยไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากการวางแผนกระทำการโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ภายในกำหนด ซึ่งจะเป็นการหลุดพ้นจากหนี้และนำไปสู่การปลดล้มละลายในลำดับถัดมา
การจำหน่ายคดีย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียหาย กรณีสมควรมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีแทนจำเลยทั้งสามต่อไป
ไม่มีเหตุจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8212/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีอากร: อำนาจของกรมสรรพากรและสิทธิของเจ้าหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าจำเลยค้างชำระภาษีอากรแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 3,936,443 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) ผู้ร้องมีประกาศให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3818, 3924, 10523, 43391 และ 49960 ซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อบังคับชำระภาษีอากรค้างก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์และจำเลยยื่นคำคัดค้านโดยมิได้ปฏิเสธหนี้ภาษีอากรที่จำเลยค้างชำระ ทั้งปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องฟังได้ว่าจำเลยค้างชำระภาษีอากรดังกล่าวแก่ผู้ร้องจริง ผู้ร้องจึงมีอำนาจสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรได้โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจผู้ร้องในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีอากรโดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลดังเช่นเจ้าหนี้รายอื่น ๆ เมื่อความปรากฏต่อศาลชั้นต้นในภายหลังว่าผู้ร้องยึดที่ดินตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์กลับคืนมาเป็นชื่อโจทก์ไว้ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และไม่อาจถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยอันเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดินแทนการโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์โดยปราศจากภาระติดพัน เนื่องจากที่ดินเป็นของโจทก์ซึ่งมิใช่ลูกหนี้ผู้ร้องจึงไม่ชอบ แม้ผู้ร้องขอเข้ามาในคดีโดยอ้างสิทธิว่าเป็นการร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แต่เนื้อหาตามคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าโจทก์จะบังคับคดีให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ผู้ร้องยึดไว้ก่อนแล้วไม่ได้ ต้องบังคับให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดินแทน เป็นการขอให้ศาลทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคหนึ่ง (เดิม) หาใช่เป็นคำร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ไม่ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องและคำร้องของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปตามรูปเรื่องที่ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และสิทธิของฝ่ายขายในการบอกเลิกสัญญาซื้อขาย
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ผิดนัด 3 งวดติดต่อกัน จำเลยที่ 2 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดแทน ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันข้อ 2 กำหนดว่า "หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โดยมีจำนวนหนี้ค้างชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นสะสมรวมกันตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไป ... ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญากู้เงิน และเป็นผลให้หนี้ตามสัญญากู้ถึงกำหนดชำระทันที และผู้ค้ำประกันยินยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน." และตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีข้อตกลงว่าก่อนจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนแล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทร ข้อ 9 ให้ถือว่าโจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน
การใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนไม่อยู่ในบังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 ข้อ 3 (2) เพราะประกาศดังกล่าวเป็นการควบคุมเฉพาะธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มิได้หมายรวมถึงธุรกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรในการกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในการชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ดังกล่าว ทั้งเมื่อโจทก์ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 2 เจ้าหนี้จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่จำเลยที่ 2 เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระแทนโจทก์ผู้กู้ยืมจึงชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ต้องแก้ไขการผิดสัญญาก่อน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทได้ตามฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการบังคับคดีของผู้รับจำนองที่สวมสิทธิ แม้เจ้าหนี้เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี
ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิบริษัทเงินทุน ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เป็นการตั้งเรื่องโดยขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) มิได้อ้างสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (เดิม) โดยตรง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดตามมาตรา 289 วรรคสอง (เดิม)
แม้โจทก์เดิมคือบริษัทเงินทุน ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นผู้สวมสิทธิไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ แต่การร้องขอคดีนี้ผู้ร้องขอกันส่วน มิได้เป็นผู้ยึดทรัพย์บังคับคดีเอง ย่อมไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่ผู้ร้องขอใช้สิทธิกันส่วนในฐานะเป็นผู้รับจำนองที่ดิน ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองเพราะหนี้จำนองยังไม่ระงับสิ้นไป โดยสัญญาจำนองย่อมระงับสิ้นไปเมื่อมีกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 744 ดังนั้นการที่บริษัทเงินทุน ท. โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็ยังไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้กันเงินส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการชดใช้หนี้จากราคาขายทอดตลาดที่ดินแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเดิม
เจ้าพนักงานบังคับคดียึดและทำการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ไปในคดีนี้ ที่ดินมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เงินที่ได้จากขายทอดตลาดส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายแก่เจ้าหนี้ของจำเลยในคดีนี้แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง ล. โดยผู้ร้องผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต จึงไม่มีสิทธิขอให้จ่ายให้แก่ผู้ร้องได้โดยตรง แต่เนื่องจาก ล. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าว ซึ่งพิพากษาบังคับจำเลยให้จดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 44248 และ 44249 แก่โจทก์ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ใช้ราคา 40,000,000 บาท การที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ถูกยึดและขายทอดตลาดไปในคดีนี้แล้ว มีผลทำให้จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ ล. ได้ ล. จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีดังกล่าวโดยให้จำเลยใช้ราคาที่ดินแปลงนี้แทน เมื่อการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ไปทำให้จำเลยได้เงินมาแทน กรณีถือได้ว่า ล. เจ้าหนี้จำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรส่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 44249 ส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยในคดีนี้แล้ว ไปให้ศาลจังหวัดภูเก็ตดำเนินการในชั้นบังคับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลจังหวัดภูเก็ต โดยนำไปชดใช้ราคาที่ดินที่จำเลยต้องชดใช้แทนให้แก่ ล. โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าวเสียก่อน หากไม่มีราคาที่ดินที่ต้องชดใช้หรือเมื่อชดใช้ราคาที่ดินแล้วมีเงินเหลือเพียงใด ก็ให้จ่ายเงินนั้นแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8683/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของแผนฟื้นฟูกิจการและการผูกพันตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้หลังการยกเลิกการฟื้นฟู
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกหนี้เป็นหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินกับเจ้าหนี้ แต่ต่อมาเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.30/2543 ของศาลล้มละลายกลาง เจ้าหนี้ได้นำหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ และเจ้าหนี้ได้ร่วมกับเจ้าหนี้รายอื่นทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยระบุยอดหนี้ของเจ้าหนี้เป็นเงินจำนวน 45,136,004 บาท สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ดังนั้น แม้ต่อมาคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ก็ตาม แต่ความผูกพันในข้อตกลงต่างๆ ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มิได้สิ้นสุดลง ลูกหนี้และเจ้าหนี้ยังคงผูกพันตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลได้ให้ความเห็นชอบต่อไป
ส่วนหนี้เดิมของเจ้าหนี้นั้น เมื่อตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/75 บัญญัติว่า "คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว..." ดังนั้น แม้ลูกหนี้จะผิดสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ แต่ความรับผิดของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ยังคงมีอยู่ต่อกันตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้จึงไม่อาจกลับไปใช้มูลหนี้เดิมเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่เจ้าหนี้ได้อีกต่อไป เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากยอดหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4579/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของที่ดินที่ยึด หากนำส่งข้อมูลเท็จ ทำให้ผู้ประมูลซื้อได้รับความเสียหาย ถือเป็นการทำละเมิด
การยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 89431 ขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีผู้แทนจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้นำยึด ซึ่งได้ความว่าก่อนนำยึดที่ดินดังกล่าวผู้แทนจำเลยได้สืบหาและตรวจสอบทรัพย์สิน บ. ลูกหนี้ตามคำพิพากษา พบว่า บ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว จึงแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวโดยผู้แทนจำเลยถ่ายรูปที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและจัดทำแผนที่การไปนำส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแนบท้ายรายงานการยึดอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดโดยมีสถานที่ตั้งที่ดินตามแผนที่การไปที่ผู้แทนจำเลยจัดทำแนบท้ายประกาศขายทอดตลาด การที่จำเลยหรือผู้แทนจำเลยต้องนำส่งภาพถ่ายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและจัดทำแผนที่การไปหรือที่ตั้งทรัพย์ประกอบการยึด ก็เพื่อประโยชน์ในการปิดประกาศการยึดและการทำแผนที่ในการประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ก่อนตัดสินใจเข้าประมูลซื้อ ทั้งนี้จำเลยหรือผู้แทนต้องทำข้อตกลงหรือสัญญาต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรับรองว่าทรัพย์ที่นำยึดและจะขายทอดตลาดถูกต้องตามสภาพและทำเลที่ตั้งของทรัพย์ตามภาพถ่ายและแผนที่การไปที่นำส่งตามประกาศขายทอดตลาด และความถูกต้องตามกฎหมายของทะเบียนหรือเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองและภาระติดพันของทรัพย์ที่จะขายทอดตลาด หากเกิดความผิดพลาดหรือเสียหายประการใดจำเลยยินยอมเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งสิ้น ดังนั้น จำเลยต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ที่ยึดให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาด การที่ผู้แทนจำเลยแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวโดยนำส่งภาพถ่ายและแผนที่การไปแสดงสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ผิดไปจากความเป็นจริงจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยในการตรวจสอบสถานที่ตั้งและสภาพทรัพย์ที่ยึด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการประมูลซื้อทรัพย์ในราคาสูงกว่าความเป็นจริง จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ แม้ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำเตือนผู้ซื้อว่าก่อนเข้าสู้ราคาผู้ซื้อมีหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อตามสถานที่และแผนที่การไปที่ปรากฏในประกาศและถือว่าผู้ซื้อทราบถึงสภาพทรัพย์นั้นโดยละเอียดครบถ้วนแล้ว ก็ได้ความว่า โจทก์ได้ไปตรวจสอบที่ดินตามสถานที่และแผนที่การไปตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ที่ดินมีสถานที่ตั้งและสภาพตรงตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเข้าสู้ราคา ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีแล้ว ความเสียหายจึงไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
of 154