คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิเรียกร้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,733 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6093/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ต้องเป็นการเสียหายโดยตรงจากการกระทำผิดนั้น
ศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ตามฟ้องของโจทก์ร่วม และบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์สินของตนให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อมิให้โจทก์ร่วมได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเดือนละ 30,000 บาท ในคดีที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในฐานโกงเจ้าหนี้นั้น มิใช่กรณีที่โจทก์ร่วมรับได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยทั้งสอง โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งในคดีอาญา และขอบเขตการฎีกาของโจทก์ร่วม
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้ในคดีฉ้อโกง ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อคำขอส่วนแพ่งเป็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ดังนั้น อำนาจของพนักงานอัยการที่จะว่ากล่าวเกี่ยวกับคำขอส่วนแพ่งยังคงมีต่อไป และศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยทั้งสามต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าพนักงานอัยการไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนกลุ่มผู้เสียหายรวมทั้งโจทก์ร่วม และไม่วินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ
การฎีกาในปัญหาใด ๆ ต่อศาลฎีกานั้นย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละคน แม้โจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาข้าวเปลือกแก่ผู้เสียหายรวม 81 คน แต่ราคาข้าวเปลือกของผู้เสียหายที่โจทก์ขอมาแต่ละคนต่างแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น โจทก์ร่วมย่อมเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะสิทธิเรียกราคาข้าวเปลือกในส่วนของตนเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ฎีกาโจทก์ร่วมย่อมฎีกาได้เฉพาะส่วนของตน จะฎีกาแทนโจทก์หรือผู้เสียหายคนอื่นมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3414/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงทางเข้าออกที่ดินร่วมกันขัดสิทธิแบ่งทรัพย์ เจ้าของรวมไม่มีสิทธิเรียกร้อง
โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกที่ใช้ร่วมกันและยังไม่มีการตกลงเปลี่ยนแปลงเช่นนี้แล้ว โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมจึงไม่มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์ เนื่องจากมีนิติกรรมขัดอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดกและการครอบครองทรัพย์มรดก: สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกขาดอายุความเมื่อพ้น 10 ปีนับจากเจ้ามรดกตาย
เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธิ น. ซึ่งเป็นทายาทของ จ. เจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยจะเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของ จ. ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 และมาตรา 1748 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19944/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องของผู้ซื้อที่ดินก่อนการยึดทรัพย์: คุ้มครองตามมาตรา 1300 และ 287 ป.วิ.พ.
ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 จำนวน 26 แปลง รวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงด้วย ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และผ่อนชำระที่ดินครบในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ผู้ร้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ทั้งได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18948/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลคดีอาญาเป็นสาระสำคัญของคำท้า หากศาลไม่วินิจฉัยความผิดจำเลย สิทธิเรียกร้องตามคำท้าไม่เกิด
จำเลยแถลงต่อศาลแรงงานภาค 9 ว่าติดใจเพียงประเด็นเดียวว่าโจทก์ทุจริตและกระทำความผิดอาญายักยอกทรัพย์ของจำเลยเท่านั้น และจำเลยสละประเด็นอื่น แล้วโจทก์จำเลยตกลงท้ากันโดยถือเอาข้อแพ้ชนะในคดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องด้วยข้อหายักยอกทรัพย์ว่า "ถ้าหากศาลพิพากษายกฟ้อง" ให้ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายชนะ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ แต่ถ้าศาลในคดีอาญาพิพากษาว่าโจทก์ "มีความผิดและพิพากษาลงโทษในคดีดังกล่าว (คดีอาญา) ไม่ว่าจะลงโทษจำคุก หรือลงโทษปรับ หรือแม้กระทั่งรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ" ให้ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี ให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
การที่จำเลยสละประเด็นตามคำให้การอื่น ยังคงติดใจเพียงประเด็นโจทก์ทุจริตและกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างหรือไม่ ส่วนหนึ่งของคำท้าคือหากโจทก์ถูกศาลในคดีอาญาพิพากษาว่ามีความผิดถือว่าโจทก์แพ้คดี การที่โจทก์กระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ของจำเลยหรือไม่จึงเป็นสาระสำคัญของคำท้า การที่ศาลในคดีอาญาพิพากษายกฟ้องเนื่องจากคดีขาดอายุความ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนด้วยเหตุเดียวกัน คดีอาญาถึงที่สุด ศาลในคดีอาญาไม่ได้พิพากษาว่าโจทก์กระทำผิดอาญาหรือไม่ดังความมุ่งหมายของคำท้า จึงไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะหรือแพ้ตามคำท้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18624/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกคืนเงินลาภมิควรได้: สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ และผลกระทบของคำพิพากษาเดิม
จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ท. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536 จดทะเบียนเลิกบริษัทโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ในระหว่างการชำระบัญชี โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ จึงแจ้งให้ชำระ ขณะนั้น จำเลยที่ 1 ก็รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทแล้วแบ่งคืนเป็นเงินให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลภาษีอากรกลางและยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกเงินคืน จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 รับเงินไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างด้วยกฎหมาย จึงเป็นลาภมิควรได้ที่จะต้องคืนให้แก่บริษัท แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนแทนลูกหนี้รวมทั้งไม่ได้เรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย จึงให้ยกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะฟ้องใหม่ คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์หาได้ไม่ เมื่อสิทธิของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แล้ว โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้หรือ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นมีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การที่โจทก์ได้ฟ้องคดีก่อนภายในอายุความแล้ว แม้ระหว่างนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะนำเงินบางส่วนไปชำระให้แก่โจทก์หรือไม่ก็ตาม ย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง และต่อมาเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีนั้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 ซึ่งอายคุวามครบกำหนดสิบปีไปแล้วโจทก์จึงต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ภายใน 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17822/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความเรียกค่าอากร: การคำนวณอากรผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 นำเข้าสินค้าโดยสำแดงราคาของในใบขนสินค้า 40,446.57 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าราคาต่ำไปจึงให้เพิ่มราคาเป็น 159,228.63 บาท จำเลยที่ 1 ก็ระบุราคาของเพิ่มไว้ในใบขนสินค้าแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์พบว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับการลดอัตราอากรจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 5 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอากรเพิ่ม โดยคิดอัตราร้อยละ 40 ของราคา 40,446.57 บาทแทนที่จะใช้ราคา 159,228.63 บาท ย่อมเห็นได้ว่าเหตุที่จำนวนเงินค่าอากรขาเข้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพิ่มขาดจำนวนไปตามที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องคดีนี้นั้น เกิดจากกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์คิดค่าอากรจากฐานราคาสินค้าผิดพลาด มิใช่เหตุจากการที่จำเลยที่ 1 สำแดงราคาของผิดพลาด สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนด 2 ปี จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17584/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้ที่ไม่ได้ถูกทำร้ายโดยตรง: กรณีผู้ตายสมัครใจวิวาท
ผู้ตายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย จ. มารดาผู้ตายจึงไม่ใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16469/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของรวมเรียกแบ่งทรัพย์สิน: วัตถุประสงค์ใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่ถาวร & เหตุผลความจำเป็น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวรก็เรียกให้แบ่งไม่ได้" และวรรคสามบัญญัติว่า "ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้" ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ว. โจทก์และจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงกันว่าการซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทนี้ห้ามแบ่งแยกกัน แม้จะได้ความจาก ว. ที่ตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า ว. ต้องการให้โจทก์มีที่ทำกินในอาคารพาณิชย์พิพาทร่วมกับจำเลยทั้งสองไปเรื่อย ๆ แต่ ว. เป็นเพียงผู้ออกเงินชำระค่าที่ดินมิใช่เจ้าของรวม จึงถือไม่ได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์ของเจ้าของรวมให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอันมีลักษณะเป็นการถาวร การที่จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้เยาว์ก็มิใช่ข้อห้ามแบ่งแยกและไม่ใช่กรณีไม่เป็นโอกาสอันควรแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่อาจทำกิจการค้าต่อไปได้ และการที่จะให้ผู้อื่นเช่าก็เกิดปัญหากับจำเลยทั้งสองถึงขั้นตกลงกันไม่ได้ จะให้จำเลยทั้งสองครอบครองโดยให้ประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ก็เกิดปัญหาเรื่องจำนวนค่าตอบแทน การถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันต่อไปย่อมไม่เกิดประโยชน์ การที่โจทก์ต้องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงเป็นสิทธิของโจทก์และมีความเหมาะสม โจทก์จึงเรียกให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาทได้
of 174