คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กระบวนการพิจารณา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 154 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1726/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการชดใช้ค่าเสียหายทรัพยากรธรรมชาติจากป่าสงวน การพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการ
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดของผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ ส่วนมาตรา 26/5 เป็นบทบัญญัติกำหนดให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกค่าเสียหาย ตามมาตรา 26/4 เข้ามาพร้อมกับคำฟ้องคดีอาญาอันมีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ มิได้เป็นกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาที่ต้องห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง แม้คดีนี้ตามฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิด เมื่อระหว่างต้นเดือนเมษายน 2559 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2559 อันเป็นวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติ 2,939,692 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ค่าภาคหลวง 1,505.30 บาท เป็นเงินค่าธรรมเนียมซึ่งผู้ทำไม้หรือเก็บหาของป่าจะต้องเสียตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และค่าเสียหายของรัฐ 15,053 บาท เป็นค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มิใช่ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหายหรือเสียหายตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 พนักงานอัยการจึงเรียกค่าภาคหลวงและค่าเสียหายของรัฐโดยอาศัย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/5 เข้ามาในคดีนี้ไม่ได้ คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลชั้นต้นยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลยและโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะทำให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2559 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3969/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากทำลายทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวน: การเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ และกระบวนการพิจารณาคดี
ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 26/4 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลาย หรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น" และมาตรา 26/5 บัญญัติว่า "ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาให้เรียกค่าเสียหายตามมาตรา 26/4 ไปในคราวเดียวกัน" จึงเป็นกรณีที่มาตรา 26/4 กำหนดความรับผิดของผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแก่รัฐ มิใช่โทษในทางอาญา ส่วนวิธีการเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวมาตรา 26/5 กำหนดให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถเรียกค่าเสียหายตามมาตรา 26/4 เข้ามาพร้อมกับคำฟ้องคดีอาญา อันมีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติซึ่งไม่ต้องห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง แม้คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกกระทำความผิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ที่ให้เพิ่มมาตรา 26/4 และมาตรา 26/5 มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสามซึ่งถูกฟ้องว่าร่วมกันทำลายทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติแก่กรมป่าไม้ไปในคราวเดียวกัน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลล่างทั้งสองมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง และมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยยังมิได้สอบคำให้การจำเลยในคดีส่วนแพ่ง และโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะให้เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4637/2567 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การทราบ ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีไม่ชอบ ศาลฎีกาเพิกถอนกระบวนการ
ป.วิ.พ. มาตรา 184 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้ศาลออกหมายกำหนดวันนัดสืบพยานส่งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน" การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 7 แล้วนัดฟังคำพิพากษาไปโดยมิได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยอื่นซึ่งเป็นคู่ความที่มิได้มาศาลในวันที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานทราบ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยอื่นที่ไม่ได้มาศาลในวันกำหนดนัดสืบพยานขาดนัดยื่นคำให้การแล้วก็ตาม เพราะจำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การนี้ยังคงมีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ได้ เพียงแต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคสอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 7 ที่ 32 ที่ 34 และที่ 40 ในวันที่ 25 ถึง 27 พฤศจิกายน 2563 โดยมิได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้มาศาลทราบและต่อมามีการสืบพยานตามที่กำหนดนัดไว้ แล้วศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาโดยมิได้แจ้งวันนัดให้จำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การดังกล่าวทราบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การนัดสืบพยานเป็นต้นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
of 16