คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ความชอบด้วยกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 178 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20741/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของคำฟ้องฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ยังไม่มีกฎกระทรวงออกตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์
ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ เลื่อยโซ่ยนต์หมายความว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง บทบัญญัติดังกล่าว ให้ความหมายของเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ชัดเจนแล้วว่า เลื่อยโซ่ยนต์ หมายถึง เครื่องมือใช้สำหรับตัดไม้ หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และมาตรา 2 ของพระราชบัญญัตินี้ยังบัญญัติให้กฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2545 และสอดคล้องกับความในมาตรา 14 ที่บัญญัติให้ผู้ที่มีเลื่อยโซ่ยนต์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามาขอรับใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 4 เมื่อขณะที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตยังไม่มีกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 3 ดังกล่าวออกมา ไม่ว่ากฎกระทรวงจะมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงลักษณะของเลื่อยโซ่ยนต์ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ยกขึ้นอ้างในฎีกา คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11339/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญาที่ไม่ระบุเวลาเกิดเหตุ หากรายละเอียดในฟ้องทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้
คำว่า เวลา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) หมายความถึง วันเดือนปีด้วย ไม่ใช่หมายความเฉพาะเวลากลางวันหรือกลางคืน ฟ้องที่ไม่ได้กล่าวถึงเวลากลางวันหรือกลางคืนจะไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าฟ้องนั้นกล่าวถึงเวลาพอให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเครื่องปรับอากาศยี่ห้อมิตซูบิชิ พร้อมอุปกรณ์ติดตั้ง จำนวน 59 ชุด รวมราคา 1,482,119.83 บาท ไปจากคลังสินค้าเอกมัยของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 แสร้งขออนุมัติการขายต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุมัติ ณ บริษัทโจทก์ ด้วยการขอเปิดสำเนาใบส่งของ/ใบกำกับภาษี 5 ชุด อ้างว่าลูกค้ารายห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. และห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ประสงค์จะซื้อสินค้า 59 ชุด ข้างต้น ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะลูกค้าโจทก์ทั้งห้ารายดังกล่าวไม่ได้สั่งซื้อสินค้าข้างต้นแต่อย่างใด ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ขอให้จำเลยที่ 2 เปิดบิลขออนุมัติขายสินค้าเครื่องปรับอากาศ 59 ชุดข้างต้น เพื่อประสงค์หักล้างสต๊อกสินค้าในคลังสินค้าเอกมัยที่ขาดจำนวน เมื่ออ่านฟ้องของโจทก์ดังกล่าวโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ในช่วงเวลาใด
ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ขออนุมัติการขายเครื่องปรับอากาศ 59 ชุด ต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุมัติเพื่อหักล้างสต็อกสินค้าในคลังสินค้าเอกมัยที่ขาดจำนวนนั้น ก็เป็นเพียงการบรรยายฟ้องให้เห็นการปกปิดการกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องมีความขัดแย้งกันดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17922/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดบังคับคดี: การแจ้งเจ้าหนี้และการประเมินราคาที่เหมาะสม
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 31910 และ 28735 ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ที่มีต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม (สัญญาประนีประนอมยอมความ) ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด อ. ประมูลซื้อได้ในราคา 301,000,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ เมื่อสำเนาโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีชื่อจำเลยที่ 2 ผู้เดียวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อีกทั้งหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ระบุว่า กรรมการคนใดเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 2 ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 นอกจากนั้น ณ. กรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ ธ. เข้าร่วมขายทอดตลาด และ จ. กรรมการอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบังคับคดีผ่านผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงรายว่า จำเลยที่ 1 สามารถหาเงินซื้อที่ดินและอาคารของจำเลยที่ 1 คืนจากผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ ย่อมแสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดแล้ว ถือได้ว่าเป็นการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดโดยชอบด้วยกฎหมาย การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำเกินสมควร เป็นฎีกาในประเด็นร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15658/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องคดีเกี่ยวกับยาปลอมและเครื่องสำอาง รวมถึงการลงโทษจำคุก
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่า ยาที่จำเลยกับพวกร่วมกันผลิตเป็นยาปลอมโดยใช้วัตถุเทียมในการผลิตยา และเป็นยาที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตไม่ตรงความจริง ส่วนตัวยาที่แท้จริงเป็นอย่างไร และวัตถุเทียมในการผลิตยาคือวัตถุอะไรเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา แม้ตอนต้นของฟ้องโจทก์จะบรรยายว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานปลอมยา แต่ตอนท้ายบรรยายว่า เป็นยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ขัดแย้งกันเพราะยาปลอมก็คือยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และความผิดฐานผลิตยาปลอม ฐานผลิตยาโดยไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฐานผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางปลอม และฐานผลิตเพื่อขายซึ่งเครื่องสำอางควบคุมพิเศษโดยไม่แสดงฉลากให้ถูกต้องครบถ้วนหรือแสดงฉลากที่แจ้งแหล่งผลิตอันเป็นเท็จนั้น ไม่มีองค์ประกอบความผิดว่าทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เมื่อจำเลยผลิตและมีไว้เพื่อขายยาปลอมและยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และผลิตเพื่อขายหรือมีไว้เพื่อขายเครื่องสำอางย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของคำฟ้องชิงทรัพย์ แม้ไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำราคา 7,000 บาท พระเครื่องเลี่ยมทองคำราคา 1,800 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 4,000 บาท กระเป๋าสตางค์ราคา 1,300 บาท ภายในบรรจุบัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ บัตรเอทีเอ็ม ธนบัตร 4,400 บาท รวมเป็นเงิน 18,100 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อาวุธปืนยิงให้ตายหากขัดขืน เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์และให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นการกล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์องค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวอยู่ที่การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ซึ่งเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยลักเอาทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยหรือเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของไปโดยทุจริต เช่นนี้ฟ้องของโจทก์จึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้แล้ว โดยไม่จำต้องระบุชื่อผู้เสียหาย มิฉะนั้นหากไม่ทราบชื่อของผู้เสียหายก็จะทำให้ไม่มีทางที่จะฟ้องคดีในความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ได้ซึ่งไม่ใช่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6137/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญา: การบรรยายรายละเอียดเวลาและตัวบุคคลร่วมกระทำความผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คน ซึ่งเป็นเยาวชนแยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ร่วมกันวิ่งราวทรัพย์เอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยฉกฉวยเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่เก็บรักษาไว้ในเคหสถานซึ่งเป็นร้านอาหารและที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายไปซึ่งหน้า และใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา อีกทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนเวลาเกิดเหตุเป็นเวลากี่นาฬิกาก่อนเวลาเที่ยงคืน และเยาวชนที่ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นใครและแยกไปดำเนินคดีที่ศาลใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีทำร้ายร่างกาย: ประเด็นพยานหลักฐานและความชอบด้วยกฎหมายในการอ้างเหตุป้องกัน
จำเลยอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า พยานโจทก์เห็นและจำจำเลยได้ว่าเป็นคนร้ายที่ใช้ขวานฟันผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หรือไม่ มิได้อุทธรณ์ประเด็นที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์โดยให้เหตุผลในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่าประจักษ์พยานโจทก์ทั้งห้าปากเห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยใช้ขวานฟันผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จริงในขณะเกิดเหตุ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะวินิจฉัยไว้ด้วยว่า ที่จำเลยนำสืบว่า กลุ่มผู้เสียหายก่อเรื่องก่อน จำเลยจึงใช้ไม้ป้องกันตัวนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องสมัครใจทะเลาะวิวาทกัน จำเลยจึงไม่สามารถอ้างเหตุป้องกันได้ ก็เป็นการวินิจฉัยตามข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยเท่านั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4551/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญาฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิ การบรรยายฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นทั้งฉบับซึ่งหนังสือขอความอนุเคราะห์จัดซื้อหนังสือ "ศิลป์แผ่นดิน" 1 ฉบับ และใบเสร็จรับเงิน 1 ฉบับ อันเป็นเอกสารและเอกสารสิทธิของมูลนิธิ ส. ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือขอความอนุเคราะห์จัดซื้อหนังสือ "ศิลป์แผ่นดิน" 1 ฉบับ ไปถึง อ. กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ป. เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้จัดซื้อไว้เป็นที่ระลึกเพื่อหารายได้เป็นทุนให้มูลนิธิ ส. โดยพิมพ์ตราสัญลักษณ์ปลอมของมูลนิธิ ส. และลงลายมือชื่อปลอมของ จ. เหรัญญิกมูลนิธิ ส. ลงในหนังสือขอความอนุเคราะห์จัดซื้อหนังสือ และพิมพ์ตราสัญลักษณ์ปลอมของมูลนิธิ ส. ลงในแบบพิมพ์ใบเสร็จรับเงินดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดข้อความต่างๆ คล้ายคลึงกับใบเสร็จรับเงินของมูลนิธิ ส. ที่แท้จริง ซึ่งความจริงมูลนิธิ ส. มิได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ถึง อ. และมิได้ออกใบเสร็จรับเงิน เพื่อให้ อ. หรือผู้หนึ่งผู้ใดที่พบเห็นหลงเชื่อว่าหนังสือขอความอนุเคราะห์จัดซื้อหนังสือและใบเสร็จรับเงินเป็นเอกสารและเอกสารสิทธิที่แท้จริงของมูลนิธิ ส. เป็นผู้จัดทำขึ้น โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่มูลนิธิ ส. กับ จ. และประชาชนทั่วไป ดังนี้ ฟ้องโจทก์จึงบรรยายแล้วว่ามีการปลอมเอกสารและเอกสารสิทธิอย่างไร และใครเป็นผู้ปลอม เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจพิเศษนายกฯ ตามธรรมนูญการปกครอง 2520 และความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งจำคุก
เมื่อคณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ต่อมาได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งจะได้จัดร่างขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับนี้ ดังนั้น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 จึงเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศและบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้น
เมื่อตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนหรือทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย" ถ้อยคำในมาตรา 27 ที่ว่า ...ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้" ย่อมรวมถึงการสั่งจำคุก ในเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร
เมื่อปรากฏตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ว่า อ. ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกมีเฮโรอีนน้ำหนัก 92 กิโลกรัมเศษ มอร์ฟีน 98 กิโลกรัมเศษ และฝิ่นสุกอีก 81 กิโลกรัมเศษ อันเป็นยาเสพติดให้โทษจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ บ่อนทำลายสุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน ครบองค์ประกอบความผิดที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต อ. ในข้อหาร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายได้ อันเป็นการใช้อำนาจโดยชอบตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2521 จึงชอบด้วยกฎหมาย
แม้การออกคำสั่งดังกล่าวมีผลเป็นการลงโทษจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคล ซึ่งโดยปกติจะกระทำได้โดยอาศัยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการและมาตรา 29 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาญาจักร พ.ศ.2520 จะบัญญัติว่า "ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย" ก็ตาม ก็ไม่ขัดหรือแย้งกันเอง และหาทำให้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 กลับกลายเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายไม่ ทั้งนี้เพราะการใช้อำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 เป็นการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะมีคำสั่งใดๆ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ดังกล่าว ส่วนอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาและตุลาการสำหรับคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น ซึ่งเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากอำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 27
กรณีไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ที่บัญญัติว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย" เพราะการสั่งจำคุก อ. ในคดีนี้เป็นการสั่งโดยชอบด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 หาใช่เป็นกรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ใช้บังคับไม่ ดังนั้น คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2521 จึงชอบด้วยกฎหมาย กรณีของผู้ร้องไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 90 ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยตัว อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9280/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความชอบด้วยกฎหมาย ความประมาทเลินเล่อของโจทก์ไม่อาจยกเหตุพิจารณาคดีใหม่ได้
คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์แต่ประการใด จะนำบทบัญญัติมาตรา 220 แห่ง ป.วิ.อ. มาบังคับแก่กรณีเช่นนี้หาได้ไม่
การที่เจ้าหน้าที่ศาลประจำศูนย์นัดความบันทึกวันนัดสืบพยานโจทก์ตามที่โจทก์และทนายจำเลยตกลงกัน แม้โจทก์ไม่มีทนายความคอยให้คำปรึกษาในขณะตกลงกำหนดวันนัดก็ตาม แต่โจทก์เป็นผู้กำหนดวันนัดด้วยตนเอง โจทก์ควรจดบันทึกวันเวลานัดไว้เพื่อมิให้หลงลืม แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์จดบันทึกเวลานัดแต่อย่างใด เชื่อว่าโจทก์จดจำวันนัดสืบพยานโจทก์คลาดเคลื่อนซึ่งเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่รอบคอบและเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะยกคดีของโจทก์ขึ้นพิจารณาใหม่
ป.วิ.พ. มาตรา 1 (7) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ให้คำนิยามของคำว่ากระบวนพิจารณาไว้ว่า "กระทำการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้น หรือโดยศาลหรือตามคำสั่งของศาลไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้" เมื่อคดีนี้ศาลสั่งให้คู่ความกำหนดวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และนัดสืบพยานจำเลยที่ศูนย์นัดความและคู่ความได้ตกลงกำหนดวันนัดที่ศูนย์นัดความ ถือได้ว่าการกระทำของคู่ความที่ตกลงกำหนดวันนัดที่ศูนย์ความเป็นการกระทำตามคำสั่งศาลและเป็นการกำหนดวันนัดต่อศาลแล้ว ดังนั้น การกำหนดวันนัดที่ศูนย์นัดความจึงชอบด้วยกฎหมาย
of 18