คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ตกลง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 156 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกทรัพย์มรดกเป็นส่วนหนึ่งของการชำระหนี้ และผลของการตกลงระหว่างผู้รับมรดกกับผู้ให้หนี้
ส. กับ ม. ซึ่งเป็นทายาทของ ก. เอาเงินจำเลยไปคนละ 7,000 บาท แล้วบุคคลทั้งสองตกลงยกทรัพย์มรดกของ ก. ส่วนของตนตีใช้หนี้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. เช่นกัน ถือได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง สามารถใช้บังคับกันได้โดยไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10707/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างว่าความ: การคิดค่าจ้างตามผลสำเร็จ แม้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่ตกลง
ปัญหาว่าสัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์รับเอาส่วนแบ่งจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้รับจากลูกความขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยมีสิทธิยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ตามสัญญาจ้างว่าความกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าทนายความระหว่างโจทก์จำเลย โดยจำเลยจะต้องชำระค่าทนายความแก่โจทก์ตามผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกา ปรากฏว่าหากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี คงมีผลเพียงว่าจำเลยไม่ต้องแบ่งที่ดินให้แก่ ช. เท่านั้น ที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นทรัพย์สินของจำเลยเช่นเดิม จำเลยหาได้ทรัพย์สินเพิ่มเติมจากการเป็นฝ่ายชนะคดีไม่ การที่คิดค่าทนายความตามผลคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี จึงมิใช่เป็นการคิดค่าทนายความตามส่วนแบ่งจากทรัพย์สินที่จำเลยจะพึงได้รับจากการเป็นความ สัญญาว่าจ้างความจึงไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ถือเอาผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญและการจ่ายสินจ้างต้องถือเอาความสำเร็จของผลงานหรือจ่ายสินจ้างตามที่ตกลงกันไว้ แม้จะตกลงค่าจ้างว่าความไว้ในอัตราสูงก็หาได้ทำให้สัญญาดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้ โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าว่าความเต็มจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกโดยการครอบครองเป็นส่วนสัดและการตกลงระหว่างทายาท
การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บทบัญญัตินี้เป็นลักษณะของการกระทำคือครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดโดยเจตนายึดถือเพื่อตนทำนองเดียวกับบทบัญญัติบรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 3 ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ซึ่งอาจให้ผู้อื่นยึดถือไว้แทนก็ได้ ตามมาตรา 1368
การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียว ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
โจทก์ จำเลยและทายาทอื่นอีก 3 คน ตกลงให้ที่ดินมรดก 1 แปลง ตกแก่จำเลยแต่ผู้เดียวและจำเลยเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดโดยนำไปออกโฉนดและแบ่งแยกเป็น 5 แปลง ซึ่งมีที่ดินพิพาทในคดีนี้รวมอยู่ด้วย กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินพิพาทให้ผิดไปจากข้อตกลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีอาญาโดยผลจากการตกลงในคดีแพ่ง ศาลอนุญาตได้หากเป็นการแสดงเจตนาชัดเจนและจำเลยไม่คัดค้าน
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด..." เท่ากับให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ถอนฟ้องด้วยวิธีใดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ได้แสดงเจตนาขอถอนฟ้องไว้เป็นหนังสือแล้ว โดยไม่ได้สั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเข้ามาอีก และมีการบันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงถือเป็นดุลพินิจที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แล้ว
โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันในคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ว่าหากจำเลยคดีนี้ยอมไปสาบานตนด้วยถ้อยคำที่ตกลงกันถือว่าโจทก์คดีนี้แพ้ โจทก์ยินยอมถอนฎีกาและยินยอมจ่ายเงินจำนวน 175,000 บาท แก่จำเลย และขอแสดงเจตนาถอนฟ้องคดีอาญาที่ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนจำเลยขอไม่ติดใจบังคับคดีตามคำพิพากษา หากจำเลยคดีนี้ไม่ไปสาบานตน จำเลยขอยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในคดีแพ่งและขอให้ศาลฎีกาพิพากษาต่อไป ทั้งขอถือเป็นการแสดงเจตนาถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์ในคดีอาญาที่ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลย แต่โจทก์คดีนี้ต้องนำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาลภายในวันที่ 3 เมษายน 2558 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้นำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาล โจทก์จึงแพ้คดีตามคำท้า อันมีผลเท่ากับโจทก์แสดงเจตนาถอนฟ้องคดีนี้ตามคำท้า การขอถอนฟ้องคดีนี้แม้จะเป็นผลประการหนึ่งอันสืบเนื่องมาจากข้อตกลงหรือการท้ากันในคดีแพ่งก็ตาม ก็หาได้ถือว่าเป็นการท้ากันในคดีอาญานี้ไม่ ดังนั้น เมื่อเป็นการขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่คัดค้านการถอนฟ้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง กับจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตกลงชำระภาษีแทนกันในการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่ขัดต่อกฎหมาย
แม้เงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และจําเลย (ผู้ขาย) มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายทอดตลาดตาม ป.รัษฎากรก็ตาม แต่คู่กรณีอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 810/2556 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจําหน่ายทรัพย์สิน ข้อ 2 ระบุว่า "ในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดจะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน ค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรตาม ป.รัษฎากรเองทั้งหมด โดยผู้ซื้อไม่สามารถนําใบเสร็จรับเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือค่าอากรแสตมป์มาขอรับเงินคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้" และประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดที่ดินระบุว่า "ผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน ค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรตาม ป.รัษฎากร" ซึ่งประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวได้ระบุภาระหน้าที่ของผู้ซื้อที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าอากรตาม ป.รัษฎากรไว้โดยละเอียดแล้ว เมื่อผู้ร้องได้ทราบประกาศขายทอดตลาดที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดีมาก่อนและเข้าร่วมประมูล จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้ยอมรับและตกลงกับเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะปฏิบัติตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับตาม ป.รัษฎากร ไม่ได้ห้ามคู่กรณีที่จะตกลงกันว่าผู้ใดจะเป็นผู้รับภาระชําระภาษีเงินได้ รวมทั้งไม่ได้ห้ามบุคคลอื่นชําระภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์แทนผู้ขายหรือผู้มีเงินได้จากการขายทอดตลาด คำสั่งกรมบังคับคดีที่ 810/2556 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจําหน่ายทรัพย์สิน ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดที่ดิน และข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานบังคับคดีที่กําหนดให้ผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเป็นผู้เสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ขัดต่อ ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจึงต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีรับจ่ายและคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้ร้องชําระแทนจําเลยไป 49,568,500 บาท ให้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผ่อนเวลาชำระหนี้โดยโจทก์ จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน หากไม่ตกลงด้วย
การที่โจทก์มีหนังสือไปยังจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามที่กำหนดในสัญญาเช่าซื้อรวม 6 งวด ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ประสงค์รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของโจทก์ เมื่อการพักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 6 งวด ดังกล่าวเป็นผลให้กำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายที่กำหนดไว้เลื่อนออกไปจากเดิม พฤติการณ์ถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ฝนส.(01) ว.380/2563 เรื่องมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID -19 ข้อ 2 (3) ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการที่ ธปท. กำหนดนี้เป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ระยะเร่งด่วน ซึ่งไม่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญา อันเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจพึงกระทำได้ แต่หากมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาออกไป ขอให้ถือปฏิบัติตาม ป.พ.พ. ที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันและผู้ค้ำประกัน ข้อ 2 (3) นี้มีความชัดเจนอยู่ในตัวว่าหากจะขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามมาตรการที่กำหนดนี้ อย่างไรเสียก็จะต้องดำเนินการภายใต้บังคับ ป.พ.พ. ลักษณะ 11 ค้ำประกัน และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2563 ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการการให้ความช่วยเหลือและโจทก์มีหนังสือพักชำระหนี้แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าที่โจทก์พักชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามความหมายที่กำหนดในพระราชกำหนดแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ลูกหนี้รายจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตกลงด้วยในการผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคหนึ่ง
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเฉพาะแต่ในปัญหาเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท และไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอนาคต แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาตามทุนทรัพย์และค่าขึ้นศาลอนาคตมาด้วย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์
of 16