พบผลลัพธ์ทั้งหมด 156 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5564/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดในการทำสัญญาสำรองจ่ายค่าส่วนกลาง และผลผูกพันต่อจำเลย
เมื่อ ส. เป็นผู้แทนของจำเลยโดยเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลย มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยเพื่อจัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง โดย ส. มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ทั้งปวงเพื่อประโยชน์ในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เมื่อตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ออกเงินสำรองแทนเจ้าของร่วมในนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ค้างชำระค่าส่วนกลาง ค่ามิเตอร์น้ำและค่าปรับให้แก่ ส. ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยเพื่อประโยชน์ในการจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยอันเป็นวัตถุประสงค์ของจำเลย บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 จึงอยู่ในขอบเขตอำนาจที่ ส. ผู้เป็นผู้จัดการของจำเลยที่จะกระทำได้ บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.4 จึงไม่เป็นโมฆะและมีผลผูกพันจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2575/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้โดยรู้อยู่ว่ามีหนี้ค้างชำระ ถือเป็นการละเมิด
บริษัท ส. ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุด มีหน้าที่ต้องรับผิดร่วมกันออกค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนตามมาตรา 4 และมาตรา 18 นับแต่วันที่จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อปี 2535 จนถึงวันที่บริษัท ส. โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้บุคคลอื่น หากไม่แปลความดังว่า บริษัท ส. สามารถใช้ประโยชน์จากห้องชุดที่บริษัทถือกรรมสิทธิ์อยู่โดยไม่ต้องรับผิดชอบชำระค่าส่วนกลาง ทั้ง ๆ ที่บริษัทก็ใช้ประโยชน์จากทรัพย์ส่วนกลางเช่นเดียวกับเจ้าของร่วมอื่น ๆ จึงไม่เป็นธรรมแก่เจ้าของร่วมอื่นในอาคารชุด ส. การแก้ไข พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 ในปี 2551 เป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นในส่วนที่เจ้าของโครงการหรือผู้จัดสรรถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดไว้ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเช่นเดียวกัน มิได้บัญญัติเพิ่มหน้าที่ความรับผิดชอบหรือเพิ่งจะถือว่าผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารตามมาตรา 6 เป็นเจ้าของร่วมแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประชุมนิติบุคคลอาคารชุด การถอดถอนกรรมการและผู้จัดการ การแต่งตั้งใหม่ และอำนาจฟ้องจำเลย
ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นตัวแทนว่าจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่
มติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2557 ของนิติบุคคลอาคารชุด ช. ที่ลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 1 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการและรักษาการผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 2 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด นั้น ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) ไม่ได้กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องลงลายมือชื่อแต่งตั้งตัวแทนในการร้องขอเปิดประชุม แต่บัญญัติให้เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดมีสิทธิจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ โดยให้แต่งตั้งตัวแทนคนหนึ่งเพื่อออกหนังสือเรียกประชุมเท่านั้น การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งนี้ของนิติบุคคลอาคารชุด ช. จึงเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนการกำหนดวาระการประชุมเป็นเพียงการกำหนดหัวข้อการประชุมว่ามีเรื่องประชุมอะไรบ้าง และไม่จำเป็นต้องประชุมตามวาระการประชุม เนื่องจากต้องพิจารณาความสำคัญของหัวข้อการประชุมและความเกี่ยวพันกัน ประกอบกับผลการลงคะแนนเสียงได้คะแนนเกินกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 49 ดังนั้น มติเห็นชอบแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และมติถอดถอนโจทก์ทั้งสองให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
มติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2557 ของนิติบุคคลอาคารชุด ช. ที่ลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 1 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการและรักษาการผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 2 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด นั้น ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) ไม่ได้กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องลงลายมือชื่อแต่งตั้งตัวแทนในการร้องขอเปิดประชุม แต่บัญญัติให้เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดมีสิทธิจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ โดยให้แต่งตั้งตัวแทนคนหนึ่งเพื่อออกหนังสือเรียกประชุมเท่านั้น การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งนี้ของนิติบุคคลอาคารชุด ช. จึงเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนการกำหนดวาระการประชุมเป็นเพียงการกำหนดหัวข้อการประชุมว่ามีเรื่องประชุมอะไรบ้าง และไม่จำเป็นต้องประชุมตามวาระการประชุม เนื่องจากต้องพิจารณาความสำคัญของหัวข้อการประชุมและความเกี่ยวพันกัน ประกอบกับผลการลงคะแนนเสียงได้คะแนนเกินกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 49 ดังนั้น มติเห็นชอบแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และมติถอดถอนโจทก์ทั้งสองให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจผู้จัดการอาคารชุด: ผู้ดำเนินการแทนมีอำนาจฟ้องคดีได้ตามข้อบังคับ
โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดแต่งตั้งให้บริษัท ภ. เป็นผู้จัดการ บริษัทดังกล่าวแต่งตั้งให้ ล. เป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทในฐานะผู้จัดการของโจทก์ ซึ่งตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ ให้นิติบุคคลอาคารชุดนั้นแต่งตั้งบุคคลธรรมดาคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคลในฐานะผู้จัดการ ดังนั้น ล. จึงเป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ดำเนินการแทนโจทก์ ล. ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของโจทก์ที่ให้ผู้จัดการมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดการดูแลและรักษาทรัพย์ส่วนกลางทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วม ซึ่งการฟ้องคดีก็ถือว่าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4618/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดในการกระทำการแทน และความผูกพันของบันทึกข้อตกลงการใช้สถานที่
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 36 (1) (4) กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลอาคารชุดและต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับหรือตามมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลย ตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า หากตำแหน่งผู้จัดการว่างลงก่อนครบวาระให้ประธานคณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ทำหน้าที่บริหารอาคารชุดเหมือนผู้จัดการเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้จัดการใหม่ ซึ่งขณะทำบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ ที่ประชุมเจ้าของร่วมยังไม่ได้แต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยคนใหม่ แต่มี ธ. ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยทำหน้าที่บริหารอาคารชุดเหมือนเป็นผู้จัดการเป็นการชั่วคราว การที่ ธ. ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่จึงถือว่ามีอำนาจกระทำการแทนจำเลยและมีผลผูกพันจำเลย ในการประชุมใหญ่สมัยวิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 1/2551 วันที่ 16 มีนาคม 2551 ก็ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง ธ. เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยต่อจาก ส. พยานจำเลยปาก อ. ซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน ก็ยอมรับว่า เคยชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ และจำเลยไม่เคยมีการบอกเลิกบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ดังกล่าว ยิ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยยอมรับตามบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ที่ ธ. ลงลายมือชื่อในนามของจำเลย จำเลยจึงต้องชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของตัวแทนและผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดต่อความเสียหายจากการทุจริตของลูกจ้าง
แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาแต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดทั้งในมูลผิดสัญญาตัวแทนและในมูลละเมิด ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 12 กันยายน 2555 และจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องในมูลผิดสัญญาตัวแทนนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และ ฝ. นั้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และ ฝ. รับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่ ฝ. เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2555 ซึ่งความรับผิดของจำเลยที่ 2 และ ฝ. มิใช่การรับผิดร่วมกัน แต่เป็นความรับผิดของแต่ละคนที่จะต้องรับผิดเฉพาะในช่วงเวลาที่ตนเป็นผู้จัดการของโจทก์เท่านั้น และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซํ้าและการดำเนินกระบวนพิจารณาซํ้าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบใบเสร็จรับเงินที่มีการยกเลิกให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ไม่เกินไปกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ดังนั้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 เพียงใด ก็ต้องนำมาหักชำระหนี้ในส่วนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วย
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และ ฝ. นั้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และ ฝ. รับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่ ฝ. เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2555 ซึ่งความรับผิดของจำเลยที่ 2 และ ฝ. มิใช่การรับผิดร่วมกัน แต่เป็นความรับผิดของแต่ละคนที่จะต้องรับผิดเฉพาะในช่วงเวลาที่ตนเป็นผู้จัดการของโจทก์เท่านั้น และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซํ้าและการดำเนินกระบวนพิจารณาซํ้าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบใบเสร็จรับเงินที่มีการยกเลิกให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ไม่เกินไปกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ดังนั้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 เพียงใด ก็ต้องนำมาหักชำระหนี้ในส่วนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วย