คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ศาลล่าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 160 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4062/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ฎีกาประเด็นใหม่ที่ไม่เคยยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง ถือเป็นการต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิด โดยลักรถยนต์คันพิพาทไปขณะที่ออกเวรปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้ว อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะส่วนตัว กับบรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในฐานะผู้ว่าจ้างดูแลทรัพย์สินและรักษาความปลอดภัยในบริเวณที่เกิดเหตุ อันเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์แยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นปัญหาดังกล่าวให้เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 343/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การอุทธรณ์ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่าง และประเด็นที่ไม่ใช่ความสงบเรียบร้อยของประชาชน
จำเลยทั้งหกให้การแต่เพียงว่า บ. เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ใช้ชื่อห้างโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 โจทก์มอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้รับเงินค่าจ้างแทน จำเลยทั้งหกจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์อีก และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างปรับปรุงถนนตามฟ้องจากจำเลยที่ 1 ไว้ถูกต้องแล้วหรือไม่ และจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เชิดจำเลยร่วมขึ้นเป็นตัวแทนก็ดี หรือการที่โจทก์ลงลายมือชื่อของตนไว้ในหนังสือมอบอำนาจและให้จำเลยร่วมนำหนังสือดังกล่าวมากรอกข้อความในทำนองว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยร่วมเป็นผู้รับเงินแทน ถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ดี ล้วนแต่เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 555/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยฝ่ายเดียวไม่ผูกพันคู่หมั้น และประเด็นการฎีกาที่ขัดต่อข้อที่ว่ากล่าวในศาลล่าง
จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องการสมรสกับโจทก์ เป็นการบอกเลิกสัญญาหมั้นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่มีผลผูกพันโจทก์
โจทก์กับจำเลยที่ 2 สมัครใจเลิกสัญญาหมั้นกัน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้คดีในปัญหาดังกล่าวไว้ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะหยิบยกปัญหาเรื่องการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 ขึ้นวินิจฉัยก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และประเด็นการยกข้อต่อสู้ที่มิได้ยกขึ้นในศาลล่าง
คำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน" ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก หมายถึงการเป็นภริยาหรือสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1457 ที่บัญญัติว่า "การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น" เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยจึงยังมิใช่ภริยาหรือสามีกัน
จำเลยฎีกาว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมไปกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง และไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จะยกขึ้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่โจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบประกอบให้ได้ความชัดว่า จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 หรือผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่กระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 เอง นั้น จำเลยมิได้นำสืบต่อสู้ในศาลชั้นต้น ทั้งมิได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งยังไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกข้อเท็จจริงใหม่ในการอุทธรณ์ ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามอุทธรณ์
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 5 จะบัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" แต่มาตรา 6 ก็บัญญัติต่อไปว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" โจทก์ที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 จะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
ในการยื่นคำให้การ จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายตน เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศษ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล บริษัทที่รับประกันวินาศภัยและประกันชีวิตของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จ่ายทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่มาเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธ อันเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8382/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามเรื่องนอกฟ้อง: โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดฐานละเมิด แต่ศาลตัดสินว่าเป็นประเด็นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ร่วมทำสัญญาจ้างกับกรมทางหลวง โดยให้บริการรับเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบงานตามส่วนที่ได้รับมอบหมายให้โจทก์เพื่อส่งมอบให้กรมทางหลวงได้ภายในระยะเวลาตามสัญญา ทำให้โจทก์เสียหายต้องชำระค่าปรับ ไม่สามารถรับค่าจ้างที่เหลือ รวมทั้งเงินประกันผลงาน ข้อหาตามฟ้องโจทก์จึงเป็นเรื่องผิดสัญญา ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นส่วนตัวในฐานละเมิด โดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีถึงที่สุดแล้ว ศาลล่างแก้ไขโทษจำเลยไม่ได้ทำให้คดีเริ่มต้นใหม่
คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลง และเมื่อคดีถึงที่สุดย่อมเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 1 แม้ภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ก็เป็นการพิพากษาแก้ในกรณีหากต้องกักขังจำเลยที่ 1 แทนค่าปรับ อันเป็นเรื่องการบังคับคดีในส่วนค่าปรับเท่านั้น ส่วนที่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ก็เป็นเพียงการแก้การปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้อง ดังนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 และศาลฎีกาที่แก้ไขเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นการแก้ไขที่หามีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นอันจะทำให้คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษย้อนหลังเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องไปดำเนินการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุจำเลยยกเหตุใหม่ในชั้นฎีกา เกินกว่าที่ต่อสู้ไว้ในศาลล่าง
โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยอ้างเหตุโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินสามปี จำเลยให้การต่อสู้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์และการแยกกันอยู่นั้นไม่ถึงขนาดที่มีเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินกว่าสามปี ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่จำใจแยกกันอยู่กับโจทก์เนื่องจากโจทก์ยกย่อง อ. เป็นภริยาตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน จำเลยรู้สึกอับอายจึงแยกมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 59/9 นั้น จึงเป็นฎีกาที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4891/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดก: สิทธิของผู้จัดการมรดกและการอ้างเหตุที่มิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ช. การที่ผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้พยาบาลขณะที่ผู้ตายป่วย มิได้เป็นภริยาของผู้ตาย โดยได้ค่าจ้างจากผู้ตายเป็นรายเดือน ถือไม่ได้ว่าร่วมทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิร้องขอจัดการมรดก เช่นนี้แล้ว ฎีกาของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 ที่ว่าผู้คัดค้านไม่อาจอ้างว่าอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายและทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตาย เพราะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้ตายหย่าขาดจากผู้ร้องที่ 1 จึงเป็นการอ้างเหตุที่ผู้คัดค้านไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิร้องขอจัดการมรดก นอกเหนือจากคำคัดค้านของผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5682/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตจากศาลล่าง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (3) (5) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน และลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 12 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) เป็นจำคุก 1 ปี 5 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 13 เดือน 15 วัน และให้กักกันจำเลยมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ในเรื่องการเพิ่มโทษจำเลย จากเดิมที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) โดยมิได้แก้บทมาตราแห่งความผิดตามฟ้อง ซึ่งเป็นการแก้เฉพาะเรื่องโทษ แม้จะให้กักกันจำเลยมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) แต่การกักกันไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดเดิมไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือ ลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ซึ่งคดีนี้เป็นคดีอาญาทั่วไปมิได้มีบทบัญญัติให้การฎีกาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา การฎีกาจึงอยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 216 และมาตรา 221 ที่กำหนดให้จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือ ทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาอนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ยื่นเป็นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลล่างทั้งสองดังกล่าวอนุญาตให้ฎีกา คำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 เมื่อจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 221 แห่งกฎหมายข้างต้น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 16