คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิเรียกร้อง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,733 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีสิทธิปรับค่าเช่ารายวันได้ โจทก์ไม่รื้อถอนโครงสร้างตามสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันคืน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าคืนเงินประกันค่าเสียหายจากการใช้สถานที่เช่าเนื่องจากภายหลังครบกำหนดเวลาสัญญาเช่า โจทก์ผู้เช่าได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าโจทก์มิได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กออกจากที่เช่า แต่กลับขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยให้จำเลยที่ 1 หักเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าเช่า ซึ่งเป็นคำให้การที่ปฏิเสธข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็ก คดีจึงมีประเด็นพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลทำให้เกิดข้อแพ้ชนะในคดี และจะต้องวินิจฉัยก่อนประเด็นข้ออื่น ส่วนคำให้การที่ว่าโจทก์ขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างนอกเหนือไปจากข้ออ้าง ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ เพราะหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าแล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อไป เนื่องจากเป็นข้ออ้างที่เกินเลยไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นว่าโจทก์ได้ต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเมื่อจำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวน ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิหักเงินประกันเป็นค่าปรับรายวันนั้น จำเลยที่ 1 ได้แสดงมาโดยชัดแจ้งในคำให้การเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5366/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนการตรวจสอบ และสิทธิเรียกร้องคืนเงินเมื่อผู้ขอคืนไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77 แต่การที่จำเลยใช้สิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และขอรับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนไปก่อน โดยวางหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ซึ่งกรมสรรพากรโจทก์ได้คืนเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยก่อนการตรวจสอบเพื่อคืนภาษี เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยนำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ที่พิพาทมาเพื่อประเมินสถานะกิจการของจำเลยประกอบการพิจารณาตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจำเลยไม่ไปพบและไม่นำเอกสารดังกล่าวไปให้โจทก์ การที่โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์เรียกร้องเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยขอรับคืนไปก่อนการตรวจปฏิบัติการเพื่อคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ที่พิพาทเสร็จสิ้นและไม่ใช่การประเมินให้จำเลยเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่จำต้องออกหมายเรียกและมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังจำเลยก่อนฟ้องเรียกคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหนี้สิทธิเรียกร้องไปยัง บสท. ทำให้ศาลต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม พรบ. บสท. 2544
หลังจากธนาคารโจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ได้โอนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพจำเลยร่วมให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท) ดังนั้น เมื่อได้มีการโอนหนี้สินรายนี้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท) ไปแล้ว ก่อนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะได้มีคำพิพากษา และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท) มิได้ยื่นคำร้องขอเป็นอย่างอื่น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตาม พรก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 วรรคหนึ่งและวรรคหก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5142/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักล้างข้อสันนิษฐานสถานะล้มละลายด้วยหลักฐานสิทธิเรียกร้องและการชำระหนี้
จำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) จำเลยมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวซึ่งจำเลยนำสืบฟังได้เป็นที่แน่นอนว่าจำเลยมีสิทธิที่จะรับเงินจากการที่บริษัท ส. ได้นำมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยในคดีแพ่ง และสิทธิดังกล่าวมีจำนวนมากกว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย เมื่อโจทก์ได้ขออายัดเงินดังกล่าวและได้รับเงินตามที่อายัดในคดีแพ่งแล้ว โจทก์ก็ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรค้างเป็นการครบถ้วนและจะมีเงินเหลือคืนจำเลยอีกจำนวนหนึ่ง พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาจึงหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว
ส่วนที่โจทก์ได้กล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยยังเป็นหนี้เจ้าหนี้อื่นอีกโดยได้แนบหลักฐานการตรวจคำขอรับชำระหนี้ นั้น โจทก์เพิ่งยกข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยยังเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกขึ้นมาอ้างในชั้นอุทธรณ์ ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลางแต่อย่างใด ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสโต้แย้งหรืออธิบายถึงหนี้ต่างๆ มาก่อน ทั้งปรากฏว่าการตรวจคำขอรับชำระหนี้นั้นก็สืบเนื่องจากศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จึงทำให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดรวมถึงกระบวนพิจารณาต่างๆ เป็นอันต้องเพิกถอนไปในตัว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4993/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดหน่วงและหักกลบลบหนี้: จำเลยไม่มีสิทธิยึดค่าจ้างโจทก์เพื่อชดใช้ความเสียหายที่ไม่ยุติ และไม่อาจหักกลบลบหนี้ได้
จำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์ และมีความเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยตามสัญญาจ้าง เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยครอบครองอยู่ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 241 จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงไว้
ความเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยยังไม่ยุติ จะต้องตกลงกันอีกซึ่งยังไม่แน่ว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ แม้เป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างฉบับเดียวกันก็ต้องถือว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อโจทก์ยังมีข้อต่อสู้อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิขอหักกลบลบหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา แม้แยกกันอยู่และมีภาระหนี้สิน
วัตถุประสงค์ของการสมรสก็เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติให้สามีภริยาช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันตามความสามารถและฐานะตน และมาตรา 1598/38 บัญญัติว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นอีกฝ่ายสามารถเรียกได้ในเมื่อได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ อันแสดงว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจกำหนดให้เพียงใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับตามพฤติการณ์แห่งกรณี จึงเป็นบทบัญญัติคุ้มครองแก่สามีภริยาให้ฝ่ายที่มีฐานะดีต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่าก็ฟ้องเรียกเฉพาะค่าเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ดังนั้น สิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงหาใช่เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อมีการฟ้องหย่าไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4215/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ที่สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ยังไม่เกิดขึ้นในขณะที่หนี้ของเจ้าหนี้ขาดอายุความแล้ว ไม่อาจหักกลบลบได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วก็นำมาหักกลบลบหนี้ได้ แต่ในเวลาที่อาจจะหักกลบลบกับสิทธิเรียกร้องอีกฝ่ายได้นั้น สิทธิเรียกร้องฝ่ายตนต้องยังไม่ขาดอายุความ คดีนี้ก่อนหนี้บัตรเครดิตขาดอายุความ 2 ปี จำเลยยังไม่ได้นำเงินเข้าบัญชี จำเลยเพิ่งนำเงินเข้าฝากเข้าบัญชีหลังจากหนี้บัตรเครดิตขาดอายุความแล้ว สิทธิเรียกร้องในการหักเงินฝากของจำเลยจึงเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความไปแล้ว โจทก์จึงไม่สามารถหักกลบลบหนี้โดยหักเงินฝากของจำเลยมาชำระหนี้บัตรเครดิตได้ เพราะในเวลาที่โจทก์จะหักกลบลบหนี้กับสิทธิเรียกร้องของจำเลยได้นั้น สิทธิเรียกร้องโจทก์ขาดอายุความไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785-3787/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกกรณีพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ ทายาทโดยธรรมและเจ้าของรวมมีสิทธิเรียกร้อง
ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่นาง ต. ผู้เป็นมารดาเพียงผู้เดียว แต่นาง ต. มารดาผู้รับพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นาง ต. มารดาย่อมตกไปตามมาตรา 1698 (1) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นมรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง แม้พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ความปรากฏในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายและการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงไม่อาจตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องได้
เมื่อผู้ร้องกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตลอดเวลาทำมาหาได้ร่วมกัน ดังนั้นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของรวม เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ย่อมต้องแบ่งเป็นของผู้ร้องส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนเด็กหญิง ญ. แม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิง ญ. ทั้งได้นำเด็กหญิง ญ. มาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กหญิง ญ. เป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิง ญ. จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ญ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713
สำหรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรที่ผู้ตายได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1547 มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3548/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าไฟฟ้า-การชำระหนี้-เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าชำรุด-สิทธิเรียกร้อง-อายุความ 5 ปี
เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงหน่ายการใช้ไฟฟ้าไม่ตรงกับที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไปจริง แต่มิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ทั้งการติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบก็ไม่ได้แสดงแน่ชัดว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อนมาแต่เมื่อใด การที่โจทก์คิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังโดยดูจากประวัติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงแต่คาดคะเนเอง ไม่อาจฟังเอาแน่นอนว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าคลาดเคลื่อนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังตั้งแต่เดือนดังกล่าวจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2538 ที่พบความชำรุดบกพร่อง โจทก์คงมีสิทธิคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเครื่องใหม่ให้จำเลยที่ 1
โจทก์ขายกระแสไฟฟ้าแก่จำเลยที่ 1 เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโรงงานผลิตฟิล์มของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าของโจทก์จึงเข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินหลังจดทะเบียนสมรส: สิทธิในการบอกล้างและการเรียกร้องทรัพย์สินคืน
เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนสมรสว่า ไม่ประสงค์จะให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน แม้ภายหลังในวันเดียวกันทั้งสองฝ่ายจะมาขอบันทึกเพิ่มเติ่มว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลงจะยกให้โจทก์ บันทึกครั้งหลังนี้ก็มิใช่สัญญาก่อนสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466 แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันตามมาตรา 1469 ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการสุจริต การที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอเลิกสัญญาถือเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่แล้ว จำเลยมีสิทธิเรียกร้องที่ดินคืนได้
of 174