คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
คำพิพากษา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,887 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1941/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากผู้พิพากษาลงลายมือชื่อเพียงคนเดียว ทำให้ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณา
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี โดยมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้น ซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุก: ผลของคำพิพากษาที่สั่งให้นับโทษต่อจากโทษอื่น และผลของการแก้โทษ
ป.อ. มาตรา 22 วรรคแรก เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการบังคับโทษจำคุกจำเลยว่าให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ซึ่งวันมีคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 และ 188 โดยคำพิพากษาไม่จำเป็นต้องถึงที่สุด เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยย่อมต้องถูกบังคับโทษตามคำพิพากษานั้น แม้ต่อมาภายหลังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะแก้โทษจำคุกก็ไม่มีผลต่อวันเริ่มโทษจำคุกแต่อย่างใด คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังแล้ว โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต และนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาอื่น ย่อมมีความหมายว่าคำพิพากษาได้กล่าวถึงเวลาเริ่มบังคับโทษจำคุกไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การเริ่มนับโทษจำคุกจำเลยจึงต้องเริ่มนับเมื่อจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีอาญาอื่นครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้โทษของจำเลยเหลือเพียง 36 ปี 8 เดือน แต่ก็ยังคงให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่มีผลต่อวันเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16250/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำทางอาญา: การหมิ่นประมาทจากหนังสือร้องเรียนและให้สัมภาษณ์ ศาลระงับคดีเนื่องจากมีคำพิพากษาแล้ว
การที่จำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองพยานพร้อมยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และการให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวโดยมีข้อความใส่ความโจทก์ว่า โจทก์กับพวกคุกคามข่มขู่จำเลยกับพยาน เป็นข้อความที่เกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกันต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แม้จำเลยจะจัดส่งหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไปให้บุคคล และคณะบุคคลต่างรายกันก็หาทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทในคดีก่อนต่อศาลแขวงดุสิตในเรื่องที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนดังกล่าว แล้วโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นอีก เมื่อคดีของศาลแขวงดุสิตที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อน ศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาภายหลังศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาแล้ว แม้คดียังไม่ถึงที่สุดก็ถือได้ว่าศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15952/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาและการรับฝากเงิน จำเลยมีสิทธิหักกลบลบได้
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับมารดาโจทก์เปิดบัญชีร่วมกันประเภทบัญชีเงินฝากประจำและฝากเงินไว้ต่อธนาคารจำเลยสาขาฝาง ว. ทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากจำเลย โดยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และ ส. กับโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับ ว. อย่างลูกหนี้ร่วม ว. ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยฟ้อง ว. ส. และโจทก์ให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส. และโจทก์ร่วมกันชำระหนี้ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนอง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของบุคคลทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยจนครบ จำเลยนำหนี้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่นั้นฟ้องบุคคลทั้งสามเป็นคดีล้มละลาย ต่อมาจำเลยพบว่าโจทก์กับมารดาโจทก์มีบัญชีเงินฝากดังกล่าวอยู่ที่จำเลยสาขาฝาง จำเลยจึงดำเนินการหักเงินจากบัญชีดังกล่าวมาชำระหนี้จำเลย ต่อมาจำเลยถอนฟ้องคดีล้มละลาย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธินำเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้ต่อจำเลยมาหักกับหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยหักกลบลบหนี้กับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 ซึ่งโจทก์และจำเลยมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้ที่จะต้องชำระเงินแก่กันอันเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่จะต้องชำระเงินแก่จำเลยตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยก็เป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องชำระเงินที่โจทก์ฝากไว้แก่โจทก์ จำเลยย่อมหักกลบลบหนี้ได้ และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาต่อโจทก์ขอหักกลบลบหนี้และได้ดำเนินการหักกลบลบหนี้แล้ว การหักกลบลบหนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่า การหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องตกลงกันหรือได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งหรือต้องแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่แก่กันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กันได้ แม้โจทก์ไม่เคยตกลงและไม่อนุญาตให้จำเลยหักเงิน จำเลยหักเงินของโจทก์ไปเองโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบก็หาเป็นการละเมิดหรือผิดสัญญารับฝากเงินตามที่โจทก์ฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15525/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อย่างชัดเจน
โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ควรรับฟังพยานหลักฐานเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นเป็นฎีกาทำนองว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว แต่ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15250/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดค่าปรับจากผิดสัญญาประกันในคดียาเสพติด: คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดเป็นที่สุด
คำร้องขอลดค่าปรับเป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งการจะลดค่าปรับให้แก่ผู้ประกันทั้งสองหรือไม่ ศาลต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำความผิด ความหนักเบาแห่งข้อหาและการผิดสัญญาประกันประกอบด้วย ดังนั้น คำร้องขอลดค่าปรับถือว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด และกรณีผิดสัญญาประกันและขอลดค่าปรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 119 มาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงโทษยาเสพติดและการริบของกลาง ศาลฎีกาตัดสินให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ลงโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้เฉพาะวรรคในมาตรา 66 และแก้โทษด้วยนั้น โดยความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงต่างกันมาก ซึ่งความผิดตามวรรคหนึ่งนั้น มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงสิบห้าปี หรือปรับขั้นต่ำแปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท แต่วรรคสองมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงจำคุกตลอดชีวิต และปรับขั้นต่ำสี่แสนบาท ขั้นสูงห้าล้านบาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้วรรคและแก้โทษในกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 นั้น เป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218
เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองมีจำนวน 50 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.10 กรัม จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง
โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ได้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวมาใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับสายลับ โดยติดต่อนัดหมายเวลาและสถานที่ในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่น ซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 จึงให้ริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14811/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการเริ่มต้นบังคับคดีเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
มีการส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยชอบแล้ว แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกาซึ่งอาจมีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย และจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ แต่ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ได้มีคำพิพากษาแล้วจึงไม่จำต้องสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับ มีผลเท่ากับศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ดังนั้นการเริ่มต้นบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางยังคงดำเนินต่อไป คำบังคับของศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาจึงมีผลใช้บังคับอยู่ ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง จึงไม่จำต้องออกคำบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาซ้ำอีก เมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับล่วงพ้นไปแล้ว การที่ศาลแรงงานกลางออกหมายบังคับคดีจึงเป็นไปตามขั้นตอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้ว ไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนหมายบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13277/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดิน: ผลของคำพิพากษาคดีแพ่งผูกพันคดีอาญา และอายุความฟ้องร้อง
เดิมที่ดินพิพาทเคยเป็นของ จ. มาก่อน จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและถูก จ. ฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน หลังจากนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุด คำพิพากษาในคดีแพ่งย่อมมีผลผูกพันจำเลยทั้งสามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทั้งจำเลยทั้งสามเบิกความยอมรับว่า จ. เคยฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาท และยอมรับว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสามและคดีถึงที่สุดแล้ว คำเบิกความของจำเลยทั้งสามเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของ จ. เมื่อ จ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินคนละแปลงจึงขัดแย้งกับคำเบิกความของจำเลยทั้งสามเอง ไม่อาจรับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13209/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดอำนาจร้องขอเมื่อผู้ร้องพ้นสถานะและมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่เกี่ยวข้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในนามของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุด ท. อาคาร 1, 2, 3 มิใช่ฟ้องในฐานะทำการแทนนิติบุคคล ขณะยื่นคำร้องขอนั้นผู้ร้องยังอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2547 เพื่อขอให้เพิกถอนการประชุม มติที่ประชุมและรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ยกเลิกสัญญาจ้างผู้ร้อง ทั้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครด้วย อันถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอได้ แต่เมื่อขณะนี้ปรากฏว่า ผู้ร้องได้พ้นจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามวาระการดำรงตำแหน่ง และมิได้เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลอาคารชุดอีกต่อไปแล้ว ทั้งปรากฏว่ามีการแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดคนใหม่แทนผู้ร้องแล้ว ทั้งคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกในฐานะคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ให้ยกเลิกสัญญาจ้างผู้ร้องและให้ผู้ร้องพ้นจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างผู้ร้องเป็นการกระทำโดยชอบแล้วซึ่งผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดและผูกพันผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 จึงถือว่าปัจจุบันผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีนี้อีกต่อไป อำนาจร้องขอของผู้ร้องจึงหมดลง ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขออีกต่อไป ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามมาตรา 142 (5) ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
of 189